คุยกันหลังหนังจบ: JOKER เสียงหัวเราะแสนขมขื่น

ธนเวศม์ สัญญานุจิต: 22 ต.ค. 2562 | อ่านแล้ว 3991 ครั้ง


บทความชิ้นนี้เปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของภาพยนตร์ 

JOKER ของผู้กำกับ Todd Phillips ที่เลือกลงไปสำรวจตัวละคร “วายร้าย” อันเป็นตำนานจากคอมิคชื่อดังอย่าง “โจ๊กเกอร์” ตัวตลกผู้เป็นเจ้าชายแห่งอาชญากรรมเมืองก็อทแธม โดยไม่เข้าไปวุ่นวายกับการ สานต่อจักรวาล DC Extended Universe จึงทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้พาผู้ชมจมจ่อม และดำดิ่งลงไปสู่ความบ้าคลั่งของตัวละคร ในฐานะที่เขาเป็น “ตัวเอก” ของเรื่อง มิใช่ ตัวละครสมทบที่มาปะทะกับซุปเปอร์ฮีโร่

ความน่าสนใจของ JOKER ในฐานะของการสร้างตัวละครนี้คือ การเลือกที่จะผลักดันให้ตัวละครมีพัฒนาทั้ง 3 ระดับ คือระดับภายในตัวละคร ระดับระหว่างตัวละคร และในระดับตัวละครกับสังคม

อาเธอร์ เฟล็ค ชายผู้ป่วยจิตเวช ที่ต้องการเป็นดาวตลกเดี่ยวไมโครโฟน อาศัยอยู่กับแม่เพราะความยากจน คอยรับงานตัวตลกจากที่ทำงาน เขามีอาการควบคุมการหัวเราะไม่ได้ และหัวเราะออกมาโดยไม่สัมพันธ์กับอารมณ์ เขาเข้ารับการรักษาแบบสังคมสงเคราะห์และคอยรับยา ซึ่งเป็นระบบจากภาครัฐ แม้อาการจะไม่ได้ดีขึ้นมาเท่าใด แต่อาเธอร์ “มีสมดุล” กับชีวิตตัวเองในระดับหนึ่ง สามารถประคองตัวเองไปได้

ในระดับภายในตัวละคร อาเธอร์นั้นมีอาการประสาทหลอน เห็นภาพไปเอง คิดไปเอง บางสิ่งที่เขาหรือคนดูคิดว่าเป็นจริง กลับกลายเป็นจินตนาการของอาเธอร์เอง เวลาที่อาเธอร์สังหารคนที่เข้ามาทำร้ายเขาในรถไฟ นั่นคือช่วงเวลาที่เขา “เสียดุล” เขาประสาทหลอนว่ามีคนรัก รวมไปถึงเวลาที่เขาเผชิญความจริงที่ว่า แม่ของเขาเป็นผู้ป่วยจิตเวช ทำให้เขาเข้าใจผิดเกี่ยวกับชาติกำเนิดของตัวเอง และปล่อยให้เขาโดนทารุณกรรมตั้งแต่เด็ก เป็นต้นเหตุของเสียงหัวเราะอันขมขื่นของเขาที่ควบคุมไม่ได้ หากมองในมิตินี้เพียงมิติเดียว เราจะพบว่าอาเธอร์คือผู้ป่วยจิตเวช เขาเคยเป็นเหยื่อทารุณกรรม

ซ้ำร้ายความขัดแย้งระหว่างตัวละคร ซัดโถมให้ทุกอย่างเลวร้ายกว่าเดิม ซัลลิแวน เพื่อนร่วมงานของอาเธอร์เอาปืนให้อาเธอร์พกไว้ และนั่นทำให้อาเธอร์ตกงาน เขาเผลอทำปืนหล่นระหว่างแสดงตลกในโรงพยาบาลเด็ก แล้วพยายามโทษอาเธอร์เพียงคนเดียว แม่ของอาเธอร์เองที่ประสาทหลอนว่าอาเธอร์คือลูกนอกสมรสของมหาเศรษฐีโธมัส เวย์น รวมไปถึง เมอร์เรย์ พิธีกรรายการเบาสมองยามเย็นที่อาเธอร์เทิดทูนและฝันจะได้ไปร่วมเวทีด้วย แต่พอเอาเข้าจริง อาเธอร์ได้รับเชิญไปร่วมรายการเพียงเพราะจะได้ถูกล้อเลียนทำตลก กลายเป็นเพียงคนที่ถูกเหยียบย่ำกลางรายการทีวี สิ่งเหล่านี้ยิ่งทำให้อาเธอร์โกรธแค้นสิ่งรอบตัวมากขึ้น นอกจากอาการป่วยของตัวเองแล้ว คนรอบข้างต่างทำร้ายเขา ซ้ำร้ายที่สุด ซ้ำร้ายยิ่งกว่านั้น...

ในระดับตัวละครกับสังคม หรือ ฉากหลังของเรื่องมันขับเคลื่อนเมืองกอทแธม หรือ โครงสร้างสังคม ที่ภาพยนตร์เรื่องนี้สมมติขึ้น ให้คนดูเห็นภาพชัดเจนว่า โครงสร้างสังคมมีบทบาทไม่น้อย ในการเปลี่ยนคนให้กลายเป็นอาชญากร เปลี่ยนชายที่รักในเสียงหัวเราะ กลายเป็นตัวตลกอาชญากรที่ทาปากด้วยเลือดสีแดงฉานในตอนท้ายได้ ในเชิงอาชญวิทยา (Criminology) ศาสตร์ที่ศึกษาถึงการเกิดอาชญากรรม ในสำนักคิดแบบชิคาโก (Chicago school) ก็ยังมีการยืนยันถึงสิ่งที่เรียกว่า สภาพโครงสร้างสังคม เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้เกิดอาชญากรรม เพราะมนุษย์เราปรับตัวไปตามสภาพแวดล้อม หากสภาพแวดล้อมนั้นเลวร้าย เต็มไปด้วยชนวนเหตุของความรุนแรง ก็มีความเป็นไปได้สูงทีเดียวที่ทำให้เกิดความรุนแรง ความวุ่นวายขึ้น

ตั้งแต่ต้นเรื่อง ก็อทแธมอยู่ในสภาพที่เราพบเห็นแต่ความไม่พอใจ และความไม่เท่าเทียม เหลื่อมล้ำอย่างรุนแรง พนักงานเก็บขยะหยุดงานประท้วงยาวนาน เต็มไปด้วยความไม่พอใจของคนหาเช้ากินค่ำที่มีต่อชนชั้นสูงของสังคม เหล่าคนรวยในก็อทแธม รวมถึงโธมัส เวย์นที่จะลงเลือกตั้งเป็นนายกเทศมนตรี อาเธอร์เองก็ยากจนข้นแค้น เขาต้องอาศัยอยู่กับแม่เพราะความยากจน การรักษาของเขาต้องพึ่งพิงระบบสังคมสงเคราะห์ของภาครัฐ และจุดเริ่มต้นของการเสียดุลในชีวิตของเขา คือการที่ภาครัฐตัดงบประมาณสังคมสงเคราะห์ ทำให้อาเธอร์ไม่สามารถมาพบหมอได้ ไม่สามารถรับยารักษาอาการจิตเวชของเขาได้ นี่คือชนวนแรกสุด ที่ทำให้เขาอาการแย่ลง และเห็นภาพหลอน เราคงนึกภาพออกไม่ยาก หากสิ่งนี้เกิดขึ้นในโลกความเป็นจริงจะเป็นยังไง เมื่อคนที่อยู่ส่วนล่างของสังคม ถูกดึงเอาที่พึ่งด้านการรักษาพยาบาลออกไป

ยิ่งไปกว่านั้น อาเธอร์ก็อยู่ใกล้กับความเสี่ยงต่อความรุนแรงมากมาย สังคมก็อทแธมทำให้คนทั่วไปหาปืนมาครอบครองได้ง่าย อาเธอร์จึงได้ปืนมาครอบครอง และพกพาไปไหนมาไหน “เพื่อป้องกันตัว” ประกอบกับระบบโครงสร้างด้านสวัสดิภาพของคนในสังคมไม่มีประสิทธิภาพ อาเธอร์ตกเป็นเหยื่อของการทำร้ายหลายต่อหลายครั้ง จนครั้งสุดท้ายที่เขาทนไม่ไหว เขาจึงเหลือที่พึ่งเดียว ที่พึ่งสุดท้ายที่เขาพกเอาไว้ “ปืน”

การลั่นไกสังหารชาย 3 คนที่เข้ามาทำร้ายเขา กลายเป็นสะเก็ดไฟที่ตกลงบนน้ำมันที่ราดเอาไว้ อาเธอร์สัมผัสการฆ่า สภาพจิตของเขาเลวร้ายจนเห็นภาพหลอน นั่นคือก้าวแรกสุดที่อาเธอร์เหยียบย่างลงบนถนนอาชญากรรม และการลั่นไกในครั้งนั้น ก็คือสะเก็ดไฟที่สาดไปใส่น้ำมันที่สังคมก็อทแธมราดรอไว้แล้ว เพราะชาย 3 คนนั้นคือ “ชนชั้นสูง” ของก็อทแธม นั่นคือรอยร้าวแรกสุดที่นำพาก็อทแธมไปสู่ความล่มสลายของระเบียบกฎหมาย และเข้าสู่อนาธิปไตยในตอนท้าย ด้วยการลั่นไกกลางรายการโทรทัศน์ นั่นคือสะเก็ดไฟสุดท้ายที่นำพาก็อทแธมล่มสลาย

หากความเหลื่อมล้ำในก็อทแธมไม่หนักหนาขนาดนั้น หากสวัสดิการไม่ถูกตัดไป หากการหาอาวุธปืนมันทำได้ยากลำบากมากกว่านั้น หากสวัสดิภาพความปลอดภัยของพลเมืองดีกว่านั้น อาเธอร์ เฟล็ค อาจจะยังพยายามใช้ชีวิตอยู่ต่อไปในห้องช่าเล็กๆ นั่นกับแม่ของเขา แต่ก็ไม่ใช่ อาเธอร์ยืนอยู่ท่ามกลางแสงกองเพลิงแห่งความโกลาหล หลังระบบระเบียบในก็อทแธมล่มสลาย และเข้าสู่การจลาจล เขาปาดป้ายเลือดจากปากตัวเองออกเป็นรอยยิ้มกว้างสีแดงฉาน คล้ายตลกยิ้มเยาะชีวิตตัวเองที่เป็นดั่งเรื่องตลกแสนเศร้า เขากลายเป็นตัวตลกบ้าคลั่งเพราะความป่วยไข้ เพราะความแค้น และสังคมที่กดทับ

เสียงหัวเราะของเขานั้นทั้งน่ากลัวและน่าเวทนา

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: