กกร.ประกาศคุม รพ.เอกชน ค่ายา-รักษาแพงเกินจริง

กองบรรณาธิการ TCIJ 5 มิ.ย. 2562 | อ่านแล้ว 1810 ครั้ง

กกร.ประกาศคุม รพ.เอกชน ค่ายา-รักษาแพงเกินจริง

กระทรวงพาณิชย์กำหนด 3 มาตรการควบคุมราคายา เวชภัณฑ์และค่าบริการทางการแพทย์ ให้โรงพยาบาลเอกชนต้องแจ้งราคาซื้อขายยา แสดงข้อมูลและประเมินค่ารักษา รวมถึงการรักษาที่สมเหตุสมผล หากฝ่าฝืนมีโทษตามกฎหมาย ที่มาภาพประกอบ: DarkoStojanovic (CC0)

Thai PBS รายงานว่า นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 29 พ.ค. 2562 ที่ผ่านมา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ได้ลงนามประกาศ กกร. ฉบับที่ 52 พ.ศ. 2562 เรื่อง การแจ้งราคา การกำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไขเกี่ยวกับการจำหน่ายยารักษาโรค เวชภัณฑ์ ค่าบริการรักษาพยาบาล บริการทางการแพทย์และบริการอื่นของสถานพยาบาล โดยให้มีผลใช้บังคับนับแต่วันถัดจากวันประกาศเป็นต้นไป มาตรการดังกล่าวประกอบด้วย 3 หลักการสำคัญ คือ

1. ราคาโปร่งใส เป็นธรรม (Fair Price) ให้โรงพยาบาลเอกชน ผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้จำหน่ายส่ง ต้องแจ้งราคาซื้อ ราคาจำหน่ายยา เวชภัณฑ์ ค่าบริการฯ ตามรายการที่อยู่ในบัญชีเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่ (UCEP) และในอนาคตจะขยายผลให้ครอบคลุมรายการยาตามรหัสบัญชีข้อมูลยาและรหัสยามาตรฐานไทย (TMT)

กรณีที่โรงพยาบาลจะมีการเปลี่ยนแปลงราคายา ต้องแจ้งให้กรมการค้าภายในทราบก่อนปรับราคา แต่หากไม่แจ้งราคาซื้อ ราคาจำหน่ายตามที่ประกาศกำหนด จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และปรับอีกไม่เกินวันละ 2,000 บาท ตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืน หรือจนกว่าจะแจ้ง

2. ผู้บริโภคต้องมีทางเลือก (Consumers’ Choices) ดังนี้

- ให้โรงพยาบาลเอกชนแสดง QR Code ข้อมูลเปรียบเทียบราคาจำหน่ายยาที่กรมการค้าภายในจัดทำไว้อย่างเปิดเผย ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลดังกล่าวได้โดยสะดวก

- โรงพยาบาลเอกชนประเมินค่ารักษาเบื้องต้นให้ผู้ป่วยทราบ และต้องแจ้งราคายา เวชภัณฑ์และค่าบริการทางการแพทย์ให้ผู้ป่วยทราบ ก่อนจำหน่ายหรือให้บริการ เมื่อผู้ป่วยร้องขอ

- ในการจำหน่ายยาสำหรับผู้ป่วยนอก ให้โรงพยาบาลต้องออกใบสั่งยาตามมาตรฐานการประกอบวิชาชีพเวชกรรม และใบแจ้งราคายา ให้ผู้ป่วยทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ ใบสั่งยาอย่างน้อยต้องประกอบด้วยชื่อสามัญทางยา ชื่อทางการค้า รูปแบบยา ขนาดหรือปริมาณ จำนวน วิธีใช้ ระยะเวลาในการใช้ ส่วนใบแจ้งราคายาต้องประกอบด้วยชื่อยาตามใบสั่งยาและราคาต่อหน่วย

ทั้งนี้ หากไม่ปฏิบัติตามจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

3. การรักษาที่สมเหตุสมผล (Reasonable Treatment) ให้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการในส่วนกลางและส่วนจังหวัดเป็นผู้พิจารณาวินิจฉัย กรณีมีข้อร้องเรียนเกี่ยวกับการให้บริการรักษาพยาบาลที่เกินความจำเป็น และ/หรือการคิดค่าบริการรักษาพยาบาลสูงเกินสมควร โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 15 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 ซึ่งหากเห็นว่ามีการคิดราคาสูงเกินสมควรจริง จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี ปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: