ยินดีต้อนรับ 'การปฏิวัติแอลจีเรีย'

แปลและเรียบเรียงโดย พัชณีย์ คำหนัก 20 เม.ย. 2562 | อ่านแล้ว 3191 ครั้ง

ยินดีต้อนรับ 'การปฏิวัติแอลจีเรีย'

ว่าด้วย 'การปฏิวัติแอลจีเรีย' สรุปจากคำสัมภาษณ์ของ 'Hamza Hamouchene' นักกิจกรรมจากกลุ่มความยุติธรรมด้านสิ่งแวดล้อมแห่งแอฟริกาเหนือ และผู้ก่อตั้งการรณรงค์สมานฉันท์ชาวแอลจีเรีย ให้สัมภาษณ์แก่องค์กรสังคมนิยมทางเลือกออสเตรเลีย ที่มาภาพ: Hamza Hamouchene 

เป็นเรื่องน่ายินดีอย่างยิ่งที่ประชาชนของประเทศแอลจีเรียและซูดาน ทางตอนเหนือของทวีปแอฟริกาสามารถโค่นล้มประธานาธิบดีเผด็จการลงได้ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันคือเดือน มี.ค. และ เม.ย. 2019 ซึ่งการปฏิวัติโค่นล้มผู้นำประเทศของสองกรณีคล้ายคลึงกัน คือ

1. ประธานาธิบดีทั้งสองประเทศครองอำนาจมานานและเป็นเผด็จการ ในกรณีของแอลจีเรียประธานาธิบดี นายอับเดลาซิส บูเตฟลิก้าอยู่ในอำนาจมานาน 20 ปี ทั้งมีแผนที่จะสมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดีสมัยที่ 5 ในปีนี้อีกด้วย ทั้งที่อายุมากถึง 82 ปีแล้ว และยังเจ็บป่วยเป็นอัมพาตส่วนหนึ่งเสมือนแบตเตอรี่ที่เสื่อมสภาพ ส่วนกรณีของซูดาน ประธานาธิบดี นายโอมา อัล-บาเชียร์ถือครองอำนาจมานาน 30 ปี ซึ่งทั้งสองกรณีได้รับการสนับสนุนจากกองทัพและตลอดระยะเวลาของการบริหารประเทศเต็มไปด้วยปัญหาทั้งทางเศรษฐกิจ การคอรัปชั่น ความไม่ยุติธรรมทางสังคมและการละเมิดสิทธิพลเมืองอย่างสุดขั้ว โดยเฉพาะกรณีของซูดานที่มีสงครามกลางเมืองในแคว้นดาร์ฟูร์และทางตอนใต้ของประเทศ ทำให้เกิดปัญหาประชาชนอดอยากยากแค้น พลัดถิ่นไร้ที่อยู่อาศัย เจ็บป่วย จากการก่อสงครามกับประชาชน ศาลอาญาระหว่างประเทศจึงตั้งข้อหาประธานาธิบดีซูดานเป็นอาชญากรสงครามและเป็นภัยต่อมนุษยชาติ สำหรับกรณีแอลจีเรีย แม้จะไม่มีสงครามกลางเมืองแต่มีปัญหาคอรัปชั่นรุนแรง รัฐเอื้อประโยชน์ให้ทุนผูกขาดเศรษฐกิจ ปัญหาความเหลื่อมล้ำ การกดขี่ผู้หญิงและชาวเบอเบอร์ ซึ่งเป็นชนชาติดั้งเดิมของประเทศก่อนที่จะมีการรุกรานของประเทศฝรั่งเศสและการเข้ามาของชาวอาหรับ

2. การต่อสู้ของขบวนการภาคประชาชนมีองค์ประกอบคล้ายกัน คือ การนัดหยุดงานของสหภาพแรงงานอิสระ การนำและการมีส่วนร่วมของผู้หญิงและคนหนุ่มสาวกับการใช้แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียเป็นเครื่องมือในการระดมผู้ประท้วงให้มากขึ้น

ก่อนหน้านี้ ผู้เขียนได้นำเสนอเรื่องการนัดหยุดงานและการนำการต่อสู้ของผู้หญิงในซูดานแล้ว บทความนี้ขอนำเสนอเรื่องการต่อสู้ของแอลจีเรีย โดยสรุปจากคำสัมภาษณ์ของ Hamza Hamouchene นักกิจกรรมจากกลุ่มความยุติธรรมด้านสิ่งแวดล้อมแห่งแอฟริกาเหนือและผู้ก่อตั้งการรณรงค์สมานฉันท์ชาวแอลจีเรีย ให้สัมภาษณ์แก่องค์กรสังคมนิยมทางเลือก ประเทศออสเตรเลีย

เผด็จการคอรัปชั่นคือสาเหตุของการประท้วงของมวลชนที่หลากหลาย

การประท้วงของประชาชนเริ่มต้นทันทีหลังจากที่ประธานาธิบดีนายอับเดลาซิส บูเตฟลิก้า ประกาศสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยที่ 5 ช่วงแรกของการประท้วงนั้นเป็นเพียงการเดินขบวนของกลุ่มเล็กๆ ในเมืองหลวงแอลเจียร์และค่อยๆ ใหญ่โตขึ้น โดยทุกวันศุกร์ตั้งแต่วันที่ 22 ก.พ. 2019 ชาวแอลจีเรียหลายล้านคน อาจสูงถึง 22 ล้านจากประชากรทั้งหมด 42 ล้านคน ทั้งคนหนุ่มสาว ผู้สูงวัย ทั้งชายหญิงจากชนชั้นทางสังคมต่างๆ ตั้งแต่นายธนาคารไปจนถึงคนทำขนมปัง คนขับรถบรรทุก ครู พนักงานบริการไปจนถึงนักศึกษา ออกมาประท้วงบนท้องถนนในวันศุกร์ จากนั้นคนงานในภาคการศึกษา สาธารณสุขและคนงานอุตสาหกรรมปิโตรเคมีระดมคนออกมาประท้วงเพิ่มขึ้น แม้รัฐบาลจะปราบปราม เป็นระยะๆ

ผู้ประท้วงต่อต้านการสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของประธานาธิบดีคนดังกล่าว เนื่องจากเขามีอายุมากและบริหารงานย่ำแย่ พร้อมกับต่อต้านพวกชนชั้นปกครอง และเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริงและความยุติธรรม เพราะภายใต้การปกครองของชนชั้นนำได้ก่อวิกฤตภายในที่ทำให้ประชาชนไม่พอใจระบอบการปกครองแบบเผด็จการทั้งระบอบ

กล่าวคือที่ผ่านมาการปกครองมีลักษณะกดขี่ข่มเหงประชาชน มีปัญหาความยากจนเหลื่อมล้ำ คนหนุ่มสาวว่างงานสูง เพราะมีการคอรัปชั่น การพัฒนาที่ไม่ทั่วถึง การกดขี่ผู้หญิงด้วยระบบชายเป็นใหญ่

คำขวัญของขบวนการประชาชน คือ “เราต้องการให้ทั้งหมดออกไป” นั่นคือต้องการโค่นล้มทั้งระบบซึ่งเป็นสโลแกนในยุคปฏิวัติอาหรับสปริงช่วงปี 2010-2011 นั่นหมายความว่า การต่อสู้ของประชาชนในซูดานและแอลจีเรียเป็นการต่อสู้อย่างต่อเนื่องในแอฟริกาเหนือและเอเชียตะวันตก เป็นพัฒนาการทางการเมืองการต่อสู้ที่มีทั้งขึ้นและลง ได้รับชัยชนะบ้าง พ่ายแพ้บ้าง มีการเปลี่ยนผ่านของระบอบเสรีทุนนิยมประชาธิปไตยในตูนิเซีย มีการต่อตานการปฏิวัติ มีการแทรกแซงของพวกประเทศมหาอำนาจ

ความเหลื่อมกันระหว่างประเด็นต้านจักรวรรดินิยมและต้านรัฐเผด็จการ

การต่อสู้ของประชาชนแอลจีเรียซับซ้อนกว่าซูดาน ในเง่ประวัติศาสตร์การต่อสู้กับมหาอำนาจ ชาวแอลจีเรียถูกฝรั่งเศสรุกราน และได้ต่อสู้ปลดแอกจากการเป็นอาณานิคมจนสำเร็จเมื่อปี 1962 ทำให้ประเด็นต้านจักรวรรดินิยมเป็นเรื่องสำคัญของขบวนการต่อสู้ภาคประชาชนในยุคนั้นและในเวลาต่อมา มีการให้เครดิตกับประธานาธิบดีบูเตฟลิก้า เพราะเคยร่วมต่อสู้ปลดแอก เขาจึงได้รับการสนับสนุนเป็นประธานาธิบดี อย่างไรก็ตาม ณ ปัจจุบัน ประชาชนได้เห็นธาตุแท้ของเขา มีการทุจริตการประมูลและเอื้อประโยชน์ให้นายทุน ชนชั้นนำยังกอบโกยเอาทรัพยากรมานานกว่า 30 ปี มีการปราบปรามการประท้วง

ในขบวนการประท้วงจะเห็นว่ามีธงชาติของปาเลสไตน์เคียงข้างกับธงชาติของแอลจีเรียด้วย ทั้งนี้ ชาวแอลจีเรียมีความสมานฉันท์กับชาวปาเลสไตน์ในประเด็นอ่อนไหวต่อลัทธิจักรวรรดินิยม การเหยียดเชื้อชาติที่คล้ายกันนั่นเอง เนื่องจากคนส่วนใหญ่ของแอลจีเรียเป็นชาวเบอเบอร์ดั้งเดิม ซึ่งถูกมองว่าเป็นชนกลุ่มน้อย ชาวอาหรับก็เป็นส่วนหนึ่งของชุมชนแอลจีเรีย เราจึงต่างเป็นชาวอาหรับ-เบอเบอร์ แต่เรื่องเชื้อชาติกลายเป็นประเด็นตึงเครียดในช่วง 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมา คือความหลากหลายทางวัฒนธรรมของประเทศถูกทำให้คับแคบ โดยกีดกันชาวเบอเบอร์ซึ่งเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของแอลจีเรียและลดทอนให้เป็นเพียงชนกลุ่มน้อย จึงมีขบวนการต่อสู้ทางวัฒนธรรมของชาวเบอเบอร์ในแคว้น Kabylie ทางตอนเหนือของประเทศ ตั้งแต่ช่วงปี 1960 ต่อต้านระบอบอำนาจนิยมของรัฐบาลที่ดูถูกภาษาและกีดกันทางเศรษฐกิจ และยังมีชนกลุ่มน้อยอื่นออกมาต่อสู้เช่นกัน ได้แก่ กลุ่ม Chaouis, Mouzabit และ Touaregs

ช่วงของการประท้วงของชาวแอลจีเรีย บทบาทของผู้หญิงมีความสำคัญมากเนื่องจากเป็นผู้ถูกกดขี่จากระบบชายเป็นใหญ่ และพวกอนุรักษ์นิยม อาจไม่แตกต่างจากซูดานที่บทบาทของผู้หญิงนำการปฏิวัติ นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มนักศึกษาและขบวนการแรงงานเข้าร่วม ทั้งนี้ พรรคการเมืองในระบบนั้นไม่สามารถต่อต้านระบอบการปกครองแบบอำนาจนิยมได้ ประชาชนจึงต้องออกมาต่อสู้บนท้องถนน แม้แต่พรรคฝ่ายซ้ายที่ใหญ่ที่สุดในแอลจีเรียคือ พรรคแรงงานที่นำโดยนาง Louisa Hanoune ซึ่งเป็นสายทร็อตสกี้ แต่สนับสนุนประธานาธิบดีมาเป็นเวลานาน เนื่องจากมองว่าเขาเป็นผู้ที่ต่อต้านลัทธิล่าอาณานิคม กลายเป็นว่าพรรคแรงงานสนับสนุนระบอบอำนาจนิยมไปด้วย แม้วประธานาธิบดีจะใช้นโยบายเสรีนิยมอย่างสุดขั้ว จากการที่มีโครงการประมูลงานให้แก่ทุนตะวันตกและบรรษัทข้ามชาติ โดยเฉพาะธุรกิจน้ำมันและก๊าซ ซึ่งเป็นเศรษฐกิจอันดับ 1 ของประเทศ จึงเป็นเหตุให้สหภาพแรงงานในอุตสาหกรรมดังกล่าวนัดหยุดงานขับไล่ประธานาธิบดี ซึ่งแตกต่างจากซูดานที่มีสมาคมวิชาชีพ เช่น หมอ วิศวกร ครู มีบทบาทในการจัดตั้งขบวนการปฏิวัติ

กระนั้นก็ยังมีองค์กรทางการเมืองที่มีขนาดเล็กกว่าคือ องค์กรสังคมนิยมแรงงานและขบวนการสังคมประชาธิปไตย ที่ตอนนี้พยายามเรียกร้องการจัดตั้งของแรงงาน นักศึกษาและประชาชนอื่นๆ ให้มีความเป็นอิสระและเป็นพลังต่อต้านระบอบเผด็จการคอรัปชั่นต่อไป

 


แปลและเรียบเรียงจากเว็บไซต์กลุ่มสังคมนิยมทางเลือก ออสเตรเลีย https://redflag.org.au/node/6759 และจากนิวยอร์กไทม์ https://www.nytimes.com/2019/03/24/world/africa/algeria-protests-bouteflika.html

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: