ครม.อนุมัติ อีกหนึ่งโครงการพระราชดำริฯ 'อ่างเก็บน้ำลำน้ำชีชัยภูมิ' หลังศึกษาไว้นานเกือบ 50 ปี

กองบรรณาธิการ TCIJ 17 ม.ค. 2562 | อ่านแล้ว 9396 ครั้ง

ครม.อนุมัติ อีกหนึ่งโครงการพระราชดำริฯ 'อ่างเก็บน้ำลำน้ำชีชัยภูมิ' หลังศึกษาไว้นานเกือบ 50 ปี

ต้นปี 2562 ครม.อนุมัติ 3,100 ล้านบาท ดำเนินโครงการอ่างเก็บน้ำลำน้ำชีอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.ชัยภูมิ หลังศึกษาไว้นานเกือบ 50 ปี คาดใช้เวลาก่อสร้าง 6 ปี


เว็บไซต์ Koratdaily รายงานเมื่อต้นเดือน ม.ค. 2562 ที่ผ่านมาว่าตามที่ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มติอนุมัติให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมชลประทาน ดำเนินโครงการอ่างเก็บน้ำลำน้ำชีอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.ชัยภูมิ เมื่อวันที่ 2 ม.ค. 2562 ทั้งนี้ในการประชุมได้สรุปสาระการประชุมทั้งสิ้น 28 เรื่อง ซึ่งโครงการอ่างเก็บน้ำลำน้ำชีอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.ชัยภูมิ อยู่ในลำดับเรื่องที่ 11 โดยมีเนื้อหาดังนี้


ที่มาภาพ: เว็บไซต์ Koratdaily

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ ดังนี้ 1.อนุมัติให้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมชลประทาน ดำเนินโครงการอ่างเก็บน้ำลำน้ำชีอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.ชัยภูมิ (โครงการอ่างเก็บน้ำยางนาดี จ.ชัยภูมิ เดิม) มีกำหนดแผนงานโครงการ 6 ปี (ปีงบ ประมาณ พ.ศ.2562–2567) กรอบวงเงินงบประมาณโครงการทั้งสิ้น 3,100 ล้านบาท 2.อนุมัติหลักการให้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมชลประทาน สามารถจ่ายค่าชดเชยพิเศษแทนการจัดสรรที่ดินแปลงอพยพในกรณีที่กรมชลประทานไม่สามารถจัดสรรที่ดินแปลงอพยพให้แก่ราษฎรที่ได้รับผลกระทบหรือราษฎรไม่ประสงค์จะรับที่ดินแปลงอพยพ 3.มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามแผนงานปฏิบัติการป้องกัน แก้ไข และพัฒนาสิ่งแวดล้อมที่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมชลประทาน เสนออย่างเคร่งครัด

สำหรับค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการ ให้เป็นไปตามความเห็นของสำนักงบประมาณ ทั้งนี้ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รับความเห็นของกระทรวงการคลัง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ รวมทั้งข้อสังเกตของสำนักงบประมาณไปพิจารณาดำเนินการต่อไป

ที่มาภาพ: เว็บไซต์ Koratdaily

โดยสาระสำคัญของโครงการอ่างเก็บน้ำลำน้ำชีอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.ชัยภูมิ สรุปได้ดังนี้ 1.วัตถุประสงค์โครงการ เพื่อพัฒนาแหล่งน้ำต้นทุนสำหรับสนับสนุนพื้นที่การเกษตร บรรเทาปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ชุมชนและเขตเกษตรกรรม เป็นแหล่งน้ำด้านการอุปโภคบริโภค อุตสาหกรรม และเพื่อรองรับแผนการพัฒนาที่เพิ่มขึ้นให้เต็มศักยภาพในลุ่มน้ำชี 2.ที่ตั้งโครงการ อยู่บริเวณพื้นที่บ้านยางนาดี ต.ชีบน อ.บ้านเขว้า และพื้นที่บ้านละหานค่าย ต.โคกสะอาด อ.หนองบัวระเหว จ.ชัยภูมิ 3.ลักษณะโครงการ ประกอบด้วยกิจกรรมหลัก ดังนี้ 1) เขื่อนดินประเภทแบ่งโซน (Zone Dam) ความยาว 1,580 เมตร ความสูง 24 เมตร ความกว้างสันทำนบดิน 9 เมตร และขนาดความจุที่ระดับเก็บกัก 70.21 ล้านลูกบาศก์เมตร 2) อาคารระบายน้ำล้น (Spillway) ชนิดประตูระบายเหล็กบานโค้ง ขนาดความกว้าง 12.50x7.50 เมตร จำนวน 6 บาน 3) อาคารส่งน้ำลงลำน้ำเดิม ขนาดท่อส่งน้ำจำนวน 2 แถว กว้าง 3.80 เมตร สูง 3.00 เมตร 4.ระยะเวลาดำเนินโครงการ 6 ปี (ปีงบประมาณ พ.ศ.2562-2567) 5.ค่าใช้จ่าย รวมทั้งสิ้น 3,100 ล้านบาท

6.ประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับ ดังนี้ 1) เป็นแหล่งน้ำสนับสนุนสถานีสูบน้ำตามลำน้ำชีตั้งแต่บริเวณท้ายเขื่อนในเขตพื้นที่จังหวัดชัยภูมิ จนถึงจุดบรรจบลำน้ำพองในเขตพื้นที่ จ.ขอนแก่น 2) พื้นที่รับประโยชน์ในฤดูฝน จำนวน 75,000 ไร่ และฤดูแล้ง จำนวน 30,000 ไร่ 3) เป็นแหล่งน้ำสนับสนุนการประมง 4) สามารถช่วยบรรเทาอุทกภัยบริเวณพื้นที่ท้ายอ่างเก็บน้ำ

ความเป็นมาของโครงการ

ทั้งนี้กรมชลประทานได้ทำการศึกษาและจัดทำรายงานความเหมาะสมของโครงการน้ำชีแล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ.2514 เสนอให้ก่อสร้างเขื่อนเก็บกักน้ำชี ขนาดความจุ 1,860 ล้านลูกบาศก์เมตร และเขื่อนทดน้ำที่บ้านยางนาดี แต่ไม่สามารถดำเนินโครงการได้ เนื่องจากประสบปัญหาการอพยพราษฎรออกจากพื้นที่อ่างเก็บน้ำ ต่อมาปี พ.ศ.2527-2531 ประชาคมยุโรปได้ช่วยเหลือในการดำเนินการศึกษาศักยภาพการพัฒนาแหล่งน้ำ และการใช้น้ำในลุ่มน้ำชีอย่างเป็นระบบลุ่มน้ำ โดยให้ก่อสร้างเขื่อนน้ำชีที่มีขนาดเล็กลงและก่อสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดกลางที่มีศักยภาพเป็นระบบลุ่มน้ำอีกหลายแห่ง ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 8 เม.ย. 2532 อนุมัติให้ดำเนินการศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยกรมชลประทานได้ทำการศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการพัฒนาลุ่มน้ำชีตอนบน (เขื่อนชีบนและเขื่อนยางนาดี) แล้วเสร็จในเดือน ต.ค. 2534 และเสนอต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล) ซึ่งต่อมาได้มีมติเห็นชอบต่อรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม เมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2540 โดยมี เงื่อนไขให้กรมชลประทานเป็นการศึกษาเพิ่มเต็ม ต้านสิ่งแวดล้อมและปรับแผนงานก่อสร้าง ให้ศึกษาการแพร่กระจาย ดินเค็มด้วย กรมชลประทานได้ศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมเพิ่มเต็ม) แล้วเสร็จเมื่อ พ.ย. 2554 และส่งรายงานชี้แจงเพิ่มเต็มให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ต่อมา สผ.มีหนังสือที่ ทส 10096/7842 ลงวันที่ 30 ส.ค. 2554 ถึงกรมชลประทาน โดยแจ้งว่าคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติได้ พิจารณาเห็นชอบต่อรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการพัฒนาลุ่มน้ำชีตอนบนแล้ว ในคราวประชุมครั้งที่ 3/2540 25 มี.ค. 2540 โดยให้ความเห็น กก.วล.เสนอขอความเห็นชอบต่อ ครม.ได้ ส่วนเรื่องระบบชลประทาน กรมชลประทานต้องศึกษาการแพร่การกระจายดินเค็มเสนอ กก.วล.ก่อนเริ่มดำเนินการ และเมื่อวันที่ 30 ก.ค. 2555 คณะรัฐมนตรี มอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รับไปพิจารณาเร่งรัดการก่อสร้างโครงการพัฒนาลุ่มน้ำชีตอนบน

ที่มาภาพ: เว็บไซต์ Koratdaily

กรมชลประทานได้ดำเนินการเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ โดยเสนอโครงการอ่างเก็บน้ำยางนาดี จังหวัดชัยภูมิ เข้าวาระการประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ครั้งที่ 5/2559 และโครงการฯ ได้ผ่านความเห็นชอบเมื่อวันที่ 23 พ.ย. 2559 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงส่งเรื่องการขอความเห็นชอบการขออนุมัติดำเนินโครงการ เสนอ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พิจารณาให้ความเห็นชอบในการใช้พื้นที่เมื่อ 25 ก.ย. 2560 ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พิจารณาแล้วไม่ขัดข้องกรณีกรมชลประทานขออนุมัติดำเนินการอ่างเก็บน้ำลำน้ำชีอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.ชัยภูมิ เมื่อวันที่ 9 ม.ค. 2561 โดยจะนำความ เห็นชอบเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติเปิดโครงการ และด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ กรมชลประทานจึงได้ ปรับเปลี่ยนชื่อโครงการเพื่อให้เป็นไปตามกระแสพระราชดำริที่ทรงพระราชทานไว้เมื่อวันที่ 5 เม.ย. 2526 เดิมชื่อ โครงการอ่างเก็บน้ำยางนาดี จังหวัดชัยภูมิ เป็นโครงการอ่างเก็บน้ำลำน้ำชีอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดชัยภูมิ

อนึ่ง พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร พระราชทานกระแสพระราชดำริ เกี่ยวกับงานชลประทาน เมื่อวันที่ 5 เม.ย. 2526 ความตอนหนึ่งว่า “เขื่อนเก็บกักน้ำลำน้ำชี พิกัดทำเลที่สร้างเขื่อน 47PQT886-650 แผนที่มาตราส่วน 1/50,000 ระวาง 5340 IV ในเขต อ.จัตุรัส จ.ชัยภูมิ ซึ่งกรมชลประทานได้วางโครงการจะก่อสร้างขึ้นนั้น ปรากฏว่ามีปัญหาเรื่องที่ดินภายในอ่างเก็บน้ำมาก เพราะพื้นที่ถูกน้ำท่วมเป็นอ่างเก็บน้ำถึง 150,000 ไร่ ประกอบกับมีราษฎรอยู่อาศัย ทำกินอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวนี้เป็นจำนวนมากด้วย ทำให้การแก้ไขปัญหาเรื่องที่ดิน ของอ่างเก็บน้ำแห่งนี้กระทำได้ยากมาก จึงควรพิจารณาเลื่อนเขื่อนเก็บกักน้ำลำน้ำชีมาก่อสร้างใต้ลงไปที่พิกัด 47POT984-485 แผนที่มาตราส่วน 1/50,000 ระวาง 5340 ซึ่งอ่างเก็บน้ำอาจจะเล็กลงแต่ปัญหาเรื่องที่ดินภายในอ่างเก็บน้ำมีน้อยสามารถทำการก่อสร้างได้ และควรพิจารณาวางโครงการและก่อสร้างอ่างเก็บน้ำหรือฝายทดน้ำตรงบริเวณต้นน้ำลำน้ำชี และตามลำน้ำสาขาต่างๆ ของลำน้ำชี เพื่อจัดหาน้ำช่วยเหลือราษฎรหมู่บ้านต่างๆ ในพื้นที่ที่จะเป็นอ่างเก็บน้ำลำน้ำซีเดิมให้สามารถมีน้ำทำการเพาะปลูกได้ทั้งในระยะฤดูฝนและฤดูแล้ง และมีน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคตลอดปีด้วย”

เรื่องที่เกี่ยวข้อง
เปิดแฟ้ม 'โครงการวังหีบ' ปี 2561 ครม.อนุมัติ-ภาคประชาชนคัดค้าน

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: