ไทม์ไลน์ความเคลื่อนไหวโครงการวังหีบรอบปี 2561

กองบรรณาธิการ TCIJ 6 ม.ค. 2562 | อ่านแล้ว 4973 ครั้ง


ม.ค. 2561 - กอ.รมน. ลงพื้นที่ทำความเข้าใจกับราษฎรผู้ได้รับผลกระทบโครงการ

กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) จ.นครศรีธรรมราช ร่วมกับคณะทำงานแก้ไขปัญหาการพัฒนาแหล่งน้ำโครงการวังหีบ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จัดประชุมชี้แจงทำความเข้าใจกับราษฎรผู้ได้รับผลกระทบ [1]

ก.พ. 2561 - กรมชลฯ เผยความคืบหน้าในการดำเนินโครงการ ปักหลักเขตแล้วร้อยละ 90

ผู้อำนวยการสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 10 ระบุถึงความคืบหน้าของโครงการวังหีบอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ว่ามีการขุดคลองใหม่ 3 สาย ประมาณ 18 กิโลเมตร ขุดขยายคลองเดิมคือคลองวังวัวและคลองหัวตรุด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำ นอกจากนี้ในส่วนของการจัดหาที่ดินทางกรมชลประทานได้มีการปักหลักเขตแล้วร้อยละ 90 เหลือเพียงเฉพาะส่วนต้นของคลองสาย 1 เท่านั้น อยู่ในเขต ต.ไชยมนตรี ระยะประมาณ 1.3 กิโลเมตร เนื่องจากมีผลกระทบต่อบ้านเรือนของประชาชน [2]

ก.พ. 2561 - แกนนำต้านเขื่อนวังหีบเผยถูกขู่อุ้มเหตุ กลุ่มอิทธิพลหวั่นเสียผลประโยชน์

มีรายงานข่าวว่าสมาชิกกลุ่มอนุรักษ์ป่าต้นน้ำคลองวังหีบซึ่งร่วมกันคัดค้านโครงการก่อสร้างเขื่อนวังหีบ จ.นครศรีธรรมราช เปิดเผยว่าขณะนี้มีชาวบ้านได้มาเล่าถึงการถูกเจ้าหน้าที่รัฐบางหน่วยงานข่มขู่โดยระบุว่าหากกระแสข่าวเงียบไปแล้ว แกนนำที่ร่วมกันคัดค้านอาจจะโดนอุ้มเนื่องจากคิดว่าหากเอาตัวแกนนำไปก็จะสามารถผลักดันโครงการสร้างเขื่อนวังหีบได้สำเร็จ โดยผู้ที่มาเล่าเป็นชาวบ้านซึ่งได้รับฟังข่าววงในมาอีกทีและด้วยความหวังดีจึงรีบมาบอกแก่พวกตน

นอกจากนี้ชาวบ้านยังได้ระบุว่าได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจสันติบาลขอเข้ามาพบชาวบ้าน เพื่อสอบถามข้อมูลจากชาวบ้านกรณีที่รัฐมนตรีว่าการกระเกษตรและสหกรณ์ ลงมาดูพื้นที่แล้วชาวบ้านได้ยืนยันว่าจะคัดค้านโครงการเขื่อนต่อไปจนถึงที่สุด เพราะการสร้างเขื่อนจะส่งผลกระทบต่อที่ดินทำกิน ทรัพยากรป่าไม้ที่สมบูรณ์ รวมไปถึงการสร้างเขื่อนวังหีบไม่สามารถแก้ไขปัญหาน้ำท่วมได้ [3]

มี.ค. 2561 - กรมชลฯ ชี้แจงข่าวกรณีแกนนำกลุ่มต่อต้านโครงการอ่างเก็บน้ำวังหีบ ถูกข่มขู่ 

ช่วงต้นเดือน มี.ค. 2561 กรมชลประทาน ชี้แจงกรณีมีการนำเสนอข่าวแกนนำและประชาชนที่ร่วมกันคัดค้านการสร้างเขื่อนวังหีบ ถูกเจ้าหน้าที่รัฐบางหน่วยงานข่มขู่ และมีทหารระดับสูงใน กอ.รมน.จ.นครศรีธรรมราช ให้การสนับสนุนโครงการ นั้น ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน ขอชี้แจงในกรณีที่เกิดขึ้นว่ ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา การดำเนินการโครงการอ่างเก็บน้ำวังหีบอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.นครศรีธรรมราช กรมชลประทาน ได้บูรณาการทำงานร่วมกับจ.นครศรีธรรมราช และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเน้นการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนเป็นหลัก มีการประชุมชี้แจงเพื่อประชาสัมพันธ์โครงการในพื้นที่และรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนอย่างสม่ำเสมอ โดยมิได้มีการข่มขู่ใดๆ จากเจ้าหน้าที่ภาครัฐตามที่กล่าวอ้าง [4]

มี.ค. 2561 - เตรียมจัดตั้งกองทุนการขับเคลื่อนโครงการพระราชดำริ ระดมทุนช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบทั้ง 3 โครงการ

นายจำเริญ ทิพญพงศ์ธาดา ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวในระหว่างเป็นประธานการแถลงข่าวผู้ว่าพบสื่อมวลชนจังหวัดนครศรีธรรมราช ประจำเดือน มี.ค. 2561 ณ โรงแรมราวดี อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช ระบุว่าจังหวัดได้มีแนวความคิดที่จะจัดตั้งกองทุนการขับเคลื่อนโครงการพระราชดำริ จ.นครศรีธรรมราช โดยจะมีการเชิญชวนชาวนครศรีธรรมราชทุกภาคส่วน ร่วมกันสละทรัพย์คนละเล็กคนละน้อยตามกำลังศรัทธา โดยให้ภาคเอกชน 3 องค์กรหลัก คือ หอการค้า สภาอุตสาหกรรม และสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยว เป็นผู้ขับเคลื่อนหลักนำหน้า ภาคราชการตามหลัง เพื่อนำเงินที่ได้มาเติมเต็มให้กับประชาชนผู้เสียสละแก่แผ่นดินทั้ง 3 โครงการ เพื่อคนส่วนใหญ่ให้รอดพ้นจากวิกฤติน้ำท่วมน้ำแล้ง เนื่องจากการจ่ายค่าชดเชยตามระเบียบทางราชการบางรายการที่จ่ายให้กับผู้เสียสละน้อยกว่าความเป็นจริง จึงจำเป็นต้องหาเงินทุนมาชดเชยเพิ่มเติมให้ โดยเฉพาะการเสียโอกาสทางเศรษฐกิจ การโยกย้ายถิ่นฐาน เป็นต้น [5]

เม.ย. 2561 - กองทัพบกติดตามผลการดำเนินงานโครงการ

พลเอกพัฒนา มาตร์มงคล ผู้อำนวยการสำนักงานประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และความมั่นคง กองทัพบก เป็นประธานการประชุมติดตามความก้าวหน้าโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของกองทัพภาคที่ 4 ซึ่งรวมถึงโครงการวังหีบ ที่ห้องประชุม จวน วรรณรัตน์ กองบัญชาการกองทัพภาคที่ 4 อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช โดยมีพลตรี สิทธิพร มุสิกะสิน รองแม่ทัพภาคที่ 4 พลตรี จะนะ ปรีชา เสนาธิการกองทัพภาคที่ 4 และคณะนายทหารจากหน่วยขึ้นตรงกองทัพภาคที่ 4 เข้าร่วมประชุม

พลเอกพัฒนา มาตร์มงคล ระบุว่าขอบคุณทุกคน ทำงานเพื่อถวายงานเพื่อสถาบันพระมหากษัตริย์ กองทัพบก รับผิดชอบทั้งหมด 131 โครงการ กองทัพภาคที่ 4 รับผิดชอบ 23 โครงการ นอกจากนั้น ในอนาคตยังต้องเข้าไปช่วยขับเคลื่อนงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงอื่นด้วย ตามพระราโชบายของรัชกาลที่ 10 ล่าสุดเกี่ยวกับโครงการพระราชดำริเกี่ยวกับแหล่งน้ำ กองทัพภาคทั้ง 4 กองทัพภาค เข้าไปช่วยขับเคลื่อน งานโครงการพระราชดำริเป็นการทำงานเหมือนกับการปิดทองหลังพระ ขอให้ทุกหน่วย ตั้งใจทำเพื่อถวายงาน การเดินทางมาในครั้งนี้เพื่อมาให้กำลังใจ ให้คำแนะนำ [6]

พ.ค. 2561 - ได้ผู้รับจ้างในสัญญาที่ 1 วงเงิน 694 ล้านบาท ตั้งจุดตรวจเพื่อดูแลความสงบเรียบร้อยในพื้นที่

นายธเนศ ดิษฐปัญญา ผู้อำนวยการสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 10 เปิดเผยว่าโครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองนครศรีธรรมราชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มีการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-bidding ได้ผู้รับจ้างแล้วเมื่อวันที่ 26 เม.ย. 2561 คือ บริษัท สยามพันธุ์วัฒนา จำกัด (มหาชน) เป็นสัญญาที่ 1 งบประมาณ 694 ล้านบาท จากราคากลาง 1,088 ล้านบาท อายุสัญญา 720 วัน คาดว่าจะสามารถลงนามในสัญญาจ้างได้ประมาณเดือน มิ.ย.-ก.ค. 2561 เป็นการก่อสร้างคลองระบายน้ำสาย 3 พร้อมอาคารประกอบช่วงที่ 1 ที่ออกสู่ทะเลในพื้นที่ตำบลบางจาก อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช รวมระยะทาง 2.99 กิโลเมตร จากความยาวคลองระบายน้ำสาย 3 ทั้งหมด 12.35 กิโลเมตร แบ่งเป็น 3 ช่วง ซึ่งต้องเร่งส่งมอบพื้นที่ให้ผู้รับจ้างต่อไป ในส่วนของการจ่ายค่าชดเชยค่าที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง ผลอาสิน ค่าเคลื่อนย้ายทรัพย์สินให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบนั้น ทางคณะกรรมการกำลังเร่งสำรวจเพื่อจัดทำบัญชีจ่ายค่าชดเชย ทั้งที่มีเอกสารสิทธิ์และไม่มีเอกสารสิทธิ์

นายสมพงษ์ มากมณี นายอำเภอเมืองนครศรีธรรมราช ระบุว่าในส่วนของพื้นที่ตำบลไชยมนตรี อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช ยังมีปัญหาเรื่องที่ดิน 21 แปลง คือ ไม่ยินยอม 10 แปลง (8 ราย) เจ้าหน้าที่กำลังติดต่อสร้างความเข้าใจ 9 แปลง โดยเจ้าของเสียชีวิต 3 ราย อยู่ต่างจังหวัด 2 ราย และยังไม่มีข้อมูล 2 แปลง ซึ่งชลประทานจะประสานกับสำนักงานที่ดินอีกครั้งหนึ่ง

นายเสกโสม เสริมศรี ผู้อำนวยการสำนักก่อสร้างชลประทานขนาดกลางที่ 15 กล่าวว่า ในส่วนของโครงการอ่างเก็บน้ำคลองสังข์ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอทุ่งใหญ่ นั้น ขณะนี้ ได้มีการขอเปลี่ยนแปลงงบประมาณเพื่อนำมาจ่ายเป็นค่าทรัพย์สินให้กับประชาชนชุดแรก จำนวน 35.5 ล้านบาท รวม 22 แปลง จาก 61 แปลง เป็นเงิน 107 ล้านบาท ส่วนที่เหลือคาดว่าจะสามารถจ่ายเงินได้ไม่เกินเดือน ธ.ค. 2561 เพื่อให้สามารถก่อสร้างที่ทำการ บ้านพักได้ก่อนในพื้นที่ 166 ไร่ ส่วนพื้นที่ ส.ป.ก.4-01 ยังมีผู้ไม่ยอมสละสิทธิ์ 120 แปลง จากทั้งหมด 425 แปลง ซึ่งนายอำเภอทุ่งใหญ่และผู้ที่เกี่ยวข้องกำลังเร่งทำความเข้าใจกับเกษตรกรเพื่อดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป

สำหรับโครงการวังหีบ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอทุ่งสง นั้นทางอำเภอ ตำรวจ ทหาร กำนันผู้ใหญ่บ้านเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ป่าไม้ และอาสาสมัคร ได้เข้าไปตั้งจุดตรวจเพื่อดูแลความสงบเรียบร้อยในพื้นที่ นอกจากนี้ ทางรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ให้ตั้งคณะกรรมการการมีส่วนร่วมขึ้นมา 1 ชุดด้วย [7]

มิ.ย. 2561 - ผู้ว่าฯ นครศรีธรรมราช ระบุพบกลุ่มผู้ไม่หวังดีจากต่างจังหวัดเข้าพื้นที่สร้างความสับสน

ในการประชุมกรมการ จ.นครศรีธรรมราช โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการ หัวหน้าหน่วยงานภาครัฐและเอกชน โดยมีหัวหน้าส่วนราชการ หัวหน้าหน่วยงาน ผู้แทนภาคราชการ เอกชนและรัฐวิสาหกิจในพื้นที่เข้าร่วมประชุม มีการระบุว่าในประเด็นการขอความร่วมมือเพื่อประชาสัมพันธ์ขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้ขอความร่วมมือให้ส่วนราชการ หน่วยงานและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้เร่งประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความเข้าใจแก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ประชาชนในพื้นที่ ตลอดจนผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายเพื่อสร้างการรับรู้ ความเข้าใจและการมีส่วนร่วมต่อการดำเนินงานในโครงการ พบว่าขณะนี้มีกลุ่มผู้ไม่หวังดีจากต่างจังหวัดได้เข้ามาก่อกวนและสร้างความสับสนแก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบในพื้นที่ดำเนินงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ทั้ง 3 โครงการ คือ โครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองนครศรีธรรมราช อันเนื่องมาจากพระราชดำริ โครงการอ่างเก็บน้ำคลองสังข์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ และโครงการวังหีบอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เบื้องต้นได้กำชับให้ผู้นำท้องถิ่น ท้องที่ และหัวหน้าส่วนราชการ ภาคส่วนต่างๆ ได้ทำความเข้าใจและถ่ายทอดองค์ความรู้ ความสำคัญ และความจำเป็นที่ต้องเร่งดำเนินงานในโครงการด้านการบริหารจัดการน้ำเพื่อการแก้ไขปัญหาน้ำทั้งระบบของจังหวัดต่อพี่น้องประชาชน และผู้ใต้บังคับบัญชา พร้อมทั้งให้ศึกษาข้อมูลและทำความเข้าใจในรายละเอียดของโครงการ ซึ่งทางจังหวัดและกรมชลประทาน ได้นำข้อมูล ตลอดจนรายละเอียดต่างๆ ของโครงการออกเผยแพร่ผ่านช่องทางต่างๆ อย่างหลากหลายแล้ว หรือหากพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบยังมีความสับสน คับข้องใจ หรือต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สามารถนำข้อสงสัยดังกล่าวไปพูด ปรึกษากับผู้นำท้องถิ่น ท้องที่ หรือนายอำเภอในพื้นที่ดำเนินการได้ตลอดเวลา [8]

ก.ค. 2561 – องคมนตรี ติดตาม-ขับเคลื่อนโครงการพระราชดำริด้านแหล่งน้ำภาคใต้

นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี ในฐานะประธานกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นประธานการประชุมติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เพื่อติดตาม เร่งรัด ขับเคลื่อนการดำเนินงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริด้านพัฒนาแหล่งน้ำที่ยังมิได้ดำเนินการให้ขับเคลื่อนดำเนินการให้แล้วเสร็จตามพระราชปณิธาณของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการสืบสาน รักษา ต่อยอดเพื่อสร้างประโยชน์สุขให้แก่ราษฎรต่อไป

นายลลิต ถนอมสิงห์ รองเลขาธิการ กปร.ในฐานะอนุกรรมการและเลขานุการคณะกรรม การติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ กล่าวรายงานสรุปภาพรวมการติดตามและขับเคลื่อนการดำเนินงานโครง การอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ที่ผ่านมามีโครงการพัฒนาด้านแหล่งน้ำที่ยังไม่ได้ดำเนินการทั้ง 4 ภาครวม 78 โครงการ และมีการขับเคลื่อนไปแล้ว 28 โครงการ สำหรับพื้นที่ภาคใต้มีโครงการที่ยังไม่ได้ดำเนินการรวม 14 โครงการ ประกอบด้วย โครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการ 5 โครงการ (ซึ่งรวมถึงโครงการวังหีบ) อยู่ระหว่างขอรับการสนับสนุนงบประมาณ 4 โครงการ และติดปัญหาที่ต้องเร่งรัดและขับเคลื่อนอีก 5 โครงการ [9]

ต.ค. 2561 - องคมนตรี ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยม และติดตามการดำเนินงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ พื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช

พลเอกกัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี เป็นประธานการประชุมติดตามการดำเนินงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในเขตพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช โดยมีนายจำเริญ ทิพญพงศ์ธาดา ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช รองผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 4 ท่าน พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการระดับจังหวัด กรม และกระทรวง และเจ้าหน้าที่สำนักงาน กปร. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมและรายงานผลการปฏิบัติงาน [10]

ต.ค. 2561 - รองนายกรัฐมนตรี ติดตามการขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช

พลเอกฉัตรชัย  สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมติดตามการขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช ที่ห้องประชุมศรีวิชัย ศาลากลางจังหวัดนครศรีธรรมราช  โดยมี นายวิรัตน์  รักษ์พันธ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช หัวหน้าส่วนราชการ จากหลายหน่วยงาน ทั้งกรมชลประทาน กองทัพภาคที่ 4  นายอำเภอ เป็นต้น รายงานความคืบหน้าการจัดทำโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพล อดุลยเดชบรมนาถบพิตร และสถานการณ์น้ำจังหวัดนครศรีธรรมราชมีโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ทั้งหมด 66 โครงการ โดยมีโครงการใหญ่ 3 โครงการ ได้แก่  โครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองนครศรีธรรมราช  อันเนื่องมาจากพระราชดำริ, โครงการอ่างเก็บน้ำคลองสังข์ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่ อ.ทุ่งใหญ่ และโครงการวังหีบ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่ อ.ทุ่งสง [11]

พ.ย. 2561 - รมว.เกษตรฯ สั่งกรมชลฯ เดินหน้าก่อสร้างเขื่อนวังหีบ เยียวยาชาวบ้านจากผลกระทบโครงการ

มีคำสั่งจากนายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้กรมชลประทาน ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย ได้ร่วมกันเดินหน้าโครงการก่อสร้างเขื่อนวังหีบต่อเพื่อหาทางเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบอย่างรอบด้านเพื่อเร่งดำเนินโครงการก่อสร้างในปีนี้ ซึ่งขัดแย้งกับข้อสรุปของคณะทำงานที่ได้ลงพื้นที่ไปศึกษาปัญหาการต่อต้านโครงการนี้ และผลการศึกษาฯได้รายงานไปถึง พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี ที่กำกับดูแลยุทธศาสตร์น้ำของประเทศ นอกจากนี้ทางจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานดำเนินโครงการวังหีบขึ้นมาอีกครั้ง โดยคณะทำงานประกอบด้วยข้าราชการฝ่ายต่างๆ 13 คน ตั้งแต่ปลัดอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน โดยมีปลัดอำเภอหัวหน้ากลุ่มงานบริหารงานปกครอง เป็นประธาน ได้ตั้งคณะทำงานจัดหาที่ดินเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบซึ่งมีนายอำเภอทุ่งสงเป็นหัวหน้าคณะทำงาน [12]

ธ.ค. 2561 จ.นครศรีธรรมราช จัดประชุมสร้างการรับรู้และความเข้าใจให้แก่ประชาชนในระดับตำบล กว่า 1,600 คน

นายจำเริญ ทิพญพงศ์ธาดา ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นประธานเปิดการฝึกอบรม พร้อมมอบแนวทางการปฏิบัติงานเพื่อสร้างการรับรู้ และเข้าใจแก่ประชาชนในระดับตำบล โดยมีผู้นำชุมชนผู้นำท้องถิ่น จาก 165 ตำบล ทั้ง 23 อำเภอ เข้าร่วมกิจกรรมกว่า 1,600 คน โดยผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้กล่าวย้ำถึงการแนวทางด้านการบริหารจัดการน้ำเพื่อความมั่นคงด้านทรัพยากรน้ำและพลังงานในพื้นที่ว่า ทางจังหวัดได้น้อมนำแนวทางการบริหารจัดการน้ำตามแนวพระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร มาสานต่อเพื่อสร้างความมั่นคงด้านทรัพยากรน้ำ ทั้งในส่วนของโครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองนครศรีธรรมราชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โครงการอ่างเก็บน้ำคลองสังข์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ และโครงการวังหีบอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ ซึ่งขณะนี้ทั้ง 3 โครงการ มีความก้าวหน้าการดำเนินการตามลำดับ แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีประชาชนบางส่วนที่มีความเห็นต่าง และขาดข้อเท็จจริงเพื่อประกอบการตัดสินใจ จึงอยากให้ทุกคนที่เข้าร่วมกิจกรรมเป็นตัวแทนของผู้ว่าราชการจังหวัดในการนำความรู้ ความเข้าใจที่ได้รับไปถ่ายทอดต่อ โดยเน้นย้ำการสร้างความเข้าใจ และไม่สร้างความแตกแยกให้เกิดขึ้นในพื้นที่ [13]

ธ.ค. 2561 - ผู้ได้รับผลกระทบยื่นหนังสือถึงนายกระงับ 3 โครงการขนาดใหญ่ ก่อนโครงการเข้า ครม. 1 วัน

วันที่ 17 ธ.ค. 2561 ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างอ่างเก็บน้ำวังหีบ คลองสังข์ เหมืองตะกั่ว ในพื้นที่ 2 จังหวัดของภาคใต้คือ จ.นครศรีธรรมราช และ จ.พัทลุง ได้รวมตัวเดินทางเข้ากรุงเทพฯ ยื่นหนังสือให้กับ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ที่ทำเนียบรัฐบาล และยื่นให้กับนายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อขอให้ระงับ 3 โครงการขนาดใหญ่ ได้แก่ 1. โครงการวังหีบ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช 2. โครงการอ่างเก็บน้ำคลองสังข์ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.ทุ่งใหญ่ จ.นครศรีธรรมราช และ 3. โครงการอ่างเก็บน้ำเหมืองตะกั่ว อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.ป่าบอน จ.พัทลุง

กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบระบุว่าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบในพื้นที่ดังกล่าว ไม่เห็นด้วยกับโครงการ และที่ผ่านมาชาวบ้านไม่มีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจ การรับฟังความคิดเห็น ซึ่งที่ผ่านมาชาวบ้านไม่ได้รับข้อมูลหรือข้อเท็จจริงเกี่ยวกับโครงการเลย และการดำเนินการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำทั้ง 3 โครงการมีวัตถุประสงค์โครงการที่ไม่สอดคลองกับความต้องการของชาวบ้านในพื้นที่ เนื่องจากการใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่ได้เปลี่ยนไปจากเดิม และไม่มีความคุ้มค่าทางด้านเศรษฐศาสตร์ รวมไปถึงการก่อสร้างดังกล่าวส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่อย่างสมบูรณ์ ทำลายวิถีชีวิตชุมชนดั้งเดิม โดยเฉพาะในพื้นที่อ่างเก็บน้ำคลองสังข์ที่ชาวบ้าน เคยเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำกะทูน อ่างเก็บน้ำดินแดน และต้องอพยพย้ายมาที่คลองสังข์

โดยสิ่งที่ชาวบ้านคัดค้าน มีดังนี้ 1) การดำเนินงานที่ผ่านมาไม่มีส่วนร่วม เช่น กรณีเขื่อนวังหีบ มีการเสนอให้จัดหาน้ำ ตั้งแต่ปี 2523 เพื่อนำน้ำมาใช้ในการทำนา แต่ปัจจุบันไม่มีนาแล้ว กรณีเขื่อนคลองสังข์ ปี พ.ศ. 2519 มีชาวบ้านถวายฎีกา ขอพระราชทานอยากได้น้ำทำนา และเลี้ยงสัตว์ แต่เหตุการณ์ปัจจุบันเปลี่ยนหมดแล้ว ส่วนเขื่อนเหมืองตะกั่ว มีประธานสภาจังหวัดนำเสนอ ปี 2533 2) พื้นที่วังหีบและเหมืองตะกั่ว บริเวณที่จะดำเนินการโครงการเป็นแหล่งท่องเที่ยวชุมชน และมีน้ำตกสวยงาม ซึ่งถือว่าชุมชนมีแหล่งน้ำตามธรรมชาติที่สมบูรณ์อยู่แล้ว ส่วนที่คลองสังข์ มีพื้นที่โพรงน้ำใต้ดิน ยังไม่มีการสำรวจให้ชัดเจนว่าเมื่อมีโครงการมีผลต่อโพรงน้ำใต้ดินอย่างไร

3) ในขั้นตอนการมีส่วนร่วม ในช่วงที่มีการศึกษาผล กระทบสิ่งแวดล้อม กลุ่มผู้ได้รับกระทบ ไม่มีโอกาสเข้าร่วมการรับฟังความคิดเห็นและไม่ได้แสดงความคิดเห็นเท่าที่ควรจะเป็น แต่ไปเอากลุ่มนอกพื้นที่ หรือกลุ่มอื่นๆ มาแทน 4) กระทบต่อชุมชน เป็นที่ทราบว่าชุมชนไม่อยากจะย้ายไปไหนทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นอย่างไรก็ตาม เพราะไม่มีพื้นที่ทำกินอื่นที่จะอุดมสมบูรณ์เหมือนที่อยู่ปัจจุบัน

เพื่อป้องกันการเกิดปัญหาดังกล่าว และให้เกิดการดำเนินโครงการบริหารจัดการน้ำอย่างเหมาะสมยั่งยืนและคืนความสุขให้แก่ประชาชนอย่างแท้จริง ชุมชนที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบทั้ง 3 โครงการอันประกอบไปด้วย ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างอ่างเก็บน้ำวังหีบ คลองสังข์ เหมืองตะกั่ว มีข้อเรียกร้อง ดังนี้ 1. ให้ยกเลิกโครงการสร้างอ่างเก็บน้ำ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ทั้ง 3 โครงการ ดังที่ได้กล่าวไปข้างต้น และ 2. ให้คณะทำงานบริหารจัดการน้ำแบบมีส่วนร่วมในพื้นที่อำเภอทุ่งสงและลุ่มน้ำวังหีบ และคณะศึกษาข้อเท็จจริงและแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง โครงการพัฒนาแหล่งน้ำ ภายใต้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร) ซึ่งเป็นคณะทำงานที่มีตัวแทนของชาวบ้านผู้มีส่วนได้และผู้ได้รับผลกระทบในพื้นร่วมอยู่ด้วย กลับมาดำเนินงานต่อให้แล้วเสร็จ เนื่องจากที่ผ่านมาชาวบ้านและคณะทำงาน ได้ร่วมกันศึกษาข้อเท็จจริงในพื้นที่และทางวิชาการ รวมไปถึงการศึกษาถึงแนวทางเลือกอื่นที่เหมาะสมและตรงกับความต้องการของชาวบ้าน [14]

ธ.ค. 2561 - ครม. อนุมัติให้เข้าใช้พื้นที่สำหรับการก่อสร้างโครงการวังหีบอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.นครศรีธรรมราช

วันที่ 18 ธ.ค. 2561 คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ให้พิจารณาอนุมัติโครงการวังหีบอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.นครศรีธรรมราช ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอดังนี้ 1. อนุมัติในหลักการให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กรมชลประทาน) ดำเนินโครงการวังหีบอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดนครศรีธรรมราช มีกำหนดแผนงานโครงการ 5 ปี (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2562-2566) กรอบวงเงินงบประมาณโครงการทั้งสิ้น 2,377.644 ล้านบาท และให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์รับความเห็นของกระทรวงการคลัง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย สำหรับงบประมาณดำเนินโครงการให้เป็นไปตามความเห็นของสำนักงบประมาณ ทั้งนี้ ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ชี้แจงและทำความเข้าใจกับราษฎรในพื้นที่ และผู้ที่ได้รับผลกระทบให้ได้ข้อยุติก่อนดำเนินการตามโครงการต่อไป 2.อนุมัติผ่อนผันมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 พ.ค. 2528 และ 12 ธ.ค. 2532 กรณี การขอใช้พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เอ เพื่อให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กรมชลประทาน) สามารถเข้าใช้พื้นที่สำหรับ การก่อสร้างโครงการวังหีบอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดนครศรีธรรมราช ต่อไป และ 3. มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามแผนปฏิบัติการป้องกัน แก้ไขและลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม และแผนปฏิบัติการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กรมชลประทาน) เสนออย่างเคร่งครัด [15]

ธ.ค. 2561 - ชุมชนวังหีบตึงเครียดหลังมติ ครม.เดินหน้าโครงการวังหีบ

หลัง ครม. อนุมัติให้เข้าใช้พื้นที่สำหรับการก่อสร้างโครงการวังหีบ ชาวบ้านวังหีบเปิดเผยต่อสื่อมวลชนว่าชาวบ้านได้รวมเงินกันเพื่อสร้างประตูป้องกันไม่ให้บุคคลภายนอกเข้ามาในชุมชน แต่กลับมีเจ้าหน้าที่รัฐมายึดเอาหลักประตูไปไว้ที่สถานีตำรวจ และสอบถามหาตัวแกนนำเพื่อที่จะดำเนินคดี แต่ชาวบ้านบอกว่าไม่มีแกนนำ

ชาวบ้านระบุว่าถูกดันอย่างหนัก ตามหาแกนนำว่าเป็นใคร แต่ชาวบ้านยืนยันแล้วว่าไม่มีแกนนำ สิ่งที่ชาวบ้านต้องการคือ ให้มีคณะกรรมการที่เป็นกลาง น่าจะบรรเทาสถานการณ์เพื่อให้เกิดการพูดคุย ไม่เช่นนั้นหวั่นว่าสถานการณ์จะบานปลาย เพราะชาวบ้านไม่ยอมแน่นอน [16]

ธ.ค. 2561 - ภาคประชาชนประณามรัฐคุกคามชาวบ้าน

เครือข่ายเพื่อนวังหีบเพื่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นการรวมตัวของกลุ่มองค์กรภาคประชาสังคม นักอนุรักษ์ ศิลปิน สื่อมวลชน ประชาชนทั่ว ภาคใต้ และภาคีภาคอื่นๆ ได้ออกแถลงการณ์ พร้อมประกาศเจตนารมณ์ในพื้นที่เรื่อง เราจะร่วมกัน อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม และคัดค้านการสร้างเขื่อนวังหีบอย่างถึงที่สุด โดยระบุใจความว่า ตามที่รัฐบาลได้มีการอนุมัติโครงการสร้างเขื่อนวังหีบในพื้นที่อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 2561 ที่ผ่านมานั้น ถือเป็นการอนุมัติโครงการที่ไร้เหตุผล เพราะมิได้ตั้งอยู่บนฐานข้อเท็จจริงของสภาพพื้นที่ ซึ่งเชื่อว่ากรมชลประทานไม่ได้นำเสนอข้อมูลลักษณะนี้ให้รัฐบาลได้รับทราบ เพียงแต่อ้างเหตุผลว่าต้องการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมเพื่อการเกษตร และการท่องเที่ยวให้กับประชาชนในพื้นที่เพียงเท่านั้น

หากแต่ในความเป็นจริง ความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอำเภอทุ่งสงและจังหวัดนครศรีธรรมราช ที่มีทั้งผืนป่าอันเป็นต้นน้ำลำธารที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของภาคใต้ และเชื่อว่าโครงการนี้จะสร้างความสูญเสียให้กับชุมชนและทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมอย่างไม่อาจเรียกกลับคืนได้ ดังนั้นการตัดสินอนุมัติโครงการของรัฐบาลในครั้งนี้ ถือเป็นความผิดพลาดอย่างยิ่งที่พวกเราไม่สามารถยอมรับได้

"เราขอประณามรัฐบาลที่ไม่ยอมรับฟังข้อเท็จจริงจากเสียงของประชาชนในพื้นที่ รวมทั้งการกระทำอื่นใดที่กำลังเกิดขึ้นเพื่อแสดงถึงการคุกคามประชาชนบ้านวังหีบ พร้อมกับขอประกาศว่า เราจะยืนหยัดร่วมต่อสู้กับพี่น้อง ชาววังหีบและประชาชนทุกกลุ่มที่ได้ออกมาคัดค้านโครงการนี้อย่างเต็มกำลัง ในทุกระดับ ทั้งในระดับพื้นที่ ระดับภาคใต้ และระดับประ เทศ เพื่อที่จะไม่ให้โครงการเขื่อนวังหีบเกิดขึ้นในพื้นที่แห่งนี้ได้อีกต่อไป" แถลงการณ์ระบุ [17]

ธ.ค. 2561 - องคมนตรี ติดตามโครงการพัฒนาแหล่งน้ำในเขตพื้นที่ภาคใต้ รวม 5 โครงการ

ปลายเดือน ธ.ค. 2561 พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี ในฐานะประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริพื้นที่ภาคใต้ เป็นประธานการประชุมติดตาม และขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ด้านพัฒนาแหล่งน้ำในเขตพื้นที่ภาคใต้ รวม 5 โครงการ ประกอบด้วย 1) โครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำเหมืองตะกั่วอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ต.หนองธง อ.ป่าบอน จ.พัทลุง 2) โครงการอ่างเก็บน้ำเขาพลูพร้อมระบบส่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ต.บางสัก อ.กันตัง จ.ตรัง 3) โครงการอ่างเก็บน้ำคลองสังข์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ต.กรุงหยัน อ.ทุ่งใหญ่ จ.นครศรีธรรมราช 4) โครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองนครศรีธรรมราชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.นครศรีธรรมราช และ 5) โครงการวังหีบอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ต.นาหลวงเสน อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช ปัจจุบันทั้ง 5 โครงการ อยู่ระหว่างดำเนินการรวมถึงการสร้างความเข้าใจกับราษฎรบางส่วนที่อยู่ในพื้นที่

พร้อมกันนี้องคมนตรี ได้ให้ข้อเสนอแนะแนวทางในการขับเคลื่อนการดำเนินงานโครงการฯ เพื่อสนองพระราโชบายของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงสืบสานโครงการที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร พระราชทานไว้บังเกิดผลสำเร็จโดยเร็ว โดยขอให้ทุกหน่วยงานร่วมกันบูรณการแก้ไขปัญหาต่างๆ รวมถึงสร้างความเข้าใจกับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ถึงผลประโยชน์ที่จะได้รับจากโครงการฯ ทั้งนี้ก็เพื่อประโยชน์สุขที่จะเกิดขึ้นทั้งกับตนเองและลูกหลานในอนาคต ต่อไป [18]

 

ข้อมูลอ้างอิง
[1] กอ.รมน.จังหวัดนครศรีธรรมราช ร่วมกับคณะทำงานแก้ไขปัญหาการพัฒนาแหล่งน้ำโครงการวังหีบ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ (ร.9) จังหวัดนครศรีธรรมราช จัดประชุมชี้แจงทำความเข้าใจกับราษฎรผู้ได้รับผลกระทบ (สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์, 10/1/2561)
[2] ผู้อำนวยการสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 10 เผย ความคืบหน้าในการดำเนินโครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองนครศรีธรรมราช อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เร่งสร้างความเข้าใจกับประชาชนที่ได้รับผลกระทบ พร้อมจ่ายค่าชดเชย เยียวยา (สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์, 21/2/2561)
[3] แกนนำ ต้านเขื่อนวังหีบ ถูกขู่อุ้มเหตุ กลุ่มอิทธิพลหวั่นเสียผลประโยชน์ (มติชนออนไลน์, 28/2/2561)
[4] 1 มี.ค.61 กรมชลฯ ชี้แจงข่าวกรณีแกนนำกลุ่มต่อต้านโครงการอ่างเก็บน้ำวังหีบ ถูกข่มขู่ (กรมชลประทาน, 1/3/2561)
[5] จ.นครศรีธรรมราช เตรียมจัดตั้งกองทุนการขับเคลื่อนโครงการพระราชดำริ เพื่อระดมทุนช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบทั้ง 3 โครงการ (สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์, 1/3/2561)
[6] ผู้อำนวยการสำนักงานประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และความมั่นคง กองทัพบก ติดตามผลการดำเนินงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์, 23/4/2561)
[7] กรมชลประทาน เตรียมเปิดหัวงานโครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองนครศรีธรรมราชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ หลังได้ผู้รับจ้างในสัญญาที่ 1 วงเงิน 694 ล้านบาท (สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์, 1/5/2561)
[8] ผวจ.นครศรีธรรมราช ห่วงใยผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการด้านบริหารจัดการน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ หลังพบกลุ่มผู้ไม่หวังดีจากต่างจังหวัดเข้าพื้นที่สร้างความสับสน (สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์, 20/6/2561)
[9] “องคมนตรี”ติดตาม-ขับเคลื่อนโครงการพระราชดำริด้านแหล่งน้ำภาคใต้ (มติชนออนไลน์, 31/7/2561)
[10] องคมนตรี ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยม และติดตามการดำเนินงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ พื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช (สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์, 10/10/2561)
[11] รองนายกรัฐมนตรี ติดตามการขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช เน้นย้ำให้สร้างความเข้าใจ เพื่อไม่ให้ประชาชน เกิดความสับสน (สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์, 31/10/2561)
[12] "กฤษฏา” สั่งกรมชลฯเดินหน้าโครงการก่อสร้างเขื่อนวังหีบ (สยามรัฐออนไลน์, 30/11/2561)
[13] จ.นครศรีธรรมราช จัดประชุมสร้างการรับรู้ และความเข้าใจให้แก่ประชาชนในระดับตำบล กว่า 1,600 คน เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมการขับเคลื่อนการพัฒนาจังหวัดนครศรีธรรมราช (สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์, 6/12/2561)
[14] จี้ “บิ๊กตู่” เลิกสร้าง “3 เขื่อนใหญ่” ชาวนครฯ-พัทลุงบุกทั้งที่ทำเนียบและ ก.เกษตรฯ (ผู้จัดการออนไลน์, 17/12/2561)
[15] ขออนุมัติดำเนินโครงการวังหีบอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดนครศรีธรรมราชและขออนุมัติผ่อนผันมติคณะรัฐมนตรีในการขอใช้พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เอ (ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 18 ธันวาคม 2561)
[16] ชุมชนวังหีบตึงเครียด-หวั่นบานปลาย ชาวบ้าน-รัฐ เผชิญหน้า (สยามรัฐออนไลน์, 22/12/2561)
[17] ปักหลักต้าน 'เขื่อนวังหีบ' ประณามรัฐคุกคามชาวบ้านในพื้นที่ (ไทยโพสต์, 23/12/2561)
[18] องคมนตรี ติดตามโครงการอ่างเก็บน้ำ ป่าพะยอม จะพัทลุงในรัชกาลที่ 9เพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้ง-อุทกภัย (ศูนย์ข่าวแปซิฟิก, 26/12/2561)

 

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: