คนไทยรู้ยัง: ตลาด ‘ปลากระป๋อง’ ไทย มีมูลค่ากว่า 8-9 พันล้านบาท

ทีมข่าว TCIJ: 25 ม.ค. 2562 | อ่านแล้ว 15500 ครั้ง

ปัจจุบันตลาดปลากระป๋องในไทยมีมูลค่าถึง 8-9 พันล้านบาท แต่ถือว่าอยู่ในช่วงชะลอตัว เกิดวิกฤตครั้งแรกในรอบ 30 ปีเมื่อปี 2560 จากปัจจัยทางเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบในแง่กำลังซื้อและทำให้ผู้บริโภคลดการจับจ่าย ผนวกกับปัญหาการขาดแคลนปลาซึ่งเป็นวัตถุดิบหลัก พบคนไทยนิยมแบรนด์ ‘สามแม่ครัว-โรซ่า-ซูเปอร์ซีเชฟ’ มากที่สุด Infographic by TCIJ/Racha Luangborisut (CC BY-NC 2.0)

ปัจจุบันภาพรวมตลาดปลากระป๋องมูลค่ากว่า 8-9 พันล้านบาท แต่ถือว่ามีการเติบโตชะลอตัวจากปกติตลาดจะสามารถเติบโตเฉลี่ยปีละ 7-8% ซึ่งในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาขยายได้แค่ 2-3% ก่อนที่จะติดลบในปี 2560 ซึ่งถือว่าวิกฤตหนักครั้งแรกในรอบ 30 ปี จากปัจจัยทางเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบในแง่กำลังซื้อและทำให้ผู้บริโภคลดการจับจ่าย ผนวกกับปัญหาการขาดแคลนปลาซึ่งเป็นวัตถุดิบหลัก

เมื่อต้นปี 2562 บริษัท รอแยลฟู้ดส์ จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายปลากระป๋องแบรนด์ 'สามแม่ครัว' เปิดเผยว่าปัจจุบันตลาดปลากระป๋องยังคงอยู่ในภาวะชะลอตัว และปี 2562 นี้วัตถุดิบหลักในการผลิต ปลาแมกเคอเรลขาดแคลน บวกกับบริษัทเน้นวัตถุดิบที่มีคุณภาพและขนาดเท่ากัน จึงทำให้ขาดแคลนมากขึ้น เนื่องจากวัตถุดิบที่จะใช้ในการผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการ ในปี 2561 ที่ผ่านมา บริษัทต้องหันมาเน้นเพิ่มกำลังการผลิตปลาซาร์ดีนแทน ถือเป็นการแก้ไขปัญหาส่วนหนึ่ง แม้ว่าความนิยมของตลาดผู้บริโภคจะนิยมปลาแมกเคอเรลในซอสมะเขือเทศมากกว่าก็ตาม จากแนวทางดังกล่าวบริษัทจึงวางแผนปั้นแบรนด์สามแม่ครัวส่งออกสู่ตลาดโลก โดยเน้นผลิตภัณฑ์กลุ่มซอสมะเขือเทศเป็นหลัก ซึ่งปัจจุบันมีการจำหน่ายออกไปในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อาทิ เมียนมา เวียดนาม กัมพูชา โดยตั้งเป้าหมายไว้ภายใน 5 ปีจากนี้ สัดส่วนรายได้ต่างประเทศจะเพิ่มเป็น 20-30% จากรายได้รวมทั้งหมด ขณะที่ปัจจุบันยอดขายต่างประเทศอยู่ที่ 10% และในประเทศ 90% นอกจากนี้ แบรนด์ 'สามแม่ครัว' จะขยายการจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น เพื่อรองรับเทรนด์ผู้บริโภคนิยมซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ รวมทั้งได้แตกไลน์ผลิตภัณฑ์ปลากระป๋องในกลุ่มเมนูพิเศษมากขึ้น จากเดิมที่มีจำหน่ายมากกว่า 10 เมนู อาทิ ฉู่ฉี่ คั่วกลิ้ง มัสมั่น และน้ำพริก ในราคากระป๋องละ 22 บาท เพื่อขยายฐานผู้บริโภครุ่นใหม่ที่มีไลฟ์สไตล์เร่งรีบ และที่ผ่านมาถือว่าได้รับเสียงตอบรับที่ดีจากผู้บริโภค

ด้านแบรนด์ 'โรซ่า' (บริษัท ไฮคิวผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด) เผยว่าในปี 2561 ที่ผ่านมาถือเป็นปีแรกที่ตลาดปลากระป๋องติดลบถึง 4% เนื่องจากการขาดแคลนปลาซึ่งเป็นวัตถุดิบหลัก และที่ผ่านมาผู้ประกอบการต้องแบกรับต้นทุนราคาปลาที่เพิ่มถึง 20-30% อาจส่งผลให้มีการปรับราคาปลากระป๋องเพิ่มขึ้น ทำให้ผู้บริโภคหันไปเลือกสินค้าอย่างอื่นทดแทน โดยวัตุดิบหลักมากกว่า 50% นำเข้าจากจีน ญี่ปุ่น เวียดนาม และเมียนมา [1]

ทั้งนี้ จากการประเมินของ Marketeer Online เมื่อเดือน พ.ค. 2561 ระบุว่าสินค้าปลากระป๋องในประเทศไทยมีเกือบ 20 แบรนด์ โดยแบรนด์ที่ได้รับความนิยมสูงสุดมี 3 แบรนด์ ได้แก่ 'สามแม่ครัว' มีส่วนแบ่งตลาด 35% 'โรซ่า' 15% 'ซุปเปอร์ซีเชฟ' 10% และแบรนด์อื่นๆ ที่เหลือรวมกันอีก 40% [2]

 

อ้างอิง
[1] ปลากระป๋องติดลบในรอบ 30 ปี สามแม่ครัว-โรซ่า-ปุ้มปุ้ยฝ่าวิกฤต 9 พันล้าน (ประชาชาติธุรกิจ, 7/1/2562)
[2] ปลากระป๋อง ไม่ว่ายไป “เกมราคา” ก็ต้องหา “ทางออก” (Marketeer Online, 10/5/2561)

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: