ผู้ผลิตรองเท้าส่งออกแนะรัฐบาลใหม่ทบทวนแรงงานขั้นต่ำใหม่

กองบรรณาธิการ TCIJ 5 เม.ย. 2562 | อ่านแล้ว 2715 ครั้ง

ผู้ผลิตรองเท้าส่งออกแนะรัฐบาลใหม่ทบทวนแรงงานขั้นต่ำใหม่

ผู้ผลิตรองเท้าส่งออกแนะรัฐบาลใหม่ทบทวนค่าแรงขั้นต่ำใหม่ ย้ำหากขึ้นทีเดียวเป็น 400-450 บาทต่อวัน ปิดโรงงานย้ายฐานผลิตแน่ ที่มาภาพ: สำนักข่าวไทย

สำนักข่าวไทย รายงานเมื่อวันที่ 31 มี.ค. 2562 ว่านายสัมพันธ์ เกียรติสามารถ ประธานกรรมการ บริษัท บาซินี เอนเตอร์ไพรส์ จำกัด กล่าวว่าไม่รู้พรรคไหนจะเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ แต่หากมีการพิจารณาให้ขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ จากปัจจุบัน 300 บาท เป็น 400-450 บาทต่อวัน เชื่อว่าจะทำให้ผู้ผลิตสินค้าไทยจำนวนมากได้รับผลกระทบอย่างหนัก ขณะนี้ผู้ส่งออกส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจากความผันผวนค่าเงินบาทหนักอยู่แล้ว หากปรับค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำเพิ่มอีกบริษัทที่มีพนักงานคนไทย 300-400 คนต้องตกงานและถึงขั้นย้ายฐานผลิตรองเท้าไปประเทศเพื่อนบ้านทั้งเมียนมาและลาวแทน เพราะไม่สามารถรับภาระต้นทุนที่สูงขึ้นได้จากค่าจ้างแรงงานที่จะปรับเพิ่มขึ้น จึงอยากให้รัฐบาลใหม่ทบทวนและชั่งน้ำหนักผลดีและผลเสียที่จะตามมาด้วย

ทั้งนี้ ปัจจุบันบริษัทมีฐานการผลิตรองเท้าถึง 3 โรงงาน โดยโรงงานแรกอยู่ที่จังหวัดนครปฐมมีพนักงานเป็นคนไทยทั้งหมด 300-400 คน โรง 2 สังขละบุรี ใกล้ชายแดนด่านเจดีย์สามองค์ จังหวัดกาญจนบุรี มีพนักงานเป็นคนเมียนมากว่า 600 คน เป็นแรงงานต่างด้าวเช้าไปเย็นกลับถูกกฎหมายและแรงงานที่มีฝีมือตัดเย็บรองเท้าได้อย่างมีคุณภาพสูง โดยได้รับค่าจ้างรายวันคนละ 150-250 บาท และโรงสุดท้ายจะอยู่ในเมียนมา ดังนั้น หากค่าแจ้งแรงงานของไทยปรับเพิ่มขึ้นอีกคงต้องพิจารณาโรงงานที่จังหวัดนครปฐมอาจถึงขั้นปิดโรงงานนี้ได้

อย่างไรก็ตาม บริษัทเป็นผู้ผลิตรองเท้า โดยมี 3 แบรนด์ดัง ประกอบด้วย ซาราแมนด้าและบ๋อกบีและฮัช พัพพีส์ ซึ่งมีการผลิตต่อเดือนมากกว่า 40,000-50,000 คู่ กระจายส่งออกไปตลาดทั้งสหรัฐ ยุโรป จีน ญี่ปุ่น ตะวันออกกลางและอาเซียน และอีกหลายประเทศ โดยมีสัดส่วนทำตลาดส่งออกร้อยละ 70 และอีกร้อยละ 30 จะขายตรงและขายผ่านห้างสรรพสินค้าต่าง ๆ โดยมีรายได้หลายพันล้านบาท แต่ยอมรับว่าจากปัญหาความผันผวนอัตราแลกเปลี่ยนที่ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง ทำให้มูลค่าส่งออกสินค้ารองเท้าแต่ละแบรนด์มีรายได้น้อยลง ซึ่งอยู่ระหว่างการปรับแนวทางการทำตลาดใหม่ โดยเน้นไปขายแบบออนไลน์ผ่านเว็บทั้งในประเทศและต่างประเทศเพิ่มขึ้นตามพฤติกรรมคนทั่วโลกหันมาสั่งซื้อสินค้าทางออนไลน์มากขึ้น

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: