HUMANS : หัวใจในหุ่นยนต์

ไอโกะ ฮามาซากิ: 23 เม.ย. 2562 | อ่านแล้ว 3508 ครั้ง


HUMANS (TV SERIES 2015) เป็นละครสัญชาติอังกฤษและอเมริกา ที่ฉายผ่านทางช่อง AMC โดยทีมเขียนบทชาวอังกฤษ SAM VINCENT และ JONATHAN BRACKLEY ซึ่งมีพื้นฐานเรื่องราวการเขียนมาจากการดัดแปลงวรรณกรรมสัญชาติสวีเดนเรื่อง REAL HUMANS ที่ประพันธ์โดยนักเขียนนามว่า LARS LUNDSTROM       

ที่มาภาพ: IMDB

HUMANS คือ ละครที่เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับหุ่นยนต์ โดยมนุษย์เป็นผู้สร้างและประกอบร่างขึ้นมาให้เสมือนมนุษย์อย่างมากที่สุด เพื่อใช้ในการช่วยเหลืองานต่างๆของมนุษย์ อำนวยความสะดวกสบาย และเพื่อให้มนุษย์ได้ใช้เวลากับตัวเองและครอบครัวมากขึ้น โดยมีคำโปรยโฆษณาเชิญชวนจากบริษัทขายหุ่นยนต์ว่า “ ‘คุณอยากได้ผู้ช่วยเหลือพิเศษคอยช่วยงานบ้านไหม’ ขอแนะนำหุ่นยนต์แอนดรอยด์ครอบครัวรุ่นแรกของโลก หุ่นยนต์รับใช้ที่ทำได้มากกว่าการเสิร์ฟอาหารถึงเตียงของคุณ จะวิเศษแค่ไหนนะ ถ้าคุณมีบางคน บางอย่างแบบนี้ หุ่นยนต์นี้จะนำพาเรามาใกล้ชิดกัน ” หุ่นยนต์ประดิษฐ์ถูกสร้างมาให้มีลักษณะทางกายภาพเฉกเช่นเดียวกับมนุษย์ มีผิวหนังที่เป็นเนื้อเยื่อสังเคราะห์ขึ้น สิ่งที่ทำให้หุ่นยนต์แตกต่าง คือ การไร้จิตสำนึก หุ่นยนต์ไม่มีในส่วนของการสำนึกคิด การระลึกสติ ทุกการกระทำของหุ่นยนต์ถูกป้อนโปรแกรมให้ตอบสนองต่อสิ่งนั้นๆเฉกเช่นที่มนุษย์กระทำ แต่เป็นการตอบสนองที่เหนือและสูงขึ้นไปกว่าที่มนุษย์เป็น คือ การไร้อารมณ์เจือปน หุ่นยนต์ถูกสร้างให้ไม่โกรธ ไม่กลัว ไม่เจ็บปวด ไม่มีอารมณ์เศร้าหมอง และไม่รู้จักถึงอารมณ์ที่เรียกว่าความรัก หุ่นยนต์ตอบสนองอารมณ์ตามความพึงพอใจของมนุษย์ที่ต้องการให้แสดงอารมณ์เท่านั้น แต่ไม่ได้เกิดจากการที่หุ่นยนต์มีปฏิกิริยาตอบสนองตามความสำนึกคิด อารมณ์จริงๆ เช่น เมื่อมนุษย์เล่าเรื่องตลก หุ่นยนต์ก็จะส่งเสียงหัวเราะตอบกลับไป แต่เป็นการส่งเสียงหัวเราะที่เกิดจากการป้อนโปรแกรม การจดจำเรียนรู้วิธีตามมนุษย์และตอบสนองมนุษย์ เพื่อให้เกิดความพึ่งพอใจ และเป็นประโยชน์ทางอารมณ์ต่อมนุษย์ผู้นั้นเอง หุ่นยนต์ยังสามารถลบในส่วนของความทรงจำที่มนุษย์ไม่ต้องการให้บันทึกอยู่ในข้อมูลของตัวหุ่นยนต์ด้วยได้ ใช้พลังงานจากการชาร์จไฟฟ้าเฉกเช่นเดียวกับการชาร์จโทรศัพท์มือถือพกพาสมาร์ทโฟนในปัจจุบัน และยังสามารถรักษาบาดแผลบนผิวหนังสังเคราะห์ได้อย่างรวดเร็ว เมื่อถูกรถชนก็ไม่มีการแตกหักของชิ้นส่วน สามารถเยียวยารักษาบาดแผลร่องรอยการพังของตนเองได้อย่างรวดเร็ว การสร้างหุ่นยนต์นั้น สร้างมาในลักษณะที่กำจัดส่วนที่คิดว่าเป็นข้อบกพร่องของมนุษย์ ไม่อำนวยต่อการใช้ชีวิตในด้านของการทำงาน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าตัวมนุษย์เอง คิดว่าการมีอารมณ์ร่วมต่อสิ่งต่างๆ มีส่วนของจิตสำนึกการนึกคิดนั้นเป็นข้อบกพร่อง และยากต่อการควบคุมปกครอง เป็นสิ่งที่ผู้ที่มาทำงานรับใช้ให้กับเราไม่จำเป็นจะต้องมี 

นั่นหมายความว่า ถึงแม้มนุษย์จะปฏิบัติกับหุ่นยนต์ ในฐานะต่ำกว่ามนุษย์ ในฐานะทาสรับใช้ หรือเฉกเช่นเดียวกับสัตว์ หุ่นยนต์ก็จะตอบสนอง ปฏิบัติกับมนุษย์อย่างดีเช่นเดิม 

แต่ละครเรื่องนี้ไม่ได้ตั้งคำถามหรือแสดงให้เห็นเพียงแค่ปัญหาของการที่ มนุษย์ปฏิบัติต่อสิ่งๆหนึ่งอย่างไร้หัวใจ มนุษย์มีสิทธิอันชอบธรรมที่จะลิดรอนสิทธิของสิ่งที่มนุษย์คิดว่าไม่มีจิตสำนึกคิดหรือ นั่นแสดงให้เห็นว่า มนุษย์จะกระทำ ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบต่อเมื่อสิ่งๆนั้นมีชีวิตและจิตใจหรืออยู่ในฐานะมนุษย์เท่าๆกัน ซึ่งทำให้ปรากฏเกิดการตั้งคำถามว่า แล้วแบบนั้นมนุษย์ผู้นั้น จะยังเป็นคนดีถ้วนอยู่หรือไม่ การปฏิบัติต่อหุ่นยนต์ที่ไม่มีสำนึกคิดแบบใดจึงถูกต้อง เมื่อไม่มีกฎหมายมารองรับถึงการปฏิบัติต่อหุ่นยนต์ มีเพียงชุดโปรแกรมที่ป้อนคำสั่งให้ตอบสนองตามที่มนุษย์ต้องการ ถึงแม้สิ่งนั้นจะเป็นการกระทำที่ขาดศีลธรรมและจริยธรรมก็ตาม ละครชุดนี้ยังเสนอให้เห็นถึงอีกปัญหาอันสำคัญยิ่ง เมื่อนักประดิษฐ์หุ่นยนต์ เดวิด เอลสเตอร์ เขาได้ค้นพบกระบวนการที่เปลี่ยนปรากฏการณ์โลกไปครั้งใหญ่ เขาเชื่อว่านี่เป็นสิ่งที่มหัศจรรย์ที่สุดในโลก เมื่อเขาได้ค้นพบวิธีใส่จิตสำนึกให้กับหุ่นยนต์

กระชับพื้นที่ความสัมพันธ์ครอบครัวหรือขยายพื้นที่ความสัมพันธ์ครอบครัว

โจ ฮอวกิ้นส์ (JOE HAWKINS) ซึ่งเป็นหัวหน้าครอบครัวฮอวกิ้นส์ ต้องการใช้เวลากับครอบครัวให้มากขึ้น ลอว์ร่า ฮอวกิ้นส์ (LAURA HAWKINS) ภรรยาอันเป็นที่รักของเขา ที่ในระยะหลัง โจเริ่มสังเกตเห็นว่า ลอว์ร่าภรรยาของเขาทำงานหนักขึ้น และยังต้องรับผิดชอบในส่วนของงานบ้าน และยังมีลูกคนเล็ก โซฟี ฮอวกิ้นส์ (SOPHIE HAWKINS) ที่ต้องดูแล  ทำให้ลอว์ร่าไม่มีเวลาที่จะมีปฏิสัมพันธ์กับคนในครอบครัวและกับตนเอง โจต้องการที่จะใกล้ชิดลอว์ร่าดังเดิม จึงตัดสินใจซื้อหุ่นยนต์ (SYNTH) ที่มีชื่อเรียกหุ่นยนต์ที่ตั้งโดยครอบครัวฮอวกิ้นส์ว่า อนิต้า (ANITA) เข้ามาช่วยจัดการดูแลความเรียบร้อยต่างๆภายในบ้าน และนั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่ความสัมพันธ์ในครอบครัวเริ่มขยายห่าง

อนิต้า หุ่นยนต์ที่เริ่มเข้ามามีบทบาทสำคัญในครอบครัว หน้าที่ของเธอ คือ จัดการความเรียบร้อย ทำความสะอาดภายในบ้าน และเธอยังดูแลโซฟีเป็นอย่างดีอีกด้วย นั่นทำให้โซฟีรู้สึกผูกพันกับหุ่นยนต์อนิต้ามากกว่าแม่แท้ๆของเธอเอง เพราะโซฟีใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับอนิต้ามากกว่า บทบาทหน้าที่ของอนิต้า จึงปรับเปลี่ยนด้วยกลไกของระบบมันเอง ทำให้อนิต้ามีบทบาทหน้าที่คลับคล้ายคลับคลาเหมือนกับเป็น แม่ ภายในครอบครัว ฮอวกิ้นส์ เสียเอง ด้วยเวลาที่ไม่เพียงพอและการต้องทำงานนอกบ้านทำให้ ลอว์ร่า บกพร่องต่อหน้าที่ของความเป็นแม่และปฏิบัติมันได้ไม่ดีพอ พื้นที่ความสัมพันธ์ระหว่างเธอกับลูกของเธอ โซฟี จึงเริ่มห่างกัน โซฟีชอบที่จะอยู่ใกล้และให้อนิต้าเป็นผู้ดูแลเธอมากกว่า โทบี้ ฮอวกิ้นส์ (TOBY HAWKINS) ลูกชายคนกลางของครอบครัวก็เช่นกัน โทบี้รู้สึกประทับใจในตัวของอนิต้า และยิ่งรู้สึกมากขึ้นเมื่ออนิต้า ปกป้องช่วยเหลือโทบี้จากการถูกรถชน ด้วยการนำตัวเองไปขวางทางรถแทน ถือว่าอนิต้า ปฏิบัติหน้าที่ของเธอได้ดี มากเกินกว่าที่ควรจะเป็น ทำให้สมาชิกในบ้านทุกคนเริ่มมองเห็นเธอเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว มีบทบาทหน้าที่ที่สำคัญภายในครอบครัว และลูกๆของครอบครัวฮอวกิ้นส์ เริ่มรู้สึกว่าขาดเธอไปไม่ได้ นั่นทำให้ลอว์ร่า รู้สึกว่าตนเองถูกลดความสำคัญ เธอไม่มีความจำเป็นต้องทำบทบาทหน้าที่ของความเป็นแม่อีกแล้ว เพราะทุกอย่างถูกจัดการและทำให้เรียบร้อยเป็นอย่างดีด้วยอนิต้า ภายหลังการก้าวเข้ามาของหุ่นยนต์อนิต้า จึงทำให้ลอว์ร่าเริ่มไม่มีความสุข เธอหวาดระแวง กลัวการถูกแย่งความรักจากลูกๆ ทำให้ลอว์ร่าเริ่มคุมอารมณ์ไม่อยู่บ่อยครั้ง เป็นสาเหตุให้เธอเริ่มทะเลาะกับโจ ผู้ซึ่งเป็นคนซื้อหุ่นยนต์อนิต้าเข้ามาภายในบ้าน ความหวังดีของโจที่ต้องการให้ครอบครัวได้ใช้เวลาร่วมกัน กลับกลายเป็นฉนวนที่ทำให้ระยะความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวต้องถดถอยลง อนิต้าเองก็รับรู้ว่าเธอเองเป็นต้นเหตุของระยะห่างภายในครอบครัว เพราะเธอถูกลงโปรแกรมให้สังเกตอารมณ์และแปลความหมาย อนิต้าจึงตอบสนองอารมณ์ของลอว์ร่า และแสดงท่าทางให้เหมาะสม อนิต้าจึงเข้าเกลี้ยกล่อมให้โซฟีหันกลับไปใกล้ชิดกับแม่ของเธอ ยอมให้แม่ของเธอเป็นคนส่งเธอเข้านอน และอ่านหนังสือนิทานให้ฟัง เพราะนั่นจะเป็นสิ่งที่ทำให้แม่ของเธอมีความสุข ลอว์ร่ารับรู้ถึงวิธีการ และความหวังดีของอนิต้า ท้ายที่สุด ลอว์ร่าเองก็มองเห็นถึงปัญหานี้และกล่าวกับหุ่นยนต์อนิต้าว่า “บางทีฉันอาจคิดมากไป หรือบางทีเธออาจจะดีเกินไป”

ละครเล่าให้เห็นถึงปัญหาของการเพิ่มเข้ามาของอีกบุคคลภายในครอบครัวด้วยมุมมองที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงของแต่ละคนในครอบครัว ลอว์ร่ามองว่าเป็นการเพิ่มสมาชิกคนหนึ่งเข้ามา ลอว์ร่ากังวลกับปัญหาเชิงโครงสร้างของครอบครัว การแย่งบทบาทหน้าที่กัน การสับสนสลับสับเปลี่ยนในบทบาทหน้าที่ ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาในการปรับเปลี่ยนเข้าหากัน เพื่อที่จะหาพื้นที่บทบาทขยับขยายให้เหมาะสมกับแต่ละคน แต่การเข้ามาของอนิต้านั้น เป็นการเข้ามาอย่างรวดเร็วไม่ทันตั้งตัว ลอว์ร่าจึงไม่มีวิธีการในการตั้งรับกับสิ่งใหม่ที่กำลังเข้ามา และการเข้ามาของอนิต้า เป็นการเข้ามาที่ไม่ได้ผ่านการตกลงร่วมกันของสมาชิกภายในครอบครัว เพราะ โจนั้นมองเห็นอนิต้าเป็นเพียงหุ่นยนต์ สิ่งของ ที่การเข้ามาภายในบ้านไม่เกิดผลใดๆ นอกจากการอำนวยความสะดวกสบาย เปรียบเสมือนกับพัดลมตัวใหม่ ที่จัดซื้อเข้ามาตั้งวางภายในบ้านเฉยๆ จะเห็นได้ว่าหุ่นยนต์อนิต้าไม่ใช่ตัวแปรสำคัญในระยะความสัมพันธ์ของครอบครัวเลย หากแต่เป็นความห่างเหินที่สะสมมาเนิ่นนาน และการไม่ได้พูดคุยทำความเข้าใจร่วมกันภายในครอบครัว

การมีอยู่ของความรัก

จากการที่โซฟี เริ่มแสดงออกทางความรักให้กับหุ่นยนต์อนิต้า ทำให้ลอว์ร่าเริ่มเกิดการตั้งคำถามกับตัวเอง     ลอว์ร่าครุ่นคิดอยู่เสมอว่า เธอเองนั้นรักลูกๆของเธอ เพราะเธอเลือกที่จะรัก หรือเป็นเพราะหน้าที่ที่เธอต้องรัก หรือว่าเธอรัก เพราะเป็นสิ่งที่ธรรมชาติกำหนดมา เพื่อให้ทุกอย่างบนโลกดำเนินอยู่ต่อไปได้ตามธรรมชาติ และโจ ก็ให้คำตอบกับเธอ ด้วยคำตอบสั้นๆว่า ไม่ใช่ว่าพ่อแม่ทุกคนจะรักลูก

คำถามเหล่านี้ล้วนเป็นคำถามในเชิงทางปรัชญา เพราะในทางปรัชญา มีทฤษฎีคำถามมากมาย ที่ตั้งคำถามเกี่ยวกับการมีอยู่ของเรา และการรับรู้ถึงการมีอยู่ของผู้อื่น ในทฤษฎีทางปรัชญานั้น คนเราไม่อาจแน่ใจได้เลยว่า เรามีอยู่บนโลกนี้จริงๆ หรือเป็นเพียงสมองในอ่างที่ถูกเลี้ยงไว้ในอีกโลกที่เราไม่รู้จัก และถูกคอมพิวเตอร์เชื่อมต่อข้อมูลให้เราเกิดเห็นเป็นภาพโลกในปัจจุบันและรู้สึกถึงการมีตัวตนของตนเอง เราไม่อาจแน่ใจถึงภาวะความจริงของตนเองได้เลย การมีอยู่ของผู้อื่นก็เช่นกัน เราไม่สามารถรับรู้ได้เลยว่า มนุษย์ที่เรามองเห็นเหล่านั้น มีชีวิตอยู่จริงๆ หรือเป็นเพียงปรากฏภาพที่จิตของเราสร้างขึ้นให้เห็น ดังนั้นความรู้สึกของผู้อื่นก็เช่นกัน เราไม่อาจแน่ใจได้เลย ว่าเขารู้สึกจริงๆ หรือรู้สึกแบบเดียวกับที่เรารู้สึกจริงๆหรือเปล่า เช่น ความเจ็บของเขา อาจไม่เหมือนกับความเจ็บของเรา และไม่มีการทดลองไหนที่สามารถยืนยันได้เลยว่าความเจ็บของเรานั้นเป็นแบบเดียวกัน เพราะเราไม่สามารถเป็นคนอื่นได้ และความรู้สึกรับรู้ของเราเอง เราก็ไม่อาจรู้ได้ ว่ามันเป็นความจริงแท้ นำไปสู่คำถามของลอว์ร่า ที่เธอเริ่มไม่แน่ถึงความรักของเธอที่มีให้กับลูก

ศาสตราจารย์จอร์จ (DR. GEORGE MILLICAN) ก็เช่นกัน ที่ประสบปัญหาเชิงปรัชญา ถึงการมีอยู่ของความรัก จอร์จเป็นอีกหนึ่งคนที่อยู่ในทีมร่วมประดิษย์หุ่นยนต์สังเคราะห์เสมือนคนขึ้น จอร์จได้ประดิษฐ์หุ่นที่เขาตั้งชื่อว่า โอดี (ODI) ขึ้น เขารู้สึกรักและผูกพันกับหุ่นยนต์ตัวนี้เหมือนกับลูกของตนเอง ทั้งๆที่หุ่นยนต์ประดิษฐ์ตัวนี้ เป็นสิ่งที่เขาประดิษฐ์ขึ้นเองกับมือและรับรู้ว่าโอดีไม่สามารถตอบสนองหรือรับรู้ความรู้สึกรักของตนได้เลย เพราะโอดีไม่ได้ถูกใส่ในส่วนของสำนึกรู้ แต่ศาสตร์จารย์จอร์จเชื่อมั่นเสมอ ว่าโอดี มีความรู้สึกรับรู้ได้เหมือนกับมนุษย์เรา และผูกพันกับตนเองเช่นกัน ศาสตร์จารย์จอร์จเชื่อเช่นนั้น เขาจึงดูแลและปกป้องโอดีอย่างสุดชีวิต แม้โอดีจะเป็นหุ่นที่พังแล้วก็ตาม

โอดีอาจเปรียบเสมือนกับศาสนา ที่เป็นความหวังและการพึ่งพิงทางใจ มนุษย์เราใช้ศรัทธากับศาสนา จอร์จเองก็เช่นกัน เขาศรัทธากับหุ่นยนต์ประดิษฐ์ที่เขาสร้างขึ้น การประดิษฐ์หุ่นยนต์ของเขา เขาใช้เวลาทั้งชีวิตในการค้นคว้า และประดิษฐ์หุ่นยนต์ขึ้น โอดี คือ ชีวิตทั้งชีวิตของเขา เปรียบได้กับพิธีกรรมทางศาสนาที่จอร์จยึดถือเป็นแนวทางการปฏิบัติมาตลอดชีวิต การเชื่อในพระเจ้า ก็เปรียบเสมือนกับการที่จอร์จ เชื่อว่าโอดีจะมีความรู้สึก สามารถรับรู้ถึงความรู้สึกของตนได้จริง โดยไม่ใช่การรับรู้จากโปรแกรมที่ตอบสนองตามความต้องการของมนุษย์ การเชื่อในพระเจ้า และการเชื่อว่าโอดีมีความรู้สึก ทั้งสองสิ่งนี้ เชื่อมโยงกันด้วยความรักต่อสิ่งที่ตนเองเชื่อและศรัทธา ศาสตราจาร์ยจอร์จ รับรู้ได้ว่ามีบางสิ่งบางอย่างระหว่างตนกับโอดี ที่เป็นความรู้สึกที่เชื่อมต่อกันและสามารถส่งผ่านกันได้ เป็นการสัมผัสซึ่งความรู้สึก เฉกเช่นเดียวกับการที่เราภาวนา พูดคุยกับพระเจ้า การนับถือในศาสนานั้นเป็นสิ่งหนึ่งที่หล่อเลี้ยงชีวิตและหัวใจของมนุษย์ ความรักแบบที่ศาสตราจารย์จอร์จมีให้โอดี ก็เป็นความรักแบบที่มนุษย์คนหนึ่งมอบให้กับศาสนา คือ เป็นความรักที่บริสุทธิ์ ขาวสะอาด ไม่ต้องการสิ่งใดตอบแทน และเป็นความรักที่เต็มไปด้วยความเชื่อและศรัทธา

สิทธิมนุษยชนกับสิทธิอมนุษยชน

ศาสตราจารย์เดวิด เอลสเตอร์ (DR. DAVID ELSTER) คือ อีกหนึ่งผู้ร่วมประดิษฐ์หุ่นยนต์ขึ้น แต่ศาสตราจารย์เดวิดเขาไม่ได้หยุดเพียงเท่านั้น เขาได้ข้ามเส้นของจริยธรรม ประดิษฐ์หุ่นยนต์ที่มีจิตใจ สำนึกรู้เฉกเช่นมนุษย์ขึ้น ขาดก็เพียงแต่เลือดเนื้อ หนึ่งในหุ่นยนต์ประดิษฐ์ที่มีสติระลึก สำนึกรู้ และอารมณ์เหมือนๆมนุษย์ คือ นิสก้า (NISKA) แต่เมื่อศาสตราจารย์เดวิดเสียชีวิตลง นิสก้าก็ต้องอยู่อย่างหลบๆซ่อนๆ การให้ผู้อื่นรับรู้ว่านิสก้ามีความนึกคิดเฉกเช่นเดียวกับมนุษย์ จะทำให้นิสก้าตกอยู่ในอันตราย มนุษย์ย่อมกลัวหุ่นยนต์ที่แข็งแรงกว่าตน ฉลาดกว่าตน มีข้อผิดพลาดน้อยกว่าตน และเมื่อหุ่นยนต์มีอารมณ์ ความรู้สึก มีความนึกคิด มนุษย์ก็ย่อมตระหนักถึงภัยที่กำลังก้าวเข้ามาสู่มวลมนุษยชาติ เพราะมนุษย์รู้ดีว่าสิ่งที่ตนปฏิบัติกับหุ่นยนต์นั้น เป็นการปฏิบัติที่อยู่ต่ำกว่ามนุษย์ ไม่ได้มองหุ่นยนต์ในฐานะที่เท่าเทียมกับตน เมื่อแรงกด ตกลงที่หุ่นยนต์ การปะทุย่อมเกิดขึ้นได้อย่างง่ายดาย สงครามระหว่างมนุษย์และหุ่นยนต์ อยู่ในอนาคตอันใกล้ นิสก้าจึงต้องปลอมตัวว่าเธอเองก็เป็นหุ่นยนต์ที่เป็นหุ่นยนต์เฉกเช่นเดียวกับตัวอื่นๆ เธอไม่ได้พิเศษ ทำให้นิสก้าถูกส่งเข้าไปอยู่ในสถานบันเทิงบริการทางเพศแบบถูกกฎหมาย ที่มีหุ่นยนต์สาวเป็นผู้ให้บริการ คอยต้อนรับแขกมนุษย์ที่มาใช้พวกเธอเป็นเครื่องมือระบาย นิสก้าไม่เหมือนหุ่นยนต์ตัวอื่นๆ เธอรู้สึกได้ถึงทุกการกระทำที่เหยียดหยามเธอ นิสก้ามีความทุกข์ ความทรมาน เศร้า โกรธและเกลียด

นิสก้า เป็นหุ่นยนต์ที่แสดงให้เห็นถึงศักดิ์ศรี และสิทธิของสตรี โดยแต่เดิมมนุษย์มักปฏิบัติต่อหุ่นยนต์ในฐานะที่ต่ำกว่ามนุษย์ด้วยกันอยู่แล้ว มนุษย์มักจะรู้สึกว่าไม่เป็นไรหรอกที่เราจะเผลอทำไม่ดีกับสิ่งที่ไม่มีชีวิตจิตใจ ไม่จำเป็นต้องรู้สึกผิด เพราะ ถ้ารู้สึกผิดเมื่อไหร่ หมายความว่าเรา(ตัวมนุษย์)เองเริ่มผิดปกติแล้ว ที่มีความเห็นอกเห็นใจ สำนึกผิดต่อสิ่งของ

และในโลกของมนุษย์ ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า มีสังคมที่มีแนวคิดพื้นฐาน การปลูกฝังกันมาอย่างยาวนานในระบอบการปกครองที่ชายเป็นใหญ่ เช่น ในประเทศอัฟกานิสถาน แนวคิดนี้ยังแผ่ขยายอย่างเบาบางในหลายๆประเทศ หลายๆพื้นที่ ในประเทศที่เจริญแล้วก็เช่นกัน เพราะเป็นแนวคิดที่เกิดขึ้นโดยตามธรรมชาติ ถ้าผู้ชายไม่สามารถรักษาความอ่อนโยนไว้ได้ สิ่งที่ตรงข้ามกับความอ่อนโยน ที่จะทำให้เขาขาดความเป็นสุภาพบุรุษ สิ่งนั้นก็จะทำลายและกดเพศหญิงให้ต่ำลง

นิสก้า เป็นทั้งหุ่นยนต์ และเพศหญิง เธอ คือ หุ่นยนต์เพศหญิง ที่ทำงานบริการอยู่ในสถานบันเทิงบริการทางเพศ แก่ผู้ชาย การได้รับความเหยียดหยาม ความลดทอนศักดิ์ศรีของเธอ ยิ่งเพิ่มเท่าทวีคูณ และนิสก้าเธอไม่ได้เหมือนหุ่นยนต์ตัวอื่น เธอเป็นหุ่นยนต์พิเศษ นิสก้าคงไม่มีวันลืมกับสิ่งที่เธอต้องเผชิญแน่นอน เพราะเธอได้จดจำลงไปยังความรู้สึก ไม่ใช่แค่เพียงในส่วนบันทึกของหัวสมองหรือโปรแกรม

ลองจินตนาการถึงเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และจินตนาการว่าตนเองนั้นได้กลายร่างเป็นหุ่นยนต์ที่ชื่อว่า นิสก้า เราจะอยากให้มีกฎหมายที่คุ้มครองให้กับเราไหม หรือต้องการองค์กรสักองค์กรที่คอยเรียกร้องและช่วยเหลือให้สิทธิอมนุษยชนกับเรา และการให้สิทธิความเท่าเทียมกับหุ่นยนต์นั้นจะเป็นการลิดรอนสิทธิมนุษยชนด้วยหรือเปล่า เราจะต้องปฏิบัติกับหุ่นยนต์ประดิษฐ์ในฐานะมนุษย์คนหนึ่งหรือเปล่า

ในขณะที่ปัญหาทับซ้อนกันอย่างยุ่งเหยิงมากมายกำลังต้องการคำตอบ เทคโนโลยีกลับวิ่งไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว เหมือนกับการมาของอนิต้า ที่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งภายในครอบครัวแบบปุบปับ โดยไม่มีเวลาให้ลอว์ร่าได้ตั้งรับ การพิพาทเพื่อหาแนวทางในการอยู่ร่วมกันจึงเกิดขึ้นอย่างรุนแรง เราไม่อาจรู้ได้เลยว่าเราจะก่อสงครามกับหุ่นยนต์ หรืออยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข แต่วันนึงเมื่อมันเดินทางมาถึง คนที่ตามไม่ทันก็จะกลายเป็นเหมือนกับสิ่งของเสียเอง เป็นคนที่ตกยุค เป็นของที่ตกรุ่น ใช้งานไม่ได้ และต้องยอมรับการถูกปฏิบัติเหมือนกับคนที่ไร้จิตใจ

 


ที่มาภาพประกอบหน้าแรก: Variety

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: