เรื่องเล่าจากสนาม: กรณีศึกษาชมรมจักรยาน-ชมรมคนรักมอเตอร์ไซค์มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง

กนกวรรณ มีพรหม | พี่เลี้ยงติดตามโครงการอาสาสมัครลดอุบัติเหตุในชุมชน ภาคเหนือ | 5 พ.ย. 2562 | อ่านแล้ว 4096 ครั้ง


เรื่องเล่ามกึ่งบทความชิ้นนี้ เป็นประสบการณ์ของผู้เขียน ถึงโอกาสที่ได้เป็นพี่เลี้ยงติดตามการทำกิจกรรมของกลุ่มนักศึกษา ที่เข้าร่วมโครงการอาสาสมัครลดอุบัติเหตุในชุมชน ในพื้นที่ภาคเหนือ ซึ่งในปีแรก พ.ศ. 2562 ได้มีกลุ่ม/ชมรม ทั้งหมด 5 กลุ่ม ที่สามารถเริ่มต้นประสบการณ์ในประเด็นดังกล่าว จนกระทั่งจบโครงการ ได้แก่ ชมรมจักรยานและชมรมคนรักมอเตอร์ไซด์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง, ชมรมนิสิตปกาเกอะญอ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ วิทยาเขตเชียงใหม่, พรรคยุวธิปัตย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และชมรมนักศึกษาอาสาสมัครลดอุบัติเหตุ มหาวิทยาลัยราชภัฎอุตรดิตถ์

สำหรับในงานเขียนชิ้นนี้ ผู้เขียนได้แสดงรายละเอียดของกิจกรรมและเนื้อหาบ จากการติดตามกลุ่มนักศึกษา  2 กลุ่ม ที่ชื่นชอบในพาหนะที่แตกต่างกัน คือ กลุ่มนักศึกษาที่เกิดจากการรวมตัวกัน เพราะชื่นชอนในการปั่น “จักรยาน” ทั้งเพื่อการท่องเที่ยว ผ่อนคลาย จนไปถึงการแข่งขัน จนรวมตัวกันเป็นชมรมจักรยานมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง กับอีกหนึ่งกลุ่ม ได้แก่ ชมรมคนรักมอเตอร์ไซด์ ซึ่งสมาชิกเกือบทั้งหมดเป็นนักศึกษาชายล้วน ที่นิยมชมชอบพาหนะที่แสดงถึงความเร็วและแรงอย่าง “บิ๊กไบค์”  ซึ่งดูเหมือนพาหนะทั้งสองจะมีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง แต่สิ่งที่ผู้เขียนได้พบระหว่างการติดตามกิจกรรมของทั้งสองกลุ่ม ที่นอกจากจะเป็นนิสิตนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเดียวกันแล้ว (มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง) สิ่งที่สำคัญไปมากกว่านั้นคือ สมาชิกของทั้งสองกลุ่มต่างสนใจและตระหนักถึงการป้องกันอุบัติเหตุและความปลอดภัยบนท้องถนน ผ่านการค้นคว้าหาข้อมูลในการขับขี่อย่างปลอดภัยที่เกี่ยวกับกับพาหนะคู่ใจของแต่ละคน หรือแม้กระทั่งความสนใจและลงลึกถึงเครื่องมือและอุปกรณ์ที่จะทำให้ผู้ขับขี่ ทั้งเจ้าจักรยานสายสโลว์ไลฟ์กับบิ๊กไบค์ผู้บึกบึน ให้มีความปลอดภัยและลดทอนอุบัติเหตุหรืออันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นบนท้องถนนได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

MFUCC ชมรมจักรยานมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง

จักรยาน คงไม่มีใครที่ไม่รู้จักจักรยาน พาหนะ 2 ล้อไปจนถึงหลายล้อ ที่มีโครงเหล็กเชื่อมระหว่างล้อหน้ากับล้อหลัง ขับเคลื่อนไปข้างหน้าด้วยแรงปั่นของคน ซึ่งต่อมามีการพัฒนาใช้พลังงานกลเพิ่มขึ้นมาอีกด้วย โดยมีการแบ่งประเภทของจักรยาน ออกเป็น 3 ประเภท ซึ่งผู้เขียนขออธิบายอย่างคร่าวๆ หนึ่ง จักรยานทั่วไป ที่เรียกกันว่า จักรยานแม่บ้านหรือจักรยานจ่ายตลาด ราคาเป็นมิตรต่อการครอบครอง ใช้งานง่าย สอง จักรยานเสือหมอบ เหมาะกับนักปั่นที่ไว้แข่งขันกีฬา มีการติดตั้งเกียร์เสริม ตั้งแต่ 5 เกียร์ถึง 14 เกียร์ รูปทรงบางเบา ค่อนข้างมีราคาสูงออก และสาม จักรยานสำหรับคนชื่นชอบการออกกำลังกาย จากการปั่นเจ้าพาหนะสองล้อโดยเฉพาะ เป็นรูปแบบจักรยานแบบ Hybrid มีลักษณะของการใช้งานได้ทั่วไปและเพื่อแข่งขัน ถูกออกแบบให้เหมาะสมกับสภาพพื้นผิวที่หลากหลายรูปแบบ เช่น ทางเรียบ ลาด ทางชัน ขรุขระ เป็นต้น (จักรยานน่ารู้ทุกเรื่องของจักรยาน. 2555)

สำหรับชมรมจักรยาน มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (Mae Fah Luang University Cycling club) เกิดจากการรวมตัวกันของกลุ่มนักศึกษาที่ชื่นชอบในการปั่นจักรยานมารวมตัวกัน และได้เข้าร่วมกับโครงการอาสาสมัครลดอุบัติเหตุในชุมชน มูลนิธิโกมลคีมทองซึ่งร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ทำให้เกิดโครงการชุมชนสุขสันต์เส้นทางปลอดภัย โดยใช้กระบวนการสร้างเสริมความปลอดภัยในชุมชน (Safety community) โดยทางชมรมจักรยานฯ ได้เข้าไปทำกิจกรรมร่วมกับชุมชนโพธนาราม หมู่ 8 ตำบลสันทราย อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย ซึ่งอยู่ห่างจากมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง 20 กิโลเมตร และเป็นหมู่บ้านที่ได้รับการแนะนำจากอาจารย์ที่ปรึกษาของชมรม อีกทั้งสมาชิกชมรมมีความสนใจริเริ่มทำงานกับชุมชนที่นอกเหนือจากชุมชนภายในมหาวิทยาลัย จึงเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการ “ชุมชนสุขสันต์เส้นทางปลอดภัย”

กิจกรรมแรก ได้เริ่มต้นในเดือนมีนาคม 2562 กิจกรรมอบรมให้กับสมาชิกภายในหมู่บ้านในประเด็นการใช้รถใช้ถนนอย่างปลอดภัย ณ ห้องประชุมหมู่บ้านโพธนาราม เป็นการอบรม บรรยายจากเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจร สน.แม่จัน จังหวัดเชียงราย โดยเนื้อหาการบรรยาย อาทิ ความรู้เกี่ยวกับเครื่องหมายจราจร อัตราโทษปรับ เช่น โทรศัพท์ขณะขับรถ มีโทษปรับ 400 – 1,000 บาท รถจักรยานยนต์ดัดแปลง มีโทษปรับ ไม่เกิน 2,000 บาท มีการเปิดคลิปวิดีโอการเกิดอุบัติเหตุที่มีความเสี่ยงต่อชีวิตถึงขั้นสูญเสีย การปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจจราจรและข้อกำหนดของการขับขี่ยานพาหนะ เช่น กรณีที่เป็นเด็กเล็ก นั่งโดยสารภายในรถจะต้องมี Baby Seat ขณะที่ เจ้าหน้าที่จากโรงพยาบาลส่งเสริมตำบลแม่จัน ได้เกิดมีการบรรยายถึงความเสี่ยงที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุพร้อมแนะแนวทางการป้องกัน การเพิ่มเติมความรู้เกี่ยวกับใช้พาหนะทั้งรถยนต์และรถจักรยานยนต์ และความรู้ที่เกี่ยวกับ พ.ร.บ. รถยนต์และรถจักรยานยนต์ ซึ่งเกี่ยวข้องกับค่ารักษาพยาบาล อาทิ สิทธิเบื้องต้นในการรักษาพยาบาลเบื้องต้น เมื่อประสบอุบัติเหตุบนท้องถนน 30,000 บาท/คน ตามเงื่อนไขของพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัย นอกจากนี้ ยังมีการทำแผนที่จุดเสี่ยงของอุบัติเหตุภายในหมู่บ้านโพธนาราม ผ่านการระดมความคิดเห็นร่วมกันของชาวบ้านและสมาชิกชมรมจักรยานมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง พร้อมกับมีการนำเสนอและวิเคราะห์จุดเสี่ยงภายในหมู่บ้าน เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นในการแก้ไขปัญหาบนท้องถนนภายในชุมชน ร่วมกันระหว่างสมาชิกชมรมจักรยานมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ทั้งนี้ ยังมีกิจกรรมทำป้ายจราจรหรือป้ายเตือนให้ระวังคนและสัตว์บริเวณมุมอับภายในหมู่บ้าน มีการทาสีลูกระนาดบริเวณทางแยก และเช็ดกระจกจุดมองรถของหมู่บ้าน โดยมีระยะติดตามผลที่เกิดขึ้นหลังจากที่ได้มีการจัดในแต่ละกิจกรรม

กิจกรรมทำแผนที่จุดเสี่ยงภายในหมู่บ้านและทาสีระนาดและทาสีป้ายจราจรและป้ายเตือนระวัง

ในช่วงปลายเดือน มิถุนายน 2562 ทางชมรมจักรยาน มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ได้มีกิจกรรมติดตามและกิจกรรมเช็คก่อนใช้ปลอดภัยชัวร์ โดยสมาชิกชมรมจักรยาน ได้นัดหมายชาวบ้านภายในหมู่บ้าน เพื่อจัดกิจกรรม work shop และตรวจเช็คจักรยานของสมาชิกภายในชุมชน มีการเปลี่ยนผ้าเบรก โดยสมาชิกชมรมจักรยานได้สาธิต การปั่นจักรยานอย่างไรให้ปลอดภัย อาทิ การใช้สัญญาณมือ (Bike Hand Signals) หรือมือโบก เท้าถีบ เป็นการสร้างความเข้าใจร่วมกันระหว่างผู้ปั่นจักรยานและผู้ร่วมใช้ถนน เพื่อลดและป้องกันอุบัติเหตุ เช่น การโบกมือไปทางซ้าย-ขวา เมื่อต้องการจะเลี้ยว ซึ่งขึ้นอยู่กับความถนัดของมือ ทั้งแบบใช้มือข้างดังกล่าวยื่นออกไปด้านข้างหรือยกข้ามศีรษะ ให้ปลายนิ้วมือชี้ไปด้านที่ต้องการ เมื่อต้องการหยุดให้กำมือ, เมื่อต้องการแซง โบกมือระดับสะโพก ขวา สลับซ้าย (ดูรายละเอียดในภาพด้านล่าง)

ที่มาภาพ: Creative Move

นอกจากนี้ ยังมีวิธีการสวมหมวกกันน๊อคอย่างถูกต้อง การสาธิตการปั่นจักรยานอย่างช้าๆ เพื่อให้ระบบต่างๆ ของร่างกายแข็งแรงขึ้น การตรวจเช็คอุปกรณ์ 6 จุด ได้แก่ เช็คเบรก เช็คลมยาง เช็คแกนปลดไว ตรวจดูสภาพยาง ทุก 2-3 วัน เช็คความแน่นของน๊อตต่างๆ เช่น น๊อตของตะกร้า การปรับระดับน๊อตที่นั่งตามความสูงของผู้ปั่น (ให้เหนือสะโพกขึ้นมาเล็กน้อย) น๊อตตรงบริเวณเขย่งขาขึ้น แกนกด และเช็คโซ่ โดยตรวจดูคราบที่ติดกับโซ่ สิ่งสำคัญที่ทางชมรมจักรยานได้ฝากไว้ คือ ไม่ควรจอดจักรยานตากฝน เพราะจะทำให้จักรยานเสื่อมสภาพเร็วกว่าปกติ  หลังจากนั้นได้มีการดูคลิปที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับอุบัติเหตุกับผู้ใช้จักรยาน อาทิ คลิปชาวต่างประเทศปั่นจักรยานรอบโลก แต่ต้องมาเสียชีวิตที่เมืองไทย[1] เช่น นักปั่นชาวฟิลิปปินส์ ถูกรถตู้ฝ่าไฟแดงชนจนเสียชีวิต คลิปการประสบปัญหาด้านสุขภาพระหว่างปั่นจักรยาน เช่น เกิดลมแดด ภาวะ stroke เป็นต้น ซึ่งทำให้ชาวบ้านโพธนารามได้ร่วมวิเคราะห์และแสดงร่วมแสดงข้อคิดเห็นที่ได้รับจากอุบัติเหตุในการปั่นจักรยาน เช่น การไม่สวมใส่หมวกกันน๊อคของจักรยาน ใช้โทรศัพท์ขณะขับขี่ยานพาหนะ จิตสำนึกในการใช้ถนนร่วมกันของคนในสังคมที่มีไม่มากพอ หรือแม้กระทั่งสถานที่ซึ่งรัฐเป็นผู้ออกแบบถนน แต่คนใช้ถนนส่วนใหญ่ กลับไม่มีส่วนร่วมในการออกแบบถนน เช่นคำเปรียบเปรย “คนใช้ไม่ได้สร้าง คนสร้างไม่ได้ใช้”  เช่น การสร้างด้วยตัวหนอนคนตาบอด ร่องระบายน้ำต่างๆ ที่เป็นตัววี ไม่มีไฟทาง ซึ่งไม่เอื้อต่อการปั่นจักรยานและมีความเสี่ยงอย่างมากที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุ

 “รถจักรยานที่มีความพร้อม ยางหลังต้องนิ่ม ยางหลังต้องแข็งกว่ายางหน้านิดนึง” หนึ่งในสมาชิกของชมรมจักรยานกล่าวระหว่างกิจกรรมเช็คก่อนใช้ปลอดภัยชัวร์

ชมรมจักรยานขณะทำกิจกรรมเช็คก่อนใช้ปลอดภัยชัวร์

จากการสังเกตของผู้เขียน พบว่าสัญลักษณ์และป้ายจราจรต่างๆ ภายในหมู่บ้านมีสีที่ค่อนข้างซีด เนื่องจากตากแดด ตากฝน และไม่รับการซ่อมแซม ทำให้ผู้ขับขี่และสัญจรไม่สามารถมองเห็นไม่ชัดเจน และโดยส่วนใหญ่ชาวบ้านที่เป็นผู้เข้าร่วมกิจกรรม โดยมากจะเป็นวัยกลางคนถึงวัยผู้สูงอายุ ซึ่งแสดงให้เห็นว่ากิจกรรมส่วนใหญ่ของหมู่บ้าน มีกลุ่มแกนนำเป็นวัยดังกล่าวในการขับเคลื่อนหมู่บ้าน ซึ่งเป็นอีกสาเหตุหลักที่ทำให้ทางชมรมจักรยาน เลือกพื้นที่หมู่บ้านโพธนารามเป็นชุมชนนำร่อง เนื่องจากเป็นชุมชนที่ผ่านการเข้าร่วมกิจกรรมและโครงการต่างๆ ทั้งจากภาครัฐและเอกชน เช่น การส่งเสริมสินค้า OTOP, นวัตวิถีบ้านโพธนาราม, หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงและ ชุมชนปลอดขยะ Zero Waste  โดยชุมชนบ้านโพธนารามนี้ผู้อยู่อาศัยเป็นประจำส่วนใหญ่จะเป็นผู้สูงอายุ เด็กและเยาวชน ส่วนใหญ่พื้นเพเป็นคนในพื้นที่จังหวัดเชียงราย ประกอบอาชีพรับจ้าง ค้าขาย และทำการเกษตรเป็นส่วนมาก เช่น ทำสวน ทำไร่นา โดยช่วงที่เป็นหน้าเก็บเกี่ยวข้าวและผลผลิตจะมีรถบรรทุกเข้าออกหมู่บ้าน สภาพภูมิประเทศพื้นที่ราบ (ชมรมจักรยาน มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง. 2562)

ชมรมคนรักมอเตอร์ไซค์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง

บิ๊กไบค์ คือ รถคำที่ใช้เรียกรถจักรยานยนต์ที่มีขนาดใหญ่กว่ารถจักรยานยนต์ทั่วๆ ไป มีขนาดของเครื่องยนต์เกิน 250 cc ขึ้นไปจนถึง 2,400 cc. มีความหลากหลายของเครื่องยนต์ตั้งแต่หนึ่งสูบจนถึงหกสูบ มีรูปแบบของการวางรูปสูบเรียงและสูบวี สำหรับชมรมมอเตอร์ไซค์ เป็นการรวมตัวกันของกลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ที่หลงใหลในการขับขี่รถมอเตอร์ไซค์ขนาดใหญ่ หรือที่เราเรียกกันอย่างคุ้นชินว่า “บิ๊กไบค์” นั่นเอง พวกเขาต้องการเริ่มต้นการรณรงค์การสวมใส่หมวกกันน๊อคภายในมหาวิทยาลัยให้กับบุคลากรและนักศึกษาภายในมหาวิทยาลัย และพัฒนาทักษะการขับขี่ให้มีความสามารถแก้ปัญหาเฉพาะหน้า และป้องกันการเกิดอุบัติเหตุด้วยตนเอง โดยเริ่มต้นจากการฝึกทักษะกับกลุ่มแกนนำของชมรม

จากรายงานของศูนย์วิจัยธนาคารกรุงศรีอยุธยา (Krungsri Research) ระบุว่า ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตรถจักรยานยนต์อันดับที่ 5 ของโลก รองจากจีน อินเดีย อินโดนีเซีย และเวียดนาม ซึ่งได้มีส่งเสริมการลงทุนผลิตรถจักรยานยนต์ขนาดใหญ่ หรือที่เรียกกันว่า Bike Bike เมื่อปี พ.ศ. 2543 ซึ่งมีการเติบโตและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาจะมีการผันแปรขึ้นลงของอุตสาหกรรมจักรยานยนต์ภายในประเทศก็ตาม (วรรณา ยงพิศาลภพ. 2560)

ทั้งนี้ จากสภาพการของบิ๊กไบค์ที่เพิ่มสูงขึ้น จากการสร้างการตลาดให้เป็นสินค้าไลฟ์สไตล์ สร้างอัตลักษณ์ที่แตกต่างจากผู้ครอบครองรถจักรยานยนต์ทั่วไป การสร้างคุณค่าทางความรู้สึกที่เปรียบเสมือนเป็นเพื่อนกับเจ้าของรถ นอกเหนือไปจากคุณสมบัติและประโยชน์เฉพาะของ “บิ๊กไบค์” โดนเฉพาะกลุ่มผู้บริโภคเพศชาย ซึ่งเป็นผู้ถวิลหาและเป็นกำลังซื้อหลักของรถประเภทนี้ ที่แสดงถึง “ความเท่” อีกทั้งด้วยราคาที่จับต้องได้ จากสาเหตุที่ฐานการผลิตและการประกอบตั้งอยู่ในประเทศไทย ด้วยปัจจัยต่างๆ อาทิ อัตราภาษีจากภาครัฐที่เอื้อต่อการลงทุนจากต่างประเทศ และความเป็นศูนย์กลางของเอเชียอาคเนย์ การสร้างการเชื่อมต่อกับผู้บริโภคด้วยกิจกรรมต่าง เพื่อสร้างความเป็น Community ให้กับชาวบิ๊กไบค์โดยเฉพาะ (ค้นหาคำตอบทำไม “Big Bike” ราคาหลักแสนถึงเฉียดล้าน เป็นดาวรุ่งมามาแรงในตลาดมอเตอร์ไซค์. 2561.)

ย้อนกลับมา ที่กิจกรรมของชมรมคนรักมอเตอร์ไซค์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง สมาชิกของชมรมฯ ได้นัดหมายกัน ณ ร้านกาแฟแห่งหนึ่ง ย่านมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เริ่มต้นจากการเล่าเหตุการณ์ที่ตนเองเคยประสบอุบัติเหตุ โดยสมาชิกของชมรมฯ ได้เริ่มทยอยเล่าถึงเหตุการณ์ดังกล่าวทีละคน  เช่น เจ[1]  ขับรถไปสิงค์ปาร์ค เมา แล้วก็ยกล้อ, โจ้ ขับรถพุ่งเข้าต้นไม้ข้างทาง จากนั้นก็สลบ แถวเส้นหลังวิภาวดี กำลังเบี่ยงซ้ายเลยชนฟุตบาท, เทียน หักไปจอด เบรกไม่ทัน แต่ใส่หมวกกันน๊อค แซงซ้าย,  เพียว รถจักรยานยนต์พลิก ขาหัก แต่โชคดีใส่หมวกกันน๊อค, หมู ขับ Zumu X  ทรายอยู่บนถนน พยายามเบรก ล้อสะบัด ช่วงยูเทิร์น มีรถเปิดไล่ทาง 2-3 คัน พอชะลอรถ ทำให้รถลงข้างทาง,  จิ๊บ ไปเที่ยว มีรถเพื่อนที่ขี่บิ๊กไบค์มาด้วยกันล้ม จึงทำให้รถตัวเองที่ขับตามมาล้มตาม, นัท รถสไลด์ไปกับพื้นถนน, บอส หักรถหลบเอง เพราะกลัวชนพ่อแม่ลูก ที่กำลังเดินอยู่บนถนน, แชมเปญจน์ เลี้ยวรถแล้วลื่น ทั้งยังเกิดในจุดเดิมที่เคยรถล้มมาก่อน


หลังจากนั้น ได้มีการระดมสาเหตุและปัญหาของการเกิดอุบัติเหตุผ่านสถานการณ์อุบัติเหตุที่เคยเกิดขึ้นจริง บริเวณมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ซึ่งผู้ดำเนินกระบวนการของชมรมฯ ได้บรรยายถึงเหตุการณ์ รถยนต์ที่วิ่งมาจากทางเส้นอำเภอแม่สาย คนขับมีอาการเมาจากฤทธิ์แอลกอฮอล์ จากที่ตลอดเส้นทางเป็นเส้นทางตรงสองเลน ได้ติดตั้งแบร์ริเออร์ เพื่อเพิ่มเลนพิเศษเฉพาะบริเวณหน้ามหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ทำให้คนขับรถเบรกไม่ทันจึงหักขวาพุ่งข้ามเกาะกลางมาอีกฝั่งหนึ่งของถนน เป็นสาเหตุให้ชนนักศึกษามหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงเสียชีวิตทันที 2 คน[2] ซึ่งจากการร่วมกันวิเคราะห์ของผู้เข้าร่วมกิจกรรม ได้แสดงความคิดเห็นถึงสาเหตุจากปัจจัยภายใน เช่น เกิดจากความมักง่าย ความประมาทของผู้ขับขี่ ทั้งยังมีปัจจัยภายนอก เช่น การไม่แบ่งเลนถนนให้ชัดเจน แสงสว่างที่ไม่เพียงพอของเส้นถนน เป็นต้น ทั้งนี้ได้สมาชิกของชมรมคนรักรถมอเตอร์ไซค์ ยังได้เสนอทางแก้ปัญหา เช่น เมาไม่ขับ การขับรถในความเร็วที่กฎหมายได้กำหนดไว้[3] ประชาสัมพันธ์และแสดงสัญลักษณ์ถึงจุดที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ การตรวจสภาพรถให้พร้อมก่อนใช้งานได้จริง

กิจกรรมระดมสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุและระดมจุดเสี่ยงภายในมหาวิทยาลัย ที่มาภาพ: ชมรมคนรักมอเตอร์ไซค์มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง

กิจกรรมต่อมาได้มีการระดมปัญหาและจุดเสี่ยงที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่ายภายในมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ณ ร้านก๋างโต๊งคาเฟ่ ซึ่งมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมประมาณ 25 คน ทั้งหมดเป็นนักศึกษาชายและประชาชนทั่วไป ที่ขับขี่บิ๊กไบค์ ซึ่งสามารถรวบรวมถึงจุดเสี่ยงที่เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง ภายในมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงได้ ดังนี้ บริเวณสันเขื่อน, ทุกโค้งภายในมหาวิทยาลัย, แยกทุกแยก,เนินและลูกระนาด 5 จุดภายในมหาวิทยาลัย, จุดรอรถของนักศึกษา, อุโมงค์ต้นไม้, จุดยูเทิร์น, จุดรับบัตรเข้า-ออกของมหาวิทยาลัย เป็นต้น โดยมีการเสนอวิธีแก้ไข อาทิ การเพิ่มแสงสว่างตามแยกต่างๆ และถนนภายในมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะช่วงกลางคืน, เอาลูกระนาดที่มีความสูงเกินไปออกจากพื้นผิวถนนหรือลดขนาดลง, ทำป้ายเตือน เช่น บริเวณโค้งด้านหลัง บริเวณสันเขื่อนของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ซึ่งเกิดอุบัติเหตุรถลื่นล้มบ่อยครั้ง ทำความสะอาดพื้นผิวถนนอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะหิน กรวด ทราย ซึ่งทำให้เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน โดยอาจจะต้องมีการทำสถิติการเกิดอุบัติเหตุและนำไปสู่การหาสาเหตุและแก้ไขปัญหา เช่น การออกแบบปรับปรุงโครงสร้างของถนนภายในมหาวิทยาลัยให้ตรงตามความต้องการและความเหมาะสมของผู้ใช้ถนนอย่างแท้จริง อีกทั้งส่งแสริมกิจกรรมอบรมให้ความรู้ถึงการขับขี่ที่ปลอดภัยต่อบุคลากรและนักศึกษาภายในมหาวิทยาลัย การเพิ่มมาตรการให้เข้มงวดมากขึ้นต่อผู้ที่ฝ่าฝืนและมีพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการให้เกิดอุบัติเหตุ เช่น เมาแล้วขับ เป็นต้น

ในส่วนของการอบรมกิจกรรมฝึกอบรมทักษะกับกลุ่มแกนนำ เพื่อเป็นการเพิ่มทักษะการขับขี่บิ๊กไบค์อย่างปลอดภัยในระดับพื้นฐาน โดยมีชื่อคอร์สว่า “Basic Riding Course” จัด ณ  สนามเชียงราย เซอร์กิต เรซเวย์ แม่ลาว ในวันอาทิตย์ที่ 7 กรกฎาคม 2562 ทั้งนี้ ทีมครูฝึกได้ใช้กระบวนการทั้งในภาคปฏิบัติและภาคทฤษฎี โดยผู้เข้าร่วมกิจกรรมทุกคนจะผ่านการอบรมทั้ง 2 ภาคส่วน เริ่มต้นจากการอธิบายประเภทของรถจักรยานยนต์ (Type of motorbike) เช่น Sport super sport tearing, naked motorbike, touring motorbike, cruiser motorbike และปัจจัยที่เป็นสาเหตุต่อการเกิดอุบัติเหตุ ได้แก่ ตัวของนักขี่เองมีความพร้อมและทักษะในการขับขี่มากน้อยเพียงใด, การสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันอุบัติเหตุ, สภาพของยานพาหนะที่พร้อมต่อการขับขี่ หรือแม้กระทั่งสภาพแสดล้อมภายนอก เช่น คนเมาสุรา, สัตว์ที่สัญจรบนถนน เป็นต้น

“ขี่ได้คือรถพาไป แต่ถ้าขี่รถเป็นคนต้องพารถไป” ...... “การขับขี่ที่ดีจะต้องปลอดภัยและสนุก” บทสนทนาจากครูฝึกที่ต้องการให้ผู้ขับขี่พาหนะทุกชนิด ควรมีความตระหนักต่อการใช้ถนนร่วมกันภายในสังคม ทั้งนี้ เนื้อหาบางส่วนในการอบรม อาทิ การวางท่าทางในการขับขี่อย่างปลอดภัย การใช้สายตา มองโค้ง การใช้เบรกในสถานการณ์ต่างๆ เช่น ช่วงเข้าโค้ง, เบรกกะทันหัน การแนะนำวิธีการใช้เบรกอย่างถูกวิธีและปลอดภัย ซึ่งควรใช้เบรกหน้า ร้อยละ 70-100 และใช้เบรกหลัง ร้อยละ 20-30 จะสามารถชะลอความเร็วได้ดีที่สุด ขณะที่ใช้ความเร็วคงที่บนถนนปกติ ควรใช้เอนจิ่งเบรกและลดระดับเกียร์ เพื่อชะลอความเร็ว ซึ่งในช่วงบ่ายได้มีการฝึกปฏิบัติจริงบนสนาม ได้มีการฝึกทักษะการอ่านโค้งและการใช้คันเร่งในโค้งอย่างปลอดภัย, การวางตำแหน่งเมื่ออยู่ในโค้งและการเปิดคันเร่ง, ข้อจำกัดของการใช้เบรกในสถานการณ์ต่างๆ เป็นต้น (ชมรมคนรักมอเตอร์ไซค์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง. 2562.) 

 “จากกิจกรรมนี้ ทำให้ได้รับรู้ว่าผู้เข้าร่วม กิจกรรมก็มีความตระหนักถึงปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้น แต่เพียงไม่มีพื้นที่ในการออกความคิดเห็น และการเข้าไปอยู่ในกระบวนการแก้ไขปัญหา” ส่วนหนึ่งของรายงานสรุปโครงการ มฟล. ร่วมใจใส่หมวก 100 %

กิจกรรมอบรมขับขี่ Basic Riding Course ที่มาภาพ: ชมรมคนรักมอเตอร์ไซค์มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง 

บทส่งท้าย

ที่ผ่านมา จากสถิติการเกิดอุบัติเหตุของประเทศไทยของศูนย์อำนวยความปลอดภัยทางถนน สำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ ในปี พ.ศ. 2561  พบว่า มีการเกิดอุบัติเหตุทั้งสิ้น 3,516 ครั้ง เสียชีวิต 361 คน  และบาดเจ็บ 3,802 คน โดยวันที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2561 มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตมากที่สุด โดยจังหวัดที่มีการเกิดอุบัติเหตุมากที่สุด ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่   เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด 133 ครั้ง ในช่วงวันที่ 11-17 เมษายน พ.ศ. 2561 โดยสาเหตุเกิดจากพฤติกรรมของผู้ขับขี่ การไม่เคารพกฎหมายและขาดวินัยในการขับขี่

ในขณะปีล่าสุด พ.ศ. 2562 ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ ได้รายงาน สถิติสะสมช่วงเทศกาลสงกรานต์ ระหว่างวันที่ 11-14 เมษายน พ.ศ. 2562 มีจำนวนรวม 2,232 ครั้ง โดยจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ จังหวัดนครศรีธรรมราช จำนวน 81 ครั้ง รองลงมา จังหวัดเชียงใหม่ 78 ครั้ง และจังหวัดเชียงราย 70 ครั้ง ซึ่งในวันที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2562 จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ จังหวัดเชียงราย 21 ครั้ง รองลงมาได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่  จำนวน 20 ครั้ง (อุบัติเหตุ ช่วงสงกรานต์ 4 วัน เสียชีวิตแล้ว 237 ราย. 2562.)

จากสถิติที่ได้กล่าวมาข้างต้น จึงเห็นได้ว่าภาคเหนือตอนบน โดยเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่และเชียงราย ด้วยปัจจัยทั้งขนาดของพื้นที่ ความหนาแน่นของประชากร ความเป็นจุดศูนย์กลางทางด้านเศรษฐกิจ สถาบันการศึกษาและแหล่งท่องเที่ยวจำนวนมาก ทำให้ทั้ง 2 จังหวัด มียอดอุบัติเหตุที่พุ่งสูงในแต่ละช่วงเทศกาลหยุดยาวของไทย จึงทำให้ผู้เขียนต้องการที่จะเสนอประสบการณ์จากการลงพื้นที่ติดตามจากกรณีศึกษาที่ยกตัวอย่างมาของทั้ง 2 ชมรม/กลุ่ม ของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ถึงแม้จะหลงใหลในยานพาหนะที่แตกต่างกัน แต่จุดร่วมที่ทั้งสองกลุ่มต่างมีเหมือนกันคือ ในบทบาทและสถานะของการเป็นนิสิต นักศึกษา คนที่ใช้ยวดยานพาหนะเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน ต่างมุ่งหวังให้อุบัติเหตุบนท้องถนนไม่เกิดขึ้นในชุมชน และมีความปลอดภัยบนท้องถนน ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วม ทั้งจากการลงพื้นที่ สำรวจข้อมูล ประชุมและวางแผนร่วมกันภายในทีมกับเครือข่ายและที่สำคัญคือ “ชุมชน” ที่พวกเขา ได้เข้าไปทำงานด้วย

ดังนั้น โครงการอาสาสมัครลดอุบัติเหตุในชุมชน จึงถือได้ว่าอีกหนึ่งโครงการที่ได้ริเริ่ม การเริ่มต้นการฉุกคิดจนนำไปสู่ขั้นตอนการลงมือทำ ทั้งจากกิจกรรมรณรงค์ อบรมให้ความรู้ สร้างสรรค์สื่อประชาสัมพันธ์ และในหลายกลุ่ม/ชมรม ที่เข้าร่วมโครงการสามารถผลักดันเข้าไปสู่แผนงานหรือนโยบายของทางมหาวิทยาลัยได้ รวมไปถึงการสร้างฐานข้อมูล รวบรวมสถิติการเกิดอุบัติเหตุหรือพฤติกรรมที่ช่วยลดทอนและป้องกันผลกระทบ[4]ที่เกิดขึ้นภายในชุมชนของตน จึงถือได้ว่าเป็นบันไดก้าวแรกของมูลนิธิโกมลคีมทอง ในการตอบโจทย์เป้าหมายของการทดลอง เปิดพื้นที่ คิดค้นกระบวนการ เพื่อต่อยอดไปสู่การแก้ไขปัญหาการลดอุบัติเหตุและความปลอดภัยบนท้องถนน ระหว่างนิสิตนักศึกษาและสังคมร่วมกันอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน.


 

[1]อาทิ กลุ่ม/ชมรม ที่เข้าร่วมโครงการอาสาสมัครลดอุบัติเหตุฯ ได้มีการตรวจนับผู้สวมใส่หมวกกันน๊อค  ภายในสถานศึกษา หรือทำสถิติการเกิดอุบัติเหตุภายในมหาวิทยาลัยของตน ในแต่ละช่วงปีที่ได้ริเริ่มทำกิจกรรมกับโครงการฯ.

[1] ในที่นี้ได้ใช่ชื่อเล่นของสมาชิกชมรมคนรักมอเตอร์ไซค์ ที่เล่าถึงเหตุการณ์

[2] ดูเพิ่มเติม “เมาแล้วขับข้ามเลน ชน นศ. แม่ฟ้าหลวงดับ 2”. 13 มิถุนายน 2562. สำนักข่าว TNN. [ระบบออนไลน์]. https://www.tnnthailand.com/content/9870 ค้นเมื่อ 6 กันยายน 2562.

[3] สำหรับกฎหมายเกี่ยวกับความเร็วบนทางหลวงนั้น มีกฎหมายกำหนดไว้ใน กฎกระทรวง ฉบับที่ 2 ออกตามความในพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ. 2535 โดยสรุปได้ว่า ข้อ 2 อัตราความเร็วของยานพาหนะบนทางหลวงชนบทมีดังต่อไปนี้ รถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ ให้ใช้ความเร็วไม่เกินชั่วโมงละ 90 กิโลเมตร

[4] ดูเพิ่มเติม “สังเวยกี่ชีวิต? นักปั่นต่างชาติ ตายในไทย ถนนอันตราย หรือคนขับชุ่ย”.  26 ตุลาคม 2561. [ระบบออนไลน์] https://www.thairath.co.th/news/society/1403986. สืบค้นเมื่อ 3 กันยายน 2562

 


 

อ้างอิง

ค้นหาคำตอบทำไม “Big Bike” ราคาหลักแสนถึงเฉียดล้าน เป็นดาวรุ่งมามาแรงในตลาดมอเตอร์ไซค์. 27 เมษายน 2561 [ระบบออนไลน์]: https://www.brandbuffet.in.th/2018/04/big-bike-market-in-Thailand/. ค้นเมื่อ 31 สิงหาคม 2562

จักรยานน่ารู้ทุกเรื่องของจักรยาน. 2555. [ระบบออนไลน์]: http://xn--thai-4do0b3hzci2loa.blogspot.com/2012/10/blog-post_8844.html. ค้นเมื่อ 31 สิงหาคม 2562.

ชมรมคนรักมอเตอร์ไซค์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง. 2562. โครงการ มฟล. ร่วมใจใส่หมวก 100%.
ใบนำเสนอโครงการอาสาสมัครลดอุบัติเหตุในชุมชน  มูลนิธิโกมลคีมทอง ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ.

ชมรมจักรยาน มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง.  2562. โครงการชุมชนสุขสันต์เส้นทางปลอดภัย.  ใบนำเสนอโครงการอาสาสมัครลดอุบัติเหตุในชุมชน  มูลนิธิโกมลคีมทอง ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ.

วรรณา ยงพิศาลภพ. อุตสาหกรรมรถจักรยายยนต์. แนวโน้มธุรกิจ/อุตสาหกรรม ปี 2560-62: กันยาน 2560.

อุบัติเหตุ ช่วงสงกรานต์ 4 วัน เสียชีวิตแล้ว 237 ราย.15 เมษายน 2562 [ระบบออนไลน์]: http: workpointnews.com/2019/04/15/อุบัติเหตุ-ช่วงสงกรานต์-2/.ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน ช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2562. ค้นเมื่อ 31 สิงหาคม 2562

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: