ภาษาอังกฤษคนไทยวิกฤต รั้งท้ายอันดับ 64 จาก 88 ประเทศ คะแนน TOEFL ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย

กองบรรณาธิการ TCIJ 14 ต.ค. 2562 | อ่านแล้ว 4483 ครั้ง

ภาษาอังกฤษคนไทยวิกฤต รั้งท้ายอันดับ 64 จาก 88 ประเทศ คะแนน TOEFL ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย

ภาษาอังกฤษคนไทยวิกฤต ติดอันดับ 64 จาก 88 ประเทศที่ไม่ได้ใช้อังกฤษเป็นภาษาหลัก ขณะที่คะแนนภาษาอังกฤษโอเน็ต ป.6 ม.3 ม.6 ต่ำกว่าวิชาอื่น ส่วนคะแนน TOEFL ของคนไทยเฉลี่ยอยู่ที่ 78 จากคะแนนเต็ม 120 คะแนน ซึ่งต่ำกว่าคะแนนเฉลี่ย 82 คะแนน ที่มาภาพประกอบ: ReadyElements (Creative Commons CC0)

ผู้จัดการออนไลน์ รายงานเมื่อวันที่ 6 ต.ค. 2562 ว่าสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) จัดการประชุมเสวนาทางวิชาการโครงการวิจัย “ปัจจัยปัญหาความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษของคนไทย : กลยุทธ์และนวัตกรรมในการแก้ปัญหา” ภายใต้ทุนวิจัยท้าทาย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เพื่อนำเสนอข้อมูลจากชุดโครงการวิจัยที่มุ่งเน้นการพัฒนาศักยภาพภาษาอังฤษของคนไทยให้ตอบโจทย์การเรียนรู้ในทุกๆด้าน โดย นพ.จรัส สุวรรณเวลา ประธานกรรมการคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา องค์ปาถก กล่าวถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาการเรียนรู้ภาษาอังกฤษของประเทศไทยว่า ในรายงานประจำปี 2561 ของสำนักงานจัดอันดับทักษะการใช้ภาษาอังกฤษหรือ Education First (EF) ที่มีสำนักงานใหญ่ในสวิตเซอร์แลนด์ ระบุว่าไทยอยู่ในอันดับ 64 จาก 88 ประเทศทั่วโลก ที่ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลักและได้คะแนนเพียง 48.54 จาก 100 คะแนน

ผลการสอบโอเน็ตวิชาภาษาอังกฤษของนักเรียนไทยทั่วประเทศชั้น ป.6 ม.3 ม.6 ต่ำกว่าวิชาอื่นๆในรอบ 6 ปีที่ผ่านมา โดยได้คะแนน 20 – 35 คะแนน จากคะแนนเต็ม 100 คะแนน นอกจากนี้ผลการสอบโทเฟล หรือ TOEFL ของคนไทยเฉลี่ยอยู่ที่ 78 จากคะแนนเต็ม 120 คะแนน ซึ่งต่ำกว่าคะแนนเฉลี่ยที่ 82 คะแนน ในขณะที่ประเทศอื่นในเอเชียได้คะแนนสูงกว่า อาทิ อินเดีย 94 คะแนน มาเลเซีย 91 คะแนน ฟิลิปปินส์ 89 คะแนน ฮ่องกง 88 คะแนน อินโดนีเซีย 85 คะแนน เกาหลีใต้ 83 คะแนน เมียนมาร์ 81 คะแนน และจีน 79 คะแนน เป็นต้น

สำหรับยุทธศาสตร์การปฏิรูปการศึกษาภาษาอังกฤษของประเทศไทย มี 5 ยุทธศาสตร์ คือ 1. ปรับหลักคิดในการเรียนรู้ภาษาอังกฤษ กล่าวคือต้องเรียนเพื่อการนำไปใช้เป็น “เครื่องมือ” ในการสื่อสารและการเรียนรู้ มากกว่าการเรียนที่เน้นความถูกต้องในเชิงไวยากรณ์ ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าการเรียนที่ผ่านมาเป็นไปในลักษณะการท่องจำและไวยากรณ์ 2. การออกแบบกรอบมาตรฐานการเรียนรู้ภาษาอังกฤษให้เหมาะสมตามช่วงวัย 3. การพัฒนาคนหรือบุลคากรด้านการสอนภาษาอังกฤษ 4.การสร้างแพลตฟอร์มการเรียนรู้แบบดิจิทัล และ 5. การดีไซน์แบบทดสอบเพื่อวัดความสามารถภาษาอังกฤษ หรือ English Proficiency Tests เมื่อศึกษาต่อในระดับต่างๆ เพื่อให้กฎเกณฑ์ดังกล่าวเป็นตัวกระตุ้นความสามารถด้านการใช้ภาษาต่างประเทศของคนไทย จะเห็นได้ว่าแม้ปัจจุบันจะมีการดำเนินการพัฒนาและแก้ไขปัญหามาอย่างต่อเนื่อง แต่ผลสัมฤทธิ์ในศักยภาพดังกล่าวก็ยังไม่ดีขึ้นเท่าที่ควร และยังคงเป็นปัญหาด้านการศึกษาของประเทศ ที่ลดทอนความสามารถในการแข่งขันของไทย

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: