1 ใน 4 สถานบริการสาธารณสุขทั่วโลก ‘ขาดแคลนน้ำ’

ทีมข่าว TCIJ: 14 เม.ย. 2562 | อ่านแล้ว 3255 ครั้ง

ผลสำรวจองค์การอนามัยโลก (WHO) และกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) พบว่ากว่า 1 ใน 4 ของสถานบริการสาธารณสุขทั่วโลกขาดแคลนน้ำอุปโภค-บริโภค ส่งผลกระทบต่อคนกว่า 2 พันล้านคนทั่วโลก โดยเฉพาะกลุ่มประเทศพัฒนาน้อยที่สุด ผู้หญิงที่คลอดบุตรและทารกแรกเกิดตกอยู่ในภาวะเสี่ยงอันตราย ที่มาภาพ: UNICEF (CC BY-NC-SA 3.0)

เมื่อต้นเดือน เม.ย. 2019 ที่ผ่านมาองค์การอนามัยโลก (WHO) และกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) ได้เผยแพร่รายงาน Water, Sanitation and Hygiene in Health Care Facilities: Global baseline report 2019  ซึ่งมาจากการสำรวจโรงพยาบาลและสถานบริการสาธารณสุขในเอเชีย แอฟริกา และภูมิภาคอื่นๆ ใช้ข้อมูลจากปี 2016 โดยในรายงานชิ้นนี้ระบุว่าน้ำสะอาดถือเป็นหัวใจสำคัญของการดูแลสุขภาพของผู้ป่วย ทั้งนี้ผู้ให้บริการในสถานบริการสาธารณสุขต้องการน้ำสะอาดในปริมาณที่เพียงพอเพื่อให้บริการด้านสุขภาพแก่ประชาชน ทั้งน้ำสำหรับดื่ม ปรุงอาหาร การทำความสะอาดร่างกายผู้ป่วย การทำความสะอาดเตียงผู้ป่วย พื้นห้องน้ำ การซักรีด และทำความสะอาดอุปกรณ์การแพทย์ ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ล้วนแล้วแต่ต้องการแหล่งน้ำที่ปลอดภัย

แม้ร้อยละ 74 ของสถานบริการสาธารณสุขทั่วโลกมีน้ำในการให้บริการขั้นพื้นฐานเพียงพอ ซึ่งหมายความว่าประมาณร้อยละ 26 ยังมีไม่เพียงพอ (คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 1 ใน 4 ของสถานบริการสาธารณสุขทั่วโลก) โดยในรายงานชิ้นนี้ระบุว่าส่งผลกระทบต่อผู้คนราว 2 พันล้านคน ทั้งนี้สถานบริการสาธารณสุขในกลุ่มประเทศพัฒนาน้อยที่สุด (Least Developed Countries - LDCs) มีเพียงร้อยละ 55 เท่านั้นที่มีน้ำให้บริการขั้นพื้นฐานเพียงพอ

นอกจากนี้ ร้อยละ 14 ของสถานบริการสาธารณสุขทั่วโลกมีข้อจำกัดในการบริหารจัดการน้ำ และร้อยละ 12 ไม่มีน้ำให้บริการที่เพียงพอ (หมายถึงต้องใช้น้ำสะอาดห่างไกลเกินระยะ 500 เมตรจากสถานที่ หรือไม่มีแหล่งน้ำสะอาดใกล้เคียงเลย) นอกจากนี้ยังพบว่าพื้นที่สถานบริการสาธารณสุขในเมือง ขาดแคลนน้ำถึงร้อยละ 5 ส่วนในเขตชนบทขาดแคลนน้ำถึงร้อยละ 15

กลุ่มประเทศพัฒนาน้อยที่สุด (Least Developed Countries - LDCs)

ข้อมูลจาก Wikipedia [1] [2] (เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 10 เม.ย. 2562) ระบุว่าประเทศพัฒนาน้อยที่สุด (Least developed country; LDC) เป็นชื่อที่กำหนดโดยสหประชาชาติซึ่งแสดงถึงการที่มีค่าดัชนีการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมต่ำ มีค่าดัชนีการพัฒนามนุษย์ต่ำ เมื่อจัดลำดับเทียบกับประเทศต่างๆ ทั่วโลก แนวคิดของการจัดกลุ่มประเทศพัฒนาน้อยที่สุดเกิดขึ้นเมื่อราวปี 1969-1970 รายชื่อประเทศพัฒนาน้อยที่สุดกลุ่มแรกถูกกำหนดโดยสหประชาชาติในข้อมติที่ 2768 (XXVI) เมื่อ 18 พ.ย. 1971 ประเทศที่จะถูกจัดว่าเป็นประเทศพัฒนาน้อยที่สุดจะต้องมีลักษณะสามประการนี้ ได้แก่

  • มีรายได้ต่ำ โดยรายได้มวลรวมประชาชาติเฉลี่ยสามปีน้อยกว่า US $905 และต้องมากกว่า $1,086 จึงจะพ้นจากกลุ่มนี้
  • ทรัพยากรมนุษย์อ่อนแอ โดยดูจากตัวชี้วัดทางด้านโภชนาการ สุขภาพ การศึกษาและการรู้หนังสือของผู้ใหญ่
  • ความอ่อนแอทางเศรษฐกิจโดยดูจากความไม่แน่นอนของการผลิตทางการเกษตร ความไม่แน่นอนของการส่งออกสินค้าและบริการ ความสำคัญทางเศรษฐกิจของกิจกรรมที่เป็นของต่างชาติ ความเข้มแข็งของการส่งออกสินค้า อุปสรรคของเศรษฐกิจขนาดเล็ก และร้อยละของประชากรที่ต้องพลัดถิ่นเพราะภัยธรรมชาติ

จะมีการตรวจสอบประเทศพัฒนาน้อยที่สุดทุกๆ 3 ปี โดยคณะกรรมการสำหรับนโยบายพัฒนาของสภาเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ ประเทศที่ผ่านเกณฑ์ของประเทศพัฒนาน้อยที่สุดเมื่อทำได้มากกว่าระดับที่กำหนดไว้ สำนักงานสหประชาชาติของตัวแทนระดับสูงสำหรับประเทศพัฒนาน้อยที่สุด ประเทศกำลังพัฒนาที่ไม่มีทางออกทะเลและรัฐกำลังพัฒนาที่เป็นเกาะขนาดเล็ก (UN OHRLLS) จะเป็นศูนย์กลางสำหรับความช่วยเหลือจากสหประชาชาติต่อประเทศพัฒนาน้อยที่สุด ปัจจุบัน (ณ เม.ย. 2019) ประเทศพัฒนาน้อยที่สุด มี 47 ประเทศ แบ่งเป็นรายทวีปดังนี้

ทวีปแอฟริกา 33 ประเทศ ได้แก่ Angola, Benin, Burkina Faso, Burundi, Central African Republic, Chad, Comoros, Democratic Republic of the Congo, Djibouti, Eritrea, Ethiopia, Gambia, Guinea, Guinea-Bissau, Lesotho, Liberia, Madagascar, Malawi, Mali, Mauritania, Mozambique, Niger, Rwanda, São Tomé and Príncipe, Senegal, Sierra Leone, Somalia, South Sudan, Sudan, Tanzania, Togo, Uganda และ Zambia

ทวีปเอเชีย 9 ประเทศ ได้แก่ Afghanistan, Bangladesh, Bhutan, Cambodia, East Timor, Laos, Myanmar, Nepal และ Yemen 

ทวีปโอเชียเนีย 4 ประเทศ ได้แก่ Kiribati, Solomon Islands, Tuvalu และ Vanuatu 

ทวีปอเมริกา 1 ประเทศ ได้แก่ Haiti

ประเทศที่พ้นเกณฑ์ 6 ประเทศ ได้แก่ Sikkim (กลายเป็นรัฐหนึ่งของ India เมื่อปี 1975) Botswana (พ้นเกณฑ์เมื่อปี 1994) Cape Verde (พ้นเกณฑ์เมื่อปี 2007) Maldives (พ้นเกณฑ์เมื่อปี 2011) Samoa (พ้นเกณฑ์เมื่อปี 2014) และ Equatorial Guinea (พ้นเกณฑ์เมื่อปี 2017)

 

ผู้หญิงคลอดบุตรและทารกแรกเกิดตกอยู่ในภาวะเสี่ยงอันตราย

1 ใน 5 ของการให้กำเนิดบุตรทั่วโลกเกิดขึ้นในกลุ่มประเทศพัฒนาน้อยที่สุด (Least Developed Countries - LDCs) ซึ่งสถานบริการสาธารณสุขในกลุ่มประเทศเหล่านี้มีน้ำให้บริการขั้นพื้นฐานเพียงพอเพียง 55% เท่านั้น ที่มาภาพ: UNICEF/UN0232310/

ดังกล่าวแล้วว่าสถานบริการสาธารณสุขในกลุ่มประเทศพัฒนาน้อยที่สุด (Least Developed Countries - LDCs) มีเพียงร้อยละ 55 เท่านั้น ที่มีน้ำให้บริการขั้นพื้นฐานเพียงพอ ซึ่งมีการประเมินว่า 1 ใน 5 ของการให้กำเนิดบุตรทั่วโลกเกิดขึ้นในกลุ่มประเทศ LDCs และในแต่ละปีมีผู้หญิง 17 ล้านคน ในกลุ่มประเทศ LDCs ให้กำเนิดบุตรในศูนย์สุขภาพที่มีน้ำไม่เพียงพอ

จากข้อมูลของ UNICEF พบว่ามีทารกแรกเกิด 7,000 คนเสียชีวิตทุกวันในปี 2017 ส่วนใหญ่เกิดจากโรคที่สามารถป้องกันและรักษาได้ รวมถึงการติดเชื้อ เช่น แบคทีเรีย เป็นต้น

"เมื่อทารกเกิดในสถานพยาบาลที่ไม่มีน้ำที่ถูกสุขอนามัยเพียงพอ ความเสี่ยงของการติดเชื้อและการเสียชีวิตของทั้งแม่และลูกนั้นสูง" Henrietta Fore ผู้อำนวยการบริหารของ UNICEF ระบุ "การคลอดทุกครั้ง ควรมีน้ำสะอาดที่เพียงพอ ผู้ทำคลอดต้องล้างมือด้วยสบู่ และอุปกรณ์ที่ผ่านการฆ่าเชื้อในสภาพแวดล้อมที่สะอาด"

ในรายงานชิ้นนี้ทำให้ทราบว่ามีผู้เสียชีวิตมากกว่า 1 ล้านคนในแต่ละปีที่มีสาเหตุเกี่ยวเนื่องจาก 'การคลอดบุตรที่ไม่สะอาด' โดยในจำนวนนี้ร้อยละ 26 เป็นทารกแรกเกิดเสียชีวิตจากการติดเชื้อ และร้อยละ 11 เป็นมารดาที่เสียชีวิตจากการคลอดบุตร

"ลองนึกภาพการคลอดบุตรหรือพาทารกไปรับบริการสาธารณสุขในที่ที่ไม่มีน้ำเพียงพอและปลอดภัย ทั้งห้องสุขาหรือสถานที่ล้างมือ" ดร.Tedros Adhanom Ghebreyesus ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก ระบุ "นั่นคือความเป็นจริงสำหรับผู้คนหลายล้านคนในทุกวันนี้ ไม่มีใครควรอยู่ในสถานการแบบนั้น และไม่ควรมีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่ต้องดูแลประชาชนอยู่ในสถานการณ์เช่นนั้นด้วยเช่นกัน การสร้างความมั่นใจว่าสถานพยาบาลทุกแห่งมีน้ำเพียงพอและถูกสุขอนามัยขั้นพื้นฐานเป็นสิ่งจำเป็น ในการทำให้ผู้คนในโลกมีสุขภาพดี ปลอดภัยและเป็นธรรมมากขึ้น”

ในการประชุมสมัชชาสุขภาพโลก (2019 World Health Assembly) ที่จะจัดขึ้นในเดือน พ.ค. 2019 นี้ รัฐบาลทั่วโลกจะพิจารณาการลงมติเรื่อง น้ำ สุขาภิบาล และสุขอนามัยในสถานบริการสาธารณสุข ซึ่งได้รับการอนุมัติอย่างเป็นเอกฉันท์จากคณะกรรมการบริหารขององค์การอนามัยโลกเมื่อต้นปี 2019 นี้ ซึ่งก่อนหน้านี้ UNICEF ได้เคยเสนอให้รัฐบาลทั่วโลกเพิ่มการลงทุนพัฒนาระบบสาธารณสุขที่เอื้อประโยชน์ต่อแม่และทารก ทั้งระบบน้ำสะอาด สบู่ และระบบไฟฟ้า ที่จะช่วยลดอัตราการเสียชีวิตของทารกทั่วโลกในอนาคต

 

ที่มาข้อมูล
1 in 4 health care facilities lacks basic water services – UNICEF, WHO (unicef.org, 2/4/2019)
Water, Sanitation and Hygiene in Health Care Facilities: Global baseline report 2019 [World Health Organization and the United Nations Children’s Fund (UNICEF) 2019]

เรื่องที่เกี่ยวข้อง
จับตา: คู่มือพัฒนาคุณภาพน้ำบริโภคในโรงพยาบาล

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: