พื้นที่สีเทา : มองเขาให้แม่นเฮา

นนทรัฐ ไผ่เจริญ / The Isaander: 18 มิ.ย. 2562 | อ่านแล้ว 3404 ครั้ง


“ขอคำถามดีๆ ให้ผมตอบคมๆ เอาให้ผมเกิดในวงการเลยได้ไหม” ช่างภาพผู้เลี้ยงหมาเป็นงานหลัก ปลูกผักเป็นอาชีพเสริม กล่าวกับเรา “ทำไมต้องถ่ายเป็นขาวดำวะพี่ กล้องเสียเหรอ” เรายิงคำถามที่แหลมคมที่สุดนี้ สวนไปทันทีใน 2 มิลลิเซคคั่นนั้น

“มันคุมสียาก กูถ่ายทั้งที่มืด ที่สว่าง กูไม่มีเงินซื้อแฟลช ถ่ายขาวดำง่ายกว่า” เจ้าของงาน พื้นที่สีเทา (Gray Zones) บอกกับเรา “ไม่คมเลยว่ะพี่ ขอคมๆหน่อยดิ” เราไม่พอใจกับคำตอบอันจริงใจเกินไปของเขา

“มันเป็นพื้นที่สีเทาไง” เราได้คำตอบที่ดูเท่กว่าคำตอบแรกนิดหน่อยแล้ว

---

งาน “พื้นที่สีเทา” (Gray Zones) ที่ว่าคือ นิทรรศการภาพถ่ายโดย กลุ่มช่างภาพ Realframe (เรียเอาเฟรม) ร่วมกับ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม(Cross Cultural Foundation-CrCF) และ SEA Junction (ซีจั๊งเชิ่น) จัดแสดงที่ ชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร(Bangkok Art & Culture Centre-Bacc) ระหว่างวันที่ 11 มิถุนายน-23 มิถุนายน 2562 ภาพถ่ายทั้งหมดในนิทรรศการ คือ ความพยายามในการบอกเล่าเรื่องราวของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้

คนที่ถ่ายภาพเหล่านี้ชื่อ ยศธร ไตรยศ (โต้ส) ช่างภาพอดีตชาวพุทธ มนุษย์กรุงเทพ ผู้บ่เสพใบกระท่อม และกินอ่อมบ่ลึ้งเคย กล่าวแก่ ดิอีสานเด้อ ยศธรคือหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม Realframe ซึ่งรวมตัวกันเพื่อถ่ายภาพสารคดีที่เน้นการทำงานเรื่องสิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตย และปัญหาต่างๆในสังคม(พูดง่ายๆ ก็งานที่ไม่ทำเงินนั่นแหละ)

“จริงๆมันไม่ใช่ Gray (สีเทา) หรอก คนในภาพพวกนี้ คือ คนที่ถูก Blacklist (จับตาจากรัฐเป็นพิเศษ) งานมันควรจะชื่อ Blacklist เลยด้วยซ้ำ” พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ(หน่อย) ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ท่อน้ำเลี้ยงสำคัญของนิทรรศการชุดนี้ แทรกคำอธิบายงานชิ้นนี้ให้เรา

---

1,490 กิโลเมตร แม่น ระยะทางบนถนนแต่ พระมหาธาตุแก่นนคร วัดหนองแวง ขอนแก่น ฮอด มัสยิดกรือเซะ ปัตตานี สองศาสนสถานสำคัญในสองภูมิภาค งานของยศธรชิ้นนี้ แทบบ่มีหยังเกี่ยวกับอีสานเลย แล้วแม่นหยังคนอีสานถึงควรสนใจงานซิ้นนี้

“นั่นสินะ” 

ทบทวนความจำกันหน่อย ไม่รู้ใครหลายคนจะจำได้ไหมว่า เมื่อเดือนมิถุนายน 2 ปีก่อน ชาวพุทธขอนแจ่นเคยรวมตัวกันยื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อคัดค้านการก่อสร้างมัสยิดที่บ้านเลิงเปือย ตำบลพระลับ ในอำเภอเมืองขอนแก่น เพราะกังวลว่า การสร้างมัสยิดจะเกี่ยวข้องกับการก่อการร้าย และอาจก่อให้เกิดความไม่สงบในพื้นที่ลักษณะเดียวกับที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ 

ถึงเรื่องจะจบลงไปแล้ว (โทรศัพท์พูดคุยกับผู้นำการคัดค้านคราวก่อน เขาระบุว่า ชาวบ้านเพียงต้องการให้ย้ายที่ตั้งมัสยิดดังกล่าว ออกห่างจากวัดและชุมชนเพื่อหลีกเลี่ยงเสียงดัง และความไม่เหมาะสม) แต่อย่างไรก็ตาม ข่าวเล็กๆในหน้าหนังสือพิมพ์คราวนั้นแสดงให้เห็นว่า คนอีสานบางคน ยังไม่เข้าใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับจังหวัดชายแดนภาคใต้ดีนัก ยังแยกเขา แยกเรา กับคนต่างศาสนาอยู่

จริงๆแล้ว คนอีสานเด้ออย่างเราก็ไม่ได้เข้าใจสภาพที่แท้จริงของจังหวัดชายแดนภาคใต้นัก การดูภาพถ่ายครั้งนี้จึงไม่ใช่เพียงแค่การเสพศิลปะ แต่เป็นการพยายามที่จะทำความเข้าใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับคนไทยมุสลิม ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย

“เราไม่เคยบอกว่ามันไม่มีปัญหา แต่คนที่พูดถึงปัญหามันมีเยอะแล้ว เราพยายามเล่ามุมอื่นๆที่ไม่ค่อยมีคนเล่า เราอยากนำเสนอภาพความเป็นจริงมุมอื่น ผ่านความธรรมดา ให้เห็นว่าเขาก็มีมุมแบบนี้เหมือนกัน สิ่งที่ถูกนำเสนอผ่านสื่อ ผ่านคนอื่นๆ มันเป็นความรุนแรง เราต้องการจะเล่าความธรรมดา เพื่อบอกว่าพื้นที่นี้มันไม่ได้พิเศษ ไม่จำเป็นต้องใช้อำนาจพิเศษ กฎหมายพิเศษ เราเชื่อว่า มันสามารถถูกปฏิบัติด้วยมาตรฐานเดียวกับพื้นที่อื่น” ยศธร เริ่มเล่าถึงงานตัวเองอย่างจริงจัง

ที่ต้องจริงจัง เพราะว่า เพื่อให้ได้งานชุดนี้ ยศธร ช่างภาพอิสระที่มักทำตัวเหมือนใช้อุดมการณ์เติมน้ำมัน ใช้ความฝันแกล้มข้าวสวย ต้องไปเช่าห้องพักที่ปัตตานี แล้วขุดหลุมกลบฝังตัวเองอยู่ที่นั่นนานถึง 4 เดือน กว่าจะได้ภาพธรรมดาๆ แบบที่เขาต้องการ

“ในความรู้สึก มันเป็นการทำงานชิ้นนึง เหมือนงานชิ้นอื่นๆ เพียงแต่มีความเซนซิทีฟมากกว่าพื้นที่อื่น ถ้าไม่มีคนประสานให้ ถ้าไม่มีคนในพื้นที่คอยพาเราเข้าไป ก็ยากที่จะได้งานออกมาแบบนี้ ยากจะเข้าถึงด้วยซ้ำ มันแตกต่างด้วยวัฒนธรรม ด้วยภาษา มันเป็นข้อจำกัด มันเป็นเรื่องความไว้เนื้อเชื่อใจ ก่อนหน้านี้เคยลงไปมาแล้ว ความรู้สึกกับภาคใต้ไม่ได้เปลี่ยนจากเดิม แต่เรียกว่า อยู่ได้อย่างไม่เคาะเขิน ความรู้สึกเป็นคนแปลกหน้าน้อยลงเรื่อยๆ ตามเวลาที่เพิ่มมากขึ้น” ยศธร อธิบาย

จากข้อมูลที่เราได้รับ คนในภาพถ่ายทั้งหมดที่ยศธรถ่าย คือคนที่เคยถูกกล่าวหาว่า เป็นส่วนหนึ่งของขบวนการก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือเคยต้องสงสัยว่า เป็นหนึ่งในผู้ร่วมกระทำความผิดในคดีความมั่นคง เราจึงถามยศธรว่า เมื่อต้องคลุกคลีกับเขาเหล่านั้น พบความแตกต่าง ระหว่างพวกเขากับคนทั่วไปหรือไม่? พวกเขาน่ากลัวไหม? ที่นั่นน่ากลัวอย่างใครว่าหรือเปล่า? เพราะ คนอีสานเด้อครับเด้อผู้นี้ไม่เคยเดินทางไปเหยียบปลายด้ามขวน จึงต้องถามคำถามที่ไม่รู้ควรถามหรือไม่ออกไป 

“โดยรายละเอียดแล้ว พื้นที่ชีวิตของพวกเขาก็เหมือนคนทั่วไป ถ้าไม่มีใครบอกว่า เขามีอดีตแบบไหน เคยทำอะไร มันก็ยากที่จะรู้ว่า เขาเคยต้องคดี หรือเคยถูกกล่าวหาอะไร ในอีกทางหนึ่งเขาก็เป็นผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์เช่นกัน เวลาพูดเรื่องพวกนี้ เรามักจะเริ่มต้นประโยคว่า ในทุกๆพื้นที่มีทั้งคนดี และคนไม่ดี พื้นที่นี้ก็เหมือนพื้นที่อื่น แต่วาทะกรรมโจรใต้ มันดูเหมารวมเกินไป มันทำให้รู้สึกระคายหู คนใต้เองเขาก็รู้สึกว่า เขาถูกเหมารวม เขาก็ไม่ชอบที่ถูกมองเหมือนเป็นที่ซ่องสุมของกลุ่มคนที่คิดจะก่อความไม่สงบ” พี่โต้ส กล่าวแก่เรา

“มองแบบคนนอก อาจจะคิดว่า เวลาไปตลาด ไปร้านน้ำชา เต็มไปด้วยกลุ่มก่อความไม่สงบอะไรแบบนั้น ซึ่งจริงๆไม่ใช่ เราว่า คนที่คิดเรื่องก่อความไม่สงบเป็นคนส่วนน้อยแน่นอน คำว่า โจรใต้ หรือ การมองแบบเหมารวม ทำให้พวกเขาถูกแบ่งแยกจากสังคม กลายเป็นว่า คนใต้(มุสลิม)ก็ไม่กล้าเดินเข้าไปหาใครก่อน เพราะเขารู้สึกว่า คนนอกมองเขาในแบบนึงไปแล้ว” พี่โต้ส อธิบายขณะที่สายตาทอดไปยังรูปที่เขาถ่ายบนฉากหลังสีดำ

แม้ยศธรจะบอกว่า งานชุดนี้ต้องการจะเล่าความธรรมดาในพื้นที่ชายแดนใต้ พื้นที่ที่รัฐสร้างให้มันพิเศษ แต่สำหรับ พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม บอกว่า ในภาพชีวิตธรรมดาๆ เหล่านั้น กลับสะท้อนความรุนแรงเอาไว้

“ภาพพวกนี้เป็นการนำเสนอสภาพสถานการณ์ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่คนทั่วไปไม่ค่อยให้ความสนใจ เป็นการเสนอภาพความเป็นประชากรส่วนหนึ่งของประเทศ ให้คนส่วนใหญ่ของประเทศเห็นปัญหา และตระหนักถึงความสำคัญ มันสะท้อนปัญหาความรุนแรงที่มองไม่เห็น” พรเพ็ญ กล่าว

“แม่นหยังวะ” เราคิดในใจ เราไม่เข้าใจสิ่งที่ พรเพ็ญ พยายามอธิบาย พรเพ็ญ ที่ทำงานในภาคใต้มากกว่า 15 ปี เธอน่าจะถือเป็นหนึ่งในคนที่รู้ และเข้าใจสถานการณ์มากที่สุด แต่เราไม่เข้าใจโว้ย

“ถ้าจะบอกว่า มันรุนแรง มันก็รุนแรงกว่าที่อื่นมาก มีคนเสียชีวิตกว่า 7 พันคนแล้ว แต่สิ่งที่ทับซ้อนอยู่ คือ ความรุนแรงที่มองไม่เห็น ความรุนแรงที่นอกเหนือจากปืน และระเบิด คนเหล่านี้เขาต้องการรักษาไว้ซึ่งอัตลักษณ์ทางภาษา ทางการแต่งกาย ทางการปกครองตนเอง ทางการอยู่ในบ้านโดยที่ไม่มีทหารมายืนถือปืนใกล้ๆ แต่เขาไม่สามารถทำได้อย่างสะดวก นี่คือความรุนแรงที่ เราในฐานะคนนอกมองไม่เห็น” พรเพ็ญ อธิบาย 

“พวกเขาอยากได้รับการยอมรับว่า แตกต่าง อยากได้ระบบการศึกษาที่กำหนดด้วยตัวเอง อยากได้ระบบการปกครอง ที่ได้เลือกผู้ว่าราชการจังหวัดเอง แบบไม่ต้องส่งคนมาจากส่วนกลาง เพราะเขาเชื่อว่า ส่วนกลางไม่ช่วยให้เขาสามารถดำรงค์อัตลักษณ์ของพวกเขาเอาไว้ได้ พวกเขายังถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพเรื่องศาสนา พวกเขาอยากใช้ภาษาของตนเอง ที่ผ่านมา พวกเขาถูกอคติจากคนพื้นที่อื่น ความเกลียดกลัวคนมุสลิมทำให้พวกเขาไม่สามารถพัฒนาความเป็นพลเมืองของประเทศอย่างสมบูรณ์ได้” พี่หน่อย อธิบายเพิ่มอีกหน่อย

“มันคือ ความรุนแรงที่เกิดจากรัฐ ระบบยุติธรรม การใช้อำนาจ และการถูกกดขี่” พี่หน่อย เน้นความหมาย ที่ซ่อนอยู่ในภาพอีกครั้ง

พรเพ็ญ เล่าปัญหาจากประสบการณ์ที่เธอคลุกคลีมาตลอดหลายปี เธอคือคนที่มีโอกาสได้พูดคุยกับคนหลายคนที่เจ้าหน้าที่รัฐเชื่อว่า เขาคือผู้ก่อการร้าย แต่เหมือนตัวเธอเองก็เชื่อเช่นกันว่า รัฐมีส่วนอย่างมากในการสร้างผู้ก่อการร้ายเหล่านั้น

“คนที่อยู่ในรูปคือ คนที่ถูกจับกุม ดำเนินคดี เป็นอดีตผู้ต้องขัง นี่คือความรุนแรงเชิงโครงสร้าง ภาพเหล่านี้มันสะท้อนความเป็นคนธรรมดาของพวกเขา สิ่งที่พวกเขาต้องเผชิญมันรุนแรงมาก แต่ทุกคนก็ยังต้องพยายามใช้ชีวิตให้อยู่ได้ พวกเขาเสี่ยงมากที่กล้าเปิดเผยตัวตน ยอมให้เราเอามาใช้เล่าความรุนแรงในสามจังหวัด พวกเขาอยู่ในแบล็คลิสต์ ก็เลยบอกว่า ชื่องานมันควรจะเป็นแบล็คลิสต์ มากกว่า เกรย์แอเรีย” พรเพ็ญ คลี่คลายหลายประโยคก่อนหน้า

ถึงตรงนี้ คนอีสานเด้ออย่างเรา ต้องถามอะไรที่ฟังดูตื้นเขินอีกครั้ง นั่นคือ จากที่ได้พูดคุยกับผู้ต้องหา หรือผู้ต้องขังคดีความไม่สงบ คิดว่า คน ทั้งหมดเป็นเหยื่อจริงหรือไม่? พรเพ็ญเล่าว่า ผู้ต้องขังบางคนยอมรับว่า ได้ลงมือทำจริงๆอย่างที่ถูกกล่าวหา แต่เขาก็มีเหตุผลของเขา เหตุผลทางความเชื่อบางอย่าง หรือความจำเป็นบางอย่าง

“ตำรวจไทยไม่ได้ไม่มีประสิทธิภาพขนาดนั้น ไม่ใช่ว่าจับแพะทั้งหมด มันมีทั้งผู้กระทำผิดจริงๆ และผู้ที่เราเชื่อว่า ไม่ได้ทำ คือ ผู้ต้องขังบางคนอาจจะมีชื่อว่า ร่วมประชุมกับผู้ก่อความไม่สงบเพียงหนึ่งครั้ง แต่กลับโดนกล่าวหาว่า มีความผิดในคดี 8 คดี ยกตัวอย่างเช่น เขาอาจใช้ปืนกระบอกหนึ่งทำความผิดหนึ่งครั้ง แต่ตำรวจพบหลักฐานว่า ปืนกระบอกนั้นเคยใช้ก่อเหตุหลายคดี ก็เลยโดนกล่าวหาว่า ทำผิดในหลายคดีไปด้วย สิ่งที่เราพยายามทำคือ เรียกร้องหรือผลักดันให้ยกเลิกการสอบสวนในค่ายทหาร การซ้อมทรมาน หรือข่มขู่ให้สารภาพ เราคิดว่า ควรใช้กระบวนการยุติธรรมปกติที่ใช้กันทั่วประเทศกับคนเหล่านี้” พี่หน่อย ให้ข้อเท็จจริงแก่เรา

เธอระบุว่า ด้วยกฎหมายพิเศษที่ว่า ทำให้มีคนจำนวนไม่น้อยต้องถูกเชิญเข้าไปพูดคุยกับพี่ทหารในค่าย

“คาดการณ์ว่า มีมากกว่า 6 พันคนที่ถูกควบคุมตัว และถูกจับโดยกฎหมายพิเศษ ดูจากตัวเลขที่แต่ละคนบอก แต่ไม่ใช่สถิติที่แน่นอน แต่พอถาม กร.อมน. ก่อนรัฐประหาร บอกว่ามีเพียง 3 พันกว่าคน คิดว่าสถิติเขาไม่ได้เก็บอย่างจริงจัง” พรเพ็ญ ระบุ

แล้วที่มีคนกล่าวหาว่า เอ็นจีโอภาคใต้ ปกป้องแต่ผู้ก่อการร้าย ไม่ปกป้องเจ้าหน้าที่ เวลาเจ้าหน้าที่ถูกโจมตี ก็ไม่เห็นออกมาประณามผู้ก่อการร้ายบ้างล่ะ? พี่หน่อยคิดอย่างไร เราถามให้เธอได้แก้ต่างให้ตัวเองบ้าง

“เราก็ประณามนะ กูเกิ้ลดูก็ได้ กรณีที่เจ้าหน้าที่ และผู้บริสุทธิ์โดนกระทำโหดร้ายรุนแรง เราก็ประณามผู้ก่อเหตุ เพราะมีเหตุการณ์ที่เชื่อได้ว่า ผู้บริสุทธิ์ชาวไทยพุทธที่เป็นชนกลุ่มน้อยในพื้นที่นั้นตกเป็นเป้าของความรุนแรงจริง และพวกเขาต้องได้รับการปกป้องด้วย” เธอ ยืนยันหนักแน่น

อีสานกับใต้ต่างกันไหม? ในมุมมองของพี่ อีสานเด้อขอถาม คำถามสุดท้าย เพื่อไม่ให้สัมภาษณ์ชิ้นนี้ ห่างไกลจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือจนเกินไป

“อีสาน กับ ใต้เหรอ ต่างกันเชิงกายภาพ อาจจะภาษา ศาสนา วัฒนธรรม ซึ่งคนทำงานแบบเรา เราไม่ได้มองเรื่องความแตกต่าง มันมีความเข้าใจความแตกต่างอยู่แล้ว ไม่ใช่เรื่องใหม่ หลักการในการทำงานคือ พื้นฐานความเป็นมนุษย์ พอเรามองเรื่องพวกนี้ ความเป็นคนมันมีอยู่ในทุกพื้นที่ เราเคารพทุกที่เหมือนกัน เรารู้อยู่แล้วว่า เราต้องเจอความแตกต่างเชิงกายภาพ แต่มันมีความเป็นมนุษย์อยู่ เรามองเขาเหมือนคนในครอบครัวเรา เพื่อนเรา ทุกคนก็เป็นเพื่อนเหมือนกัน ทำตัวเหมือนเพื่อนหมดแหละถ้าทำได้ จะอีสาน หรือใต้” ยศธร ตอบคำถามคมปานมีด พู่นแหละครับ

บทสนทนาเกี่ยวกับจังหวัดชายแดนภาคใต้วิ่งวนอยู่ในร่างกายเราหลังจากการพูดคุยกับ พี่โต้ส และพี่หน่อย ความรุนแรงเชิงโครงสร้าง และความธรรมดา ถูกคลุกเคล้าเข้ากับข้าวคั่ว ก้อยขม และนมย่าง ขณะที่เราเดินพิจารณาภาพขาว-ดำ แต่ละภาพให้ถ้วนถี่ ขณะที่เราพยายามทำความเข้าใจ ความเป็นคนเหมือนกัน ของพวกเขา และพวกเรา ขณะที่ความต่าง เริ่มไม่ต่าง

 


 

อ่านบทความของช่างภาพเจ้าของผลงาน “พื้นที่สีเทา” (Gray Zones) เพิ่มเติมได้ที่ 'พื้นที่สีเทา'

 

หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกที่ The Isaander

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: