สำรวจข้อวิจารณ์ ‘Homeopathy’ กับการเป็น ‘วิทยาศาสตร์เทียม’

วรกมล องค์วานิชย์ | นักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์ ภาควิชาชีววิทยา มหาวิทยาลัยมหิดล | TCIJ School รุ่นที่ 6 | 18 ต.ค. 2562 | อ่านแล้ว 26460 ครั้ง

‘โฮมีโอพาทีย์’ (Homeopathy) ความเชื่อที่ใช้สารก่อโรคเจือจางกับน้ำในปริมาณมากเพื่อรักษา ป้องกันโรค ส่งต่อพลังงานให้กับผู้ป่วย ทั่วโลกใช้วิธีการนี้ร่วม 200 ล้านคน หลายประเทศรวมทั้งไทยยกให้เป็น ‘การแพทย์ทางเลือก’ แต่ในทางวิทยาศาสตร์และการแพทย์มีการตั้งคำถามกับวิธีนี้มากมาย มีงานวิจัยระบุว่าเหมือนการใช้ ‘ยาหลอก’ นอกจากนี้องค์การอาหารและยาของสหรัฐฯ-ออสเตรเลีย เคยเตือนว่าไม่มีผลการวิจัยทางวิทยาศาสตร์รองรับ อาจารย์แพทย์จุฬา ชี้ยังไม่มีงานวิจัยพิสูจน์ว่าสามารถรักษาและป้องกันได้จริง ที่มาภาพประกอบ: britishhomeopathic.org          

วิทยาศาสตร์ได้เข้ามามีบทบาทกับชีวิตมนุษย์ในหลายๆ ด้าน ทั้งการศึกษา การใช้ชีวิต และการแพทย์กล่าวได้ว่าชีวิตและสังคมมนุษย์นั้นพัฒนาร่วมไปกับวิทยาศาสตร์ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าหลายสิ่งที่เกิดขึ้นในธรรมชาติ ยังไม่สามารถอธิบายได้ด้วยวิทยาศาสตร์ เช่น เรื่องเหนือธรรมชาติ การแพทย์ทางเลือก ซึ่งในทางวิทยาศาสตร์อธิบายข้อมูลที่ไม่สามารถใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์เพื่อหาข้อสรุปที่ชัดเจนว่าสิ่งนั้นไม่ใช่วิทยาศาสตร์ และการนำหลักการทางวิทยาศาสตร์มาอธิบายข้อมูลหรือปรากฏการณ์ต่างๆ โดยไม่มีงานวิจัยรองรับ หรือไม่มีหลักฐานมากพอที่จะให้ข้อสรุป จะกล่าวได้ว่าข้อมูลนั้นเป็นวิทยาศาสตร์เทียม

การใช้วิทยาศาสตร์โดยไม่มีผลวิจัยที่ชัดเจนรองรับ พบมากในหลายหน่วยงาน เช่น ด้านการแพทย์ ดาราศาสตร์ ชีววิทยา ในด้านการแพทย์นั้น การรักษาหรือยาต่างๆ ที่ยังไม่มีการทดสอบในสัตว์ทดลองหรือในมนุษย์ อีกทั้งการทดลองที่ไม่มีผลการวิจัยเชิงสถิติชัดเจน รวมถึงการใช้ความเชื่อ ความรู้ความเข้าใจในแต่ละท้องถิ่นเพื่อการรักษาโรคนั้นจัดเป็น ‘การแพทย์ทางเลือก’ ซึ่ง ‘โฮมีโอพาทีย์’ (Homeopathy) หรือการใช้สารก่อโรคเจือจางกับน้ำในปริมาณมาก เพื่อใช้รักษาหรือป้องกันโรคนั้นๆ รวมถึงนำเอาแนวทางเกี่ยวกับพลังชีวิต และการสร้างลายพิมพ์ของโรคหรือสมุนไพรไว้ในน้ำ เพื่อส่งต่อพลังงานให้กับผู้ป่วย [1]  

ปัจจุบัน ‘โฮมีโอพาทีย์’ ได้รับการยอมรับให้เป็น ‘การแพทย์ทางเลือก’ ที่เป็นที่นิยมในหลายๆ ประเทศ แต่กระนั้นก็มีการออกมาตั้งคำถามอยู่เสมอด้วยเช่นกัน

หลายชาติรวมทั้งไทยยกให้เป็น ‘การแพทย์ทางเลือก’

กระบวนการรักษาแบบโฮมีโอพาทีย์ ถูกคิดค้นขึ้นในปี ค.ศ.1796 โดยซามูเอล ฮาห์นอมานน์ แพทย์ชาวเยอรมัน ได้กล่าวว่า การใช้สารจากธรรมชาติหรือเชื้อก่อโรคใดๆ ซึ่งเป็นสาเหตุของอาการเจ็บป่วยมาเจือจางกับน้ำบริสุทธิ์ในอัตราส่วน 1:100 หลายครั้งตามที่แพทย์กำหนดนั้นมีผลทำให้สารที่ใช้เป็นตัวยาถูกเปลือกหุ้มของโมเลกุลน้ำ (Clathrate) ล้อมรอบ และจะทำให้เปลือกของน้ำจดจำรูปร่างของโมเลกุลสารไว้ การเจือจางและการเขย่าหลายๆครั้งจะทำให้น้ำจดจำรูปแบบและแพร่กระจายรูปแบบนั้นไปยังโมเลกุลน้ำโดยรอบได้ 

ข้อมูลจาก Homeopathy Research Institute ระบุว่ามีประชากรกว่า 200 ล้านคนทั่วโลกรับการรักษาแบบ โฮมีโอพาทีย์ รวมทั้งมีการบรรจุเป็น ‘การแพทย์ทางเลือก’ ในโรงพยาบาลต่างๆ มากมายทั่วโลก อาทิเช่น สวิสเซอร์แลนด์ อิตาลี [2] รวมถึงในประเทศไทยเราเองก็มีกลุ่มผู้สนใจเป็นจำนวนมาก มีองค์กรและหน่วยงานที่เผยแพร่วิธีการนี้ ดูตัวอย่างได้จากเว็บไซต์เช่น thaihomeopathy.org, thaicam.go.th (กองการแพทย์ทางเลือก) และคลินิกโฮมีโอพาทีย์ ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก มหาวิทยาลัยมหิดล อีกทั้งยังมีข้อมูลเกี่ยวกับการเปิดหลักสูตรประกาศนียบัตรการแพทย์ Homeopathy ที่มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต และมหาวิทยาลัยชื่อดังในต่างประเทศ เช่น University of UK และ Stanford University

กระทรวงสาธารณสุขไทยเคยได้ระบุให้การรักษานี้เป็นหนึ่งในการแพทย์ทางเลือกเช่นเดียวกับการฝังเข็มและแพทย์แผนไทย  อีกทั้งเปิดให้ประชาชนได้รักษาทั่วไปในโรงพยาบาลรัฐ เช่น สถาบันกาญจนาภิเษก โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า เป็นต้น [3] เมื่อไม่นานมานี้ทางสมาคมโฮมีโอพาทีย์ แห่งประเทศไทย ได้กล่าวในจุลสารโฮมีโอพาธีย์เเห่งประเทศไทย ปีที่ 1 ฉบับที่ 2 ไว้ว่าโฮมีโอพาทีย์สามารถป้องกันโรคชิคุนกุนยา และป้องกันโรคระบาดอื่นๆ ได้ [4] และในจุลสารโฮมีโอพาธีย์เเห่งประเทศไทย ฉบับที่ 3 ได้อธิบายเกี่ยวกับที่มาของการเกิดโรคโดยใช้หลักการที่เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนามาอธิบายผลดีของการรักษาแบบโฮมีโอพาทีย์ [5] (ทั้งที่ในทางวิทยาศาสตร์นั้น ศาสนาไม่ถือเป็นตัวแปรที่เกี่ยวข้องกับการวิจัย ทำให้บทความนี้ไม่ถือเป็นวิทยาศาสตร์) 

การแพทย์ทางเลือกแบบโฮมีโอพาทีย์นั้นได้รับการยอมรับจากกรมการแพทย์ของประเทศไทย จากข้อมูลเมื่อช่วงเดือน มิ.ย. พ.ศ. 2562 มีรายงานข่าวว่ากรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก แนะนำยาโฮมีโอพาธีย์ยูพาโทเรียม เพอร์ฟอเลียทุม 200C สารสกัดจากสมุนไพร โดยระบุว่าสามารถป้องกันโรคไข้เลือดออกในหน้าฝน ไม่ก่อให้เกิดผลข้างเคียงใดๆ  โดยได้อ้างอิงตามสารานุกรมยาโฮมีโอพาธีย์และจากบทความวิชาการจากวารสารสุขศึกษา ปีที่ 42 เล่ม1 ม.ค.-มิ.ย. พ.ศ. 2562 โดยทำการทดลองกับโรงพยาบาลชุมชนและโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลจากกลุ่มประชากร 499,637 คน ซึ่งงานวิจัยนี้มีข้อสังเกตหลายจุด โดยหลักการของงานวิจัยคือนำสารชนิดนี้เจือจางกับน้ำหรือแอลกอฮอล์ในอัตราส่วน 1:100 จำนวน 200 ครั้ง (ในทางHomeopathy เรียกว่า Eupa 200c) ทางกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกยืนยันว่ายานี้มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคไข้เลือดออกได้ร้อยละ 89.9 และประชาชนสามารถขอรับยาได้ฟรี ที่กองการแพทย์ทางเลือก อาคาร 2 ชั้น 6 กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข ในวัน-เวลาราชการ [6] [7]

‘วงการแพทย์-วิทยาศาสตร์’ ตั้งคำถามเป็นวิทยาศาสตร์เทียม

ดังที่กล่าวไปขั้นต้นแล้วว่าหลักการของโฮมีโอพาธีย์คือการใช้สารจากธรรมชาติหรือเชื้อก่อโรคใดๆ ซึ่งเป็นสาเหตุของอาการเจ็บป่วยมาเจือจางกับน้ำบริสุทธิ์ในอัตราส่วน 1:100 หลายครั้ง มีผลทำให้สารที่ใช้เป็นตัวยาถูกเปลือกหุ้มของโมเลกุลน้ำ (Clathrate) ล้อมรอบ และจะทำให้เปลือกของน้ำจดจำรูปร่างของโมเลกุลสารไว้ การเจือจางและการเขย่าหลายๆ ครั้งจะทำให้น้ำจดจำรูปแบบและแพร่กระจายรูปแบบนั้นไปยังโมเลกุลน้ำโดยรอบ -- อย่างไรก็ตามหลักการนี้ไม่มีหลักฐานอ้างอิงที่ชัดเจนมากพอ ตามหลักพันธะเคมีของลิวอีส โมเลกุลน้ำโดยทั่วไปนั้นเกิดจากอะตอมของไฮโดรเจนและออกซิเจนจัดเรียงตัวกันด้วยพันธะไฮโดรเจน และจะเกิดขึ้นเป็นโมเลกุลรูปแบบเดียว การก่อตัวของโมเลกุลน้ำ หรือ Clathrate Hydrate สามารถเกิดขึ้นได้ และสามารถห่อหุ้มโมเลกุลอื่นได้จริง แต่จะไม่สามารถถ่ายทอดการเปลี่ยนรูปร่างของโมเลกุลน้ำดังกล่าวไปยังโมเลกุลน้ำอื่นๆ ได้ ดังนั้นการที่น้ำจะจดจำรูปแบบของสารและก่อตัวเป็นรูปแบบใหม่นั้นไม่มีทางเกิดขึ้นได้จริง อีกทั้งไม่สามารถอธิบายได้ว่าการเขย่าหรือเจือจางจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของโมเลกุลน้ำในปริมาณมากนั้นเกิดขึ้นได้ อีกทั้งการนำสารใดๆ ก็ตามผสมลงในน้ำ จะทำให้คุณสมบัติของสารเปลี่ยนแปลงหรือความเข้มข้นของสารลดลงเท่านั้น จะไม่สามารถทำให้สารนั้นเพิ่มขึ้นมาได้ ทำให้การรักษาแบบโฮมีโอพาธีย์ขัดกับทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์

ในปี ค.ศ. 1988 นิตยสาร Nature ได้ตีพิมพ์บทความเกี่ยวกับความทรงจำของน้ำ (Water can remember) โดยทีมนักชีววิทยาซึ่งนำทีมโดย Jacques Benveniste ได้ระบุว่าสารที่เป็นโปรตีนหรือแอนติบอดีนั้นจะแสดงคุณสมบัติทางชีวภาพได้เสมอไม่ว่าจะถูกเจือจางกี่ครั้งก็ตาม ซึ่งข้อสรุปนี้สนับสนุนการรักษาแบบโฮมีโอพาธีย์ ซึ่งทฤษฎีนี้ทำให้เกิดข้อโต้แย้งระหว่าง Jacques Benveniste และ John Maddox บรรณาธิการของนิตยสาร Nature หลังจากมีการตรวจสอบและทำการทดลองซ้ำพบว่าข้อสรุปที่กล่าวข้างต้นนั้นไม่เป็นความจริง และระบุให้เรื่องความทรงจำของน้ำและโฮมีโอพาธีย์เป็นวิทยาศาสตร์เทียม [8] 

นอกจากนี้งานวิจัยที่ใช้ Eupathorium perfoliatum ครั้งแรกมีการตีพิมพ์ในปี ค.ศ.2008 ผู้วิจัยได้ทำการทดลองในประเทศบราซิล และได้นำมาพัฒนาต่อยอดจนมีชื่อเสียงอีกครั้งในงานวิจัยของ Dr. R K Manchada ซึ่งทำการทดลองที่ประเทศบราซิล ปากีสถานและคิวบา ซึ่งเป็นสถานที่พบการขยายตัวของไวรัสไข้เลือดออกเป็นจำนวนมาก ทำให้การแพทย์ทางเลือกไทยรับแนวคิดนี้มาศึกษาต่อยอด แต่อย่างไรก็ตามงานวิจัยเรื่องโฮมิโอพาทีย์นั้นยังไม่ได้รับการรองรับจากสถาบันทางการแพทย์ในหลายๆ ประเทศ ทำให้ยังไม่มีการวิจัยต่อยอดอย่างจริงจังในด้านการใช้ยาชนิดนี้ [9]

Ellen Hughes นักวิจัยด้านการแพทย์มหาวิทยาลัยแคลิฟอเนียร์ ระบุว่าการใช้วิธีการรักษาแบบโฮมิโอพาทีย์ได้ผลเป็นไปในทางเดียวกับ ‘Placebo effect’ หรือการใช้ ‘ยาหลอก’ กล่าวคือผู้ป่วยจำนวนหนึ่งจะมีอาการดีขึ้นหลังจากได้รับยาซึ่งทำจากแป้งหรือน้ำตาลเพียงอย่างเดียว ผู้ป่วยจะมีอาการดีขึ้นเนื่องจากความคิดของตนเองส่งผลให้สมองส่วนไฮโพทาลามัสเข้าใจหายจากอาการเจ็บป่วยแล้ว แต่ในความเป็นจริงอาการของโรคยังไม่หายไป เหตุการณ์เช่นนี้สามารถส่งผลเสียในระยะยาวต่อผู้ป่วย ถ้ารักษาด้วยการแพทย์ทางเลือกเพียงอย่างเดียวและไม่รับการรักษาด้วยการแพทย์แผนปัจจุบัน [10]

นอกจากนั้นการรักษาแบบโฮมิโอพาทีย์ ที่ไม่มีการตรวจสอบชัดเจน ทำให้ส่งผลต่อความปลอดภัยของผู้ป่วย ซึ่งก็มีตัวอย่างแล้ว เช่นในปี ค.ศ.2012 องค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (FDA) ระบุว่าได้มีการตรวจพบโลหะหนัก เช่น ปรอท หรือเหล็กที่เจือจางในอัตราส่วนที่สูง อยู่ในยาโฮมิโอพาทีย์ อีกทั้งยาโฮมิโอพาทีย์หลายชนิดยังใช้แอลกอฮอล์เป็นส่วนผสม ทำให้ส่งผลกระทบต่อโรคบางโรค และผู้ป่วยยังปฏิเสธการรักษาด้วยการแพทย์แผนปัจจุบันจนเป็นสาเหตุให้อาการแย่ลง [11]

องค์การอาหารและยาของสหรัฐฯ -ออสเตรเลียออกมาเตือนไม่มีผลการวิจัยทางวิทยาศาสตร์รองรับ

ในปี ค.ศ. 2017 องค์การอาหารและยาของสหรัฐฯ และออสเตรเลียออกมาเตือนว่าการรักษาแบบโฮมิโอพาทีย์ นั้นไม่มีผลการวิจัยทางวิทยาศาสตร์รองรับ และมีการเตือนเกี่ยวกับการใช้ยาโฮมิโอพาทีย์ ในการรักษาโรคร้ายแรง เช่น โรคหัวใจ โรคหอบหืด รวมถึงทางองค์การอาหารและยาของสหรัฐฯ ได้ประกาศเตือนถึงการใช้ teeting gel ยาที่อ้างว่าช่วยลดการปวดฟันในเด็กทารก ซึ่งตรวจพบส่วนผสมเป็นยาชาที่มีผลต่อสมอง การนอนหลับ และพัฒนาการของทารกและยังมีการเรียกคืนยาโฮมิโอพาทีย์ หลายชนิดทางบริษัทยาได้ผสมสารที่สามารถแสดงให้เห็นการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย แต่ไม่สามารถรักษาโรคได้ หรือการผสมสารจากพืชมีพิษพิษในอัตราส่วนที่ก่อให้เกิดโทษ เช่น Belladonna alcaloid ซึ่งมีฤทธิ์ปิดกั้นระบบประสาท และควบคุมการทำงานของอวัยวะภายในร่างกาย

“ไม่กี่ปีที่ผ่านมา เราพบยาหลายชนิดที่เป็นโฮมิโอพาทีย์ในตลาด และมีการโฆษณาว่ารักษาได้หลายอาการ ตั้งแต่ไข้หวัดไปจนถึงมะเร็ง ในหลายๆ กรณี ผู้ป่วยนั้นเชื่อและยอมจ่ายเงินเป็นจำนวนมาก ในการรักษาที่ได้ผลน้อยหรือไม่มีผลต่ออาการป่วยเลย ยิ่งไปกว่านั้นการใช้ยาบางชนิดยังส่งผลเสียต่อผู้ป่วย จุดมุ่งหมายของเราคือการควบคุมและสะท้อนให้เห็นถึงความซับซ้อนของตลาดยา อย่างไรก็ตามทางเราเคารพทางเลือกของผู้บริโภค แต่องค์การอาหารและยามีหน้าที่ปกป้องสังคมจากผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีคุณภาพ และอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นต่อผู้บริโภค” Scott Gottlieb แพทย์ผู้รับผิดชอบงานองค์การอาหารและยาของสหรัฐฯ ระบุ [12]

อาจารย์แพทย์จุฬา ชี้ยังไม่มีงานวิจัยใดพิสูจน์ได้ว่าสามารถใช้ในการรักษาและป้องกันได้จริง


การประชาสัมพันธ์แนะนำยาโฮมีโอพาธีย์ยูพาโทเรียม เพอร์ฟอเลียทุม 200C สารสกัดจากสมุนไพร ให้ประชาชนเพื่อป้องกันโรคไข้เลือดออก ของกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข เมื่อช่วงเดือน มิ.ย.2562 ที่ผ่านมา ที่มาภาพ: Hfocus.org

สำหรับประเทศไทย เมื่อช่วงเดือน มิ.ย. พ.ศ. 2562 ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกมาแสดงความเห็นต่อกรณีที่กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข ได้ประชาสัมพันธ์แนะนำยาโฮมีโอพาธีย์ยูพาโทเรียม เพอร์ฟอเลียทุม 200C สารสกัดจากสมุนไพร ให้ประชาชนเพื่อป้องกันโรคไข้เลือดออกนั้น

ผศ.นพ.ธีระ ระบุว่าโฮมีโอพาธีย์ เป็นศาสตร์การแพทย์ทางเลือกที่มีมานานแล้ว มีการใช้ทั้งในประเทศจีน อินเดีย และยุโรป มีความแตกต่างจากแพทย์แผนปัจจุบัน โดยโฮมีโอพาธีย์มีการศึกษาวิจัยกันตั้งแต่ในปี 2533 แต่สุดท้ายยังไม่มีงานวิจัยใดพิสูจน์ได้ว่า สามารถใช้ในการรักษาและป้องกันได้จริง กรณีที่กรมการแพทย์แผนไทยฯ ประชาสัมพันธ์และเชิญชวนให้ประชาชนใช้ยาโฮมีโอพาธีย์ยูพาโทเรียมฯ มองว่าเป็นสิ่งที่น่ากังวล เนื่องจากประสิทธิผลการป้องกันไข้เลือดออกที่ระบุถึง 89.9% เป็นเพียงผลที่ได้จากการวิเคราะห์เปรียบเทียบข้อมูลการศึกษาในชุมชน ไม่ได้เป็นผลจากการวิจัยตามมาตรฐาน

ทั้งนี้การรักษาหรือป้องกันไม่ว่าจะเป็นยาหรือวัคซีน หากจะแนะนำให้ประชาชนใช้ ต้องผ่านการวิจัยตามมาตรฐานด้านการแพทย์ เช่น วัคซีนป้องกันโรคต่างๆ กว่าที่จะนำมาใช้ได้ ต้องผ่านกระบวนการวิจัยทั้งในหลอดทดลอง สัตว์ทดลอง และวิจัยคลินิกในคนเพื่อเปรียบเทียบประสิทธิผล เพื่อวัดประสิทธิผลการป้องกันที่ชัดเจน ไม่ใช่เพียงทำโดยการเปรียบเทียบผลการใช้ระหว่างชุมชนแล้วนำมาอ้างถึงอย่างมีสำคัญ ถือเป็นความคาดเคลื่อนและไม่เหมาะสม

 “เท่าที่ติดตามดูข้อมูล ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านระเบียบวิจัยบอกได้ว่า ยาโฮมีโอพาธีย์ยูพาโทเรียมฯ ที่ระบุว่าได้ผลป้องกันไข้เลือดออก 89.9% ไม่ถูกต้อง เพราะวิธีและรูปแบบที่ใช้ในการวิจัย ไม่เข้มแข็งเพียงพอที่จะพิสูจน์ประสิทธิภาพของยาโฮมีโอพาธีย์ยูพาโทเรียมฯ ได้” ผศ.นพ.ธีระ ระบุ

ต่อกรณีการประชาสัมพันธ์ยาโฮมีโอพาธีย์ยูพาโทเรียมฯ กรมการแพทย์แผนไทยฯ อาจมองว่าเป็นเพียงการสนับสนุนเพื่อป้องกันและส่งเสริมการแพทย์ทางเลือกนั้น ผศ.นพ.ธีระ ระบุว่าไม่ว่าด้วยเหตุผลใดแต่การชวนให้คนมากินหรือใช้ยา สิ่งต้องดูคือมีข้อมูลเชิงวิทยาศาสตร์ที่เป็นเหตุเป็นผล มีน้ำหนักเพียงพอ มีการดำเนินการตามมาตรฐานการวิจัยหรือไม่ ผู้ที่เรียนด้านการแพทย์ย่อมรู้แก่ใจดี ไม่ว่าจะเป็นยาหรือวัคซีนที่เราแนะนำให้คนใช้รักษาหรือป้องกันโรคจะต้องมีมาตรฐาน หากไม่ตรงตามมาตรฐานนั่นคือความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชน ขณะที่หน่วยงานด้านสุขภาพก่อนประกาศเรื่องใดหรือแนะนำให้ประชาชน ต้องมั่นใจว่าสิ่งดังกล่าวเป็นสิ่งที่ดีและได้ผลจริง เมื่อทำซ้ำแล้วก็ยังได้ประสิทธิผลเช่นเดิม เพราะไม่เช่นนั้นจะเป็นการทำร้ายประชาชนมากกว่าเป็นประโยชน์ [13]

จากการยกตัวอย่างการแพทย์ทางเลือกแบบโฮมิโอพาทีย์ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวิทยาศาสตร์เทียมนั้น ทำให้เกิดการตั้งคำถามต่อความหมายของวิทยาศาสตร์ และความเข้าใจในวิทยาศาสตร์เบื้องต้นของคนในสังคมไทย จะเห็นได้ว่าหลักการที่ยังไม่ได้รับข้อสรุปทางวิทยาศาสตร์ หรือข้อมูลที่เป็นวิทยาศาสตร์เทียมยังได้รับความสนใจในด้านบวกทั้งกับประชาชนและหน่วยงานของรัฐ และเห็นได้ว่าสังคมไทยมีความตื่นตัวทางวิทยาศาสตร์ที่ไม่มากพอเมื่อเทียบกับสังคมโลก อีกทั้งหน่วยงานในภาคส่วนต่างๆ เช่นมหาวิทยาลัยและกระทรวงสาธารณสุข ยังไม่มีความสามารถมากพอที่จะอธิบายให้ประชาชนเข้าใจในวิทยาศาสตร์และเลือกใช้ความรู้ที่ได้รับมาให้เหมาะสมกับตนเอง และยังเป็นข้อสังเกตว่า เพราะอะไรหน่วยงานที่มีความเกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ยังเผยแพร่ความรู้ที่ไม่เป็นวิทยาศาสตร์ และให้ข้อมูลในด้านเดียว ทำให้ประชาชนบางส่วนที่ไม่มีความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่มากพอได้รับข้อมูลคลาดเคลื่อน ซึ่งอาจจะส่งผลเสียต่อสังคมไทยในอนาคต


ข้อมูลอ้างอิง
[1] Homeopathy (U.S. Department of Health & Human Services, Last Updated: July 2018)
[2] Welcome to HRI (Homeopathy Research Institute, เข้าถึงข้อมูลเมื่อ มิ.ย. 2562)
[3] คลินิกโฮมีโอพาธีย์ (ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก มหาวิทยาลัยมหิดล, เข้าถึงข้อมูลเมื่อ มิ.ย. 2562)
[4] จุลสารโฮมีโอพาธีย์เเห่งประเทศไทย ปีที่ 1 ฉบับที่ 2 ประจำเดือน พ.ค.-ส.ค. 2552
[5] จุลสารโฮมีโอพาธีย์เเห่งประเทศไทย ปีที่ 1 ฉบับที่ 3 ประจำเดือน ก.ย.-ธ.ค. 2552
[6] ผลการใช้ตำรับโฮมีโอพาธีย์ยูพาโทเรียม เพอร์ฟอเลียทุม 200 ซี เพื่อป้องกันโรคไข้เลือดออกในโรงพยาบาลชุมชนและโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล : การศึกษาจากเหตุไปหาผลแบบย้อนหลัง (วารสารสุขศึกษา ปีที่ 42 เล่มที่ 1 ม.ค.-มิ.ย. 2562)
[7] แพทย์แผนไทย แจกฟรียา ‘โฮมีโอพาธีย์’ ป้องกันโรคไข้เลือดออกหน้าฝน (Workpoint News, 14 มิ.ย. 2562)
[8] The memory of water (nature.com, 8 Oct 2004)
[9] Contribution of homeopathy to the control of an outbreak of dengue in Macaé, Rio de Janeiro (Laila Aparecida de Souza Nunes, Int J High Dilution Res 2008; 7(25):186-192)
[10] Degrees in homeopathy slated as unscientific (nature.com, 22 Mar 2007)
[11] Homeopathic Products (fda.gov, 9 May 2019)
[12] FDA Proposes New Approach to Regulating Homeopathic Drugs (aafp.org, 8 Jan 2018)
[13] ท้วง ‘ยาโฮมีโอพาธีย์ป้องกันไข้เลือดออก’ ชี้ยังไม่มีวิจัยพิสูจน์ว่าป้องกันได้จริง (hfocus.org, 20 มิ.ย. 2562)

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: