กพฐ.ร่างเกณฑ์ 'ควบรวมโรงเรียน' ใหม่ เพราะมีการขอเปิดโรงเรียนที่ได้ควบรวมไปแล้ว

กองบรรณาธิการ TCIJ 18 ส.ค. 2562 | อ่านแล้ว 5608 ครั้ง

กพฐ.ร่างเกณฑ์ 'ควบรวมโรงเรียน' ใหม่ เพราะมีการขอเปิดโรงเรียนที่ได้ควบรวมไปแล้ว

ยกร่างระเบียบกฎเกณฑ์ควบรวมสถานศึกษาใหม่ ประธานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เผยตัวเลขโรงเรียนขนาดเล็กที่มีเด็กต่ำกว่า 40 คน มีจำนวน 2,800 โรง มีเด็กต่ำกว่า 120 คน มีกว่า 14,000 โรง ระบุ สพฐ.ต้อง ดำเนินการเลิกโรงเรียนที่ควบรวมแล้วและ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาขัดแย้งกับกฎของ กพร. ที่ห้ามโรงเรียนมีเด็กน้อยกว่า 120 คน มีครูและผู้อำนวยการ ที่มาภาพประกอบ: TruePlookpanya

เว็บไซต์ไทยโพสต์ รายงานเมื่อวันที่ 12 ส.ค. 2562 ว่านายเอกชัย กี่สุขพันธ์ ประธานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่าตามที่เมื่อเร็วๆ นี้ กพฐ.ได้มีมติอนุมัติให้โรงเรียนที่เคยควบรวมไปเมื่อ 5 ปีที่แล้วกลับมาเปิดใหม่อีกครั้ง ตามที่สำนักงานศึกษาธิการจังหวัด (ศจธ.) เสนอนั้น ตนมองว่าเรื่องนี้หากไม่มีการระมัดระวัง ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กก็จะกลับมาอีก เพราะปัจจุบันอัตราการเกิดของประชากรลดลงอย่างชัดเจน ทั้งยังมีแนวโน้มที่จะลดลงอย่างต่อเนื่อง และจากข้อมูลขณะนี้พบว่ามีโรงเรียนที่มีเด็กต่ำกว่า 40 คน มีจำนวน 2,800 โรง โรงเรียนที่มีเด็กต่ำกว่า 120 คน มีประมาณ กว่า 14,000 โรง ซึ่งหากรวมโรงเรียนที่เด็กต่ำกว่า 40 คน และ 120 คนจะมีโรงเรียนถึงเกือบ 18,000 โรง ที่จะต้องทำให้เกิดคุณภาพด้วยวิธีต่างๆ เช่น การควบรวมโรงเรียนที่มี 2 แบบ คือ ควบไปเรียนรวมทั้งหมด และควบรวมแบบผสม ซึ่งปัญหาของการควบรวมนั้น เกิดจากบางโรงเรียนที่มีการควบรวมโรงเรียนไปแล้ว นำนักเรียนไปเรียนในโรงเรียนอีกแห่งทั้งหมดแล้ว ขั้นตอนต่อไปสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จะต้องดำเนินการเลิกสถานศึกษา เพราะถ้าไม่ดำเนินการเลิกสถานศึกษาจะมีอัตรา ตำแหน่งของครูและผู้อำนวยการอยู่ เมื่อคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) เห็นว่ามีอัตราก็บรรจุครู และ ผอ.ก็จะมีการเรียกบรรจุ ปัญหาก็จะกลับมาในลักษณะเดิมอีก

“อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.) จะไม่อนุมัติอัตราครู หรือผู้บริหารให้กับสถานศึกษาที่มีเด็กต่ำกว่า 120 คนแล้ว ซึ่งหากทำได้ผมก็เชื่อว่าเราจะไม่มีปัญหา เนื่องจากทุกระบบจะช่วยกับควบคุมคุณภาพโรงเรียนขนาดเล็ก แต่ กพฐ.เองได้เสนอให้มีการยกร่างระเบียบ การปฏิบัติ ประกาศของ สพฐ.ที่เป็นประกาศเกี่ยวกับการควบรวมโรงเรียนใหม่ โดยจะต้องยกเลิกระเบียบ หรือประกาศเดิมที่มีอยู่ทั้งหมด เพื่อที่จะให้มีวิธีในการปฏิบัติเพียงแนวทางเดียว

ทั้งนี้การเลิกสถานศึกษาเป็นอำนาจของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และเป็นอำนาจ กศจ. แต่ต้องมีการประกาศล่วงหน้า 1 ปี แต่หากเป็นกรณีที่ไม่ได้อยู่ในเงื่อนไขของ กศจ. ก็ต้องเสนอให้ กพฐ. เป็นผู้พิจารณา”ประธาน กพฐ.กล่าว

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 9 ส.ค. 2562 เว็บไซต์ไทยโพสต์ รายงานว่านายเอกชัย ได้กล่าวถึงการควบรวมของสถานศึกษานั้น นายรัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศธ. มองว่าถ้าควบรวมแล้วมีคุณภาพดีขึ้นก็ควรจะทำ และขอให้เน้นเรื่องการใช้งบประมาณให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งเรื่องงบประมาณคาดว่าปีนี้จะปรับอะไรได้ไม่มาก แต่ปีงบประมาณหน้าจะมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตามตอนนี้ตนได้รับรายงานว่าทางสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด (ศจธ.) อุบลราชธานี ได้มีการอนุมัติให้โรงเรียนที่เคยควบรวมไปเมื่อ 5 ปีที่แล้วกลับมาเปิดใหม่อีกครั้ง และได้มีการแต่งตั้งผู้อำนวยการลงไปในพื้นที่ ซึ่งทางผู้อำนวยการก็ได้ระดมทุนจากชาวบ้านสร้างอาคารเรียน ส่งผลให้เด็กกลับเข้ามาเรียนอีกครั้ง โดยปัจจุบันมีนักเรียน 47 คน ซึ่งทางที่ประชุม กพฐ.มองว่าเด็กในอนาคตลดลงอย่างแน่นอน และลดลงร้อยละ 30 ถ้าจะอนุมัติในเรื่องดังกล่าวควรต้องระวังเรื่องเด็กน้อยลง ขอให้ดูเรื่องคุณภาพของเด็ก เพราะจากข้อมูลของโรงเรียนเอง พบว่า อีก 3 ปี ตั้งแต่ ปี 2565-2567 จะมีเด็กเข้าเรียน ป. 1 เพียง 4-6 คน ถ้าไม่ระวังเรื่องนี้ ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กก็จะกลับมาอีก

นอกจากนี้ กพฐ.มีมติเห็นชอบให้มีการเลิกสถานศึกษา 9 แห่ง และขอไปเรียนรวม 4 แห่ง ทั้งนี้ในส่วนของโรงเรียนใดที่มีการควบรวมทั้งหมด กพฐ.เห็นว่า ควรที่จะให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ดำเนินการเลิกโรงเรียนดังกล่าว เพื่อไม่ให้มีอัตราครูและอัตราผู้บริหาร และขณะนี้คณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.) เองก็จะไม่อนุมัติอัตราครูและผู้บริหารให้โรงเรียนที่มีนักเรียนต่ำกว่า 120 คน เริ่มตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นไป ส่งผลให้โรงเรียนกลุ่มนี้ก็จะค่อยๆ ลดจำนวนลง

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: