คุยกันหลังหนังจบ: Kingdom of heaven – ย้อนดูความรุ่งโรจน์ของศรัทธา ไปจนถึงวันเสื่อมถอย

ธนเวศม์ สัญญานุจิต: 15 ม.ค. 2562 | อ่านแล้ว 28638 ครั้ง


บทความชิ้นนี้เปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของภาพยนตร์ 

ภาพยนตร์ Kingdom of Heaven นอกจากเป็นเรื่องราวของราษฎรคนธรรมดาผู้ได้รับการเลื่อนชนชั้นเป็นบารอน และกลายเป็นอัศวินผู้แสวงหาดินแห่งสวรรค์และปกป้องเยรูซาเลม ภาพยนตร์ได้บอกเล่าเรื่องราวที่อยู่ในจุดสำคัญของประวัติศาสตร์โลก หรือประวัติศาสตร์ของมนุษย์ ซึ่งเป็นยุคสมัยที่จะเปลี่ยนผ่านจาก ยุคโบราณไปสู่ยุคสมัยใหม่ ยุคสมัยดังกล่าวเป็นยุคสมัยที่ ‘ความศรัทธา’ อยู่เหนือซึ่งสิ่งอื่นใดจะมาบดบัง และบางครั้งทำให้มนุษย์ ‘มืดบอด’ อารยธรรมโรมันดั้งเดิมเสื่อมสลายไป ยุคสมัยนี้จึงมีชื่อเรียกขานว่า ‘ยุคมืด’ (the dark age) หรือ ยุคกลาง (the middle age) ที่คำว่า กลาง นั้นหมายถึง มันอยู่คั่นกลางระหว่าง ยุคคลาสสิค และ ยุคสมัยใหม่นั่นเอง

ยุคกลาง หรือยุคมืด คือประวัติศาสตร์ยุโรปช่วงคริสศตวรรษที่ 5 ถึงราวๆ 15 กินเวลากว่า 1 พันปี ซึ่งเริ่มต้นช่วงที่ อาณาจักรโรมันตะวันตกล่มสลายจากการรุกรานของเหล่าชนเผ่าป่าเถื่อน (กอธ – Goth / เป็นที่มาว่าทำไมศิลปะในยุคนี้ถูกเรียกว่า Gothic) ชนเผ่าเหล่านั้นเข้านับถือศาสนาคริสต์เพื่อให้ได้รับการยอมรับจากคริสตจักร โดยในยุคนั้นเป็นนิกาย โรมันคาธอลิค

สภาพสังคมในยุคกลาง คำว่ารัฐ-ชาติยังไม่เกิดขึ้น ผู้คนมีความรู้สึกเป็นคนของที่แห่งใดตามภาษาที่พูด และมีความรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกันผ่าน ‘ความเป็นคริสต์’ หรือ Christendom ร่วมกัน ซึ่งภายหลังการล่มสลายของอาณาจักรโรมันตะวันตก ก็มีจักรพรรดิใหม่รวบรวมดินแดนและตั้ง ‘อาณาจักรโรมันอันศักดิ์สิทธิ’ (Holy Roman Empire) ขึ้นในปี 800 เพียงแต่ว่า ในยุคสมัยนั้น สภาพการปกครองนั้น อำนาจที่แท้จริงไม่ได้อยู่กับตัวจักรพรรดิหรือกษัตริย์ เนื่องจากระบบทางสังคมที่เรียกว่า ระบบศักดินาสวามิภักดิ์ (Feudalism) ที่แบ่งชนชั้นต่างๆ ในสังคมออกเป็นแต่ละฐานะ แต่ละหน้าที่ หรือรูปแบบฐานะทางสังคมแบบมีชนชั้น (Hierarchy) เพียงแต่ว่ามันไม่ได้เป็นรูปแบบของการกดขี่ แต่เป็นเหมือนภาระหน้าที่ที่แต่ละชนชั้นต้องปฏิบัติต่อกัน เป็นความสัมพันธ์รูปแบบ Lord-Vassal

เหล่าขุนนาง (Lord, Baron) มีหน้าที่ปกครอง ส่วนอัศวิน (Knights) ก็มีหน้าที่ถืออาวุธปกป้องราษฎร (Peasants) ในพื้นที่หรือดินแดนที่เรียกว่า Manor อัศวินนั้นเป็นลูกขุนนางเสียส่วนมาก และไม่ใช่ทุกคนจะเป็นได้ ต้องได้รับการอบรมบ่มเพาะแต่เด็ก ถูกส่งเข้าฝึกหัดการเป็นอัศวิน และได้รับแต่งตั้งจากขุนนาง เหล่าขุนนางแต่ละ Manor ก็จะภักดีต่อกษัตริย์หรือจักรพรรดิ ฉะนั้นอำนาจการปกครองดินแดนจึงไม่ได้อยู่กับจักรพรรดิ แต่กระจัดกระจายอยู่กับ Lords ทั้งหลาย เช่น กษัตริย์และบารอนต่างๆ

ส่วนในเรื่องศาสนา โรมันคาธอลิคในยุคนี้รุ่งเรืองถึงขีดสุด จนเรียกได้ว่าครอบคลุมทั่วทุกดินแดน หลังโรมันตะวันตกล่มสลายไป โบสถ์คริสต์เป็นสถาบันทางสังคมหน่วยเดียวที่ผูกขาดการรู้หนังสือ ไม่มีผู้ใดอ่านพระคัมภีร์ออกนอกจากเหล่าชนชั้นนักบวช (Clergy) พวกเขาผูกขาดอำนาจการตีความเอาไว้เพียงชนชั้นเดียว โบสถ์คริสต์มีอำนาจทางธรรมเทียบเท่าหรืออาจมากกว่าอำนาจทางโลกด้วยซ้ำ อำนาจของกษัตริย์และอำนาจของสันตะปาปาซ้อนทับกันจนเรียกเป็นสภาวะ Dual Authority หรือเรียกได้ว่า อำนาจทางโลกกับทางธรรมซ้อนทับกัน ต่างจากโลกยุคปัจจุบัน ในสมัยกลาง คริสตจักรมีอำนาจลงโทษดินแดนบางดินแดนที่แข็งข้อด้วยการคว่ำบาตรทางศาสนา ซึ่งสำหรับชาวคริสต์นิกายคาธอลิค นับว่าเป็นการลงโทษที่ร้ายแรง

ในช่วงของภาพยนตร์ เป็นคริสต์ศตวรรษที่ 12 นับว่าอยู่ในช่วง ยุคกลางตอนกลางก่อนเสื่อมสลาย เป็นยุคที่ระบบศักดินาสวามิภักดิ์รุ่งโรจน์ รวมถึงความเข้มแข็งแห่งคริสตจักรอยู่ในจุดสูงสุด เพราะการทำสงครามครูเสดแย่งชิงดินแดนเยรูซาเลมกับชาวมุสลิม การระดมทัพจากทุกดินแดนในจักรวรรดิโรมันนั้นมาจากสันตะปาปา มิใช่จักรพรรดิ นับว่าเป็นอำนาจทางธรรมที่ปกคลุมอำนาจทางโลกไปแล้ว สงครามครูเสดครั้งแรกจึงสะท้อนถึงสภาวะที่คริสตจักรครอบงำจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ เป็นหน้าที่ของชาวคริสต์ทุกคนที่จะร่วมศึกนี้ เหล่ากษัตริย์กลายเป็น Vassal ของสันตะปาปา คือสวามิภักดิ์ต่อคริสตจักร

แต่ภายหลังนั้นเอง สงครามครูเสดมิได้เป็นไปเพื่อศรัทธาต่อพระผู้เป็นเจ้า เหล่าอัศวินและขุนนางเข้าร่วมรบเพื่อปล้นสะดมผู้คนเท่านั้น เหตุผลของความศรัทธาถูกใช้เพื่อการเข่นฆ่า ดั่งที่ Kingdom of Heaven ได้นำเสนอ นักบวชผู้เทศน์ว่าการฆ่าพวกนอกรีตมิใช่การฆาตกรรม แต่เป็นหนทางสู่สวรรค์ หรือขุนนางที่อ้างประสงค์ของพระเจ้าในการบุกโจมตีกองคาราวานของมุสลิม และถูกใช้ในการเร่งเร้าให้เกิดสงคราม

ทุกๆ การตั้งคำถาม การคัดค้าน กลายเป็นการดูหมิ่นศาสนา และความศรัทธา กลายเป็นคำปลุกเร้าให้เหล่าอัศวินออกไปตายในสนามรบ เพราะทุกคนเชื่อว่า จะเป็นหรือตาย อยู่ที่พระเจ้ากำหนด จะชนะหรือแพ้ พระเจ้าจะเลือกให้

เบเลี่ยน ตัวเอกของเรื่อง ได้ถูกเลื่อนชนชั้นจากสามัญชนสู่ขุนนาง ด้วยสถานะทางสายเลือดที่ตนไม่เคยรู้ และตลอดการเดินทางไปยังแดนแห่งสวรรค์ เพื่อแสวงหาการไถ่บาป เขากลับพกพาความกังขาไปด้วยเสมอตั้งแต่ต้น แม้แต่แรงผลักดันแรกเริ่มของเขาก็เป็นเพียงการหลบหนีโทษทัณฑ์จากที่เขาสังหารนักบวชที่ขโมยไม้กางเขนไปจากศพของภรรยาของเขาเท่านั้น เบเลี่ยนกลายเป็นตัวแทนของ คุณธรรมหรือศีลธรรมบางอย่างที่อยู่นอกกรอบของศาสนา เพราะเบเลี่ยนนั้นกังขาในคริสต์ และไม่มีความต้องการที่จะสู้รบเพื่อพระผู้เป็นเจ้า หรือเพื่อแดนศักดิ์สิทธิ์อีกแล้ว

“เยรูซาเลมต้องเป็นดินแดนที่มีคุณธรรม ไม่เช่นนั้นก็ไร้ค่า” เบเลี่ยนตอบกับไทบีเรียส หลังปฏิเสธไม่รับเป็นผู้บัญชาเยรูซาเลม เพื่อประหารลอร์ด กี เดอ ลูซียง ผู้กระหายสงครามและทุกคนที่แข็งข้อต่อกษัตริย์บาล์ดวินที่ 5 เบเลี่ยนไม่ยอมประพฤติตนในทางที่ผิด แต่ก็ไม่ได้เข้าหาพระผู้เป็นเจ้า หรืออ้างพระผู้เป็นเจ้า เขายึดถือศีลธรรมทางโลก

สุดท้ายเบเลี่ยนยึดติดกับหน้าที่ทางโลกของตน (อัศวิน – ปกป้องราษฎร) มากกว่าหน้าที่ที่ทางศาสนาอ้าง (สังหารศัตรูนอกรีต) เขายืนหยัดปกป้องเยรูซาเลม ไม่ใช่เพื่อความศรัทธา หรือปกป้องแดนแห่งสวรรค์ของชาวคริสต์ เขาสู้เพื่อให้ได้คำสัตย์จาก ซาลาฮาดีน กษัตริย์ฝ่ายมุสลิมว่าจะให้ชาวบ้านอพยพออกจากเยรูซาเลมอย่างปลอดภัย แม้จะสละซึ่งเยรูซาเลมไป แต่เบเลี่ยนก็ไม่ได้พ่ายแพ้ แดนแห่งสวรรค์ของเขายังคงอยู่ และแดนแห่งสวรรค์ของเขามิใช่ศรัทธาต่อพระเจ้า

“อาณาจักรของพี่ท่าน อยู่ตรงนี้ (หัว) และตรงนี้ (หัวใจ) อาณาจักรแห่งนั้นไม่อาจถูกสละไปได้” เบเลี่ยนกล่าวกับซีบิลลาหลังสละเยรูซาเลม

หลังจาก Kingdom of Heaven จบลง สงครามครูเสดผ่านพ้นไปอีกหลายครั้ง ยุคกลางก็ถึงคราเสื่อมถอย ศรัทธาของคริสต์เสื่อมไป เพราะการหาประโยชน์อย่างผิดโดยใช้ศรัทธาอย่างมืดบอดในช่วงสงครามครูเสด และการที่นักบวชประพฤติผิดมากเข้า และในทางสังคม สงครามทำให้เหล่าชนชั้นสูงล้มตายจำนวนมาก ระบบศักดินาสวามิภักดิ์เสื่อมถอยจนล่มสลาย แต่การทำสงครามในเยรูซาเลม ทำให้ผู้คนในจักรวรรดิเดินทางไปค้าขายกับฝั่งตะวันออกมากขึ้น เกิดชนชั้นพ่อค้าขึ้นมากมาย และสุดท้ายสังคมยุโรปก็เปลี่ยนโฉมไป และหลุดพ้นจากยุคมืดบอดนี้ กลายเป็นยุคแห่งการกำเนิดใหม่ หรือ “เรอเนสซอง” ในที่สุด

“เยรูซาเลมมีค่าใด” เบเลี่ยนถามซาลาฮาดีน

“ไม่มี” ซาลาฮาดีนตอบ “แต่ก็เป็นทุกสิ่ง”

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: