สทนช.เปิดแผนบริหารจัดการน้ำชาติ 20 ปี เร่งเข็นโครงการขนาดใหญ่ 30 แห่ง

กองบรรณาธิการ TCIJ 4 ก.พ. 2562 | อ่านแล้ว 2251 ครั้ง

สทนช.เปิดแผนบริหารจัดการน้ำชาติ 20 ปี เร่งเข็นโครงการขนาดใหญ่ 30 แห่ง

สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดแผนบริหารจัดการน้ำของชาติ 20 ปี พื้นที่เป้าหมายทั่วประเทศ 66 พื้นที่ เร่งเข็นโครงการสำคัญขนาดใหญ่ 30 แห่ง ยันเกษตรกร-การใช้น้ำพื้นฐาน-ครองชีพปลอดการจัดเก็บ ที่มาภาพประกอบ: velka (CC0)

สำนักข่าวไทย รายงานเมื่อวันที่ 29 ม.ค. 2562 ว่านายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวระหว่างการสัมมนาเรื่อง “เหลียวหน้า....แลหลังแนวทางการบริหารจัดการน้ำของชาติ 20 ปีภายใต้การแจ้งเกิด พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ.2561” ว่า พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวนับเป็นกฎหมายน้ำฉบับแรกของประเทศ ซึ่งรัฐบาลคาดหวังว่ากฎหมายฉบับนี้จะทำให้เกิดการบูรณาการการใช้ พัฒนา บริหารจัดการ ฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำที่เป็นเอกภาพ มีมาตรการป้องกันแก้ไขน้ำแล้ง-น้ำท่วม วางหลักเกณฑ์ในการประกันสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนในการเข้าถึงทรัพยากรน้ำสาธารณะ มีองค์กรบริหารจัดการน้ำระดับชาติ ระดับลุ่มน้ำ และระดับองค์กรผู้ใช้น้ำสะท้อนการมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อร่วมกันบริหารจัดการน้ำ

นายสมเกียรติ กล่าวถึงทิศทางบริหารจัดการทรัพยากรน้ำว่า จะมุ่งเน้นแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำให้มีความเป็นเอกภาพ ตลอดจนบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้สามารถบริหารทรัพยากรน้ำให้มีความสอดคล้องกันทุกมิติอย่างสมดุลและยั่งยืน 8 เรื่อง คือ การจัดสรร การใช้ การพัฒนา การบริหารจัดการ การบำรุงรักษา การฟื้นฟู การอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ และสิทธิ์ในน้ำ รวมทั้งจะวางหลักเกณฑ์ในการประกันสิทธิ์ขั้นพื้นฐานของประชาชนในการเข้าถึงทรัพยากรน้ำสาธารณะการจัดทำนโยบายและแผนบริหารทรัพยากรน้ำให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รวมทั้งจะทำให้เกิดองค์กรบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 3 ระดับ คือ ระดับชาติ ระดับลุ่มน้ำ และระดับองค์กรผู้ใช้น้ำ

“ขั้นตอนต่อไป สทนช.เตรียมความพร้อมในการนำกฎหมายลูกต่าง ๆ ได้แก่ การกำหนดพื้นที่ลุ่มนํ้าและการอนุญาตการใช้นํ้า และการเก็บค่านํ้า เป็นต้น เพื่อออกไปรับฟังความคิดเห็นในคราวเดียวกัน โดยเฉพาะการเก็บค่านํ้า ทาง สทนช.อยู่ในช่วงศึกษาการเก็บค่านํ้าของชลประทานและการจัดเก็บค่านํ้าบาดาล เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่ายมากที่สุด และการน้ำใช้ในขั้นพื้นฐานการดำรงชีพจะไม่มีการเก็บค่านํ้าอย่างแน่นอน ส่วนจะเก็บจากอุตสาหกรรมขนาดไหน เก็บอย่างไร จะต้องไปรับฟังความคิดเห็นและศึกษาให้รอบคอบที่สุด” นายสมเกียรติ กล่าว

นายสมเกียรติ กล่าวถึงบทบาทของ สทนช.ภายใต้บังคับ พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำฯ ว่า จะทำหน้าที่เป็นเสนาธิการน้ำและเป็นสำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) โดยมีหน้าที่และอำนาจสำคัญในการจัดทำผังน้ำเชื่อมโยงการดำเนินงานกับคณะกรรมการลุ่มน้ำ หน่วยงานของรัฐ อปท. และภาคส่วนต่าง ๆ ให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.น้ำฯ อำนวยการและกำกับดูแลโครงการสำคัญระดับชาติหรือโครงการเร่งด่วน ตลอดจนบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ไขปัญหาภาวะวิกฤติน้ำที่นายกรัฐมนตรีจัดตั้งศูนย์บัญชาการเฉพาะกิจ ขณะที่ สทนช.ภาคมีบทบาททำหน้าที่เป็นสำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการลุ่มน้ำและดำเนินการให้มีการจัดตั้งองค์กรผู้ใช้น้ำ ตลอดจนส่งเสริมและสนับสนุนให้ภาคประชาชนและชุมชนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและจัดทำกฎหมายลำดับรองตาม พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำฯ ให้เสร็จ เพื่อเป็นกฎหมายในการบริหารทรัพยากรน้ำเกิดผลสัมฤทธิ์ตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย คาดภายใน 2 ปี กฎหมายว่าด้วยการจัดสรรน้ำและการใช้น้ำ ตามหมวด 4 และกฎหมายว่าด้วยการยื่นคำขอรับใบอนุญาตการใช้น้ำตามมาตรา 104 เสร็จ

สำหรับประโยชน์จากการบริหารทรัพยากรน้ำภายใต้ พ.ร.บทรัพยากรน้ำฯ จะทำให้มีนโยบายการบริหารทรัพยากรน้ำอย่างเป็นระบบ ทำให้มีแผนแม่บทการบริหารทรัพยากรน้ำที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยระดับลุ่มน้ำจะมีแผนแม่บทการใช้ การพัฒนา การบริหารจัดการ การบำรุงรักษา การฟื้นฟู และการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำในเขตลุ่มน้ำ ซึ่งจะเป็นแผนที่ที่กำหนดทางเดินให้ไปถึงจุดหมาย ทำให้มีความมั่นคงและยั่งยืนด้านน้ำ มีการบริหารจัดการน้ำครอบคลุมทุกบริบทของน้ำ ทั้งน้ำในบรรยากาศ น้ำบนดิน น้ำใต้ดิน และน้ำทะเล ตลอดจนบริหารจัดการโดยองค์กรระดับชาติ ระดับลุ่มน้ำ และองค์กรผู้ใช้น้ำ ขณะที่ประชาชนก็จะมีสิทธิ์ใช้น้ำตามสิทธิ์ขั้นพื้นฐาน และมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ที่สำคัญคือ จะทำให้ประเทศไทยมีแผนป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำแล้งและแผนป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำท่วมที่บูรณาการร่วมกับแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติทั้งในภาวะปกติและภาวะวิกฤติ

นอกจากนี้ สทนช.จะเร่งขับเคลื่อนแผนแม่บทบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี ให้สอดคล้องกับพื้นที่เป้าหมายทั่วประเทศ 66 พื้นที่ แบ่งเป็นพื้นที่ประสบปัญหาด้านน้ำ 53 พื้นที่ รวม 34.62 ล้านไร่ น้ำท่วม 11.24 ล้านไร่ น้ำแล้ง 6.87 ล้านไร่ ประสบปัญหาทั้งน้ำท่วมและน้ำแล้ง 16.51 ล้านไร่ ปัญหาน้ำเค็มรุกล้ำ 0.001 ล้านไร่ และพื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจ 13 พื้นที่ 10.81 ล้านไร่ ส่วนที่พร้อมดำเนินการปี 2562 จำนวน 7 แห่ง วงเงิน 29,660 ล้านบาท ปี 2563 จำนวน 46,921,273 ล้านบาท ปี 2564 จำนวน 52 แห่ง วงเงิน 189,755 ล้านบาท ดำเนินการปี 2565 จำนวน 7 แห่ง วงเงิน 76,738 ล้านบาท รวมทั้งศึกษา SEA ใน 5 ลุ่มน้ำสำคัญ ได้แก่ สะแกกรัง ปราจีนบุรี-บางปะกง ภาคใต้ฝั่งตะวันออก ชี มูล เป็นต้น

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: