คนไทยรู้ยัง: คน กทม. อยากให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองปลอด ‘สุนัข-แมวจรจัด’

กองบรรณาธิการ TCIJ: 3 พ.ค. 2562 | อ่านแล้ว 13613 ครั้ง

บ้านสมเด็จโพลล์ เผยผลสำรวจพบ 83.6% คน กทม. อยากเห็น กทม. เป็นเมืองที่ปลอดจากสุนัข-แมวจรจัด 76.1% คิดว่าสุนัข-แมวจรจัด เป็นปัญหาสังคมที่ต้องเร่งแก้ไข คาดมีสุนัขจรจัดในพื้นที่กรุงเทพฯ ประมาณ 140,000 -150,000 ตัว แต่ศูนย์พักพิงสุนัขจรจัดของกรุงเทพมหานคร ทั้งในส่วนของศูนย์พักพิงสุนัขจรจัดประเวศ และศูนย์พักพิงสุนัขจรจัดทัพทัน จ.อุทัยธานี สามารถรองรับสุนัขจรจัดได้ประมาณ 10,000 ตัว เท่านั้น  ที่มาภาพ: K.rol2007 (CC BY 2.0)

ศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ได้ดำเนินโครงการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาสุนัข-แมวจรจัด จากกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนที่อาศัยอยู่ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 1,207 กลุ่มตัวอย่าง เก็บข้อมูลในวันที่ 22 - 25 เม.ย. 2562 ซึ่งกลุ่มตัวอย่างในการสำรวจครั้งนี้ใช้เกณฑ์ตารางสำเร็จรูปของ Taro Yamane กำหนดว่าประชากรเกิน 100,000 คนต้องการความเชื่อมั่น 95% และความผิดพลาดไม่เกิน 3% ต้องใช้กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,111 กลุ่มตัวอย่าง

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สิงห์ สิงห์ขจร ประธานคณะกรรมการศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลกล่าวว่า เนื่องจากปัจจุบันตัวเลขจำนวนสุนัขจรจัดในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จากกรมปศุสัตว์ มีจำนวนประมาณ 140,000 -150,000 ตัว ซึ่งศูนย์พักพิงสุนัขจรจัดของกรุงเทพมหานคร ทั้งในส่วนของศูนย์พักพิงสุนัขจรจัดประเวศ และศูนย์พักพิงสุนัขจรจัดทัพทัน จ.อุทัยธานี สามารถรองรับสุนัขจรจัดได้ประมาณ 10,000 ตัว เมื่อเทียบกับปัญหาจำนวนสุนัขจรจัดที่มีจำนวนกว่า 150,000 ตัว กทม. ไม่มีพื้นที่สำหรับรองรับได้ทั้งหมดเพื่อเป็นการแก้ปัญหาในระยะยาว และกรมควบคุมโรค รายงานสถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าในปี 2562 มีการรายงานพบผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้า 1 ราย เป็นเพศชาย อายุ 32 ปี ที่จังหวัดสุรินทร์ ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการพบว่าติดเชื้อไวรัสโรคพิษสุนัขบ้า ผู้เสียชีวิตมีประวัติถูกสุนัขจรจัดกัด ในช่วงเดือน พ.ย. 2561 แต่ไม่ได้พบแพทย์เพื่อรับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ซึ่งผู้เสียชีวิตรายดังกล่าวถือเป็นผู้เสียชีวิตรายแรกของปี 2562 ในช่วงที่ผ่านมามีการถกเถียงในประเด็นปัญหาสุนัข-แมวจรจัด ว่าจะมีการแก้ไขอย่างไร โดยเฉพาะประเด็นเรื่องผู้เลี้ยงจะต้องมีความรับผิดชอบต่อสัตว์เลี้ยงของตนเอง การขึ้นทะเบียนสุนัข-แมว การเก็บภาษีสัตว์เลี้ยง รวมไปถึงประเด็นแนวทางการจำกัดสุนัข-แมวจรจัดที่ไม่มีเจ้าของทิ้ง ความคิดเห็นของประชาชนต่อปัญหาสุนัข-แมวจรจัด โดยมีข้อมูลที่น่าสนใจดังต่อไปนี้

กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดว่าสุนัข-แมวจรจัด เป็นปัญหาสังคมที่ต้องเร่งแก้ไข ร้อยละ 76.1 และเคยพบเห็นสุนัข-แมวจรจัด ในบริเวณที่อยู่อาศัย ร้อยละ 87.6 คิดว่าสุนัข-แมวจรจัด จะเป็นอันตรายต่อตนเองและครอบครัว ร้อยละ 42.8 และคิดว่าปัญหาสุนัข-แมวจรจัดเกิดจากความมักง่ายของผู้เลี้ยง ร้อยละ 74.1 ทราบว่าผู้ที่นำสัตว์เลี้ยงมาปล่อยทิ้งหรือไม่รักษาความสะอาด หรือปล่อยให้ก่อความเดือดร้อนรำคาญแก่ชุมชน ผู้เป็นเจ้าของจะถูกปรับ 5,000 บาท กฎหมาย ร้อยละ 42.7 และอยากให้ผู้ที่ให้อาหารสุนัข-แมวจรจัด ที่ไม่ได้เลี้ยงดูอย่างใกล้ชิด หยุดพฤติกรรม ร้อยละ 47.9

กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่อยากให้หน่วยงานภาครัฐมีกระบวนการนำสุนัข-แมวจรจัดไปดูแลในสถานที่ที่เหมาะสม ร้อยละ 84.2 อยากให้กรุงเทพมหานครเป็นเมืองที่ปลอดจากสุนัข-แมวจรจัด เพื่อความปลอดภัยของประชาชน ร้อยละ 83.6 และเห็นด้วยกับการที่กรุงเทพมหานครเป็นเมืองที่ปลอดจากสุนัข-แมวจรจัด ร้อยละ 78.0 กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เห็นด้วยในการที่หน่วยงานภาครัฐมีการขึ้นทะเบียนสุนัข-แมว โดยผู้เลี้ยงจะต้องมีความรับผิดชอบต่อสัตว์เลี้ยงของตนเอง ร้อยละ 78.0

ว่าด้วยประชากร ‘สุนัข-แมวจรจัด’ ในไทย


ที่มาภาพ: I'm home (BY-NC)

ตัวเลขประชากรสุนัขและแมวจรจัดในประเทศไทยยังคงมีหลากหลาย ดังเช่น จากการประเมินของบ้านสมเด็จโพลล์ที่กล่าวไปแล้วข้างต้น ว่ามีสุนัขจรจัดในกรุงเทพประมาณ 140,000 -150,000 ตัว (อ้างข้อมูลกรมปศุสัตว์)

ส่วนข้อมูล จำนวนประชากรสุนัขและแมว ปี 2559 โดยสำนักควบคุม ป้องกัน และบำบัดโรคสัตว์, กรมปศุสัตว์ ระบุว่ามีสุนัขไม่มีเจ้าของในกรุงเทพ 141,455 ตัว แมวไม่มีเจ้าของ 89,269 ตัว รวมทั้งประเทศมีสุนัขไม่มีเจ้าของ 758,446 ตัว แมวไม่มีเจ้าของ 474,142 ตัว รวมสุนัขและแมวไม่มีเจ้าของทั่วประเทศ 1,232,588 ตัว

แต่จากข้อมูล แผนที่แสดงจำนวนสุนัข - แมว (ปี 2562 รอบที่ 1) สำรวจโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งใช้เป็นฐานข้อมูลเพื่อการขึ้นทะเบียนสุนัข-แมว (เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 30/4/2562) พบว่ามีการบันทึกข้อมูลสุนัขไม่มีเจ้าของทั่วประเทศเพียง 73,136 ตัว แมวไม่มีเจ้าของ 37,849 ตัว รวมทั้งสุนัขและแมวไม่มีเจ้าของเพียง 110,985 ตัว เท่านั้น

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: