เด็กไทยเรียนหนัก-เครียดพ่อแม่กดดัน-แบกความหวังของคนรอบข้าง

ณัฐธนีย์ ลิ้มวัฒนาพันธ์ | TCIJ School รุ่นที่ 6 | นักศึกษาคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยศิลปากร | 19 ก.ค. 2562 | อ่านแล้ว 83926 ครั้ง

นักวิจัยสสส.เผยเด็กไทยเรียนหนัก มีเวลาคุยกับพ่อแม่วันละ 10 นาที แม้เปลี่ยนใช้ TCAS แต่ยังเพิ่มความกดดันให้เด็ก ต้องทำคะแนนสูง-เตรียมผลงานเข้ามหาวิทยาลัย ทั้งสร้างความเครียดและอาจเพิมความผิดหวัง ด้านองค์การอนามัยชี้ฆ่าตัวตายเป็นสาเหตุการตายอันดับ 2 ของคนที่มีอายุ 15-29 ปี นักวิชาการชี้สังคมไทยมองเป้าหมายผิดจุด แนะระบบรับเข้าอุดมศึกษาต้องมีเป้าหมายการศึกษาชัดเจน ที่มาภาพประกอบ: The New York Times

พบเด็กไทยเรียนหนักที่สุดในโลก

นักวิจัยสาธารณสุขแห่งชาติสนับสนุนโดยสำนักงานส่งเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่าเด็กไทยเรียนหนักที่สุดในโลกรองจากประเทศญี่ปุ่นและส่งผลให้มีเด็กนักเรียนลาออกกลางคันปีละ 900,000 คนและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น อีกทั้งส่งผลให้เด็กนักเรียน 386,250 คนเลือกทำอาชีพผิดกฎหมายเพื่อหาค่าเล่าเรียน นอกจากนี้ยังพบว่าเด็กไทยเรียนวันละ 8-10 คาบต่อวันและยังมีนักเรียนบางส่วนรู้สึกเบื่อจนไม่อยากเรียน และที่น่าเป็นห่วง คือ เด็กไทยร้อยละ 87 มีเวลาพูดคุยกับพ่อแม่เพียงวันละ 10 นาที

สุพิชา ตันพูน นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 เล่าว่า วันหนึ่งเธอเรียนวันละ 8 คาบ คาบละ 50 นาที ซึ่งเธอไม่ได้รู้สึกว่าหนักเกินเมื่อเทียบกับตารางเรียนพิเศษของเธอ สุพิชาเรียนพิเศษสัปดาห์ละ 6 วัน โดยจะเรียนคณิตศาสตร์และภาษาอังกฤษสลับกันวันจันทร์ถึงพุธครั้งละ 1 ชั่วโมงครึ่ง ส่วนในวันพฤหัสบดีจะเรียนพิเศษวิชาฟิสิกส์ครั้งละ 2 ชั่วโมงครึ่ง วันศุกร์จะเป็นวันที่เธอได้พักผ่อน และวันเสาร์เธอก็จะเรียนคณิตศาสตร์และภาษาอังกฤษวิชาละ 2 ชั่วโมงครึ่ง ในวันอาทิตย์เธอจะเรียนวาดรูป  6 ชั่วโมงเพราะเธอต้องการสอบเข้าคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สาขาออกแบบภายใน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

สุพิชายังเล่าอีกว่า หากเรียนที่โรงเรียนอย่างเดียวต้องตั้งใจเรียนมากๆถึงจะสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ แต่คะแนนที่ได้อาจจะไม่สูงมากนักและจะไม่รู้แนวข้อสอบ ทำให้ตกหล่นข้อมูลที่จะนำไปใช้ในการสอบ และ ยังบอกว่าเธอทุ่มเทให้กับการสอบกลางมากกว่าการสอนในโรงเรียน เนื่องจากการสอบในโรงเรียนจะมีคะแนนงานและการบ้านช่วยเสริมคะแนนของเธอได้ แต่การสอบกลางนั้นสอบได้เพียงรอบเดียวไม่มีสิทธิ์แก้ตัว

“ความจริงหนูไม่ได้เครียด แต่หนูเบื่อคือเรียนอะไรก็เบื่อหมด แบบอย่างเวลาไปเรียนพิเศษถ้าหนูเบื่อหนูก็จะหยิบโทรศัพท์มือถือมาเล่น โรงเรียนจะเก็บโทรศัพท์ตั้งแต่ตอนเช้า เล่นไม่ได้เพราะคาบเรียนติดกันหมด หนูก็เลยนั่งเหม่อแทน” ความรู้สึกของเด็กนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ต่อการเรียนของเธอเอง

เธอยอมรับว่า ส่วนใหญ่เธอจะคุบกับพ่อแม่แค่ช่วงระหว่างเดินทางไปโรงเรียนและกลับบ้านในเรื่องทั่วๆไป เพราะทั้งวันเธอต้องไปโรงเรียนและเรียนพิเศษ เมื่อกลับบ้านก็จะอ่านหนังสือและทำการบ้าน โดยแต่ละวันเธอจะเลือกว่าจะทำการบ้านหรืออ่านหนังสือหรือทำทั้งสองอย่างประมาณ 3-4 ชั่วโมง แต่ก็มีไปเดินห้างสรรพสินค้าหรือกินข้าวกับครอบครัวหลังเลิกเรียนบ้างเป็นครั้งคราว

เด็กไทยฆ่าตัวตายเพราะผิดหวังเรื่องเรียน

จากการเรียนที่มีจำนวนเวลาชั่วโมงค่อนข้างมาก ประกอบกับสถานการณ์ความกดดันจากสังคม ส่งผลให้จำนวนของเยาวชนที่คิดฆ่าตัวตายมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ข้อมูลสถานการณ์โรคซึมเศร้าจากกรมสุขภาพจิต พบว่า ปี 2560 กลุ่มเยาวชนอายุ 20-24 ปี มีอัตราการฆ่าตัวตาย 4.94 ต่อประชากรแสนคน ส่วนในปี 2561 เพิ่มขึ้นเป็น 5.33 ต่อประชากรแสนคน ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลการให้บริการสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ในปี 2561 มีการให้คำปรึกษาทางโทรศัพท์ทั้งสิ้น 70,534 ครั้ง แบ่งเป็นกลุ่มเด็กอายุ 11-19 ปี 10,298 ครั้ง หรือร้อยละ 14.6 และเป็นอายุ 20-25 ปี 14,173 ครั้ง หรือร้อยละ 20.1

ด้านนพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่าช่วง 6 เดือนแรกของปี 2562 มีผู้โทรเข้ามาปรึกษา 40,635 ครั้ง เป็นกลุ่มเด็กและเยาวชนอายุ 11-25 ปี รวม 13,658 ครั้ง เมื่อจำแนกตามประเภทของปัญหาพบว่า สัดส่วนของเด็กและเยาวชน ที่มีปัญหาความเครียดหรือวิตกกังวล ปัญหาความรัก ซึมเศร้า และมีความคิดหรือความพยายามฆ่าตัวตายมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

อีกทั้งปิยวรรณ วิเศษสุวรรณภูมิ หัวหน้าภาควิชาวิจัยและจิตวิทยาการศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์วิทยาลัย กล่าวในงานเสวนาหัวข้อ “เข้าใจปัญหาเยาวชนกับภาวะซึมเศร้า” ช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมาว่า เหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดอาจก่อให้เกิดความเสียใจและความเศร้ากับเด็กได้ เช่น การสอบได้คะแนนไม่ตรงตามความคาดหวังหรือผิดหวังจากผลคะแนนสอบที่ลดลง หรือการไม่เห็นคุณค่าในเด็กที่คะแนนไม่ดี เป็นต้น

อย่างไรก็ตามถึงแม้วัยเด็กและวัยรุ่นจะเป็นส่วนน้อย แต่ในช่วง 4 เดือนแรกของปีที่ผ่านมามีการนำเสนอข่าวเด็กนักเรียนและนิสิตนักศึกษาตัดสินใจจบชีวิตตนเองลงถึง 10 รายจากการรวบรวมของสำนักข่าวบีบีซีไทย ในเดือนมกราคม 1 ครั้ง กุมภาพันธ์ 4 ครั้ง มีนาคม 4 ครั้ง และเดือนเมษายนอีก 1 ครั้ง

ทั้งนี้ผลการสำรวจเยาวชนของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคประจำปี 2017 ชี้ให้เห็นว่า ร้อยละ 32 ของนักเรียนมัธยมประสบความเศร้าหรือสิ้นหวังอยู่ตลอดเวลา ร้อยละ 17 กล่าวว่าพวกเขาคิดที่จะพยายามฆ่าตัวตายอย่างจริงจัง  ร้อยละ 14 พวกเขาวางแผนฆ่าตัวตาย และร้อยละ 7 พวกเขาพยายามฆ่าตัวตาย

ถึงคะแนนสูง แต่สอบไม่ติด

หากพิจารณาถึงโครงสร้างการศึกษา ที่อาจกล่าวได้ว่าเป็นหนึ่งในปัจจัยที่สร้างความเครียดและความกดดันให้กับเด็กมาโดยตลอด จะพบว่าระบบการคัดเลือกนักเรียนระดับมัธยมศึกษาเพื่อเข้าศึกษาต่อในระดับมหาลัยอย่าง TCAS (Thai University Central Admission System) เองก็มีปัญหาอยู่ไม่น้อย

การปรับเปลี่ยนรายระเอียดของการรับเข้าเรียนระดับอุดมศึกษาแทบทุกปีสร้างความไม่ชัดเจนให้กับนักเรียน ที่มาภาพ: ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย

ระบบการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาระดับอุดมศึกษาของประเทศไทยได้รับการเปลี่ยนผ่านมา 3 ระบบ ระบบแรก คือ ระบบเอนทรานซ์ที่จะเป็นการสอบคัดเลือกและสามารถยื่นคะแนนได้เพียงครั้งเดียว ไม่มีสิทธิแก้ตัว ก่อนที่จะเปลี่ยนการคัดเลือกเป็นระบบแอดมิชชั่นที่ทำให้ผู้เข้าสอบมีโอกาสในการเตรียมตัวสอบมากขึ้น เนื่องจากจะมีการสอบความถนัดเฉพาะด้านและความถนัดทั่วไปที่มาพร้อมกับการเปิดรอบการสอบและการสมัครเข้าเรียนที่มากขึ้นเช่นกัน และระบบของเด็กนักเรียนตั้งแต่ปี 2561 ต้องเจอคือระบบ TCAS ที่เพิ่มโอกาสให้กับนักเรียนที่ต้องการสอบเข้ามหาวิทยาลัย เพราะมีการเปิดรับบุคคลเข้าศึกษาจำนวน 5 รอบ แต่สุดท้ายที่นั่งกลับเหลือมากกว่า 2 แสนที่นั่ง

ญาณิดา กายสุตหรือพลอย นักเรียนที่พึ่งผ่านระบบคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาระดับอุดมศึกษาแบบล่าสุดหรือระบบ TCAS รอบ 4 เผยว่า คณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่เธอหวังไว้มีคะแนนสูงถึงประมาณ 24,300 คะแนน ในขณะที่คะแนนของเธออยู่ที่ 24,258 คะแนนซึ่งถือเป็นคะแนนขั้นต่ำในปีที่แล้ว เพราะคณะวารสารฯเปิดรับสมัครเพียงรอบที่ 3 และ 4 แต่คะแนนของเธอไม่ถึงเกณฑ์ทั้ง 2 รอบ ทำให้ตัวเธอเองก็รู้สึกเสียดาย ในตอนนี้เธอตัดสินใจเข้าเรียนคณะมนุษยศาสตร์ สาขานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์แทน

“ก็เสียดายเพราะคะแนนเราก็อยู่ในระดับปลอดภัย ตอนแรกอยากซิ่วมาก แต่พอมาดูหลักสูตรฯความจริงก็เรียนคล้ายๆกัน หนูก็เลยจะลองเรียนดูก่อน ถ้าไม่ชอบก็คงเอาคะแนนเดิมที่สอบได้ยื่นใหม่ปีหน้า” พลอยเล่า

นอกจากนั้นเธอยังเล่าถึงช่วงการเตรียมตัวสอบเข้ามหาวิทยาลัยของเธอว่า ถ้าเป็นวันจันทร์ถึงศุกร์ที่เธอต้องไปโรงเรียน บางวันเธอจะขอคุณครูกลับก่อนเพื่อมาเรียนพิเศษวิชาภาษาอังกฤษหรือสังคมศึกษาเพิ่มเติม เมื่อกลับถึงบ้านจะอ่านหนังสือต่ออีกประมาณ 2-3 ชั่วโมง แต่ถ้าไม่มีเรียนเพิ่มเติมจะอ่านวันละ 4-5 ชั่วโมง ส่วนวันเสาร์และอาทิตย์จะเรียนพิเศษวันละประมาณ 5 ชั่วโมงหรืออ่านหนังสืออยู่ที่บ้านทั้งวันสลับกับการพักผ่อนบ้าง

เมื่อถามว่าทำไมเธอจึงต้องเรียนพิเศษเพิ่มเติม ก็ได้คำตอบคล้ายกับสุพิชาว่า การเรียนในโรงเรียนอย่างเดียวไม่เพียงพอต่อการสอบเข้ามหาวิทยาลัย ตัวอย่างเช่น วิชาสังคมศึกษา โรงเรียนสอนครอบคลุมแต่ไม่ใช่แนวข้อสอบที่จะนำไปใช้ทั้งความถนัดเฉพาะด้านและทั่วไปรวมถึงการทดสอบระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET)เมื่อเทียบกับการสอนของโรงเรียนกวดวิชา อีกทั้งสื่อสังคมออนไลน์ทั้งเฟซบุ๊กหรืออินสตราแกรมก็ส่งผลต่อความเครียดของพลอย เพราะจะทำให้เธอเกิดการเปรียบเทียบตนเองกับเพื่อนที่เก่งกว่า ตัวเธอเองก็มีรู้สึกเสียใจบ้างก่อนที่จะลุกขึ้นสู้กับตัวเองอีกครั้งหนึ่ง

ส่วนมุมมองต่อระบบทีแคส พลอยให้ความเห็นว่า ระบบใหม่นี้น่าจะสร้างความเครียดให้กับเด็กมากกว่า เพราะผู้สมัครต้องมาลุ้นทีละรอบรวมถึงมีเพื่อนที่สอบคณะด้านวิทยาศาสตร์อ่านหนังสือไม่ทัน เพราะช่วงเวลาสอบที่ติดกัน ส่วนข้อดีของระบบทีแคสเพียงอย่างเดียวที่เธอมองเห็นคือ ความสะดวกในการยื่นคะแนนสอบที่สามารถดำเนินการผ่านเว็บไซต์ได้เลย ไม่ต้องเสียเวลาเดินทางไปมหาวิทยาลัยที่ต้องการ

เร่งสร้างผลงานเข้ามหาลัย

พชิรารัชต์ นาคเกษมหรือเฟิร์น นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่กำลังสร้างผลงานเพื่อยื่นสมัครในระบบทีแคส (TCAS) รอบที่ 1 ปีการศึกษา 2563 เล่าว่า คณะครุศาสตร์ สาขาศิลปะคือเป้าหมายในการสอบเข้ามหาวิทยาลัยซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย เธอเรียนวาดรูปประมาณ 10 ครั้ง ครั้งละ 5-6 ชั่วโมง และถ้าครูสั่งการบ้าน 1 ชิ้นก็จะทำวน 3-4 รอบถือเป็นการฝึกการวาดรูปให้ลายเส้นคงที่

ผลงานและกิจกรรมต่างๆที่เธอเข้าร่วมคือใบเบิกทางสู่รั้วมหาวิทยาลัย เฟิร์นเชื่อว่า พอร์ทโฟลิโอ(Portfolio)นั้นสะท้อนความเป็นตนเองผ่านเรื่องราวต่างๆที่เกิดขึ้นในชีวิตโรงเรียนผ่านผลงานและกิจกรรม ตัวอย่างเช่น การลงแข่งวาดรูปเกือบ 10 รายการ เป็นนักแสดงละครของระดับชั้น อีกทั้งการเป็นตัวแทนในงานสำคัญของโรงเรียน เป็นต้น

“พอร์ทโฟลิโอเป็นการรวบรวมงาน กิจกรรมและสิ่งต่างๆที่เราภูมิใจ และเป็นการดูศักยภาพ ประสบการณ์ ทักษะ ฝีมือเบื้องต้น เป็นการแนะนำตัวเองในอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งมหาวิทยาลัยก็น่าจะดูจากตรงนี้ว่า เด็กคนไหนมีความต้องการหรือสนใจที่จะเข้าคณะนี้แล้วก็ทัศนคติหรือมุมมองผ่านงานของเรา” เฟิร์นเล่า

ทั้งนี้ครอบครัวก็เป็นอีกหนึ่งแรงผลักดันที่ทำให้เด็กคนนี้ต้องสร้างผลงานที่ดีเพื่อพิสูจน์ตนเอง เธอเล่าว่า ช่วงแรกพ่อแม่ไม่เห็นด้วยที่เลือกเรียนด้านศิลปะ เพราะพวกเขาเป็นห่วงอาชีพในอนาคต แต่ผลงานที่ดีบวกกับการแสดงความตั้งใจของเฟิร์นทำให้ทั้งสองท่านยอมรับในสิ่งที่เธอตัดสินใจ

ครอบครัวกดดัน สร้างความเครียด

จากงานวิจัยเรื่องปัจจัยทางครอบครัวที่ส่งผลต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้น    ศึกษาปัจจัยด้านกระบวนการในครอบครัว ในปี 2553 พบว่า ครอบครัวมีการอบรมเลี้ยงดูบุตรหลาน 3 รูปแบบ คือ การเลี้ยงดูแบบมีเหตุผลร้อยละ 96  เลี้ยงดูแบบปล่อยปละละเลยร้อยละ 42 และ เลี้ยงดูแบบเข้มงวดร้อยละ 32

ส่วนใหญ่การเลี้ยงดูแบบมีเหตุผล พ่อแม่จะแสดงความรักให้นักเรียนได้เห็นและแสดงความภูมิใจที่มีต่อนักเรียนรวมถึงอธิบายเหตุผลก่อนที่จะทำโทษ โดยมีคะแนนเฉลี่ย 4.29 และ 3.94 คะแนนตามลำดับ ส่วนการเลี้ยงดูแบบปล่อยปละละเลย ผู้ปกครองจะให้ความใส่ใจ มีคะแนนเฉลี่ย 3.95 คะแนน และให้คำปรึกษานักเรียนอยู่เสมอคะแนนเฉลี่ย 3.86 คะแนนและการเลี้ยงดูแบบเข้มงวด พบว่า คะแนนเฉลี่ย 4.12 คะแนน ผู้ปกครองจะให้นักเรียนรับผิดชอบเรื่องส่วนตัว ส่วนคะแนนเฉลี่ยรองลงมา 3.78 คะแนน ผู้ปกครองจะควบคุมการใช้เงินของนักเรียน

การศึกษาปัจจัยด้านกระบวนการในครอบครัวในงานวิจัยเรื่องนี้ยังแสดงว่า พ่อแม่มีความคาดหวังในตัวนักเรียนมากมีคะเนนเฉลี่ยที่ 3.88 คะแนน โดยผู้ปกครองส่วนมากจะบอกนักเรียนตั้งใจเรียนเพื่ออนาคตที่ดี ตั้งความหวังต่อการเรียน อยากให้เด็กเรียนจบอย่างน้อยระดับปริญญาตรี สนใจในการเรียนของนักเรียน และ พร้อมสนับสนุนด้านการเงินเพื่อส่งเสริมการเรียนของนักเรียน

ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์  ด้านการศึกษา กล่าวว่า ปัญหาของระบบการศึกษาไทยคือการให้ความสำคัญกับเด็กเก่งที่‘ดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่ดี’ แต่กลับสร้างความกดดันให้กับเด็กที่ทำให้พวกเขาต้องพยายามให้เป็นเด็กเก่ง รวมถึงการแข่งขันที่สูงในการสอบเข้าโรงเรียนของแต่ละช่วงชั้นการศึกษาตั้งแต่อนุบาลถึงมัธยมศึกษา และการสอบเข้ามหาวิทยาลัย ก่อให้เกิดความเครียดสะสมในตัวเด็ก อีกทั้งพวกเขายังต้องแบกความหวังของครอบครัวที่ต้องการให้พวกเขาเป็นเด็กเก่งไว้ด้วย

“ทิศทางของการวัดความสำเร็จไปให้เฉพาะเด็กเก่ง ทำให้เรามองข้ามเด็กกลางๆ ความจริงเขาไม่ใช่เด็กไม่เก่งนะ การวัดมันดูที่เกรดซึ่งเขาอาจจะเก่งในด้านอื่น แต่เรามักจะเหมาไปว่าการที่เด็กเรียนเก่งคือเด็กเก่ง มันทำให้ทุกคนคิดว่าต้องเรียนเก่ง” ดร.สรวงมณฑ์อธิบาย

นอกจากนี้ผู้ปกครองให้ความสำคัญเรียนพิเศษเพื่อให้ลูกเป็นคนเก่ง ช่วงเวลาปิดเทอมที่ถือเป็นช่วงเวลาพักผ่อนกลับให้ลูกเรียนพิเศษเพิ่มเติมไม่มากก็น้อยซึ่งเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าค่านิยมในการเรียนพิเศษก็เปลี่ยนไปเช่นกัน สมัยก่อนการเรียนพิเศษคือการเพิ่มเติมความรู้ในวิชาที่ไม่ถนัดแต่ตอนนี้การเรียนพิเศษคือเรียนให้มีความรู้มากกว่าคนอื่นและมีโอกาสในการสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ก่อนคนอื่น จึงไม่ใช่เรื่องผิดถ้าเด็กนักเรียนทุกวันนี้จะให้ความสำคัญกับการเรียนพิเศษมากกว่าการเรียนในโรงเรียน

และอีกส่วนหนึ่งเธอมองว่ามาจากโครงสร้างครอบครัวที่เปลี่ยนไปจากสมัยก่อน คือ พ่อแม่มีลูกน้อยลง ทำให้คาดหวังกับลูกเพียงคนเดียว พวกเขาใส่ความคาดหวังของตนเองไว้กับลูก ส่งผลให้ลูกเองก็อยากทำให้พ่อแม่สมหวังเช่นกันจนเพิ่มความเครียดให้กับตัวเด็กเอง

โครงสร้างครอบครัวที่กล่าวถึงนั้น คือ โครงสร้างที่พ่อและแม่ต้องออกไปทำงานทั้งคู่จนบางครั้งไม่มีเวลาที่จะพูดคุยกับลูกและมักจะมองลูกด้วยสายตาของตนเองส่งผลให้พวกเขาอยากให้ลูกทำในสิ่งที่เขาต้องการและคิดว่าลูกควรจะทำอะไรเพื่ออาจชดเชยอดีตของพ่อแม่ที่ผ่านมา โดยยึดตามกระแสสังคมมากกว่าความจริงจนอาจมองไม่เห็นสิ่งที่ลูกสนใจจริงๆ

อีกทั้งส่วนหนึ่งเด็กไม่รู้จักตนเอง ทำให้พวกเขาไม่สามารถจัดการความเครียดของตนเองได้ อาจเป็นเพราะครอบครัวไม่ได้สอนให้ลูกรู้วิธีการรับมือกับความผิดหวังและความเครียด โดยเฉพาะเด็กกลุ่ม “Perfectionism” หรือ กลุ่มเด็กเก่งที่ไม่ได้แบกแค่ความคาดหวังของครอบครัวอย่างเดียว แต่ต้องแบกความคาดหวังของคนรอบข้างไว้ด้วยทั้งโรงเรียน ครู และเพื่อน ชีวิตของเขามีแต่การเรียนจนขาดทักษะชีวิตที่จะสามารถจัดการกับความผิดหวัง สุดท้ายก็ตัดสินใจด้วยอารมณ์และความรู้สึกหรือแก้ปัญหาแบบโศกนาฏกรรมในที่สุด

สิ่งสำคัญที่พ่อแม่ควรทราบคือต้องมีจิตวิทยาในการเลี้ยงลูก โดยการเรียนรู้นิสัยเดิมของลูก ค่อยๆศึกษาวิธีการรับมือเมื่อลูกเครียด ซึ่งวิธีที่มักได้ผลคือการแสดงความรักให้ลูกเห็น เพื่อให้ความเครียดลดลงและพ่อแม่เองก็ต้องพร้อมรับฟังปัญหาแต่ไม่ใช่การเซ้าซี้ลูก นอกจากนี้ดร.สรวงมณฑ์ยังทิ้งท้ายว่า คนที่จัดการความรู้สึกลูกคือพ่อแม่ ไม่ใช่ให้คนอื่นมาช่วยแก้ปัญหา

ระบบการศึกษาไทย มองเป้าหมายผิดจุด

ผ.ศ.อรรถพล อนันตวรสกุล

อรรถพล อนันตวรสกุล อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ระบบ TCAS เป็นระบบที่จะช่วยลดความเครียดให้เด็ก แต่ปีการศึกษาที่แล้วมีปัญหาจากการสื่อสารที่ไม่ชัดเจน ทำให้เด็กบางส่วนไม่พอใจในระบบนี้ แต่ในปีนี้มีที่นั่งเพียงพอสำหรับผู้สมัครทุกคน อีกทั้งยังเหลือที่นั่งด้วยซ้ำและเป็นสัญญาณว่าเด็กน้อยลงและส่งผลต่อความอยู่รอดของมหาวิทยาลัยซึ่งจุดนี้ก็ต้องมาออกแบบรูปแบบการสอนใหม่ให้สอดคล้องกับธรรมชาติของนักเรียนมารองรับ

หากมองลงมาในระดับโรงเรียนปัจจุบันแล้วแม้แต่โรงเรียนเองก็ยังให้คุณค่ากับชื่อโรงเรียนมากกว่าการเตรียมพร้อมทางการศึกษา อรรถพลมองว่าโรงเรียนก็ให้คุณค่ากับการมีชื่อเสียงผ่านคะแนนสอบของนักเรียนและจำนวนของเด็กที่สอบเข้ามหาวิทยาลัยได้รวมถึงไม่สามารถการันตีคุณภาพในการศึกษาได้

“เกิดค่านิยมแบบผิดๆ เอารูปเด็กมาติดหน้าโรงเรียนว่าสอบเข้ามหาวิทยาลัยไหน โรงเรียนกลายเป็นห้างสรรพสินค้าที่รูปเด็กมาโชว์และลืมนึกว่าไม่ได้มีแค่เด็กเหล่านี้ที่สอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ ทำแบบนี้ก็ทำให้เด็กจำนวนหนึ่งที่เป็นผู้แพ้ทางการศึกษาแพ้มากขึ้น” อรรถพลกล่าว

เขาแนะต่อว่าหากโรงเรียนมองว่าเขาเป็นสถาบันสำหรับการเตรียมเข้ามหาวิทยาลัย ก็ต้องคิดอีกมุมหนึ่งว่า ไม่ใช่โรงเรียนทุกโรงเรียนที่พร้อมจะเป็นโรงเรียนที่มีคุณภาพ ระบบการศึกษาต้องลดคุณค่าจากเกณฑ์การประเมินผลให้ลดลงและจัดการศึกษาให้เหมาะสมกับนักเรียนทุกคน

รวมถึงการศึกษาไทยถูกกดทับด้วยเกณฑ์การประเมินผลในหลายด้านทั้งครู โรงเรียนและเด็กนักเรียน ส่งผลให้เกิดการแข่งขันระหว่างโรงเรียนให้มีเกณฑ์ประเมินอยู่ในระดับดี ทั้งนี้เกณฑ์ประเมินเหล่านี้ไม่ได้อยู่ในเป้าหมายทางการศึกษา แทนที่จะทำให้การศึกษาดีขึ้นแต่กลับเป็นการทำลายแทน

เมื่อถามถึงปัญหาของเด็กนักเรียนที่ให้ความสำคัญกับการเรียนพิเศษมากกว่าการเรียนในโรงเรียน อรรถพลกล่าวว่า เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าโรงเรียนไม่ตอบโจทย์เป้าหมายในชีวิตของเด็กที่เชื่อว่าต้องเข้ามหาวิทยาลัยและคณะวิชาที่มีชื่อเสียงอีกทั้งยังสะท้อนการมองเป้าหมายการศึกษาผิดคือปัญหาเรื่องการติว ต้องเข้าใจว่าเป้าหมายการศึกษาของการติวและการสอนไม่เหมือนกัน การติวคือการเตรียมตัวเพื่อไปสอบ ส่วนการสอนคือการพัฒนาคน

และพ่อแม่เองก็เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้โรงเรียนจะต้องจัดการติวขึ้นมาเพื่อเด็กสามารถบรรลุเป้าหมายในชีวิตได้ หากผู้ปกครองขาดความเข้าใจ โรงเรียนควรให้ความรู้เพิ่มเติมไม่ใช่การมองพวกเขาเป็น ‘ลูกค้า’ ที่ต้องจัดสินค้าให้ตามที่ต้องการ

เรื่องการสอบของเด็กนักเรียน อรรถพลให้มุมมองว่า การศึกษาไทยเข้าใจผิดเรื่องการวัดและประเมินผลที่ถึงเเม้กระทรวงศึกษาธิการจะปรับน้ำหนักคะแนน แต่โรงเรียนส่วนใหญ่ก็ยังคงให้ความสำคัญกับการสอบทางการซึ่งเป็นเพียงการวัดระดับความรู้โดยดูจากคะแนนสอบ ไม่ได้ดูจากทักษะเล็กๆน้อยๆหรือผลงาน แต่ความจริงแล้วการประเมินผลเป็นสิ่งที่ทำให้ครูรู้จักเด็กเป็นรายบุคคลเพื่อสอนและหาวิธีการที่เหมาะสมให้นักเรียนพัฒนาตนเองต่อไปได้ แต่ก็พบปัญหาว่าครูก็มีภาระงานของตนเอง ทำให้ไม่มีเวลาดูแลเด็กนักเรียนได้มากเท่าที่ควร

“เราจะโทษครูไม่มีเวลาใส่ใจรายละเอียดของนักเรียนอย่างเดียวก็ไม่ได้ เพราะครูเองก็ถูกดึงเวลาในห้องเรียนไปทำงานอื่นซึ่งเป็นตัวบั่นทอนความตั้งใจในการสอนของครู จึงต้องมาดูกลไกการศึกษามากกว่าการโทษความสามารถ จากงานวิจัยครูมีคุณภาพเท่ากับอาชีพอื่น แต่ระบบและรูปแบบการทำงานทำให้ศักยภาพของครูลดลง” อรรถพลเล่า

ส่วนชั่วโมงในการเรียนส่งผลต่อตัวเด็กโดยตรง เขาเห็นว่า สมองจะทำงานได้ดีเมื่อมีการพักซึ่งพ่อแม่เองอาจไม่เห็นเรื่องนี้ ผู้ปกครองยังติดความคิดเดิม ‘ยิ่งเรียนเยอะยิ่งดี’ ต้องมีการเรียนเพิ่มเติมหลังเลิกเรียนหรือการเรียนพิเศษตามโรงเรียนกวดวิชา วิธีการแก้ปัญหาคือเป้าหมายทางการศึกษาต้องชัดเจนว่าจะไปในทิศทางไหนโดยที่ผ่านมาจะเป็นการกำหนดผ่านค่านิยมเดิม ‘ยิ่งเรียนพิเศษเยอะ ยิ่งมีโอกาสสูง’ ก่อให้เกิดค่าใช้จ่ายที่มองไม่เห็นที่ผู้ปกครองต้องรับผิดชอบจนเกิดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา และเด็กที่ต้องแบกความคาดหวังของพ่อแม่ไว้

 

ข้อมูลอ้างอิง

  1. เด็กไทยเรียนหนักที่สุดในโลก (Thairath TV, 2 มกราคม 2558)
  2. เด็กไทยเรียนหนักที่สุดในโลก (Dailynews, 23 เมษายน 2557)
  3. ฆ่าตัวตาย : ผู้เชี่ยวชาญห่วงพฤติกรรมเลียนแบบหลังสื่อเสนอข่าวนักศึกษาฆ่าตัวตายมากขึ้น (BBC, 16 เมษายน 2562)
  4. วัยรุ่นเสี่ยง "ฆ่าตัวตายพุ่ง" ปรึกษาสายด่วนกว่าหมื่นครั้ง (Thai PBS, 10 มิถุนายน 2562)
  5. งานวิทยานิพนธ์ เรื่อง ปัจจัยปัจจัยทางครอบครัวที่ส่งผลต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้น : ศึกษากรณีโรงเรียนมีนประสาทวิทยา เขตมีนบุรี กรุงเทพมหานคร
  6. เข้าใจโรคซึมเศร้าในวัยรุ่น (18 มีนาคม 2562, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)
  7. 13 Reasons Why กับเหตุผลของการฆ่าตัวตาย วัยรุ่นไทยและทั่วโลกมีความเสี่ยง "ฆ่าตัวตาย" สูงขึ้น! (Future Trends, 11 มิถุนายน 2562)

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: