กรมชลฯ เผยเตรียมผันน้ำเข้า 12 ทุ่งพื้นที่ลุ่มต่ำเจ้าพระยา เริ่ม 25 ก.ย. 2562 นี้

กองบรรณาธิการ TCIJ 15 ก.ย. 2562 | อ่านแล้ว 2236 ครั้ง

กรมชลฯ เผยเตรียมผันน้ำเข้า 12 ทุ่งพื้นที่ลุ่มต่ำเจ้าพระยา เริ่ม 25 ก.ย. 2562 นี้

กรมชลประทานเตรียมผันน้ำเข้าพื้นที่ลุ่มต่ำ 12 ทุ่งเจ้าพระยาในอีก 2 สัปดาห์ เพื่อพร่องน้ำในลำน้ำธรรมชาติและระบบชลประทานกรณีมีฝนตกหนักจากพายุจรและช่วยให้เกษตรกรมีน้ำไว้เพาะปลูกหน้าแล้ง ที่มาภาพ: สำนักข่าวไทย

สำนักข่าวไทย รายงานเมื่อวันที่ 10 ก.ย. 2562 ว่านายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่าประมาณวันที่ 25 ก.ย. 2562 เป็นต้นไปจะเริ่มผันน้ำเข้าสู่ 12 ทุ่งลุ่มเจ้าพระยา ซึ่งกรมชลประทานได้เลื่อนปฏิทินการส่งน้ำให้พื้นที่ลุ่มต่ำทำนาได้ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. ก่อนเข้าสู่ฤดูฝน เพื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตทันก่อนน้ำหลาก ขณะนี้มีพื้นที่เก็บเกี่ยวแล้วร้อยละ 70 เหลืออีกร้อยละ 30 อยู่ระหว่างการเก็บเกี่ยว คาดว่าหลังวันที่ 24-25 ก.ย. 2562 จะเก็บเกี่ยวได้ทั้งหมด

สำหรับพื้นที่ลุ่มต่ำ 12 ทุ่งลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ประกอบด้วย ทุ่งเชียงราก ทุ่งฝั่งซ้ายคลองชัยนาท- ป่าสัก ทุ่งท่าวุ้ง และทุ่งบางกุ่ม ซึ่งใช้น้ำจากคลองชัยนาท – ป่าสัก , ทุ่งป่าโมก ทุ่งผักไห่ และทุ่งเจ้าเจ็ด ใช้น้ำที่ส่งผ่านทางแม่น้ำน้อย, ทุ่งบางกุ้ง ทุ่งบางบาล ใช้น้ำจากสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าจากแม่น้ำเจ้าพระยา ส่วนพื้นที่ลุ่มต่ำอื่น ๆ ได้แก่ พื้นที่ในเขตของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาโพธิ์พระยา ใช้น้ำจากแม่น้ำท่าจีน โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพระยาบรรลือ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพระพิมล และโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษารังสิตใต้ จะใช้น้ำจากน้ำนอนคลองในพื้นที่ มีพื้นที่รวมกันประมาณ 1.15 ล้านไร่ สามารถเก็บกักน้ำได้ประมาณ 1,500 ล้านลูกบาศก์เมตร

ทั้งนี้ โครงการเลื่อนปฏิทินการส่งน้ำให้เกษตรกรในพื้นที่ลุ่มต่ำทำนาเร็วขึ้นนั้น ช่วยลดความเสี่ยงผลผลิตจะเสียหายจากน้ำท่วม ภาครัฐสามารถประหยัดงบประมาณจากการจ่ายเงินค่าชดเชยกรณีเกิดอุทกภัย ที่สำคัญหลังจากเกษตรกรเก็บเกี่ยวผลผลิตเสร็จสามารถใช้พื้นที่ลุ่มต่ำดังกล่าวเป็นแก้มลิงธรรมชาติ เพื่อรองรับน้ำฤดูน้ำหลาก สามารถลดผลกระทบจากอุทกภัยที่จะเกิดขึ้นในเขตชุมชนและพื้นที่เศรษฐกิจใน 7 จังหวัดท้ายเขื่อนเจ้าพระยา รวมถึงกรุงเทพมหานครและปริมณฑลอีกด้วย

เมื่อผันน้ำเข้าทุ่งแล้วจะช่วยส่งเสริมให้เกษตรกรมีรายได้จากการทำอาชีพประมง โดยจะประสานกรมประมง เพื่อนำพันธุ์ปลานานาชนิดมาปล่อย อีกทั้งน้ำที่เก็บกักไว้ในพื้นที่ลุ่มต่ำยังสามารถนำมาใช้ในการบริหารจัดการเป็นน้ำต้นทุนในการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งได้ด้วย

นายทองเปลว กล่าวต่อว่า จะระบายเข้าพร้อมกันทุกทุ่งในเกณฑ์ที่ตกลงไว้ คือ ระดับความสูง 50-80 เซนติเมตร โดยจะควบคุมระดับน้ำไม่ให้ท่วมถนนในชุมชน ดังนั้น หากจากนี้จนถึงกลางเดือนตุลาคมมีพายุจรเข้ามาเขตภาคกลางจะยังมีพื้นที่รองรับน้ำฝนได้ แต่หากไม่มีพายุเข้ามาเกษตรกรสามารถใช้น้ำผันเข้าไปเก็บกักไว้ทำการเกษตรได้ แต่ขอให้เพาะปลูกพืชตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์แนะนำเพื่อลดความเสี่ยงจากความเสียหายในฤดูแล้ง

ด้านนายสุรชาติ มาลาศรี ผู้อำนวยการสำนักชลประทานที่ 12 กล่าวว่า จะยังคงรักษาอัตราการระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาที่ 950 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ต่อวินาทีไว้อย่างน้อย 2-3 วัน ขณะนี้สถานการณ์น้ำเหนือที่ไหลผ่านจังหวัดนครสวรรค์เริ่มลดลงแล้วและมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง หากไม่มีฝนตกลงมาเพิ่มคาดว่าอีก 2-3 วันจะเริ่มปรับลดการระบายลงแบบขั้นบันไดครั้งละ 50 ลบ.ม. ต่อวินาที ดังนั้น ขอให้ประชาชนในจังหวัดท้ายเขื่อนเจ้าพระยามั่นใจได้ว่าระดับน้ำจะไม่เพิ่มสูงไปกว่านี้เมื่อลดการระบายลงน้ำที่เอ่อท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำในขณะนี้จะไหลลงสู่ลำน้ำและกลับสู่ภาวะปกติในเร็ววัน

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: