Media Disruption: EP8 ผลกระทบต่อ 'สิทธิแรงงาน' คนทำงานสื่อ

ทีมข่าว TCIJ: 18 พ.ย. 2562 | อ่านแล้ว 8165 ครั้ง

การปรับตัวของอุตสาหกรรมสื่อเก่าสู่ดิจิทัลนั้น ได้ส่งผลกระทบโดยตรงกับคนทำงานในภาคสื่อสารมวลชน ทั้งการเลิกจ้างและรูปแบบการจ้างงานที่ไม่มั่นคงโดยเฉพาะ‘ฟรีแลนซ์’ เป็นปรากฏการณ์สำคัญไปทั่วโลก ในไทยยุค 'ทีวีดิจิทัล' ส่งผลกระทบคนทำงาน 'เครือข่ายสถานีอนาล็อก' เป็นกลุ่มแรกๆ หลัง ‘ฟองสบู่ดิจิทัลแตก’ เกิดการเลิกจ้างคนทำงานสื่อครั้งใหญ่ พบชีวิตคนทำสื่อออนไลน์ 'ค่าแรงต่ำ-อึดทน-ทำงานสารพัด' 

Special Report ชิ้นนี้เป็นตอนหนึ่งของซีรีส์ชุด Media Disruption ที่ TCIJ ได้รับทุนสนับสนุนจากโครงการรู้เท่าทันดิจิทัล โดย Internews Network

Media Disruption: EP1 ไทม์ไลน์และพฤติกรรมผู้เสพสื่อที่เปลี่ยนไปในระดับโลก
Media Disruption: EP2 การหายไปของ ‘สื่อเก่า’ ทั้ง ‘ปริมาณ-เม็ดเงิน-คนทำงาน’
Media Disruption: EP3 ‘การควบรวมสื่อ’ และ ‘การหายไปของสื่อท้องถิ่น’ ในต่างประเทศ
Media Disruption: EP4 สำรวจพฤติกรรมเสพสื่อที่เปลี่ยนไปของคนไทย
Media Disruption: EP5 ‘สื่อสิ่งพิมพ์ไทย’ ในยุค Disrupt ถึงจุดดิ่งสุดแล้วหรือยัง?
Media Disruption: EP6 เมื่อ ‘วิทยุไทย’ ถูก ‘การเมือง-สื่อใหม่’ Disrupt
Media Disruption: EP7 ‘ทีวีไทย’ ในกระแสเปลี่ยนผ่าน
Media Disruption: EP8 ผลกระทบต่อ 'สิทธิแรงงาน' คนทำงานสื่อ
Media Disruption: EP9 อุปสรรคต่อสิทธิเสรีภาพและการรับข้อมูลที่ถูกต้อง
Media Disruption: EP10 ‘สือออนไลน์’ ความหวัง ความฝัน ..ความจริง

 

ในอุตสาหกรรมสื่อพบว่า ตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อันเนื่องมาจากเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Disruption) อุตสาหกรรมสื่อเก่าต้องปรับตัวสู่ดิจิทัล ซึ่งได้ส่งผลกระทบโดยตรงกับสิทธิของคนทำงานในภาคสื่อสารมวลชน ทั้ง ‘การเลิกจ้าง’ และรูปแบบ ‘การจ้างงานที่ไม่มั่นคง’ ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่แพร่หลายไปทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย

จำนวน ‘คนงานประจำ’ ภาคสื่อ ลดลงอย่างต่อเนื่อง

ปัจจุบันการเลิกจ้างคนทำงานภาคสื่อสารมวลชนมีให้เห็นทั่วโลก โดยเฉพาะตำแหน่งงานที่เกี่ยวข้องกับงานข่าว | ที่มาภาพประกอบ: Washington Post

เทคโนโลยีดิจิทัลส่งผลให้รายได้ของอุตสาหกรรมสื่อเก่าทั่วโลกลดลงอย่างต่อเนื่องในศตวรรษที่ 21 นอกจากนี้ เจ้าของกิจการสื่อโดยรวมก็ยังคงทำกำไรได้จากการลดค่าใช้จ่ายขององค์กร การใช้เว็บไซต์และแอพพลิเคชั่น ลดจำนวนการพิมพ์ ลดการรายงานข่าวจากท้องถิ่นหรือการรายงานจากต่างประเทศ ควบรวมกิจการ มีการเลิกจ้าง รวมทั้งการลด ‘ตำแหน่งงานประจำ’ ลงเรื่อยๆ

  • ปี ค.ศ. 2004 หนังสือพิมพ์ฉบับต่างๆ ในสหรัฐอเมริกามีพนักงานประจำกองบรรณาธิการน้อยกว่าปี ค.ศ. 1990 ถึง 2,200 คน ขณะที่สถานีโทรทัศน์ลดนักข่าวภาคสนามลง 1 ใน 3 นับตั้งแต่ทศวรรษที่ 1980 เป็นต้นมา
  • ระหว่างปี ค.ศ. 2008-2018 การจ้างงานคนทำงานสื่อสารมวลชนในสหรัฐฯ ที่เกี่ยวข้องกับงานข่าวมีแนวโน้มลดลงร้อยละ 25 ในปี ค.ศ. 2008 คนทำงานสื่อสารมวลชนในสหรัฐฯ ที่เกี่ยวข้องกับงานข่าวมีทั้งหมดประมาณ 114,000 คน ทั้งนักข่าว, บรรณาธิการ, ช่างภาพ และคนตัดต่อ ทำงานใน 5 อุตสาหกรรมที่ผลิตข่าว ได้แก่ หนังสือพิมพ์, สถานีโทรทัศน์, สื่อออนไลน์, วิทยุ และเคเบิลทีวี แต่ในปี ค.ศ. 2018 เหลือเพียง 86,000 ตำแหน่ง
  • ปี ค.ศ. 2018 ถือว่าเป็นปีที่คนทำงานภาคสื่อสารมวลชนในสหรัฐฯ ถูกเลิกจ้างมากที่สุดในรอบหลายปี โดยถูกเลิกจ้างมากถึง 11,878 คน ซึ่งเมื่อเทียบกับการเลิกจ้างในปี ค.ศ. 2017 ปีที่เลิกจ้าง 4,062 คน ปี ค.ศ. 2018 มีสัดส่วนการเลิกจ้างมากกว่าถึงร้อยละ 281 ซึ่งนับเป็นการเลิกจ้างมากที่สุดตั้งแต่ช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี ค.ศ. 2009

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมการเลิกจ้างคนทำงานภาคสื่อในระดับโลก Media Disruption: EP2 การหายไปของ ‘สื่อเก่า’ ทั้ง ‘ปริมาณ-เม็ดเงิน-คนทำงาน’. ศูนย์ข้อมูล & ข่าวสืบสวนเพื่อสิทธิพลเมือง (TCIJ)

พนักงานประจำ (ที่เหลือ) ทำงานหนักขึ้น การจ้างงาน ‘ฟรีแลนซ์’ คุกคามสิทธิคนทำงานสื่อ

การจ้างงานนักข่าวฟรีแลนซ์ เป็นเทรนด์ที่ได้รับความนิยมในวงการสื่อมวลชนทั่วโลกในขณะนี้ เนื่องจากช่วยสร้างความยืดหยุ่นและลดต้นทุนให้กับองค์กรสื่อ | ที่มาภาพประกอบ: IBC

ในงานศึกษาชิ้นหนึ่งที่ทำการสำรวจกลุ่มตัวอย่างนักข่าวใน 14 ประเทศในทวีปยุโรป พบว่าในช่วงเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคดิจิทัล การจ้างงานระยะยาวแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย โดยเฉพาะในหมู่นักข่าวหน้าใหม่ที่มีประสบการณ์ทำข่าวไม่เกิน 5 ปี หรือเป็นนักข่าวฟรีแลนซ์มาก่อน ทั้งนี้ โดยส่วนใหญ่พบการจ้างงานประจำในประเทศอย่างสวีเดน เยอรมนี มีมากกว่าในกลุ่มประเทศยุโรปตะวันออก แต่ก็ยังพบความไม่แน่ใจในหมู่นักข่าวสวีเดน เยอรมัน เรื่องความมั่นคงในอาชีพ ทำให้นักข่าวหลายคนหันไปทำงานด้านประชาสัมพันธ์ (PR) แทน แม้ว่าจะเป็นนักข่าวมานานนับทศวรรษแล้ว เนื่องจากไม่ได้รับสัญญาจ้างแบบถาวร มีการเปรียบเปรยว่ารายได้ของนักข่าวใหม่ก็ไม่ต่างจากคนค้าขายตามริมถนน แม้นักข่าวกลุ่มดังกล่าวทำงานหนักกว่าก็ตาม ทั้งนี้ พบความวิตกกังวลในหมู่นักข่าวหน้าใหม่อยู่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะประเด็นที่ว่าวิชาชีพนักข่าวได้กลายเป็นอาชีพที่ขาดความมั่นคงไปเสียแล้ว [1]

การจ้างงานแบบฟรีแลนซ์ กำลังคุกคามคนทำงานสื่อในยุโรป

การจ้างงานแบบฟรีแลนซ์ได้คุกคามภาคสื่อมวลชนหลายประเทศในยุโรปด้วยเช่นกัน จากดัชนีเสรีภาพสื่อมวลชนโลกปี 2018 (2018 World Press Freedom index) ระบุว่ายุโรปเป็นภูมิภาคที่สัดส่วนมาตรฐานด้านเสรีภาพลดลงมากที่สุดเมื่อเทียบกับทุกภูมิภาค ซึ่งหนึ่งในปัญหาใหญ่ที่ผู้สื่อข่าวในยุโรปกำลังเผชิญก็คือการจ้างงานที่ไม่มั่นคงและค่าแรงที่ต่ำ มีงานศึกษาและสำรวจหลายชิ้นที่ระบุว่าการจ้างงานฟรีแลนซ์ ซึ่งมีลักษณะของการเป็น 'แรงงานรับจ้างตนเอง' (self-employed) เพิ่มมากขึ้นในแวดวงสื่อมวลชน ส่งผลให้ 'ช่องว่างของรายได้และความมั่นคง' ระหว่างผู้สื่อข่าวฟรีแลนซ์และผู้สื่อข่าวที่เป็นพนักงานประจำ ถ่างมากขึ้นด้วย โดย’สำนักข่าวประชาไท’ได้เคยสำรวจสถานการณ์การจ้างงานนักข่าวในทวีปยุโรปไว้ดังนี้

สหราชอาณาจักร เมื่อปี ค.ศ.2016 เว็บไซต์ Journalism.co.uk ได้ทำแบบสำรวจผู้สื่อข่าวฟรีแลนซ์จำนวน 310 คน มากกว่า 2 ใน 3 ระบุว่าการประกอบอาชีพผู้สื่อข่าวฟรีแลนซ์นี้เป็นรายได้หลักของตนเพียงอย่างเดียว ประมาณร้อยละ 40 เป็นกลุ่มคนยุค 'มิลเลเนียม' คือมีอายุระหว่าง 18-34 ปี และอีก 1 ใน 3 มีอายุระหว่าง 35-44 ปี ผู้สื่อข่าวฟรีแลนซ์ส่วนใหญ่ระบุในแบบสอบถามว่ามีความกังวลใจเรื่องความไม่มั่นคงในการทำงานและรายได้ที่ต่ำ ทั้งนี้ค่ามัธยฐานของรายได้ผู้ประกอบอาชีพนักหนังสือพิมพ์ (ทั้งผู้สื่อข่าวและกองบรรณาธิการที่เป็นพนักงานประจำ) จากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติเมื่อปี 2015 อยู่ที่ 31,294 ปอนด์ต่อปี แต่ผู้สื่อข่าวฟรีแลนซ์ผู้ตอบแบบสอบถามของ Journalism.co.uk เมื่อปี 2016 ร้อยละ 10 ระบุว่าพวกเขามีรายได้ระหว่าง 30,000-39,000 ปอนด์ต่อปี ร้อยละ 21 มีรายได้ 10,000-19,999 ปอนด์ และร้อยละ 33.9 มีรายได้ไม่ถึง 10,000 ปอนด์ต่อปี

เยอรมนี มีการศึกษาของมหาวิทยาลัยลุดวิก แมกซิมิเลียน แห่งมิวนิค (Ludwig Maximilian University of Munich: LMU Munich) พบว่าผู้สื่อข่าวฟรีแลนซ์แม้จะมีการศึกษาสูงแต่กลับได้ค่ารับตอบแทนต่ำกว่าผู้สื่อข่าวที่เป็นพนักงานประจำ โดยร้อยละ 83 ของผู้สื่อข่าวฟรีแลนซ์ในเยอรมนีมีการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย (ตัวเลขนี้เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 91 ในหมู่ผู้สื่อข่าวฟรีแลนซ์ผู้หญิง) ส่วนผู้สื่อข่าวที่เป็นพนักงานประจำมีเพียงร้อยละ 74.1 เท่านั้น และ 1 ใน 3 ของผู้สื่อข่าวฟรีแลนซ์ทำอาชีพนี้ควบคู่ไปกับการทำอาชีพอื่น

เบลเยียม งานวิจัยของสมาคมนักข่าวเบลเยียม (Association des journalistes professionnels: AJP) ระบุว่าในภูมิภาคที่พูดภาษาฝรั่งเศสของเบลเยียม ผู้สื่อข่าวฟรีแลนซ์ได้รับค่าตอบแทนต่ำมาก อย่างรายงานข่าวในหนังสือพิมพ์รายวันพวกเขาได้ค่าเรื่องเพียง 20 ยูโร รายงานขนาดยาวที่ตีพิมพ์หลายตอนได้ค่าเรื่องประมาณ 120-150 ยูโร ส่วนรายงานข่าวผ่านรายการทีวีได้ชิ้นละประมาณ 125 ยูโร นอกจากนี้การสำรวจผู้สื่อข่าวฟรีแลนซ์ที่พูดภาษาดัตช์ในเขตฟลามส์ (Flanders - เขตปกครองทางตอนเหนือของเบลเยียม) เมื่อปี 2017 พบว่าค่าจ้างผู้สื่อข่าวฟรีแลนซ์ยิ่งต่ำลงลดลง ในนิตยสารเฉพาะทางและเว็บไซต์ต่างๆ เช่น หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นหรือสื่อด้านการท่องเที่ยว นอกจากนี้ยังพบว่าผู้สื่อข่าวฟรีแลนซ์ยังถูกใช้งานแบบอาสาสมัคร (ไม่ได้รับเงินตอบแทน) อีกด้วย 

สเปน เกือบร้อยละ 45 ของผู้สื่อข่าวฟรีแลนซ์มีรายได้น้อยกว่า 1,000 ยูโรต่อเดือน ซึ่งตัวเลขนี้ยังมีเรื่องช่องว่างรายได้ระหว่างเพศแฝงอยู่ โดยร้อยละ 51 ของผู้สื่อข่าวฟรีแลนซ์ผู้หญิงได้ค่าแรงต่ำมาก เมื่อเทียบกับผู้สื่อข่าวฟรีแลนซ์ผู้ชายที่ร้อยละ 26 ทั้งนี้สถานีโทรทัศน์ในสเปนสเปนจ่ายเงินระหว่าง 200-400 ยูโร ต่อสกู้ปข่าวหนึ่งชิ้น

ฝรั่งเศส จากการสำรวจของสหภาพแรงงานผู้สื่อข่าวแห่งชาติ (Snj-CGT) พบว่ามีผู้สื่อข่าวฟรีแลนซ์ประมาณ 6,500 คน ที่มีบัตรสื่อมวลชน (press cards) แม้ผู้สื่อข่าวฟรีแลนซ์จำนวนหนึ่งจะไม่ผ่านเกณฑ์รับรองอย่างเป็นทางการ แต่กระนั้นจำนวนนี้ก็เป็นสัดส่วนถึง 1 ใน 4 ของผู้ถือบัตรสื่อมวลชนในฝรั่งเศส โดยปี ค.ศ.2017 ที่ผ่านมาร้อยละ 66 ของได้รับอนุญาตถือบัตรสื่อมวลชนรายใหม่เป็นผู้สื่อข่าวฟรีแลนซ์ ข้อมูลที่น่าสนใจอีกหนึ่งประการก็คือกว่าร้อยละ 57 ของผู้สื่อข่าวฟรีแลนซ์มีอายุเกิน 35 ปีขึ้นไปแล้ว ผู้สื่อข่าวฟรีแลนซ์ที่มีบัตรสื่อมวลชนมีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนที่ 1,969 ยูโร เทียบกับผู้สื่อข่าวที่เป็นพนักงานประจำที่ 3,549 ยูโร ทั้งนี้รายได้เฉลี่ยต่อเดือนของผู้สื่อข่าวฟรีแลนซ์ (ที่มีบัตรสื่อมวลชน) ลดลงจากปี ค.ศ.2000 ที่เคยได้อยู่ที่ 2,058 ยูโร นอกจากนี้พบว่ายังมีผู้สื่อข่าวฟรีแลนซ์อีกจำนวนมากที่ไม่มีบัตรสื่อมวลชน บางคนต้องทำงานมากกว่า 70 ชั่วโมงต่อสัปดาห์เพื่อแลกกับรายได้เพียงหลักร้อยยูโร

อิตาลี สถาบันคุ้มครองทางสังคมสื่อมวลชนแห่งชาติ (INPGI) ระบุว่าผู้สื่อข่าวฟรีแลนซ์มีถึงร้อยละ 65 ของผู้สื่อข่าวทั้งหมดในประเทศ ข้อมูลในปี ค.ศ.2015 พวกเขามีรายได้เฉลี่ยต่อปี 11,241 ยูโร ซึ่งเป็นตัวเลขเพียง 1 ใน 5 เมื่อเทียบกับผู้สื่อข่าวที่เป็นพนักงานประจำ และผู้สื่อข่าวฟรีแลนซ์ประมาณร้อยละ 83 ยังมีรายได้เฉลี่ยต่อปีน้อยกว่า 10,000 ยูโร ด้วยซ้ำ [2]

 

มีความเห็นของของนักข่าวที่ระบุว่า การลดลงของนักข่าวประจำและการเพิ่มขึ้นของนักข่างฟรีแลนซ์  ทำให้นักข่าวกลาย เป็นอาชีพที่ขาดความมั่นคงซึ่งจะส่งผลกระทบต่อคุณภาพของงานข่าว การจ้างนักข่าวประจำที่ลดลงก็จะให้นักข่าวที่เหลือใช้เวลาทำงานต่อหนึ่งชิ้นนานขึ้น ทั้งค้นคว้าข้อมูลเอง ถ่ายวิดีโอ และยังต้องใช้เวลาทำงานด้านเว็บไซต์ ซึ่งการต้องทำหลายอย่างส่งผลให้คุณภาพของงานลดลง ปริมาณนักข่าวที่มีน้อยลงจะทำให้ข่าวสืบสวนสอบสวนมีคุณภาพน้อยลงไปด้วย และจากการสำรวจนักข่าวแคนาดาเมื่อปี ค.ศ.2013 จำนวน 343 คน ต่อคำถามว่าในปี ค.ศ.2022 พวกเขาจะยังคงเป็นนักข่าวอยู่หรือไม่ พบนักข่าวถึงร้อยละ 42.2 ตอบว่าจะเลิกเป็นนักข่าว [3]

ในการบรรยาย 'แรงงานและอาชีพในเศรษฐกิจดิจิทัล' โดย อรรคณัฐ วันทนะสมบัติ นักวิจัยศูนย์แม่โขงศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการฝึกอบรม TCIJ School รุ่นที่ 6 เมื่อเดือน มิ.ย. 2562 ได้ระบุถึงรูปแบบการทำงานและจ้างงานของคนทำสื่อที่เปลี่ยนไปอย่างมากในยุคปัจจุบันไว้ว่า เป็นผลกระทบจากองค์กรสื่อถูก disrupt สื่อเก่าหลายแห่งปรับตัวไม่ทันจนต้องปิดตัวลง ที่อยู่รอดก็ต้องปรับตัว-ปรับองค์กรสู่แพลตฟอร์มแบบใหม่ ซึ่งเอื้อต่อการจ้างงานแบบฟรีแลนซ์มากขึ้น

"ในยุคที่เทคโนโลยี disrupt ทุกสิ่ง มีเดียเองก็ถูก disrupt หนังสือพิมพ์ นิตยสาร สื่อแบบเก่า จำนวนมากที่ปรับตัวไม่ทันต้องปิดตัวลงไป สิ่งนี้มันเกิดเร็วมาก คุณดูตอนประมูลทีวีดิจิทัล ผู้ประกอบการแห่ไปประมูลเสนอค่าตอบแทนให้รัฐมหาศาล แต่เมื่อภูมิทัศน์สื่อเปลี่ยน ทุกคนย้ายมาอยู่บนแพลตฟอร์มออนไลน์ ก็เจ๊งเลย ทีนี้พอทุกคนรู้ตัวว่าต้องย้ายแพลตฟอร์มมันก็เลยทำให้มีความต้องการคอนเทนต์ออนไลน์มาก แล้วก็มีผู้ผลิตที่เป็นฟรีแลนซ์ พร้อมจะกระโจนลงไปในสนาม ผลิตงานป้อนให้แพลตฟอร์ม ซึ่งเราก็มองว่าการเปลี่ยนแปลงนี้มันก็เป็นโอกาสทางธุรกิจของเรา แต่บางทีก็ลืมนึกไปว่าเมื่อมีคนส่งงานเข้ามาเยอะ ตัวเลือกมันก็เยอะ โอกาสของเรามันก็อาจจะน้อยลงตามไป หรือว่าค่าตอบแทนของเรามันก็อาจจะน้อยลงไปด้วย ซึ่งหากคิดต้นทุนให้ดีมันก็อาจจะไม่สอดคล้องกับรายจ่ายที่เราต้องจ่ายจริงๆ ในการผลิตงานหนึ่งชิ้น ในรูปแบบการจ้างงานแบบเดิม สมมติเราเป็นนักข่าวอย่างน้อย ปัจจัยการผลิต สาธารณูปโภคพื้นฐานต่างๆ ที่เราใช้ในการทำงานมันก็เป็นของนายจ้าง เรามีหลักประกันทางสังคม ความสัมพันธ์การจ้างงาน สภาพการทำงาน มีกฎหมายรองรับ แต่ถ้าเราเป็นฟรีแลนซ์จะไม่มีสิ่งเหล่านี้เลย คุณแบกรับต้นทุนเองทั้งหมด" อรรคณัฐ ระบุ

ทั้งนี้การจ้างงานฟรีแลนซ์เหมาจ่าย (เช่น การทำรายการทีวีด้วยนักข่าวตัวคนเดียวทำทุกกระบวนการทั้งลงพื้นที่ ดำเนินรายการเอง ถ่ายวีดีโอเอง ตัดต่อเอง) เป็นอีกทางเลือกขององค์กรสื่อที่ไม่ต้องมีภาระผูกพันในการจ้างงานมากนัก ถือเป็นรูปแบบการจ้างงานแบบใหม่ที่กำลังค่อยๆ คืบคลานเข้ามาในวงการสื่อไทย

"อันนี้ (การจ้างงานฟรีแลนซ์เหมาจ่าย) มันก็จะทำให้เราเห็นถึงปัญหาของรูปแบบการจ้างงานแบบใหม่ ซึ่งกำลังเป็นแนวโน้มการจ้างงานในอนาคตเกือบทุกอุตสาหกรรม นายจ้างพยายามจะ breakdown กระบวนการทำงานให้ย่อยลงมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แล้วก็เลือกที่จะทำสัญญาจ้างแบบที่ไม่ต้องมีภาระผูกพันสำหรับนายจ้าง แล้วก็เอาเรื่องของการแข่งขันมาเป็นข้ออ้างว่าโอเค เนื่องจากว่ามันมีการแข่งขันสูง ธุรกิจไปไม่ได้ ถ้าไม่ทำแบบนี้” อรรคณัฐ ระบุ กับ TCIJ School รุ่นที่6 เมื่อเดือน มิ.ย. 2562 ที่ผ่านมา

เข้าสู่ยุค 'ทีวีดิจิทัล' คนทำงาน 'เครือข่ายสถานีอนาล็อก' โดนผลกระทบกลุ่มแรกๆ

หลังจากที่ไทยก้าวเข้าสู่ยุคทีวีดิจิทัลเมื่อปี 2557 ฟรีทีวี 6 ช่องเดิม (ThaiPBS, 3, 5, 7, 9 และ NBT) ก็ได้ทยอยยุติการเผยแพร่สัญญาณแบบอนาล็อก ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อคนทำงานเครือข่ายสถานีอนาล็อก ในสถานีต่างจังหวัด

เมื่อช่วงเดือน พ.ค. 2562 ตัวแทนคนทำงานเครือข่ายสถานีอนาล็อก สถานีต่างจังหวัดรวม 20 คน ได้ยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ผ่านศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ขอความเป็นธรรมให้มีมาตรการเยียวยาพนักงานเครือข่ายสถานีอนาล็อก สถานีต่างจังหวัด กรณีนายจ้าง บริษัท กรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ จํากัด ในนามสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 ได้บอกเลิกจ้างพนักงานต่างจังหวัดทั้งหมด ซึ่งทำให้มีคนตกงาน 113 คน

ทั้งนี้ หนังสือดังกล่าวระบุว่าด้วยเครือข่ายสถานีอนาล็อก สถานีต่างจังหวัด กรณีนายจ้างบริษัทกรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ จำกัด ในนามสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 ได้บอกเลิกจ้างพนักงานต่างจังหวัดทั้งหมด โดยแบ่งเป็น 3 เฟส เฟสที่ 1 จำนวน 4 สถานี เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2560  เฟสที่ 2 จำนวน 13  สถานี เมื่อวันที่ 31 ธ.ค. 2560 เฟสที่ 3 จำนวน 20 สถานี เมื่อวันที่ 12 มี.ค. 2561 โดยทางบริษัทฯ ไม่เคยนำแผนงานระบบทีวีดิจิทัลแจ้งให้พนักงานทราบมาก่อน ซึ่งไม่เป็นไปตามนโยบายของ กสทช. ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐโดยตรงที่กำกับดูแลทีวีระบบกระจาย เสียงและภาพระบบดิจิทัลให้นโยบายไว้ว่าให้สถานีออกอากาศในระบบอนาล็อกควบคู่กับระบบดิจิตอลไปจนถึงอายุ สัมปทานในปี 2566

"พนักงานต่างจังหวัดที่ถูกเลิกจ้าง ทั้งหมด 113 ราย อย่างเช่นพวกกระผมซึ่งมีอายุ 40 กว่าปีขึ้นไปทั้งสิ้น ขาดโอกาสในการหางาน ไม่มีโอกาสขยับขยายหางานใหม่ ครอบครัวที่ต้องดูแลต้องประสบปัญหาเดือดร้อนในทันที และหลังจากนี้ไปจะมีพนักงานต่างจังหวัดอีกมากมายหลายช่องก็จะถูกเลิกจ้างและประสบปัญหาเช่นเดียวกับพวกกระผมกันหมด ด้วยสภาวการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน ปัญหาหนี้สิน ความเดือดร้อนเหล่านี้มีที่มาจากบริษัททีวีดิจิทัลและนโยบายของรัฐที่สนับสนุนให้มีทีวีดิจิตอลทั้งสิ้น ซึ่งขณะนี้ทาง กสทช. ก็ได้มีมาตรการเยียวยา ผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลไปบ้างแล้ว" ตัวแทนคนทำงานเครือข่ายสถานีอนาล็อก ระบุ

ในตอนท้ายของหนังสือระบุว่า ขอความกรุณาต่อท่านนายกรัฐมนตรีได้โปรดพิจารณาถึงปัญหาดังกล่าว และได้โปรดมีมาตรการเยียวยาพนักงานเครือข่ายสถานีอนาล็อก สถานีต่างจังหวัดจำนวนมากที่ถูกเลิกจ้าง ที่ได้รับความเดือดร้อนจากพิษของดิจิทัลจากนโยบายของรัฐให้ได้รับความดูแลชดเชยเยียวยาด้วย

“พวกผมอยู่ต่างจังหวัดที่โดนเลิกจ้าง สถานีต่างจังหวัดทั้งหมด 37 สถานีโดนเลิกจ้างทั้งหมด ทีวีอนาล็อกเดิมจะมีช่อง 7 ช่อง 3 ช่อง 9 ช่อง ThaiPBS และช่อง 5 เราโดนกลุ่มแรก และปิดก่อนออายุสัมปทาน การเดินทางเข้า กทม. พวกผมอาศัยรวมเงินคนละ 100-200 บาท เพื่อให้ตัวแทนไปทำหน้าที่ครับ พวกผมลำบากกันจริง อายุก็เลย 40-50 ปีแล้วทั้งนั้นขาดโอกาสในการหางานใหม่ ช่วยแรงงานอย่างพวกผมด้วยเถอะครับ” ตัวแทนคนทำงานเครือข่ายสถานีอนาล็อก ระบุ [4]

การเลิกจ้างครั้งใหญ่ของวงการสื่อไทย เมื่อ ‘ฟองสบู่ทีวีดิจิทัลแตก’

เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2562 กลุ่มพนักงานฝ่ายข่าว และผู้ผลิตรายการสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 จำนวนเกือบ 20 คน เดินทางมาที่ศาลแรงงานกลาง เพื่อขอความเป็นธรรมและปรึกษานิติกร กรณีถูกเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรมของผู้บริหาร หลังมีการคืนช่องสัมปทานทีวีดิจิตอล ช่อง 13 Family และ ช่อง 28 SD | ที่มาภาพ: กรุงเทพธุรกิจ

นับตั้งแต่ทีวีดิจิทัลเริ่มต้นในปี 2557 พบว่าเม็ดเงินโฆษณาก็ไม่ได้เติบโตจากยุคฟรีทีวี 6 ช่อง โดยเม็ดเงินโฆษณาก้อนเดิมนั้นได้ย้ายจากช่องฟรีทีวีเดิมไปยังทีวีดิจิทัลช่องใหม่ แต่การแข่งขันกลับมีสูงกว่าเดิม รวมทั้งมีส่วนที่ไหลไปยังสื่อออนไลน์ด้วย ขณะที่ทีวีดิจิทัลเป็นสื่อที่ลงทุนสูงเมื่อรายได้ไม่คุ้มต้นทุนทำให้หลายช่องต้องทยอยลดต้นทุน ทั้งการปรับกลยุทธ์องค์กร การเลิกจ้างพนักงานมาต่อเนื่อง และสุดท้ายมาจบลงที่การคืนใบอนุญาต

จากการรวบรวมตัวเลขของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) พบว่าทีวีดิจิทัลส่วนใหญ่ล้วนแล้วแต่อยู่ในภาวะขาดทุน ทั้งนี้พบว่าแต่ละสถานีของช่องดิจิทัลจะมีพนักงานเฉลี่ยช่องละ 200 คน โดยเป็นพนักงานประจำของตนเองประมาณร้อยละ 30-40 เท่านั้น ที่เหลือเป็น ‘การจ้างผลิต’ หรือ ‘outsource’

ข้อมูลจาก กสทช. ระบุว่าตั้งแต่ปี 2558-2562 มีการปิดตัวของทีวีดิจิทัลไป 9 ช่อง (ช่อง LOCA | ช่อง THAITV | ช่อง 3 FAMILY | ช่อง MCOT Family | ช่อง SPRING NEWS | ช่อง BRIGHT TV | ช่อง VOICE TV | ช่อง SPRING (ช่อง NOW เดิม) | ช่อง 3SD) มีพนักงานประจำของสถานีทีวีดิจิทัลและพนักงานของบริษัทรับจ้างผลิต ทั้งผู้ผลิตรายการอิสระ ธุรกิจตัดต่อ ผู้ผลิตโฆษณา ได้รับผลกระทบจากการเลิกจ้าง จำนวน 3,472 คน นอกจากนี้ยังมีผลกระทบทางอ้อมต่อครอบครัวคนที่ถูกเลิกจ้างอีกจำนวน 11,458 คน รวมผู้ที่ ได้รับผลกระทบ 14,930 คน [5]

ส่วน Positioning ได้รวบรวมตัวเลขการเลิกจ้างของช่องทีวีดิจิทัลระหว่างปี 2558-2562 ไว้ดังนี้

  • ปี พ.ศ.2558 ช่อง SPRING NEWS เลิกจ้าง 80 คน
  • ปี พ.ศ.2558 ช่อง LOCA และ ช่อง THAITV เลิกจ้าง 500 คน
  • ปี พ.ศ.2559 ช่อง VOICE TV เลิกจ้าง 57 คน
  • ปี พ.ศ.2560 ช่อง THAIRATH TV เออร์ลี่รีไทร์ 100 คน
  • ปี พ.ศ.2561 ช่อง NEW tv เลิกจ้าง 37 คน
  • ปี พ.ศ.2561 ช่อง 3 เปิดเออร์ลี่ รีไทร์ กลุ่มเกษียณ
  • ปี พ.ศ.2562 ช่อง GMM เลิกจ้างทีมข่าว 27 คน
  • ปี พ.ศ.2562 ช่องเด็ก ช่อง 3 family และ MCOT Family รวม 100 คน
  • ปี พ.ศ.2562 ช่องข่าว BRIGHT TV, VOICE TV และ SPRING NEWS รวม 300 คน
  • ปี พ.ศ.2562 ช่องวาไรตี้ SD ช่อง 3SD และ SPRING รวม 150 คน [6]

ล่าสุดจากกรณีที่ทีวีดิจิทัล 7 ช่อง (ช่อง 3 FAMILY | ช่อง MCOT Family | ช่อง SPRING NEWS | ช่อง BRIGHT TV | ช่อง  VOICE TV | ช่อง SPRING (ช่อง NOW เดิม) | ช่อง 3SD) ได้คืนใบอนุญาตนั้น กสทช. ได้จ่ายเงินชดเชยให้จำนวน 2,933 ล้านบาท ในจำนวนนี้ผู้ประกอบการได้นำไปจ่ายเป็นเงินเยียวยาเลิกจ้างพนักงานตามกฎหมายแรงงานและบวกเพิ่มให้รวม 1,400 ล้านบาท แต่ก็พบว่ากลุ่มที่เป็นลูกจ้าง outsource (พนักงานของบริษัทรับจ้างผลิต) ได้รับผลกระทบเพราะไม่ได้อยู่ภายใต้กฎหมายแรงงาน เมื่อมีการยกเลิกประกอบกิจการจึงไม่ได้รับสิทธิการจ่ายเงินค่าเลิกจ้างนี้ ซึ่งมีการส่งเรื่องร้องเรียนมาที่ กสทช.จำนวนมาก [7]

ทั้งนี้ ในช่วงที่ 7 ช่องทีวีดิจิทัล ได้ประกาศคืนใบอนุญาตแก่ กสทช. นั้น ‘ศูนย์ประสานงานและติดตามข้อมูลสถานการณ์ในอุตสาหกรรมสื่อมวลชน’ ได้ออกมาเรียกร้องดังนี้ 1.ให้ผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัล ที่แจ้งความประสงค์คืนใบอนุญาต ประกอบกิจการ พิจารณาการเลิกจ้างลูกจ้างด้วยความรอบคอบ เป็นธรรม คำนึงถึงคุณค่าของทรัพยากรมนุษย์ที่เป็นกลไกสำคัญในการปฏิบัติงานวิชาชีพสื่อสารมวลชน และคำนึงถึงความอุตสาหะทุ่มเทเสียสละให้กับองค์กรในการทำหน้าที่สื่อมวลชนตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา 2.กำหนดมาตรการให้ความช่วยเหลือลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างเป็นเงินพิเศษไม่น้อยกว่า 3 เดือน เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรม พัฒนาทักษะ ในการประกอบอาชีพใหม่ นอกเหนือจากค่าชดเชยเลิกจ้างตามที่กฎหมายกำหนด

3. ให้ผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัลที่ยังคงประกอบกิจการต่อไป ทำสัญญาการจ้างงานที่เป็นธรรม เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล และเสนอแผนงานด้านการพัฒนาบุคลากรที่ยังคงประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชนต่อ กสทช. เพื่อยืนยันความมุ่งมั่นตั้งใจในการสร้างสื่อมวลชนมืออาชีพ และยืนยันถึงความตระหนักในการพัฒนาเนื้อหารายการให้มีคุณภาพและเป็นประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน 4. ให้กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ สนับสนุนงบประมาณในการจัดฝึกอบรม พัฒนาวิชาชีพ ให้กับพนักงานที่ได้รับผลกระทบดังกล่าวในระยะยาว เพื่อประโยชน์ในการสร้างบุคลากรที่มีทักษะด้านสื่อสารมวลชนเป็นกำลังส่วนหนึ่งในการพัฒนาประเทศ สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ และแผนพัฒนาประเทศตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0  และ 5. ขอให้มอบหมายเจ้าหน้าที่ กสทช.ที่เกี่ยวข้อง ในการประสานงานด้านข้อมูลร่วมกับ 'ศูนย์ประสานงานและติดตามข้อมูลสถานการณ์ในอุตสาหกรรมสื่อมวลชน' (ศปส.) เพื่อได้รับทราบข้อมูลที่ถูกต้องและทันท่วงทีต่อการแก้ไขเยียวยาให้กับพนักงานในองค์กรสื่อมวลชนที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการดังกล่าว [8]

ชีวิตคนทำงานบริษัทรับจ้างผลิตให้ทีวีดิจิทัล

อดีตบุคลากรในบริษัทรับจ้างผลิตแห่งหนึ่งที่ผลิตรายการป้อนให้กับช่องทีวีดิจิทัล ให้ข้อมูลกับ TCIJ เมื่อช่วงเดือน ต.ค. 2562 ว่าสำหรับกระบวนผลิตสื่อปกตินั้นอาจมีหลายทีมหรือจำนวนคนที่มากพอในการผลิตสื่อและสลับวันเวลาในการหยุดพักหรือลาตามกิจธุระ แต่สำหรับสื่อที่อยู่ในกระบวนการเหมาช่วงหรือคนทำสื่อให้กับบริษัทรับจ้างผลิตต่างๆ นั้น จะตกอยู่ในข้อจำกัดของจำนวนคนที่พอดีกับงานหรือน้อยกว่า ดังนั้นเมื่อทำงานไประยะหนึ่งจะทำให้เกิดความอ่อนล้า ตึงเครียด ไปจนถึงการเจ็บป่วย นอกจากเรื่องค่าใช้จ่ายที่บุคลากรต้องเยียวยาตัวเองในการรักษาแล้ว สำหรับทีมหากโชคร้ายเป็นการเจ็บป่วยระยะยาวก็ยิ่งทำให้ภาระงานตกอยู่กับคนที่เหลือมากขึ้น บางคนอาจต้องฝืนร่างกายมาทำงานทั้งที่เจ็บป่วย กลายเป็นแรงกดดันใหม่ๆ ที่อาจนำไปสู่การลาออกและรับคนใหม่วนเวียนไป ถึงกระนั้นสภาพความเครียดและความเสี่ยงเหล่านี้ ต่างก็ยังมีคนต้องการเข้ามา เพื่ออย่างน้อยที่สุดคือการรักษาพื้นที่ของการทำงานสื่อเอาไว้และอาจดีกว่าต้องหลุดออกไปเคว้งคว้างกับอนาคตที่ไม่อาจคาดเดา 

และในช่วงวิกฤตการเลิกจ้างนั้น นอกจากที่บริษัทรับจ้างผลิตอาจเลือกที่จะเลิกจ้างพนักงานทั้งหมดเพื่อลดภาระด้านสวัสดิการและต้นทุนอื่น หรือเลือกหันมาคุมต้นทุนด้วยการเหมาช่วงด้วยกรอบวงเงินที่ชัดเจน ภายใต้สถานการณ์สื่อที่ทุกคนต้องวิ่งเข้าหางาน ไม่ว่าทีมข่าวชุดเดิมอาจรวมตัวกันเข้ามารับการว่าจ้างใหม่หรือทีมอื่นอาจต้องการเข้ามารับช่วงผลิตนี้ แม้ว่าจะเป็นการทำงานภายใต้ข้อจำกัดที่สูงมากก็ตาม เช่น การไม่มีสวัสดิการที่ชัดเจนไม่ว่าประกันสังคมหรืออื่นๆ ความเสี่ยงที่จะสูญเสียงานหลังครบสัญญาการจ้างผลิตและบริษัทนั้นไม่สามารถดีลเพื่อคว้าสัญญาการผลิตใหม่ได้ ค่าใช้จ่ายชดเชยต้นทุนหากวัสดุอุปกรณ์เสีย เสื่อมสภาพหรือสูญหาย นอกจากนี้จำนวนคนยังเป็นอีกข้อจำกัดที่ชัดเจน เพราะการเพิ่มหรือลดล้วนแล้วมีผลกระทบทั้งสิ้น

 

ชีวิตคนทำสื่อออนไลน์ ‘ค่าแรงต่ำ-อึดทน-ทำงานสารพัด’

'One-Man-Band Journalist' คือคำที่ใช้เรียกสื่อมวลชนที่ทำงานได้หลายอย่างในตัวคนเดียว ซึ่งการทำงานลักษณะนี้เริ่มแพร่กระจายมากขึ้นทั่วโลก โดยเฉพาะคนทำสื่อออนไลน์ | ที่มาภาพประกอบ: ProVideo Coalition

ปัจจุบันเว็บไซต์ข่าวออนไลน์ ที่ไม่มีฐานข่าวจากสื่อเก่าเป็นของตนเอง (หนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์) มีรูปแบบของกองบรรณาธิการข่าวที่ทำงานคล่องตัว มีระดับขั้นตอนของการทำงานน้อยกว่าสื่อดั้งเดิม มีนักข่าวที่เป็นฟรีแลนซ์ หรือ สตริงเกอร์ (stringers) มากขึ้นสามารถรายงานข่าวได้จากทุกที่ ทำให้ค่าใช้จ่ายของกองบรรณาธิการลดลง นักข่าวมีความคล่องตัวในการทำงานมากขึ้น แต่ทั้งนี้พบว่า นักข่าวหรือพนักงานของสื่อออนไลน์นั้นทำงานหนักกว่านักข่าวหรือคนทำสื่อยุคก่อนหน้านี้มาก

มีงานศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบของ Digital Disruption ต่อการทำงานของนักข่าวในระยะเปลี่ยนผ่าน  ชี้ให้เห็นถึงสถานการณ์ในที่เทคโนโลยีทำให้นักข่าวคนเดียวสามารถทำงานได้หลายอย่างมากขึ้น โดยเฉพาะคนทำสื่อออนไลน์ และยังพบว่าปัจจุบันคนทำงานที่เกี่ยวกับสื่อออนไลน์ส่วนใหญ่ไม่พอใจในเรื่องของรายได้ และมองว่าเป็นอาชีพที่ไม่ค่อยมั่นคง แถมไม่ค่อยได้เลื่อนตำแหน่ง ทั้งนี้พบว่านักข่าวหนังสือพิมพ์ที่องค์กรปรับตัวเข้าสู่ออนไลน์ต้องทำงานหนักขึ้นมากด้วย ในงานวิจัยชิ้นหนึ่งพบว่านักข่าวหนังสือพิมพ์ที่องค์กรปรับตัวเข้าสู่ออนไลน์ต้องผลิตชิ้นงานมากกว่าเดิมถึง 3 เท่าเพื่อป้อนชิ้นงานสู่เว็บไซต์ นักข่าวหนังสือพิมพ์ที่มีการเผยแพร่ทางออนไลน์ด้วยต้องทำงานถึงประมาณวันละ 15 ชั่วโมง คนทำงานสื่อที่เกี่ยวข้องกับออนไลน์มีความเสี่ยงมากขึ้นที่จะประสบปัญหาทางอารมณ์จากการทำงานมากเกินไป ซึ่งจะไปลดโอกาสที่จะประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน และการทำงานมากเกินไปนั้นจะทำให้เกิดความเหนื่อยล้าทั้งร่างกายและจิตใจเพิ่มขึ้น [9]

นอกจากนี้ยังมีคำอธิบายว่าในยุค Digital Disruption ได้ส่งผลให้นักข่าวต้องเกาะติดอยู่ในโลกออนไลน์เพื่อติดตามข้อมูลข่าวสารอยู่เกือบตลอดเวลา ส่งผลให้เส้นแบ่งระหว่างชีวิตการทำงานกับชีวิตส่วนตัวไม่ชัดเจน [10]

กรณีในไทย จากรายงาน 'ชีวิตคนข่าวยุคดิจิทัล: เมื่อวงการสื่อถูก Disrupt นักข่าวก็ถูก Disrupt' โดย อรวรรณ จิตรรัมย์, สื่อมวลชนอิสระ, TCIJ School รุ่นที่ 6 ได้ศึกษาชีวิตการทำงานของคนทำงานสื่อออนไลน์ 3 ตัวอย่าง พบปัญหาคือ คนทำงานองค์กรสื่อออนไลน์ที่เป็นองค์กรขนาดเล็กในไทย ต้องเผชิญกับสภาพการทำงานที่หนัก คนทำงานหนึ่งคนต้องทำงานหลายตำแหน่ง เช่น ผลิตเนื้อหา พิสูจน์อักษร ทำงานวีดีโอ ดูแลเพจ และงานหลังบ้านอื่นๆ เช่นเดียวกับนักข่าวมัลติมีเดียทีวีดิจิทัล ที่ต้องรับหน้าที่หลายอย่าง ทั้งหาประเด็น เขียนบท ถ่ายวิดีโอ สัมภาษณ์แหล่งข่าว และตัดต่อ ซึ่งเป็นการทำงานตั้งแต่ Pre-Production จนถึง Post-Production ให้จบในคนๆ เดียว

พนักงานประจำสำนักข่าวออนไลน์ที่เป็นองค์กรขนาดเล็กคนหนึ่ง ระบุว่าเธอได้รับมอบหมายให้เขียนข่าวเน้นความรู้เชิงลึกอย่างต่ำ 6 ชิ้นต่อเดือน นอกจากเขียนข่าวแล้วยังต้องเป็นกองบรรณาธิการพิสูจน์อักษรให้คอลัมนิสต์หลายชิ้นต่อเดือน ทำงานวีดีโอ ดูแลเพจ และงานหลังบ้านอื่นๆ

"เราสตาร์ทงานด้วยเงินเดือน 18,000 บาท แต่เราได้เงินขึ้นน้อยมากซึ่งเราก็เศร้า ในรุ่นเราที่จบมาพร้องกันบางคนทำเอเจนซี่ เงินเดือน 23,00-25,000 บาท แต่เราได้แค่ 18,000 บาท ก็พยายามลบความคิดนี้ให้ได้ เพราะเราไม่อยากเสียใจ ไม่อยากเครียดแล้ว งานเราเครียดพอแล้ว เราเลยคิดว่าจะทำด้วยเงินเดือนเท่านี้เท่าที่ไหว และตอนนี้เรายังไหว ทั้งนี้ทั้งนั้นพอทำงานไปจริงๆ เรากลับพอว่าใช้ไม่พอและเราต้องแบ่งเงินให้พ่อแม่ด้วยเพราะท่านก็อายุเยอะแล้ว เราต้องสู้ความรู้สึกนี้ตลอดเวลา เป็นแบบนี้เลยต้องรับทำงานฟรีแลนซ์เสริม ทำอะไรก็ได้เพื่อให้มันมีเงินที่พอ"

"ที่ทำงานที่นี่ โอที ไม่ได้ แต่ได้โบนัสปลายปี เราสมัครเข้ามาด้วยอุดมการณ์ อยากทำงานที่ดี ยอมได้เงินน้อย คิดว่าทำงานเขียน แต่พอเข้ามาจริงเราต้องทำงานอื่นไปด้วย เคยโต้เถียงกับเจ้านายประเด็นนี้ เพราะเราไม่อยากถูกเอาเปรียบ เขาตอบกลับว่า ทุกคนต้องทำงานหลายอย่างทั้งนั้น สุดท้ายเราต้องอยู่ในสภาวะจำยอม ….งานเราไม่ต้องเข้าสำนักงานก็ยังได้ แต่เอาเข้าจริงมันคือการทำงานตลอดเวลา ต้องพกคอมพิวเตอร์ไปทุกที จะนอนมันก็ต้องอยู่ข้างหมอนตลอด อาจดูเหมือนทำที่ไหนก็ได้แต่นั่นคือการเราไม่ได้หยุด วันหยุดก็ไม่ได้หยุด" นี่คือเสียงสะท้อนชีวิตพนักงานประจำสำนักข่าวออนไลน์คนหนึ่งในรายงานของอรวรรณ [11]

 

ที่มาข้อมูล
[1] Journalists thinking about precarity: Making sense of the “new normal” (Örnebring H., Knight Center for Journalism in the Americas. 22 Aug 2018)
[2] การจ้างงาน ‘ฟรีแลนซ์’ กำลังคุกคามคนทำงานสื่อมวลชนในยุโรป (สำนักข่าวประชาไท, 27 Oct 2018)
[3] University of Western Ontario, Journalistic Labour and Technological Fetishism, 2015
[4] ‘เครือข่ายสถานีอนาล็อก’ ร้อง ‘บิ๊กตู่’ เยียวยาพนักงาน หลังโดนพิษทีวีดิจิทัลตกงาน (แนวหน้า, 20 พ.ค. 2562)
[5] กสทช.สรุป 5 ปี "ทีวีดิจิทัล" ปิดฉาก 9 ช่อง "เลิกจ้าง" กระทบคนสื่อ-ครอบครัวเกือบ 15,000 คน (ผู้จัดการรายวัน 360 องศา, 3 ต.ค. 2562)
[6] วิบากกรรมคนสื่อ “ทีวีดิจิทัล” 5 ปี เลิกจ้างกว่า 1,000 คน (Positioning, 18 พ.ค. 2562)
[7] กสทช.สรุป 5 ปี "ทีวีดิจิทัล" ปิดฉาก 9 ช่อง "เลิกจ้าง" กระทบคนสื่อ-ครอบครัวเกือบ 15,000 คน (ผู้จัดการรายวัน 360 องศา, 3 ต.ค. 2562)
[8] ตัวแทน 5 องค์กรวิชาชีพสื่อ ในฐานะ “ศูนย์ประสานงานและติดตามข้อมูลสถานการณ์ในอุตสาหกรรมสื่อมวลชน” (ศปส.) ยื่นหนังสือถึงเลขาธิการ กสทช. โดยมี "ข้อเรียกร้องในการให้ความช่วยเหลือ เยียวยา ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่ง คสช.ที่ 4/2562 (NBCT สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย, 21 พ.ค. 2562)
[9] Technology and the Transformation of News Work: Are Labor Conditions in (Online) Journalism Changing? (Steve Paulussen, researchgate.net, Aug 2012)
[10] The European Trade Union Institute’s (ETUI) health and safety at work magazine spring-summer 2017
[11] ชีวิตคนข่าวยุคดิจิทัล: เมื่อวงการสื่อถูก Disrupt นักข่าวก็ถูก Disrupt (อรวรรณ จิตรรัมย์, TCIJ School รุ่นที่ 6, TCIJ, 6 ก.ย. 2562)


ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: