'การค้า VS สุขภาพ' ในอาเซียนจะไปด้วยกันได้อย่างไร-หาคำตอบในการประชุม ITH

กองบรรณาธิการ TCIJ 19 พ.ย. 2562 | อ่านแล้ว 5021 ครั้ง

'การค้า VS สุขภาพ' ในอาเซียนจะไปด้วยกันได้อย่างไร-หาคำตอบในการประชุม ITH

การประชุมวิชาการการค้าระหว่างประเทศและสุขภาพ International Trade and Health Conference หรือ ITH ปี 2562 จับตาการเปิดเสรีการค้าบริการด้านสุขภาพจะส่งผลกระทบอย่างไรต่ออาเซียน การค้าระหว่างประเทศส่งผลอย่างไรต่อสิ่งแวดล้อมทั้งในอดีต ปัจจุบันและอนาคต โดยเฉพาะเมื่อพื้นที่นี้อาจกลายเป็น ‘ที่ทิ้งขยะของโลก’ หรือแนวทาง 'การแก้ปัญหาหมอกควันและ PM2.5’ ที่ประเทศใดประเทศหนึ่งจัดการเพียงลำพังไม่ได้ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 19-20 พ.ย. 2562 นี้

19 พ.ย. 2562 กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) แจ้งข่าวระบุว่าท่ามกลางสงครามการค้าระหว่างสองยักษ์ใหญ่จีน-สหรัฐอเมริกา เศรษฐกิจโลกขาลง การแข่งขันที่เข้มข้นขึ้นกับประเทศเพื่อนบ้าน ฯลฯ การเปิดเสรีการค้าการลงทุนถูกผลักดันอย่างหนักด้วยความหวังว่าจะเป็นตัวช่วยพยุงเศรษฐกิจในประเทศต่างๆ ยกตัวอย่างการประชุม ASEAN SUMMIT ที่ไทยเป็นเจ้าภาพเมื่อ 2-4 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ซึ่งมีการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership : RCEP) ที่ขยับรุดหน้ารวดเร็ว หลังจากค้างคาอยู่นาน 7 ปี

ตั้งแต่ปี 2535 อาเซียนได้ลงนามจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียน (ASEAN Free Trade Agreement – AFTA) เพื่อลดภาษีศุลกากรระหว่างกัน ก่อนขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจทั้งเชิงลึกและเชิงกว้าง รวมถึงมีการจัดทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีกับประเทศนอกภูมิภาค เช่น อาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ อาเซียน-จีน อาเซียน-ญี่ปุ่น อาเซียน-เกาหลีใต้ อาเซียน-อินเดีย นอกจากนี้ สมาชิกอาเซียนเป็นสมาชิกของความร่วมมือทางเศรษฐกิจอื่นๆ เช่น APEC, BIMSTEC ส่งผลให้อาเซียนมี GDP รวมในปี 2560 มากกว่า 2,800 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ ประมาณร้อยละ 3.5 ของ Global GDP โดยมีประเทศญี่ปุ่น จีน สหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศคู่ค้าที่สำคัญ

ข้อมูลปี 2561 ระบุว่า ไทยลงนามในข้อตกลงเปิดเสรีการค้าแล้ว 12 ฉบับ กำลังพิจารณาอยู่อีก 5 ฉบับ ซึ่งทั้งหมดล้วนมีข้อบทเกี่ยวข้องกับสุขภาพ นอกจากนี้ยังได้ลงนามข้อตกลงทวิภาคีด้านการลงทุนอีก 39 ฉบับ ซึ่งเปิดให้เอกชนฟ้องรัฐได้หากออกนโยบายสาธารณะที่มีผลกระทบต่อการลงทุน

ท่ามกลางกระแสเชี่ยวกรากของการเปิดเสรีการค้าระหว่างประเทศ ภาคธุรกิจ นักลงทุน ภาคราชการ ล้วนวิเคราะห์กันถึงผลได้ผลเสียทางเศรษฐกิจเป็นหลัก แต่การศึกษาและส่งเสียงเรื่อง “ผลกระทบต่อสุขภาพ” ที่อาจเกิดขึ้นยังมีข้อจำกัด ทั้งที่ความตกลงเหล่านี้เกี่ยวพันกับการบริการสุขภาพ การปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา การไหลทะลักของสินค้า เงินตรา และประเด็นทางการค้าใหม่ๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนอาเซียน ซึ่งจำเป็นต้องมีการศึกษาอย่างรอบด้านเพื่อเตรียมความพร้อมในการเพิ่มประโยชน์เชิงบวกและลดผลกระทบเชิงลบต่อด้านสุขภาพของภูมิภาคโดยรวม รวมถึงทำให้การเจรจาการค้ามีประสิทธิภาพมากขึ้น

การประชุมวิชาการการค้าระหว่างประเทศและสุขภาพ หรือ International Trade and Health Conference หรือ ITH Conference เป็นอีกหนึ่งกลไกที่น่าสนใจในการ ‘เป็นหูเป็นตา’ ในเรื่องผลกระทบทั้งด้านบวกและด้านลบต่อสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นจากข้อตกลงการค้าระหว่างประเทศต่างๆ ซึ่งการประชุมจะจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยมีการเชิญผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการจากหน่วยงานระหว่างประเทศ หรือผู้แทนจากประเทศต่างๆ ที่มีตัวอย่างความสำเร็จหรือบทเรียนสำคัญมาร่วมแลกเปลี่ยนกับภาคส่วนต่างๆ ของไทย อาทิ กระทรวงต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง สถาบันการศึกษา เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ตลอดจนภาคประชาสังคม เช่น FTA WATCH มูลนิธิบูรณะนิเวศ ฯลฯ เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้และหาข้อเสนอเชิงนโยบายให้กับรัฐบาลไทย

สำหรับหัวข้อการประชุมวิชาการการค้าระหว่างประเทศและสุขภาพ ปี 2562 คือ ‘การค้าระหว่างประเทศและสุขภาพของอาเซียน: แสวงจุดร่วมสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน’ ในโอกาสที่ประเทศไทยเป็นประธานอาเซียนในปี 2562 ซึ่งอาเซียนนับเป็นภูมิภาคสำคัญที่มหาอำนาจต่างต้องการแย่งชิงความได้เปรียบทางการค้า จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ประเทศสมาชิกจะต้องมีการพิจารณาอย่างถี่ถ้วน เพื่อสร้างสมดุลระหว่างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสุขภาพของประชาชน โดยการประชุมฯ จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 19-20 พ.ย. 2562 ที่โรงแรมโมเวนพิก บีดีเอ็มเอส เวลเนส รีสอร์ต ถ.วิทยุ กรุงเทพฯ

กิจกรรมสำคัญของการประชุมในครั้งนี้ ประกอบด้วย การบรรยายพิเศษ เรื่อง “Building ASEAN Community: Political economy of trade and health” โดย นายสุริยา จินดาวงษ์ อธิบดีกรมอาเซียน กระทรวงต่างประเทศ, การบรรยายพิเศษก่อนปิดประชุม เรื่อง “Trade and health implication from global geo-political change” โดย ศาสตราจารย์ประภัสสร์ เทพชาตรี จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รวมถึงการแลกเปลี่ยนในประเด็นสำคัญอื่นๆ อาทิ ภูมิทัศน์การค้าระหว่างประเทศและสุขภาพของภูมิภาคอาเซียน การเปิดเสรีการค้าและผลต่อสุขภาพของประชาชนในภูมิภาคอาเซียน สงครามการค้าโลกและผลกระทบต่อสุขภาพในภูมิภาคอาเซียน จุดร่วมด้านการค้าระหว่างประเทศและสุขภาพในภูมิภาคอาเซียน เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีส่วนที่จะวิเคราะห์เจาะลึกในรายประเด็น เช่น การเปิดเสรีการค้าบริการด้านสุขภาพจะส่งผลกระทบอย่างไรต่ออาเซียน การค้าระหว่างประเทศส่งผลอย่างไรต่อสิ่งแวดล้อมทั้งในอดีต ปัจจุบันและอนาคต โดยเฉพาะเมื่อพื้นที่นี้อาจกลายเป็น ‘ที่ทิ้งขยะของโลก’ หรือแนวทาง 'การแก้ปัญหาหมอกควันและ PM2.5’ ที่ประเทศใดประเทศหนึ่งจัดการเพียงลำพังไม่ได้

น่าจับตาดูว่า ท้ายที่สุดข้อเสนอเชิงนโยบายจากที่ประชุมจะออกมาเป็นอย่างไร เพื่อให้ทุกฝ่ายได้ประโยชน์สูงสุด ขณะเดียวกันก็คุ้มครองสุขภาพของประชาชนอาเซียนได้อย่างเท่าเทียม

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: