แอมเนสตี้ถามถึงชะตากรรมของคนไทยสามคนที่ถูกเวียดนามส่งตัวกลับ

กองบรรณาธิการ TCIJ 11 พ.ค. 2562 | อ่านแล้ว 2043 ครั้ง

แอมเนสตี้ถามถึงชะตากรรมของคนไทยสามคนที่ถูกเวียดนามส่งตัวกลับ

สำนักงานเลขาธิการใหญ่ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ณ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักรถามถึงความปลอดภัยและชะตากรรมของคนไทยสามคน หลังมีรายงานข่าวที่ระบุว่าทางการเวียดนามอาจส่งตัวทั้งสามคน ได้แก่ ชูชีพ ชีวะสุทธิ์ สยาม ธีรวุฒิ และกฤษณะ ทัพไทย กลับสู่ประเทศไทย

เมื่อวันที่ 10 พ.ค. 2562 มินาร์ พิมเพิล ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายปฏิบัติการระดับโลกของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเผยว่า เราขอเรียกร้องให้ทางการไทยชี้แจ้งว่า มีการควบคุมตัวบุคคลทั้งสามในค่ายทหารหรือสถานีตำรวจหรือไม่ และค้นหาว่าพวกเขาอยู่ที่ใด หากพวกเขาอยู่ใต้การควบคุมตัวของรัฐ ทางการต้องประกันว่า ทั้งสามคนถูกควบคุมตัวในสถานที่ควบคุมตัวอย่างเป็นทางการ และได้รับอนุญาตให้เข้าถึงทนายความที่เป็นอิสระ แพทย์ และญาติของตนได้ทันที

“หากทางการไทยมีการแจ้งข้อหาอาญาแก่บุคคลทั้งสาม จะต้องเป็นความผิดที่ชัดเจนตามกฎหมายและสอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศ หรือไม่เช่นนั้นให้ปล่อยตัวพวกเขา และต้องไม่ลงโทษพวกเขาเพียงเพราะการใช้สิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออก”

ข้อมูลพื้นฐาน

ชูชีพ ชีวะสุทธิ์ เป็นดีเจรายการวิทยุและนักเคลื่อนไหวทางการเมือง ซึ่งมักแสดงความเห็นทางการเมืองเกี่ยวกับประเทศไทยระหว่างการลี้ภัย รายงานไม่ได้ระบุว่าทางการเวียดนามส่งตัวพวกเขาให้กับทางการไทยโดยส่งตัวกลับอย่างเป็นทางการหรือส่งตัวบุคคลเป็นผู้ร้ายข้ามแดน

ชูชีพถูกดำเนินคดีข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ หรือความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มาเป็นเวลานาน เชื่อว่าทั้งสยาม ธีรวุฒิ และกฤษณะ ทัพไทย ต่างถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 เช่นกัน ในเดือนกันยายน 2561 รองนายกรัฐมนตรีประวิตร วงษ์สุวรรณแจ้งกับสื่อมวลชนว่า ชูชีพเป็นหัวหน้าขบวนการแบ่งแยกดินแดน ในเวลาเดียวกันทางการไทยได้จับกุมบุคคลซึ่งสวมเสื้อยืดที่เกี่ยวข้องกับ “สหพันธรัฐไท” หลายคน ซึ่งเป็นขบวนการที่ถูกกล่าวหาว่ามีชูชีพเป็นหัวหน้า รวมทั้งการจับกุมญาติของชูชีพซึ่งอาศัยอยู่ในประเทศไทย ทั้งนี้ ทางการไทยได้ร้องขอต่อประเทศเพื่อนบ้านมาอย่างยาวนานให้ส่งบุคคลที่ถูกแจ้งข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 รวมทั้งชูชีพ ชีวะสุทธิ์ เป็นผู้ร้ายข้ามแดน

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกังวลอย่างยิ่งกับความปลอดภัยของคนไทยซึ่งลี้ภัยในต่างแดน ซึ่งที่ผ่านมาทางการไทยพยายามร้องขอให้ส่งตัวเป็นผู้ร้ายข้ามแดนมาตลอด ก่อนหน้านี้มีบุคคลไม่ทราบชื่อลักพาตัวนักเคลื่อนไหวฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลไทยที่ลี้ภัยอยู่ในลาว รวมทั้งผู้จัดรายการวิทยุที่อยู่ระหว่างการลี้ภัย และผู้ที่ถูกดำเนินคดีข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพหรือข้อหาเกี่ยวกับอาวุธสงคราม ซึ่งปรากฏในเวลาต่อมาว่าบุคคลเหล่านี้กลายเป็นผู้สูญหายหรือถูกสังหาร รวมถึงบุคคลที่ทางการไทยร้องขอให้ส่งตัวมาแล้วหลายครั้ง โดยอ้างว่ารายการที่พวกเขาจัดและเผยแพร่จากลาวมายังประเทศไทย เป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงแห่งชาติ

 

ก่อนหน้านี้นักข่าวเวียดนามที่มาขอลี้ภัย ได้หายตัวไปในไทย

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 25 มี.ค. 2562 สำนักเลขาธิการใหญ่ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ณ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร แถลงอีกครั้งโดยเรียกร้องทางการเวียดนามและไทยชี้แจงการหายตัวไปของนักข่าวเวียดนามในไทยอย่างตรงไปตรงมา หลังมีกระแสข่าวว่านายเจือง ซุย เญิ๊ต (Truong Duy Nhat) หนึ่งในผู้ร่วมจัดรายการของสำนักข่าวเรดิโอ ฟรี เอเชีย (Radio Free Asia) ที่หายตัวไปตั้งแต่วันที่ 26 มกราคมที่ผ่านมา หลังจากเขาเดินทางมายื่นคำขอที่ลี้ภัยกับสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UN High Commissioner for Refugees - UNHCR) ที่กรุงเทพ ถูกควบคุมตัวอยู่ในเวียดนามในขณะนี้

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล แถลงว่าจากรายงานที่น่าเชื่อได้ระบุว่าในขณะนี้ นายเจือง ซุย เญิ๊ต ผู้สื่อข่าวอิสระ และอดีตนักโทษทางความคิดถูกควบคุมตัวอยู่ในเวียดนาม ทำให้เกิดคำถามที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยและเงื่อนไขที่นำไปสู่การหายตัวไปของเขาในประเทศไทยเมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา

โจแอน มารีเนอร์ ที่ปรึกษาอาวุโสในประเด็นวิกฤต ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเผยว่า เป็นเวลาเกือบสองเดือนแล้วที่นายเจืองหายตัวไปจากห้างสรรพสินค้าที่แถวรังสิต ไม่นานหลังจากที่เขายื่นเรื่องเพื่อขอลี้ภัยกับสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UN High Commissioner for Refugees - UNHCR) ที่กรุงเทพ หลังจากถูกคุกคามอย่างหนักจากตำรวจเวียดนาม รายงานระบุว่า ปัจจุบันนายเจืองถูกควบคุมตัวอยู่ที่เรือนจำกรุงฮานอย และอยู่ในสภาพที่ค่อนข้างวิตกกังวลอย่างมาก ทางแอมเนสตี้จึงขอเรียกร้องไปยังทางการเวียดนามให้ทำการยืนยันว่าได้ควบคุมตัวเขาไว้จริงหรือไม่ และขอให้เปิดเผยที่อยู่ของเขาทันที

“ทางการเวียดนามและไทยต้องชี้แจงข้อเท็จจริงอย่างตรงไปตรงมาว่า เหตุใดนายเจืองจึงเดินทางกลับเวียดนามอย่างรวดเร็วหลังจากยื่นเรื่องขอลี้ภัยที่กรุงเทพฯ และเขากลับไปได้อย่างไร มีความเป็นไปได้อย่างมากว่า มีการส่งตัวเขาให้ทางการเวียดนามควบคุม ซึ่งมีความเสี่ยงอย่างมากว่าจะถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง”

“นายเจืองเป็นผู้สื่อข่าวและอดีตนักโทษทางความคิด ที่ผ่านมาเขาได้รับผลกระทบอย่างมากจากการแสดงความเห็นทางการเมืองอย่างสงบ ปัจจุบันหากเขาถูกควบคุมตัวอยู่ เขาควรมีสิทธิที่จะได้ติดต่อกับทนายความ และได้รับการพิจารณาคดีจากผู้พิพากษา หากทางการเวียดนามไม่สามารถแสดงเหตุผลที่ชอบธรรมเพื่อควบคุมตัวเขาได้ ก็ต้องปล่อยตัวเขาโดยทันที” โจแอนกล่าว

จากรายงานข่าวของหลายสื่อ รวมทั้งรายงานของสำนักข่าวเรดิโอ ฟรี เอเชีย (Radio Free Asia) ซึ่งนายเจืองมักเขียนรายงานข้อมูลเป็นประจำในเว็บบล็อกของเขา เมื่อเร็วๆ นี้เพื่อนและครอบครัวของนายเจืองสามารถได้ว่า ปัจจุบันเขาถูกควบคุมตัวในเรือนจำ T-16 ที่กรุงฮานอย แม้ว่าจะยังไม่สามารถเข้าเยี่ยมเขาได้ ตามรายงานรุบว่าเขาถูกควบคุมตัวในเรือนจำตั้งแต่วันที่ 28 มกราคมที่ผ่านมา ไม่นานหลังจากหายตัวไปจากกรุงเทพฯ

ข้อมูลที่น่าเชื่อถือระบุว่า นายเจืองถูกกลุ่มชายนิรนามจับตัวเอาไว้ที่ห้างฟิวเจอร์ปาร์ค รังสิต เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2562

นายเจือง ซุย เญิ๊ตหลบหนีจากเวียดนามช่วงต้นเดือนมกราคม 2562 เขาได้ยื่นเรื่องขอที่ลี้ภัยกับสำนักงานที่กรุงเทพฯ ของสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UN High Commissioner for Refugees - UNHCR) เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2562 หนึ่งวันก่อนจะหายตัวไป โดยในวันดังกล่าว เขาได้ส่งรูปถ่ายของตนเองที่หน้าประตูสำนักงาน UNHCR ไปให้ญาติดู เขายังติดต่อกับนายจ้างของเขาที่เรดิโอ ฟรี เอเชีย แต่หลังจากนั้นก็ไม่มีใครทราบข่าวคราวของเขาอีกเลย

นายเจือง ซุย เญิ๊ตเคยถูกคุมขังระหว่างปี 2556 ถึง 2558 ในข้อหา “โฆษณาชวนเชื่อเพื่อต่อต้านรัฐ” เนื่องจากการทำงานเป็นนักข่าวอิสระและผู้ให้ความเห็นในรายการวิทยุ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเห็นว่าเขาเป็นนักโทษทางความคิดที่ถูกควบคุมตัวเพียงเพราะใช้สิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออกอย่างสงบ หลังพ้นโทษ เขายังคงทำงานเป็นนักข่าวอิสระต่อไป ในเดือนธันวาคม 2561 เขาได้ข่าวว่าตัวเองมีความเสี่ยงว่าจะถูกจับกุมอีกครั้ง และเริ่มสังเกตเห็นการเพิ่มกำลังตำรวจใกล้บ้านพักของตนเอง

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: