ทยอยปลดระวาง 'รถขุดเหมืองแม่เมาะ' นับถอยหลังเหลือถ่านหินใช้อีก 25 ปี

กองบรรณาธิการ TCIJ 19 ก.พ. 2562 | อ่านแล้ว 6010 ครั้ง

ทยอยปลดระวาง 'รถขุดเหมืองแม่เมาะ' นับถอยหลังเหลือถ่านหินใช้อีก 25 ปี

ทยอยปลดระวาง 'รถขุดเหมืองแม่เมาะ' ปัจจุไม่มีการเปิดหน้าดินใหม่แล้วเหลือเพียงการขุดลงลึกเพื่อนำถ่านหินลิกไนต์ที่เหลืออยู่มาใช้ คาดปริมาณสำรองถ่านหินลิกไนต์เหลืออีกราว 25 ปีเท่านั้น หลังจากนั้นจะต้องฟื้นฟูสภาพพื้นที่ให้เหมาะสม และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ด้านอื่นๆ ที่มาภาพ: พิพิธภัณฑ์ศูนย์ถ่านหินลิกไนต์ศึกษา - เหมืองแม่เมาะ

เมื่อวันที่ 15 ก.พ. 2562 เพจพิพิธภัณฑ์ศูนย์ถ่านหินลิกไนต์ศึกษา - เหมืองแม่เมาะ ได้เผยแพร่ภาพบรรยากาศการนำรถขุดไฟฟ้าคันสุดท้าย (สุโขทัย No.52) ขึ้นจากบ่อเหมืองแม่เมาะ ซึ่งรถขุดคันนี้จะถูกนำมาตั้งโชว์ไว้ที่ สวนพฤกษชาติ เหมืองแม่เมาะคู่กับรถบรรทุกเทท้าย เบอร์ 93

ก่อนหน้านี้เมื่อเดือน ธ.ค. 2561 เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ รายงานว่าโรงไฟฟ้าแม่เมาะ จังหวัดลำปาง กำลังผลิตติดตั้ง 2,400 เมกะวัตต์ ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ทำหน้าที่ผลิตไฟฟ้าเพื่อรองรับความต้องการใช้ในพื้นที่ภาคเหนือ ทั้งยังเป็นโรงไฟฟ้าที่ช่วยรักษาสมดุลราคาค่าไฟฟ้าให้อยู่ในระดับเหมาะสม เนื่องจากการใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงมีต้นทุนต่ำ เมื่อเปรียบเทียบกับโรงไฟฟ้าอื่น เช่น โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติจะมีต้นทุนที่ผันผวนตามสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลก ปัจจุบันนี้โรงไฟฟ้าแม่เมาะเดินเครื่องมาแล้วกว่า 40 ปี ตามการประมาณการเบื้องต้นเหมืองแม่เมาะมีปริมาณสำรองถ่านหินลิกไนต์อีกราว 25 ปีเท่านั้น หลังจากนั้นจะต้องฟื้นฟูสภาพพื้นที่ให้เหมาะสม และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ด้านอื่น ๆ ต่อไป

ทั้งนี้ ดร.ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้ให้นโยบายกับ กฟผ.ว่า ก่อนที่เหมือง และโรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะจะต้องหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อสรุปแนวทางสำหรับการฟื้นฟูพื้นที่อย่างไร เพื่อให้สังคม สิ่งแวดล้อม และชุมชนสามารถอยู่ด้วยกันอย่างยั่งยืนต่อไป

นายอำพล กิติโชตน์กุล ผู้ช่วยผู้ว่าการเหมืองแม่เมาะ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่าเดิมที กฟผ.มีแผนฟื้นฟูเหมืองแม่เมาะด้วยการปลูกต้นไม้ทดแทนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเท่านั้น แต่ภายหลังจากที่เปิดเหมืองแม่เมาะให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้ามาเที่ยวชมพื้นที่แล้ว พบว่ามีประชาชนสนใจเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้ กฟผ.ต้องมองเรื่องอื่นๆ เพิ่มด้วย โดยเฉพาะการดูแลชุมชนในพื้นที่ให้ยั่งยืน แม้ว่าจะไม่มีโรงไฟฟ้าแล้ว กฟผ.ได้เริ่มศึกษาแนวทางการฟื้นฟูไว้ 3 วิธี คือ 1) พัฒนาให้เป็นแหล่งที่สามารถท่องเที่ยวได้ตลอดทั้งปี จากเดิมที่ท่องเที่ยวได้เฉพาะฤดูหนาว เพราะในพื้นที่มีสถานที่น่าสนใจอีกมาก ไม่ว่าจะเป็นพิพิธภัณฑ์ ที่ให้ข้อมูลถึงที่มาของเหมืองและโรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะ ทุ่งบัวตอง สุสานหอย และทะเลหมอก ที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวอย่างมาก 2) ใช้จุดแข็งทางกายภาพของพื้นที่พัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนเพิ่มเติม เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ และ 3) พัฒนาเป็นโรงไฟฟ้าพลังน้ำสูบกลับทดแทน รูปแบบเดียวกันกับโรงไฟฟ้าลำตะคอง ที่สูบน้ำขึ้นไปไว้ที่สูงแล้วระบายน้ำลงที่ต่ำเพื่อให้หมุนเทอร์ไบน์ผลิตไฟฟ้า

ส่วนแนวทางก่อนหน้านี้ที่ได้ศึกษาไว้คือ การนำเข้าถ่านหินจากต่างประเทศแล้วขนส่งด้วยรถไฟมายังโรงไฟฟ้าแม่เมาะนั้นพบว่าไม่คุ้มค่าจากต้นทุนการขนส่งที่ค่อนข้างสูง ซึ่งหากใช้วิธีนี้อาจจะกระทบต่ออัตราค่าไฟฟ้าที่ต้องเรียกเก็บจากประชาชนได้ แต่หากมีโรงไฟฟ้าที่อยู่ใกล้เคียงกับทะเลจะมีต้นทุนขนส่งที่น้อยกว่า ทั้งนี้ในปัจจุบันพื้นที่เหมืองแม่เมาะไม่มีการเปิดหน้าดินใหม่แล้วเหลือเพียงการขุดลงลึกเพื่อนำถ่านหินลิกไนต์ที่เหลืออยู่มาใช้เป็นเชื้อเพลิงโรงไฟฟ้า

“ภาพภูเขาดินที่เกิดจากการขุดเจาะจะค่อยๆ เลือนหายไป และถูกทดแทนด้วยการผลิตไฟฟ้าวิธีอื่นๆ ในระดับต้นทุนที่ไม่สูงมากนัก แต่จริงๆ แล้ว โจทย์ใหญ่ของ กฟผ.หลังจากที่โรงไฟฟ้าแม่เมาะหมดอายุแล้วนั้นไม่ได้โฟกัสเฉพาะสภาพพื้นที่เท่านั้น แต่ยังมองไปถึงชุมชนที่อยู่รอบโรงไฟฟ้าจะเป็นอย่างไร ในช่วงรอยต่อ กฟผ.จะต้องมองยาวไปถึงว่าเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม จะอยู่ต่ออย่างไรให้ยั่งยืน เราจึงมองเรื่องการพัฒนาเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเพื่อให้คนเข้ามาสัมผัสวัฒนธรรมท้องถิ่น สร้างอาชีพให้ชุมชนมีรายได้ อันถือเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศอีกทางหนึ่ง”

นายอำพลกล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันโรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะ จังหวัดลำปาง เดินเครื่องเต็มกำลังที่ 2,400 เมกะวัตต์ รวม 10 ยูนิต ซึ่งในแต่ละปีมีการวางแผนหยุดซ่อมบำรุงต่อเนื่องในแต่ละยูนิต เพื่อคงปริมาณไฟฟ้าในระบบให้รองรับความต้องการใช้ โดยไม่มีปัญหาไฟฟ้าตกหรือดับด้วย นอกจากนี้ ในแต่ละยูนิตที่ครบอายุจะมีการสร้างยูนิตใหม่ขึ้นมาทดแทน ซึ่งเทคโนโลยีโรงไฟฟ้าถ่านหินในปัจจุบันพัฒนาไปมาก ทำให้ใช้ถ่านหินลดลงแต่ยังสามารถผลิตไฟฟ้าในปริมาณเท่าเดิม ส่วนในแง่ของการร้องเรียนจากชุมชนในพื้นที่ก็ไม่มีการร้องเรียนเข้ามา โดยเฉพาะคุณภาพของอากาศ เนื่องจาก กฟผ.มีการติดตั้งเครื่องดักจับการปล่อยซัลเฟอร์ไดออกไซด์คุณภาพสูง ซึ่งข้อมูลสภาพอากาศจะถูกส่งแบบเรียลไทม์ไปยัง กฟผ.สำนักงานใหญ่ กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และชุมชนรอบโรงไฟฟ้าด้วย

รายงานจาก กฟผ.เพิ่มเติมระบุว่า นอกเหนือจากการดูแลสิ่งแวดล้อม และชุมชนโดยรอบเพื่อสร้างอาชีพให้ชุมชนแล้ว ในทุกปี กฟผ.จะมีการจัดงาน “เทศกาลท่องเที่ยวแม่เมาะ” สำหรับปีนี้เป็นครั้งที่ 14 โดยจัดงานในช่วงวันที่ 9-11 พ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นความร่วมมือของ กฟผ.และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวให้กับจังหวัดลำปาง ปัจจุบันการท่องเที่ยวแม่เมาะ เป็นเทศกาลท่องเที่ยวที่ถูกบรรจุไว้ในปฏิทินการท่องเที่ยวประจำปีของ ททท.โดยจากสถิติในช่วงที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวเข้ามาร่วมงานในแต่ละปีไม่ต่ำกว่า 200,000 คน

ก่อนหน้านั้นเมื่อเดือน ต.ค. 2561 ผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่านายธวัชชัย จักรไพศาล รองผู้ว่าการเชื้อเพลิง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า เนื่องจากปริมาณสำรองถ่านหินที่เหมืองแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ลดต่ำลงในอนาคต ทำให้กำลังผลิตโรงไฟฟ้าแม่เมาะอาจลดลงเหลือ 1,250 เมกะวัตต์ จากปัจจุบันผลิตอยู่ 2,400 เมกะวัตต์ ดังนั้น ทาง กฟผ.ได้พิจารณาจัดทำแผนสร้างความมั่นคงด้านพลังงานในภาคเหนือ โดยเสนอสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ทดแทนโรงไฟฟ้าแม่เมาะหน่วยที่ 8-9 ที่จะหมดอายุลงปี 2563 ซึ่งจะตั้งอยู่ในพื้นที่เดิม กำลังการผลิต 650 เมกะวัตต์ แต่ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับกระทรวงพลังงานจะเห็นชอบแนวทางดังกล่าวหรือไม่

ทั้งนี้ โรงไฟฟ้าแม่เมาะซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าหลัก ขนาดใหญ่ที่ส่งไฟฟ้าจากภาคเหนือมาภาคกลาง หากไม่มีการวางแผนเตรียมความพร้อม ในอนาคตโรงไฟฟ้าแม่เมาะก็จะไม่ได้ทำหน้าที่ส่งไฟฟ้าลงมาได้แล้ว เพราะกำลังผลิตลดลง ทำให้การส่งไฟฟ้าจะเปลี่ยนภาพ โดยภาคเหนืออาจต้องรับไฟฟ้ามาจากโรงไฟฟ้าภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือแทน

ปัจจุบันถ่านหินสำรองเหมืองแม่เมาะ จ.ลำปาง มีปริมาณลดลงเหลือประมาณ 300-400 ล้านตัน ขณะที่มีการใช้ถ่านหินแม่เมาะเฉลี่ยปีละ 16 ล้านตัน ผลิตไฟฟ้าทั้งหมด 2,400 เมกะวัตต์ จากหน่วยผลิตไฟฟ้าที่ 4-13 ซึ่งแต่ละหน่วยจะทยอยหมดอายุสัญญาที่ 30 ปี โดยหน่วยที่ 4-7 กฟผ.ได้สร้างทดแทนรวมกำลังผลิต 650 เมกะวัตต์ จะเข้าระบบเชิงพาณิชย์ใน เดือน พ.ย. 2561 ส่วนหน่วยที่ 8-9 กำลังผลิต 650 เมกะวัตต์ จะหมดอายุประมาณปี 2562-2563 ขณะนี้ กฟผ.เสนอให้สร้างโรงไฟฟ้าทดแทน

ส่วนหน่วยที่ 10-13 กำลังผลิตรวม 1,200 เมกะวัตต์ ทยอยหมดอายุปี 2564-2568 โดยในส่วนกำลังหน่วยที่ 10-13 นี้ ไม่สามารถสร้างทดแทนได้ เนื่องจากปริมาณถ่านหินที่ลดน้อยลง ดังนั้นหากกระทรวงพลังงานเห็นชอบสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะหน่วยที่ 8-9 กำลังผลิตไฟฟ้าก็จะเหลือในอนาคตประมาณ 1,250 เมกะวัตต์ และใช้ถ่านหินลดลงเหลือ 8 ล้านตันต่อปี สามารถใช้ป้อนโรงไฟฟ้าได้ตลอดอายุโรงไฟฟ้า 30 ปี

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: