เปิดชื่อ 12 ยักษ์ใหญ่พลังงานยื่นข้อเสนอแข่งขันนำเข้า LNG 1.5 ล้านตันต่อปีให้ กฟผ.

กองบรรณาธิการ TCIJ 25 เม.ย. 2562 | อ่านแล้ว 2238 ครั้ง

เปิดชื่อ 12 ยักษ์ใหญ่พลังงานยื่นข้อเสนอแข่งขันนำเข้า LNG 1.5 ล้านตันต่อปีให้ กฟผ.

กฟผ.เผย 12 บริษัทใหญ่ด้านพลังงาน อาทิ เชฟรอน โททาล เชลล์ บีพี กาตาร์แก๊ส ปตท. ปิโตรนาส ยื่นข้อเสนอแข่งขันจัดหาLNG ปริมาณ 1.5 ล้านตันต่อปี โดยจะรู้ผลผู้ชนะภายในสัปดาห์นี้ ระบุเงื่อนไขราคาจะต้องไม่สูงกว่าราคา LNG ต่ำสุดตามสัญญาจัดหาระยะยาวของประเทศไทยที่มีอยู่ในปัจจุบัน คาดว่าจะลงนามสัญญาซื้อขายเดือน มิ.ย. 2562 และส่งมอบ LNG ล็อตแรกได้ภายในเดือน ก.ย. 2562 นี้ ด้านรัฐมนตรีพลังงานชี้ พ.ร.บ. กฟผ. ไม่เปิดโอกาสให้ กฟผ.นำ LNG ไปจำหน่ายต่อ หรือ ซื้อมาขายไปโดย กฟผ.ต้องใช้ LNG เพื่อกิจการโรงไฟฟ้าตัวเอง และต้องแบกรับความเสี่ยงธุรกิจ LNG เอง โดยไม่ผลักภาระไปที่ค่าไฟฟ้าประชาชน ที่มาภาพ: Energy News Center

Energy News Center รายงานเมื่อวันที่ 22 เม.ย. 2562 ว่านายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้เป็นประธานการแถลงข่าวความคืบหน้าการจัดหาและนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) โดยมีนายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน นายวิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) นายพัฒนา แสงศรีโรจน์ รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ กฟผ. และนายธวัชชัย จักรไพศาล รองผู้ว่าการเชื้อเพลิง กฟผ. ร่วมแถลง ณ ห้องประชุม 201 อาคาร ท.100 สำนักงานใหญ่ กฟผ. อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี

โดยนายวิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย ผู้ว่าการ กฟผ. เปิดเผยว่าหลังจากที่ กฟผ. ได้เปิดให้มีการยื่นข้อเสนอการแข่งขันด้านราคาจากบริษัทที่มีคุณสมบัติผ่านเกณฑ์เบื้องต้น ตั้งแต่วันที่ 20 ก.พ.-18 เม.ย. 2562 นั้นปรากฏว่ามีผู้ยื่นข้อเสนอการแข่งขันด้านราคาเข้ามาทั้งหมด 12 ราย จากบริษัทที่ผ่านคุณสมบัติเบื้องต้นจำนวนทั้งสิ้น 34 รายประกอบด้วย

1. Chevron U.S.A Inc
2. Total Gas & Power Asia Private Limited
3. Marubeni Corporation
4. Emirates National Oil Company (Singapore) Private Limited
5. Qatargas
6. JERA Co.Inc.
7. Pavilion Gas Pte.Ltd.
8. PETRONAS LNG Limited
9. PTT Public Company Limited
10. Shell Eastern Trading (Pte) Ltd.
11. BP Singapore Pte. Limited
12. Vitol Asia Pte. Ltd.

โดยการจัดหาLNG ดังกล่าว เป็นไปตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 31 ก.ค. 2560 ที่เห็นชอบแนวทางการส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติ โดยมอบหมายให้ กฟผ. นำร่องเป็นผู้จัดหาและนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) จำนวนไม่เกิน 1.5 ล้านตันต่อปี ภายในปี 2562 และมติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เมื่อวันที่ 25 ก.ค. 2561 ที่มีมติให้ราคา LNG ที่ กฟผ. จัดหาต้องไม่สูงกว่าราคา LNG ต่ำสุดตามสัญญาจัดหาระยะยาวของประเทศไทยที่มีอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งจะมีส่วนช่วยลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้าและเพิ่มปริมาณก๊าซธรรมชาติให้เพียงพอกับการผลิตไฟฟ้า

นายวิบูลย์ กล่าวว่าจะรู้ผลผู้ชนะประมูลภายในสัปดาห์นี้ และคาดว่าจะลงนามสัญญาซื้อขาย LNG กับผู้ชนะประมูลได้ภายในเดือน มิ.ย. 2562 และเริ่มส่งมอบ LNG ล็อตแรกในเดือน ก.ย.2562

ทั้งนี้คาดว่าจนถึงเดือน ธ.ค. 2562 กฟผ.จะต้องการLNGนำเข้ารวม 2.8 แสนตัน เพื่อนำมาใช้กับโรงไฟฟ้าวังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นอันดับแรก โดยผู้ชนะประมูลจะได้รับสัญญาจัดหาและนำเข้า LNG กับ กฟผ. เป็นเวลา 8 ปี ซึ่งตั้งแต่ปีที่ 2-8 ของสัญญา (พ.ศ. 2562-2569) ผู้ชนะประมูลจะต้องส่งมอบ LNG ตามสัญญาระหว่าง 8 แสนตัน ถึง 1.5 ล้านตัน ต่อปี

นายธวัชชัย จักรไพศาล รองผู้ว่าการเชื้อเพลิง กฟผ. กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการเตรียมความพร้อมในการส่ง LNG ไปยังโรงไฟฟ้า กฟผ. ได้ทำสัญญาใช้ท่อส่งก๊าซของ ปตท. และสัญญาใช้สถานี LNG มาบตาพุดส่วนขยายเพิ่มเติมของบริษัท พีทีที แอลเอ็นจี จำกัด เพื่อจัดส่ง LNG สำหรับผลิตไฟฟ้าไปยังโรงไฟฟ้าพระนครใต้ โรงไฟฟ้าบางปะกง และโรงไฟฟ้าวังน้อย เพื่อเสริมความมั่นคงของระบบไฟฟ้าในพื้นที่ภาคกลาง

ด้านนายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่าตามมติ กพช.นั้นกำหนดให้ กฟผ.นำเข้าและจัดหา LNG เพื่อใช้ในโรงไฟฟ้าของ กฟผ.เท่านั้น และตาม พ.ร.บ. กฟผ. ไม่เปิดโอกาสให้นำ LNG ไปจำหน่ายต่อได้ หรือ ซื้อมาขายไป ดังนั้น กฟผ.ต้องใช้ LNG เพื่อกิจการโรงไฟฟ้าของตัวเองเท่านั้น และ กฟผ.ต้องแบกรับความเสี่ยงจากธุรกิจ LNG เอง โดยไม่ผลักภาระไปที่ค่าไฟฟ้าประชาชนแต่อย่างใด ซื่งมั่นใจว่า กฟผ.จะใช้ LNG ได้เต็มที่ เนื่องจากนำไปใช้ในโรงไฟฟ้าวังน้อยแล้ว ยังมีโรงไฟฟ้าพระนครใต้และโรงไฟฟ้าบางปะกง เป็นโรงไฟฟ้าสำรองสำหรับใช้ LNG นำเข้าได้ด้วย

 

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: