คนไทยออกกำลังกายเพิ่ม 70% นิยมเดินเป็นหลัก

กองบรรณาธิการ TCIJ 7 ต.ค. 2562 | อ่านแล้ว 3369 ครั้ง

คนไทยออกกำลังกายเพิ่ม 70% นิยมเดินเป็นหลัก

สสส. ระบุปัจจุบันคนไทยหันมารักษาสุขภาพและออกกำลังกายกันมากขึ้น สังเกตได้จากการวิ่งที่มีนักวิ่งในประเทศรวมแล้วกว่า 17 ล้านคน มีการจัดงานวิ่งในทั่วภูมิภาคทุกสัปดาห์ ราวๆ 2,000 งานต่อปี นอกจากนี้ยังพบว่าคนไทยกว่า 70% ออกกำลังกายด้วยการเดินเป็นหลัก ที่มาภาพประกอบ: ตำบลท่ากว้าง เดิน วิ่ง ปั่น ฮอมบุญ 62

ผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่าการออกกำลังเพื่อทำให้สุขภาพที่ดีนั้นมีหลากหลายวิธีการ แต่กิจกรรมอย่างหนึ่งที่ถือว่าง่ายที่สุดของมนุษย์นั่นก็คือการเดิน และถัดมาก็คงเป็นการปั่นจักรยาน แต่นั่นก็อาจจะไม่ใช่เรื่องง่ายในเมืองไทยที่จะสามารถเดินหรือปั่นกันอย่างได้สะดวกสบายจากปัญหาทั้งถนน ทางเท้า และความมีวินัยทางจราจรที่บกพร่องของผู้ใช้ถนนบางส่วนจนทำให้เกิดอุบัติเหตุตามมาอย่างที่เป็นข่าวบ่อยครั้ง ซึ่งล่าสุดทางสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ร่วมกับสถาบันการเดินและการจักรยานไทย จัดประชุมการส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน ครั้งที่ 7 (The 7th Thailand Bike and Walk Forum) ในหัวข้อ ส่งเสริมเดิน ปั่น เพิ่มกิจกรรมทางกาย ระดับท้องถิ่น สร้างสุขภาพดีให้เมืองให้โลก “Think Globally, Bike – Walk Locally” ณ อาคารเคเอกซ์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เมื่อวันที่ 21 ก.ย. 2562 ที่ผ่านมา

โดย นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส.กล่าวว่า ปัจจุบันคนไทยหันมารักษาสุขภาพและออกกำลังกายกันมากขึ้น สังเกตได้จากการวิ่งที่มีนักวิ่งในประเทศรวมแล้วกว่า 17 ล้านคน มีการจัดงานวิ่งในทั่วภูมิภาคทุกสัปดาห์ ราวๆ 2,000 งานต่อปี นอกจากนี้ยังพบว่าคนไทยกว่า 70% ออกกำลังกายด้วยการเดินเป็นหลัก ขณะที่การส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน ก็เป็นเป้าหมายหนึ่งในการดำเนินงานเพื่อส่งเสริมให้คนไทยมีกิจกรรมทางกายหมายถึงการขยับเคลื่อนไหวร่างกายในชีวิตประจำวันทั้งการทำงาน และการเดินทาง โดยการเดินหรือปั่นจักรยาน และกิจกรรมนันทนาการที่เพียงพอ เพื่อลดพฤติกรรมเนือยนิ่ง รวมถึงแก้ไขปัญหาในมิติด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ที่ควรได้รับการส่งเสริมสนับสนุนจากทางภาครัฐ ภาคเอกชน เพื่อให้เกิดการตื่นตัวและสร้างการรับรู้ในภาคประชาสังคม ตอบโจทย์รูปแบบการพัฒนาขององค์การสหประชาชาติ มุ่งเน้นความสำคัญและกำหนดให้มีเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลก

ทั้งนี้องค์การอนามัยโลก ได้มีคำแนะนำประชากรที่มีอายุ 18-59 ปี ควรมีกิจกรรมทางกายระดับปานกลาง อย่างน้อย 150 นาที/สัปดาห์ ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ควรมีกิจกรรมทางกายระดับปานกลาง อย่างน้อย 150 นาที/สัปดาห์ หรือ 75 นาที สำหรับระดับความหนักมาก วัยทำงานควรมีกิจกรรมทางกาย ระดับกลาง-หนัก 150 นาที/สัปดาห์ เด็กและวัยรุ่น 6-17 ปี ควรมีกิจกรรมทางกายสะสมอย่างน้อย 60 นาทีต่อวัน เช่น การเดินเท้า ใช้เวลา 15 นาที ได้ระยะทางประมาณ 1 กิโลเมตร และถ้าปั่นจักรยาน ใช้เวลา 15 นาที ระยะทางประมาณ 3 กิโลเมตร พร้อมตั้งเป้าบรรลุผลให้ได้ใน พ.ศ.2573 โดยมีแผนปฏิบัติการส่งเสริมการมีกิจกรรมทางกาย 4 ยุทธศาสตร์ คือ 1.การมุ่งสร้างบรรทัดฐานและทัศนคติเชิงบวกต่อการมีกิจกรรมในสังคมด้วยความรู้และความเข้าใจ (Active Societies) 2.การจัดการกายภาพและโครงสร้างพื้นฐานทางสิ่งแวดล้อมให้เอื้อต่อกิจกรรมด้วยความเท่าเทียมกัน (Active Environments) 3.การสนับสนุนให้มีกิจกรรมทุกช่วงวัยของชีวิต (Active People) และ 4.นโยบาย มาตรการของภาครัฐส่วนกลาง และท้องถิ่น ที่สนับสนุนให้เอื้อต่อการมีกิจกรรม (Active Systems) และ 20 แผนงานในการส่งเสริมให้พลเมืองมีกิจกรรมทางกายเพิ่มมากขึ้นอย่างน้อย 15% ในปี 2571 โดยการขับเคลื่อนเพื่อส่งเสริมการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน นั้น มีแนวทางการทำงาน 4 ด้าน คือ นโยบายการผลักดันการขับเคลื่อนภาคนโยบาย , การจัดการความรู้ การส่งเสริมใช้จักรยานในวิถีชีวิต , สร้างพื้นที่สุขภาวะต้นแบบ และ การพัฒนาขีดความสามารถ

ขณะที่การประชุมได้มีการแบ่งเป็น 4 กลุ่มยุทธศาสตร์ เพื่อนำเสนองานวิจัยและงานปฏิบัติการจากระดับพื้นที่ที่ส่งเสริมให้คนในเมือง ในชุมชน เลือกเดินทางด้วยการเดิน หรือใช้จักรยาน จากหลายๆ แห่ง อาทิ ซ.งามดูพลี เขตสาทร กทม. , เทศบาลนครหาดใหญ่ จ.สงขลา , เทศบาลตำบลนาทวี อ.นาทวี จ.สงขลา , เทศบาลเมืองระนอง จ.ระนอง , เทศบาลนครพิษณุโลก จ.พิษณุโลก , เทศบาลนครตรัง จ.ตรัง , การออกแบบการเดินทางเชื่อมต่อท่าอากาศยานน่านคร และชุมชน , การเสริมสร้างการเดินหรือใช้จักรยานเพื่อการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม อ.เชียงคำ จ.พะเยา เป็นต้น โดยพบประเด็นร่วมคือการปรับทัศนคติของคนในสังคม ภาวะของผู้นำท้องถิ่นในการจัดการ และสภาพแวดล้อมที่บางแห่งยังไม่เอื้ออำนวยต่อการเดินและปั่น

นอกจากนี้ยังมีการนำเสนองานวิจัยของ พญ.ฐิติภรณ์ ตวงรัตนานนท์ แพทย์ชำนาญการศูนย์อนามัยที่ 10 อุบลราชธานี กรมอนามัย ที่แสดงให้เห็นถึงปัญหาของกิจกรรมทางกายในการเดินทางโดยเฉพาะจักรยานซึ่งพบอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับจักรยานในไทยนั้นมีสูงถึง 72% ส่วนเลนจักรยานก็มีปัญหาทั้งในเรื่องของนโยบายที่ให้จัดทำแต่ก็กลับไม่มีการควบคุมดูแล ปล่อยให้รถอื่นๆ เข้ามาจอดทับจนขี่ไม่ได้ และเมื่อมองไปถึงกลุ่มผู้สูงอายุก็กลับพบว่าส่วนใหญ่อยากให้มีสวนสาธารณะเพื่อเดินออกกำลังมากกว่าเลนจักรยาน

ส่วนในช่วงท้ายได้มีการเสวนาจากตัวแทนภาคส่วนต่างๆ โดยนางนงพะงา ศิวานุวัฒน์ นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญ กองกิจกรรมทางกายเพื่อสุขภาพ กรมอนามัย เปิดถึงทิศทางจากภาครัฐบาลว่า การเดินและปั่นนั้นอยู่ในกิจกรรมยามว่างตามแผนยุทธศาสตร์ที่ 2 ของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งอยู่ในระหว่างขับเคลื่อนเชิงปฏิบัติการให้สัมฤทธิ์ผล แต่ทั้งนี้ผู้ที่ออกกำลังกายเองก็ต้องคำนึงถึงสุขภาพและโรคประจำตัวของตนด้วย ด้านนายจำลักษณ์ กันเพ็ชร์ ผู้ตรวจราชการ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ในท้องถิ่นได้มีการตื่นตัวในเรื่องของการปั่นจักรยานมากขึ้น ตั้งแต่โครงการ ไบค์ ฟอร์ มัม ที่ผ่านมา แต่ปัญหายังอยู่ที่ความต่อเนื่อง และการจัดการจราจรที่ไม่เหมาะสม ส่วนการสร้างเลนจักรยานก็มีปัญหาว่าหากทำเสร็จแล้วแต่ไม่มีผู้ใช้หรือมีรถมาจอดทับที่ก็จะโดนตรวจสอบว่าทำแล้วใช้การไม่ได้ จึงทำให้การที่จะมีเลนจักรยานครบทุกท้องถิ่นเป็นไปได้ยาก ทั้งนี้ได้เสนอให้ที่ประชุมนำข้อเสนอไปเสนอต่อที่ประชุมสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย เพื่อปรับเปลี่ยนวิธีคิด แต่ก็ต้องเสนอช่องทางในการหางบประมาณให้กับแต่ละท้องถิ่นด้วย

ทางด้าน นายชัยชนะ มีศิริ ผู้อำนวยการสำนักงานช่าง สำนักงานเทศบาลนครพิษณุโลก ตัวแทนของท้องถิ่นที่ประสบความสำเร็จในการใช้จักรยานได้เปิดเผยว่า ปัจจุบันชาวพิษณุโลกหันมาใช้จักรยานกันมากขึ้น โดยเริ่มแรกทางเทศบาลได้คิดหาวิธีที่จะให้คนหันมาปั่นจากการสร้างเนินชะลอความเร็วในพื้นที่ชุมชนเพื่อให้รถขับช้าลง ซึ่งคนใช้ก็แสดงความไม่เห็นด้วย แต่เมื่อคนในชุมชนสนับสนุนโครงการจึงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในพื้นที่อื่นๆ ทั้งนี้ตนมองว่าถ้าท้องถิ่นมีความตั้งใจจริงชัดเจนและทำให้เกิดการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน ทั้งการพูดคุย และทำให้รู้สึกว่าสิ่งที่รัฐทำให้นั้นเพื่อเป็นของประชาชนจริงๆ โครงการก็จะสำเร็จได้

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: