ผู้สูงอายุ ‘พลัดตก-หกล้ม’ เข้ารักษาฉุกเฉิน 140 คน/วัน เสียชีวิต 3 คน/วัน

ทีมข่าว TCIJ: 8 ธ.ค. 2562 | อ่านแล้ว 14761 ครั้ง

สถิติระบุผู้สูงอายุ ‘พลัดตก-หกล้ม' ต้องเข้ารับบริการทางแพทย์ฉุกเฉินเฉลี่ย 140 ครั้ง/วัน เสียชีวิตเฉลี่ย 3 คน/วัน พบรอบ 3 ปี รับบริการทางแพทย์ฉุกเฉินถึง 141,895 ราย แม้ลักษณะบ้านที่ปลอดภัยสำหรับผู้สูงอายุควรเป็น ‘บ้านชั้นเดียว’ แต่ผู้สูงอายุกลับอยู่ 'บ้านหรือตึกสองชั้นขึ้นไป' มากที่สุดที่ 44% ต้องใช้บันไดขึ้นลงทุกวัน 48.8% ต้องเดินบนพื้นที่ลื่น 31.7% มีผู้สูงอายุเพียง 24.6% เท่านั้นระบุว่าอยู่บ้านที่ดัดแปลงให้เหมาะสมกับตนเอง นอกจากนี้ผู้สูงอายุไทยส่วนใหญ่ยังรู้สึกว่า ‘ยังสามารถดูแลตนเองได้-ไม่ต้องการผู้ดูแล’ | ที่มาภาพประกอบ: Safety Aid

ปัจจุบันประเทศไทยมีประชากรผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปประมาณ 11 ล้านคน (ร้อยละ 16.5) ซึ่งใกล้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแบบสมบูรณ์ (ร้อยละ 20) ในปี 2564 ข้อมูลจากกรมควบคุมโรคพบว่าการ ‘พลัดตก หกล้ม’ เป็นปัญหาสำคัญที่พบบ่อย และเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 2 ในกลุ่มการบาดเจ็บโดยไม่ได้ตั้งใจ ซึ่งในแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากการพลัดตกหกล้มในทุกกลุ่มอายุปีเกือบ 2,000 คน/ปี โดยครึ่งหนึ่งเป็นกลุ่มผู้สูงอายุ หรือเฉลี่ยแล้วผู้สูงอายุเสียชีวิตจากเหตุนี้ถึง 3 คน/วัน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี

มีการศึกษาพบว่า 1 ใน 3 ของกลุ่มผู้สูงอายุจะมีการหกล้มทุกปี และร้อยละ 20 ของผู้สูงอายุที่พลัดตกหกล้มจะได้รับบาดเจ็บ โดยในปี 2556-2559 จำนวนผู้สูงอายุที่บาดเจ็บและขอใช้บริการระบบการแพทย์ฉุกเฉินมีจำนวนเฉลี่ย 140 ครั้ง/วัน หรือ 50,000 ครั้ง/ปี ซึ่งการพลัดตกหกล้มยังส่งผลให้เกิดการบาดเจ็บ พิการเป็นผู้ป่วยติดเตียงและรุนแรงจนเสียชีวิตได้ สาเหตุของการพลัดตกหกล้มส่วนใหญ่มาจากการลื่น สะดุด หรือก้าวพลาดบนพื้นระดับเดียวกันมากถึงร้อยละ 62 และร้อยละ 6 เกิดจากการตกหรือล้มจากบันไดและขั้นบันได รวมถึงความเสี่ยงที่ผู้สูงอายุเกือบครึ่งหนึ่งยังต้องเดินขึ้นลงบันได และเดินบนพื้นบ้านที่ลื่น [1]

ส่วนข้อมูลจาก รายงานการสำรวจสุขภาพประชากรไทยโดยการตรวจร่างกายครั้งที่ 5 พ.ศ. 2557 พบความชุกการหกล้มภายระยะเวลา 6 เดือน ในผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปมีร้อยละ 16.9 (ผู้ชายร้อยละ 13.2 และผู้หญิงร้อยละ 19.9) เมื่อจำแนกตามกลุ่มอายุ (60-69, 70-79, และ 80 ปีขึ้นไป) พบความชุกของการหกล้มเพิ่มขึ้นเล็กน้อยตามอายุที่เพิ่มขึ้น สถานที่หกล้มส่วนใหญ่ล้มนอกบ้าน (ร้อยละ 64.6) การล้มในบ้านมีร้อยละ 31.2 ผู้สูงอายุอาศัยในและนอกเขตเทศบาลมีความชุกของการหกล้มใกล้เคียงกัน ในกรุงเทพฯ มีความชุกของการหกล้มน้อยกว่าภูมิภาค สาเหตุของการหกล้มบ่อยที่สุดคือ พื้นลื่น ร้อยละ 37.1 รองลงมาคือ สะดุดวัตถุสิ่งของ ร้อยละ 35.7 [2]

รอบ 3 ปี 2559-2562 (ณ 2 ไตรมาส) เข้ารับบริการระบบการแพทย์ฉุกเฉิน 141,895 ราย

เมื่อปลายเดือน พ.ค. 2562 สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ได้เผยแพร่ข้อมูลสถิติระบุว่าในรอบ 3 ปีกว่า นับตั้งแต่ปี 2559-2562 (ณ 2 ไตรมาส) มีจำนวนผู้สูงอายุที่บาดเจ็บด้วยสาเหตุการพลัดตกหกล้มมาด้วยระบบการแพทย์ฉุกเฉิน ทั้งหมด 141,895 ราย หรือเพิ่มมากขึ้น คิดเป็นร้อยละ 29.5 จากปี 2559 โดยกลุ่มที่เข้ารับบริการทางในระบบการแพทย์ฉุกเฉินมากที่สุด คือ กลุ่มที่มีอายุ 60-64 รองลงมา คือ กลุ่มอายุ 65-69 ปี และ กลุ่มอายุ 70-74 ปี ตามลำดับ และส่วนใหญ่ เป็นเพศชายมากกว่า เพศหญิง แต่เมื่ออายุมากขึ้น ตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป จะพบว่าเป็นผู้หญิงมากกว่าผู้ชายโดยเฉพาะในปี 2562 มีจำนวนผู้สูงอายุที่บาดเจ็บด้วยสาเหตุพลัดตกหกล้มมาด้วยระบบการแพทย์ฉุกเฉิน ทั้งหมด 24,364 ราย เป็นเพศชาย 10,745 ราย และเพศหญิง 10,981 ราย ส่วน 5 จังหวัดที่มีสถิติสูงสุด คือ ขอนแก่น, นครราชสีมา, เชียงใหม่, อุบลราชธานี และร้อยเอ็ด

ข้อมูลจาก สพฉ. ยังระบุว่าการบาดเจ็บที่พบบ่อยในผู้สูงอายุที่พลัดตกหกล้มส่วนมากคือ กระดูกสะโพกหักหรือแตก ศีรษะได้รับความกระทบกระเทือน ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้พิการและมีอัตราการเสียชีวิตค่อนข้างสูง เนื่องจากผู้สูงอายุมักมีภาวะกระดูกบางหรือกระดูกพรุน เมื่อหกล้มกระดูกจึงเกิดการแตกหรือหักได้ง่าย นอกจากนี้ยังอาจมีอาการบาดเจ็บร่วมกันในหลายอวัยวะ ประกอบกับผู้สูงวัย มักมีโรคประจำตัว เช่น ความดัน เบาหวาน โรคหัวใจ และโรคหลอดเลือดสมอง จึงยิ่งทำให้มีความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้น

ซึ่งสาเหตุสำคัญของการพลัดตกหกล้ม คือ ตัวผู้สูงอายุเองมีความเสื่อมและการถดถอยของร่างกาย ทำให้การทำงานของอวัยวะต่างๆ ลดลง เช่น การมองเห็นไม่ชัด การทรงตัวไม่ดี แขนขาอ่อนแรง หรืออาจเกิดจาก สิ่งแวดล้อมไม่เหมาะสม เช่น พื้นและบันไดลื่น พื้นต่างระดับ แสงสว่างไม่เพียงพอ เป็นต้น [3]

แม้ผู้สูงอายุจะอยู่กับครอบครัวมากที่สุด แต่แนวโน้ม ‘อยู่คนเดียว’ และ ‘อยู่กับคู่สมรสเท่านั้น’ สูงขึ้น

 

ข้อมูลจาก รายงานการสำรวจสุขภาพประชากรไทยโดยการตรวจร่างกายครั้งที่ 5 พ.ศ. 2557 ที่ได้ทำการสำรวจประชากรไทยอายุ 60 ปีขึ้นไป จำนวน 8,640 คน โดยการเก็บข้อมูลภาคสนามระหว่างเดือน ต.ค. 2556-ก.พ. 2558 ในประเด็นประเภทของการอยู่อาศัยของผู้สูงอายุ มีความสำคัญมากต่อสภาวะความเป็นอยู่ที่ดี ได้แบ่งลักษณะเป็น อยู่คนเดียวอยู่กับคู่สมรสเท่านั้น อยู่กับบุตร อยู่กับครอบครัว 3 รุ่น คือ ปู่ย่า–พ่อแม่–ลูก–หลาน และผู้สูงอายุที่ไม่มีบ้านหรือต้องอยู่บ้านสงเคราะห์นโยบายผู้สูงอายุของประเทศไทย เน้นการที่ผู้สูงอายุอยู่กับครอบครัว 3 รุ่นเป็นหลักประกัน ที่จะมีผู้ดูแลเมื่อจำเป็น ผู้สูงอายุสามารถรับภาระในครอบครัวตามอัตภาพ เช่น เลี้ยงดู อบรมลูกหลาน และมีความสัมพันธ์ที่ดีกับสมาชิกของครอบครัว ซึ่งการสำรวจนี้ผู้สูงอายุไทยที่อยู่ในครอบครัว 3 รุ่นมีร้อยละ 29.6 ในผู้ชาย และร้อยละ 32.5 ในผู้หญิง เมื่อรวมกับกลุ่มที่อยู่กับบุตรคิดเป็นร้อยละ 63.8 กับร้อยละ 68.7 ของผู้สูงอายุชายและหญิงตามลำดับ

ส่วนสถานการณ์ที่จัดว่าเป็นความเสี่ยงทางสังคมต่อผู้สูงอายุคือ การที่ต้องอยู่คนเดียวและอยู่กับคู่สมรสเท่านั้น ในการสำรวจครั้งนี้ได้พบว่า โดยรวมมีผู้สูงอายุที่ต้องอยู่คนเดียวร้อยละ 7.9 (ชายร้อยละ 5.3 และหญิงร้อยละ 10.0)น่าสังเกตว่าผู้สูงอายุหญิงที่อยู่คนเดียวมากกว่าผู้ชาย ซึ่งข้อมูลนี้สะท้อนถึงความต้องการผู้ดูแล ซึ่งจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นด้วย โดยในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา พบสัดส่วนของผู้สูงอายุที่อยู่คนเดียว และอยู่กับคู่สมรสเท่านั้น มีแนวโน้มสูงขึ้นตามลำดับ ข้อมูลจากสำมะโนประชากร ตั้งแต่ปี 2513 กลุ่มที่อยู่คนเดียวมีร้อยละ 4.0 ส่วนอยู่กับคู่สมรสเท่านั้นมีร้อยละ 5.0 สองกลุ่มนี้มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นตามลำดับ จนกระทั้งการสำรวจครั้งนี้พบว่ามีร้อยละ 7.9 และ 17.6 ตามลำดับ แนวโน้มที่เพิ่มขึ้นนี้ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงของค่านิยมที่บุตรหลานแยกครอบครัวไปอยู่ต่างหากตามแนวโน้มของการมีครอบครัวเดี่ยวมากขึ้น ปรากฏการณ์นี้แสดงถึงความเสี่ยงต่อการขาดผู้ดูแลผู้สูงอายุเมื่อจำเป็นโดยเฉพาะจากลูกหลานที่อยู่ห่างกัน

พบความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุ สิ่งแวดล้อมของบ้านไม่เอื้อต่อผู้สูงอายุ

มีผู้สูงอายุไทยเพียง 24.6% เท่านั้นที่ระบุว่าบ้านที่พักได้มีการดัดแปลงให้เหมาะสมสำหรับการอยู่อาศัยของพวกตน | ที่มาภาพประกอบ: accessabilities.ca

จากการสำรวจสุขภาพประชากรไทยโดยการตรวจร่างกายครั้งที่ 5 นี้ยังพบว่าส่วนใหญ่แล้วผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป อาศัยอยู่ในบ้านที่มีลักษณะ 'บ้านหรือตึกสองชั้นขึ้นไป' ร้อยละ 44 ตามมาด้วย 'บ้านชั้นเดียว ไม่ยกพื้น' ร้อยละ 26.3 ส่วน 'บ้านชั้นเดียว ยกพื้นสูง' ร้อยละ 25 และอื่นๆ อีกร้อยละ 4.8 (อ่านเพิ่มเติม - จับตา: ผู้สูงอายุไทย อยู่อาศัย 'บ้าน' ลักษณะไหนมากที่สุด)

ในด้าน การดัดแปลงโครงสร้างของบ้านให้เหมาะกับสภาพร่างกายและวัยของผู้อยู่อาศัย นั้น จากการสัมภาษณ์ว่า “บ้านที่พักได้มีการดัดแปลงให้เหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุใช่หรือไม่” โดยรวมมีเพียงร้อยละ 24.6 เท่านั้นที่ตอบว่าใช่ เมื่อพิจารณาถึงความแตกต่างระหว่างเพศและอายุพบว่า ในกลุ่มอายุ 80 ปีขึ้นไป ทั้งชายและหญิง มีการดัดแปลงบ้านร้อยละ 27.6 ซึ่งเป็นสัดส่วนที่สูงกว่ากลุ่มอายุ 70-79 ปีและ 60-69 ปี เล็กน้อย

เมื่อจำแนกตามรายภาคพบว่า ภาคใต้ที่มีสัดส่วนการดัดแปลงสูงสุด ร้อยละ 37.1 ส่วนภาคอื่นๆ มีสัดส่วนของการดัดแปลงโครงสร้างของบ้านใกล้เคียงกัน และค่อนข้างต่ำในภาคเหนือ (ร้อยละ 18.9) พิจารณาตามเขตการปกครอง ไม่มีความแตกต่างระหว่างในเขตและนอกเขตเทศบาล (ร้อยละ 24.3 กับร้อยละ 24.8)

บันไดและพื้นบ้านที่ลื่น แม้จะมีข้อแนะนำสำหรับผู้สูงอายุให้ละเว้นการขึ้นลงบันได โดยให้ห้องนอนมาอยู่ชั้นล่าง รวมถึงการปรับพื้นบ้านใช้วัสดุที่ไม่ลื่นทั้งนี้เพื่อลดความเสี่ยงต่อการหกล้มที่อาจนำไปสู่การเจ็บป่วยสาหัสหรือทุพพลภาพ และอาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะผู้สูงอายุวัยปลายอายุ 80 ปีขึ้นไป แต่จากการสัมภาษณ์ได้พบว่า มีผู้สูงอายุที่ต้องใช้บันไดในการขึ้นลงทุกวัน และต้องเดินบนพื้นบ้านที่ลื่น โดยรวมมีถึงร้อยละ 48.8 และร้อยละ 31.7 ตามลำดับ

ราวเกาะยึด เมื่อถามเกี่ยวกับการติดตั้งราวเกาะยึดขึ้นลงบันได ราวเกาะในห้องนอน และราวเกาะในห้องน้ำ/ห้องส้วม พบว่าร้อยละ 59.2 ตอบว่ามีราวบันได สำหรับราวเกาะในห้องน้ำ/ห้องส้วม มีร้อยละ 15.2 ส่วนราวเกาะในห้องนอนพบน้อยที่สุดมีเพียง ร้อยละ 5.8

ห้องนอนและเตียง ตามที่ได้มีคำแนะนำว่าผู้สูงอายุควรอาศัยอยู่ชั้นล่าง ถ้าใช้เตียงนอนก็ควรสูงพอเหมาะกับที่จะลุกจากเตียงได้โดยสะดวกนั้นในการสำรวจครั้งนี้พบว่า ผู้สูงอายุประมาณร้อยละ 55.9-68.3 มีห้องนอนอยู่ชั้นล่างของบ้านและนอนบนเตียง กลุ่มที่นอนที่พื้นห้องมีสัดส่วนใกล้เคียงกัน ประมาณร้อยละ 33.5-43.5 ไม่พบความแตกต่างระหว่างอายุ เพศ และภาค

ส้วม โดยทั่วไปส้วมในบ้านแบ่งเป็น 2 ชนิด คือ ส้วมนั่งห้อยขา กับแบบนั่งยองๆ ซึ่งชนิดที่สองนี้พบในต่างจังหวัดมากกว่าในเมืองมีข้อด้อยสำหรับผู้สูงวัยที่อายุมากในการนั่งและลุกขึ้นลำบาก และเสี่ยงต่อการหกล้มด้วย ดังนั้นถ้ามีความสะอาดพอกันส้วมนั่งห้อยขาน่าจะปลอดภัยกว่าสำหรับผู้สูงอายุ ผลจากการสำรวจพบว่า ร้อยละของการใช้ส้วมแบบนั่งห้อยขากับนั่งยองๆ คิดเป็นร้อยละ 44.8 และ 54.1 ตามลำดับและมีความแตกต่างกันบ้างเล็กน้อยตามอายุ เพศ และภาค ยกเว้นในกรุงเทพฯ ที่ใช้ส้วมนั่งห้อยขาถึงร้อยละ 84.8 [4]

สิ่งแวดล้อมภายในบ้านที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุ

ตัวอย่างห้องน้ำสำหรับผู้สูงอายุ ควรเป็นประตูแบบเปิดออกหรือบานเลื่อน โถส้วมเป็นแบบนั่งราบหรือนั่งห้อยขา มีที่นั่งสำหรับอาบน้ำสูงจากพื้น 40-45 เซนติเมตร มีราวจับ | ที่มาภาพประกอบ: forfur.com

ข้อมูลจาก สพฉ. ระบุถึงการป้องกันอุบัติเหตุที่จะเกิดกับผู้สูงอายุ คือการปรับปรุงสิ่งแวดล้อมภายในบ้านให้เหมาะสม บ้านควรเป็นบ้านชั้นเดียว กรณีบ้าน 2 ชั้น ควรจัดให้ผู้สูงอายุอยู่ชั้นล่าง มีราวจับหรือราวพยุง มีแสงสว่างเพียงพอ พื้นเรียบเสมอกัน ไม่ลื่น ไม่ควรมีธรณีประตู และการจัดวางสิ่งของในบ้านต้องเป็นระเบียบ ง่ายต่อการหยิบใช้, ห้องน้ำควรเป็นประตูแบบเปิดออกหรือบานเลื่อน โถส้วมเป็นแบบนั่งราบหรือนั่งห้อยขา มีที่นั่งสำหรับอาบน้ำสูงจากพื้น 40-45 เซนติเมตร, ห้องนอน ควรอยู่ใกล้ห้องน้า เตียงหรือที่นอนมีความยาวไม่น้อยกว่า 180 เซนติเมตร ความสูงจากพื้นถึงระดับข้อพับเข่า เพื่อให้ลุกได้สะดวก และมีพื้นที่ว่างรอบเตียงอย่างน้อย 90 เซนติเมตร และสุดท้ายคือการป้องกันในระดับตติยภูมิ คือ การป้องกันการหกล้มซ้ำ ต้องหมั่นให้ความรู้อย่างต่อเนื่องเพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น [5]

 

ผู้สูงอายุไทยยังรู้สึกว่า ‘ยังสามารถดูแลตนเองได้-ไม่ต้องการผู้ดูแล’

จากการสำรวจสุขภาพประชากรไทยโดยการตรวจร่างกายครั้งที่ 5 พ.ศ. 2557 พบว่าผู้สูงอายุไทยส่วนใหญ่มีความรู้สึกว่ายังสามารถดูแลตนเองได้และไม่ต้องการผู้ดูแล | ที่มาภาพประกอบ: Ronn aka "Blue" Aldaman (CC BY-NC-ND 2.0)

ข้อมูลจากการสำรวจสุขภาพประชากรไทยโดยการตรวจร่างกายครั้งที่ 5 ยังระบุถึงประเด็นการดูแลตนเองหรือความต้องการผู้ดูแลของผู้สูงอายุ ในประเด็นนี้ผู้สูงอายุตอบสัมภาษณ์ตามความรู้สึกของตัวเองว่าจำเป็นต้องมีคนดูแลปรนนิบัติในงานกิจวัตรประจำวันหรือไม่ คำตอบคือ ผู้ที่อยู่ในกลุ่มอายุ 60-69 ปี ร้อยละ 94.0 บอกว่าสามารถดูแลตนเองได้ สัดส่วนนี้ลดลงตามอายุที่มากขึ้น ในวัย 80 ปีขึ้นไป เหลือร้อยละ 76.2 ในผู้ชาย และร้อยละ 58.4 ในผู้หญิง ส่วนที่บอกว่าต้องการผู้ดูแลในบางกิจกรรมมีสัดส่วนสูงขึ้นตามอายุ (ร้อยละ 4.9-33.0) ส่วนที่ต้องพึ่งผู้ดูแลทั้งหมดมีร้อยละ 1.2-1.7

ผลการสำรวจพบว่าผู้สูงอายุชายร้อยละ 90.9 และผู้หญิงร้อยละ 84.6 ระบุว่าไม่ต้องการผู้ดูแล สัดส่วนที่ระบุว่าต้องการและมีผู้ดูแลมีร้อยละ 7.4 และ 13.4 ในผู้ชายและผู้หญิงตามลำดับ กลุ่มที่ต้องการแต่ไม่มีผู้ดูแล มีร้อยละ 1.7-2.1 เมื่อจำแนกตามอายุและเพศ ทั้งสามกลุ่มอายุมีแผนแบบคล้ายกัน โดยกลุ่มอายุ 60-69 ปี ที่ไม่ต้องการผู้ดูแล มีสูงถึงร้อยละ 94.6 และ 93.4 ในชายและหญิง อธิบายได้ว่ากลุ่มนี้ยังแข็งแรงและช่วยตัวเองได้ สัดส่วนนี้ลดลงตามอายุที่มากขึ้น ในกลุ่มอายุ 80 ปีขึ้นไปนั้นลดลงเป็นร้อยละ 76.2 ในผู้ชาย และร้อยละ 58.6 ในผู้หญิงเมื่อพิจารณาถึงกลุ่มที่ต้องการผู้ดูแลและมีผู้ดูแลตามกลุ่มอายุพบว่ากลุ่มอายุ 80 ปีขึ้นไป สัดส่วนในผู้ชายต่ำกว่าผู้หญิงพบร้อยละ 22.5 และ 38.8 ตามลำดับ สัดส่วนของผู้สูงอายุที่ต้องการผู้ดูแลแต่ไม่มีพบเพียงร้อยละ 1.7-2.1 ในทุกกลุ่มอายุและเพิ่มเป็นร้อยละ 2.8 ในผู้หญิงอายุ 70 ปีขึ้นไป การกระจายตามรายภาค มีความแตกต่างกันไม่มากนัก คือส่วนใหญ่ไม่ต้องการผู้ดูแล ซึ่งสูงสุดในกรุงเทพฯ ร้อยละ 95.4 ต่ำสุดสุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 84.0 ส่วนที่ต้องการผู้ดูแลแต่ไม่มีผู้ดูแล พบประมาณร้อยละ 1.5-2.8

ส่วนในประเด็น ‘ใครเป็นผู้ดูแลผู้สูงอายุ’ ในกลุ่มของผู้ที่ตอบว่ามีผู้ดูแลในชีวิตประจำวัน ซึ่งอาจมีมากกว่าหนี่งคน คนที่ใช้เวลาดูแลมากที่สุดพบว่า คือบุตรสาวมีสัดส่วนสูงสุด ร้อยละ 45.1 รองลงมาคือ คู่สมรส (ร้อยละ 28.1) บุตรชาย (ร้อยละ 18.4) และหลาน (ร้อยละ 6.2) สรุปได้ว่าเป็นผู้ดูแลในระบบครอบครัว และดูเหมือนว่าผู้ดูแลอื่นจากระบบบริการ เช่น ผู้ช่วยพยาบาลหรือผู้ดูแลรับจ้างยังไม่มีบทบาทมาก [6]

ข้อมูลอ้างอิง
[1] กรมควบคุมโรค รณรงค์ป้องกันการพลัดตกหกล้มในผู้สูงอายุ เตรียมพร้อมการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มตัว ระบุ เป็นสาเหตุการตายอันดับสองในกลุ่มการบาดเจ็บโดยไม่ได้ตั้งใจ (สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์, 2 มิ.ย. 2561)
[2] รายงานการสำรวจสุขภาพประชากรไทยโดยการตรวจร่างกายครั้งที่ 5 พ.ศ. 2557 (สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข, 2557)
[3] สพฉ.เปิดสถิติการพลัดตกหกล้มในผู้สูงอายุ พบในรอบ 3 ปี มีผู้สูงอายุเข้ารับบริการในระบบการแพทย์ฉุกเฉิน 141,895 ราย พร้อมแนะนำวิธีปฐมพยาบาล ย้ำต้องหมั่นดูแลสุขภาพ และปรับสิ่งแวดล้อมในบ้านให้เหมาะสมเพื่อลดความเสี่ยง [สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (อ้างใน Thai PR), 21 พ.ค. 2562]
[4] รายงานการสำรวจสุขภาพประชากรไทยโดยการตรวจร่างกายครั้งที่ 5 พ.ศ. 2557 (สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข, 2557)
[5] สพฉ.เปิดสถิติการพลัดตกหกล้มในผู้สูงอายุ พบในรอบ 3 ปี มีผู้สูงอายุเข้ารับบริการในระบบการแพทย์ฉุกเฉิน 141,895 ราย พร้อมแนะนำวิธีปฐมพยาบาล ย้ำต้องหมั่นดูแลสุขภาพ และปรับสิ่งแวดล้อมในบ้านให้เหมาะสมเพื่อลดความเสี่ยง [สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (อ้างใน Thai PR), 21 พ.ค. 2562]
[6] รายงานการสำรวจสุขภาพประชากรไทยโดยการตรวจร่างกายครั้งที่ 5 พ.ศ. 2557 (สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข, 2557)

เรื่องที่เกี่ยวข้อง
จับตา: ผู้สูงอายุไทย อยู่อาศัย 'บ้าน' ลักษณะไหนมากที่สุด

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: