‘กล้องจับความเร็ว’ ต้องใช้ให้ถูก รักษาชีวิตได้มาก

ฐานันดร ชมภูศรี | โครงการส่งเสริมการเข้าถึงระบบคมนาคมที่เป็นธรรมและปลอดภัย (LIMIT 4 LIFE) 1 ธ.ค. 2562 | อ่านแล้ว 8205 ครั้ง

โครงการส่งเสริมการเข้าถึงระบบคมนาคมที่เป็นธรรมและปลอดภัย (LIMIT 4 LIFE)  ระบุข้อมูลต่างประเทศชี้ 'กล้องจับความเร็ว' ลดอุบัติเหตุได้จริง ในไทยก็ลดอุบัติเหตุได้ดี ซึ่งการใช้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็ต้องมีมาตรการอื่นๆ ควบคู่กัน และการใช้ให้คุ้มค่าต้องมุ่งเก็บข้อมูลด้วย ที่มาภาพ: flickr/European Roads: speed camera warning Sweden-1

กล้องจับความเร็ว ‘ทางหลวง’ ต้องปรับยุทธวิธี อุบัติเหตุมากกว่า 60% เกิดขึ้นบน ‘ทางตรง’

ข้อมูลอุบัติเหตุบนทางหลวงทั่วประเทศ โดยสำนักอำนวยความปลอดภัย กรมทางหลวง[1] เดือน พ.ค. 2562 เกิดจากการขับขี่รถด้วยความเร็วสูงกว่ากฎหมายกำหนด 66% (587 ครั้ง) กรมทางหลวงได้มีมาตรการแก้ไขที่ได้ดำเนินการร่วมกับตำรวจทางหลวงในการบังคับใช้กฎหมายอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะ ‘การตรวจจับความเร็ว’ ยานพาหนะที่วิ่งบนทางหลวง (พบมาตรการแก้ไขนี้ในรายงานทุก ๆ เดือนของกรมทางหลวง) , โดยอุบัติเหตุบนทางหลวงเดือน มิ.ย. 2562 แม้ว่าอุบัติเหตุจากการขับขี่ด้วยความเร็วสูงกว่ากฎหมายกำหนด จากอุบัติเหตุบนทางหลวงทั้งหมดเพิ่มเป็น 71% แต่จำนวนครั้งลดลงมาที่ 531 ครั้ง , เดือน ส.ค. 2562 อุบัติเหตุมาจากผู้ขับขี่ขับรถด้วยความเร็วสูงกว่ากฎหมายกำหนดพุ่งขึ้นมาเป็น 675 ครั้ง (69% ของอุบัติเหตุ) , เดือน ก.ย. 2562 อุบัติเหตุจากการขับขี่ด้วยความเร็วสูงกว่ากฎหมายกำหนดลดลงมาที่ 532 ครั้ง (72%) และตามรายงานที่ผ่านมาของกรมทางหลวง พบว่าอุบัติเหตุมากกว่า 60% เกิดขึ้นบริเวณ ‘ทางตรง’

ที่มา: รายงานสถานการณ์อุบัติเหตุทางถนนของประเทศไทย ปี 2559-2560 (ปีที่จัดทำเผยแพร่: 2562)

หากดูแนวโน้มระยะยาวตามแผนภูมิ พบว่าสัดส่วน (%) ของอุบัติเหตุจากความเร็วเกินกฎหมายกำหนดบนทางหลวง เท่าที่มีการจัดทำรายงานในปี 2562 ตามที่ระบุไว้ข้างต้น นับว่าลดลงเล็กน้อยจากปี 2560 และก่อนหน้านั้น

ที่มา: รายงานสถานการณ์อุบัติเหตุทางถนนของประเทศไทย ปี 2559-2560 (ปีที่จัดทำเผยแพร่: 2562)

สำหรับประเภทรถที่เกิดอุบัติเหตุมากที่สุดบนทางหลวง (ตามภาพ) ในปี 2558-2560 คือ ‘รถเก๋ง’ และ ’รถกระบะ’ สอดคล้องกับข้อมูลปี 2562 ที่ ’รถกระบะ’ และ ‘รถเก๋ง’ เกิดอุบัติเหตุมากที่สุด

ที่มา: รายงานสถานการณ์อุบัติเหตุทางถนนของประเทศไทย ปี 2559-2560 (ปีที่จัดทำเผยแพร่: 2562)

โดยผลสำรวจข้อมูลล่าสุดของกรมทางหลวงในปี 2560 ซึ่งตรวจวัดความเร็วของกลุ่มตัวอย่างยานพาหนะบนทางหลวงมากกว่า 1,000,000 คัน พบการใช้ความเร็วสูงกว่าที่กฎหมายกำหนด ในสัดส่วนที่สูง โดยเฉพาะในส่วนของรถยนต์ที่พบว่าสัดส่วนการใช้ความเร็วเกินกว่าที่กำหนดบนทางหลวงแผ่นดินจะเพิ่มมากขึ้น บนถนนในเขตชานเมือง (33%) หรือเขตนอกเมือง (53%) ซึ่งจำกัดความเร็วไม่เกิน 90 กม./ชม. แต่สำหรับทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหรือมอเตอร์เวย์พบว่าพฤติกรรมการใช้ความเร็วเกินกว่าที่จำกัดไว้ 120 กม./ชม. ยังมีสัดส่วนที่ไม่สูงนัก อย่างไรก็ดีผลสำรวจยังได้สะท้อนปัญหาการใช้ความเร็วในเขตเมืองของรถขนาดใหญ่ (เช่น รถบรรทุก) ที่จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขเร่งด่วน เนื่องจากเป็นความเสี่ยงที่อาจส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุและความสูญเสียที่รุนแรงได้โดยพบว่ารถบรรทุกคิดเป็นสัดส่วนสูง ถึงเกือบ 1 ใน 3 มีการใช้ความเร็วในเขตเมืองเกินกว่าที่กำหนด 60 กม./ชม.

บังคับใช้กฎหมายต้องมีสัญลักษณ์บอกชัดเจน ลดอุบัติเหตุได้มากกว่า

การบังคับใช้กฎหมายด้วยกล้องจับความเร็วเพื่อลดอุบัติเหตุและการเสียชีวิตทางถนนนั้น ผู้ขับขี่หลายคนกว่าจะรู้ตัวว่าใช้ความเร็วเกินกฎหมายกำหนด ก็ตอนได้รับใบสั่งให้จ่ายค่าปรับ เสมือนเป็นการปล่อยให้ผู้ขับขี่ทำผิดกฎหมายก่อนแล้วค่อยลงโทษ ซึ่งในช่วงที่ผู้ขับขี่ใช้ความเร็วเกินกฎหมายกำหนดนั้น อาจเกิดอุบัติเหตุร้ายแรงขึ้นได้

ปัญหาดังกล่าวนี้ สหภาพยุโรป (EU) ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่มีอัตราการตายทางถนนต่ำที่สุดในโลก ชี้ให้เห็นว่าเมื่อเป้าหมายของการใช้กฎหมายคือการสร้างความปลอดภัย จึงควรมีการใช้ “สัญลักษณ์ที่ชัดเจนว่ามีการบังคับใช้กฎหมาย”[2] เช่น ป้ายเตือนบนถนนว่ามีการบังคับใช้กฎหมาย รวมถึงรถของเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย เพื่อช่วยเตือนสติผู้ขับขี่ไม่ให้ละเมิดกฎหมาย ซึ่งจะสามารถลดอุบัติเหตุได้มากกว่าการบังคับใช้กฎหมายโดยไม่ได้บอก และสัญลักษณ์การบังคับใช้กฎหมายที่ชัดเจน ทำให้ความเร็วในการขับขี่โดยรวมลดลงได้มากกว่าการบังคับใช้กฎหมายโดยไม่มีสัญลักษณ์

ด้านทีมวิจัยจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับสำนักวิจัยและพัฒนางานทาง กรมทางหลวง ซึ่งได้ดำเนินโครงการวิจัย ‘การศึกษาการวางแผนและดำเนินการระบบตรวจจับความเร็วอัตโนมัติในประเทศไทย’ เผยแพร่รายงานเมื่อปี 2560[3] เสนอว่าควรจัดให้มีการประชาสัมพันธ์โครงการอย่างทั่วถึงก่อนเริ่มดำเนินโครงการ เพื่อให้ประชาชนรับทราบ และให้ความรู้แก่ประชาชนถึงเป้าหมายของโครงการตรวจจับความเร็วอัตโนมัติ และให้ประชาชนตระหนักถึงเจตนาที่แท้จริงของมาตรการตรวจจับความเร็ว พร้อมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และส่งเสริมให้เกิดทัศนคติเชิงบวกต่อโครงการ โดยจัดให้มีการประสานงานกับสื่อมวลชนที่อยู่ในพื้นที่ดำเนินโครงการ และใช้สื่อมวลชนเป็นตัวกลางในการนำเสนอและประชาสัมพันธ์โครงการให้ประชาชนรับทราบ

นอกจากนั้น ปัจจุบันในประเทศไทยสามารถดูตำแหน่งกล้องจับความเร็วผ่าน Google Map ได้แล้ว ซึ่งสามารถบอกข้อมูลการจำกัดความเร็วของถนนแต่ละสาย รวมถึงพิกัดของกล้องจับความเร็วบนถนนให้ผู้ใช้งานได้ทราบ และเมื่อผู้ขับขี่ขับรถเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด จะมีสัญญาณเสียงแจ้งเตือนให้ผู้ขับขี่ได้ทราบ

ที่มาภาพ: Google Map

ข้อมูลต่างประเทศชี้ ‘กล้องจับความเร็ว’ ลดอุบัติเหตุได้จริง

รายงานของทีมวิจัยมหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ ประเทศออสเตรเลีย ที่รวบรวมข้อมูลผลการศึกษาทั่วโลก 35 ฉบับเรื่องกล้องจับความเร็ว เพื่อดูว่ากล้องจับความเร็วเพิ่มความปลอดภัยทางถนนได้จริงหรือไม่[4] พบว่ามีรถที่ใช้ความเร็วลดลงเมื่อขับขี่ผ่านบริเวณกล้องจับความเร็ว 14-65% บริเวณที่มีกล้องจับความเร็วที่มีป้ายบอกความเร็วจำกัดที่มีเหตุผล ปริมาณรถที่ชะลอความเร็วลงมี 8-70% อุบัติเหตุลดลง 8-49% และอุบัติเหตุที่ทำให้เกิดการเสียชีวิตและบาดเจ็บสาหัสลดลง 11-44%

ที่ประเทศอังกฤษได้ทำการประเมินอัตราการลดอุบัติเหตุของกล้องตรวจจับความเร็วในปี 2005[5] พบว่าการติดตั้งกล้องจับความเร็วแบบประจำที่สามารถลดความเร็วรถได้ 15% กล้องจับความเร็วพกพาลดได้  3% และกล้องจับความเร็วแบบความเร็วเฉลี่ยลดได้ 3% ส่วนความเร็วที่เกินกฎหมายกำหนดไว้ กล้องฯแบบประจำที่ลดได้ 70% กล้องฯแบบพกพาลดได้ 18% กล้องแบบความเร็วเฉลี่ยลดได้ 53% โดยอังกฤษยังพบว่า กล้องแบบประจำที่มีประสิทธิภาพค่อนข้างดีมาก และกล้องตัวนี้ยังมีติดตั้งเกือบทั่วประเทศอังกฤษ ทั้งนี้จำนวนผู้บาดเจ็บในประเทศอังกฤษ กล้องแบบประจำที่ สามารถลดจำนวนผู้บาดเจ็บในเขตเมืองได้ 20% เขตชนบทลดได้ 65% สำหรับกล้องแบบเคลื่อนที่ ในเขตเมืองลดได้ 45% เขตชนบทลดได้ 22%

งานศึกษาของมหาวิทยาลัย London School of Economics and Political Science (LSE)[6] แสดงให้เห็นว่ากล้องจับความเร็วแบบติดตั้งอยู่กับที่ในสหราชอาณาจักรมีประสิทธิภาพในการลดจำนวนอุบัติเหตุบนท้องถนนและจำนวนผู้เสียชีวิตได้จริง โดยใช้ข้อมูลนับจากปี 1992 ถึง 2016 พบว่ากล้องจับความเร็วสามารถลดอุบัติเหตุลงได้ 17-39% และผู้เสียชีวิตลดลง 58-68% ในระยะทาง 500 เมตร ของกล้องที่ทำการเก็บข้อมูล งานศึกษาได้วิเคราะห์ข้อมูลผลลัพธ์ของอุบัติเหตุ ก่อน-หลัง ที่มีการติดตั้งกล้องจับความเร็ว จำนวน 2,500 พื้นที่ในประเทศอังกฤษ สกอตแลนด์ และเวลส์ ซึ่งใช้ข้อมูลจาก 2 แหล่ง ทั้งกระทรวงคมนาคมและหน่วยงานท้องถิ่นทั่วสหราชอาณาจักร โดยพบว่าห่างออกไปเกิน 1.5 กิโลเมตร จึงจะพบจำนวนอุบัติเหตุที่สูงกว่าระยะ 500 เมตร ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้จากปรากฏการณ์แกงการู (kangaroo effect) ที่ผู้ขับขี่จะลดความเร็วลงเมื่อใกล้จะถึงระยะที่กล้องสามารถตรวจจับได้เพื่อหลีกเลี่ยงค่าปรับ และจะเร่งความเร็วขึ้นเมื่อพ้นจากระยะของกล้อง แม้จะเป็นเช่นนี้ แต่ผู้ทำวิจัยก็อธิบายว่าอุบัติเหตุและผู้เสียชีวิตโดยรวมแล้วลดลง แม้กล้องจับความเร็วแบบติดตั้งอยู่กับที่จะช่วยให้อุบัติเหตุและการเสียชีวิตทางถนนลดลง แต่เพื่อป้องกันปรากฏการณ์แกงการู ผู้วิจัยแนะนำว่าควรเสริมด้วยกล้องจับความเร็วแบบพกพา ซึ่งจะช่วยให้การบังคับใช้กฎหมายกินพื้นที่ได้กว้างขวางกว่า

กล้องจับความเร็วในไทย ก็ลดอุบัติเหตุได้ดี

ที่ จ.ขอนแก่น[7] เดิมบริเวณจุดตัดทางเลี่ยงเมืองขอนแก่นมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนปีละไม่ต่ำกว่า 14 ศพ เมื่อปี 2555 จังหวัดจึงได้นำป้ายเตือนจำกัดความเร็วที่ 60 กม./ชม.มาติดตั้ง แต่ไม่สามารถแก้ไขพฤติกรรมการขับขี่ได้ ปี 2558 จึงได้ติดต่อกับมูลนิธิ Safer Road Foundation จากประเทศอังกฤษ เพื่อของบประมาณ 17 ล้านบาทในการจัดซื้อกล้องตรวจจับความเร็ว และอุปกรณ์ต่างๆ โดยเริ่มติดตั้งกล้องฯตั้งแต่เดือน พ.ย. 2558 กล้องฯทำงานตลอด 24 ชั่วโมง จำนวน 4 จุด 6 ตัว ระยะทาง 14 กม. โดยตรวจจับเฉพาะรถยนต์ที่ขับเร็วเกิน 80 กม./ชม. ทั้งนี้ พยายามเน้นป้องปรามมากกว่าตรวจจับ โดยได้ทำระบบแจ้งเตือนความเร็วก่อนถึงจุดตั้งกล้องตรวจจับ และเคยประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในพื้นที่รับรู้ถึงโทษของการขับรถเร็ว เช่น นำคลิปอุบัติเหตุในพื้นที่มานำเสนอในสังคมออนไลน์ หลังดำเนินการมา 3 ปีกว่า ผู้เสียชีวิตลดลงถึง 80% รถที่ขับเร็วเกิน 80 กม./ชม. ลดลง 50% รถฝ่าไฟแดงลดลง 40% แรกเริ่มโครงการฯ มีการออกใบสั่งเดือนละ 8,000 ใบ ระยะหลังเหลือเดือนละ 3,000 ใบ นอกจากติดตั้งกล้องฯแล้วยังมีมาตรการอื่นๆ ที่ทำควบคู่กันไปในพื้นที่โครงการ เช่น การทำเส้นปลอดภัย, การทำระบบตรวจจับการฝ่าฝืนสัญญาณไฟแดงอัตโนมัติ และพัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) เพื่อตรวจจับผู้ขี่รถจักรยานยนต์ที่ไม่สวมหมวกกันน็อก โดยมุ่งสร้างเป็นพื้นที่ต้นแบบ ในอนาคตจะพยายามขยายไปพื้นที่อื่น

จ.ภูเก็ต[8] มีการใช้กล้องจับความเร็ว 4 เครื่อง มีการวัดผลหลังใช้แล้วหนึ่งปีกว่า ซึ่งประชาชนก็ทราบว่ามีการบังคับใช้กฎหมายความเร็ว ทำให้จำนวนผู้เสียชีวิตลดลงตามไปด้วย จากกว่า 200 ราย ลดเหลือประมาณ 130 ราย

นอกจากนี้ยังมีการติดตั้งเครื่องตรวจจับความเร็วแบบติดตั้งใน 5 จุดเสี่ยง บนถนน 118 อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ และถนนมิตรภาพ ช่วง 14 กม. พบว่าความเร็วเฉลี่ยลดลงและการเสียชีวิตลดลงด้วย[9] โดย นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) ชี้ว่าการใช้เครื่องดังกล่าวจะมีประสิทธิภาพได้ก็ต่อเมื่อทำมาตรการอื่น ๆ ควบคู่กันไปด้วย

จะใช้ให้คุ้ม ต้องมุ่งเก็บข้อมูล

โดยประเทศไทยมีการแจกจ่าย ‘กล้องจับความเร็วพกพา’ 849 เครื่อง ไปยังทุกจังหวัดทั่วประเทศ มีการส่งมอบเมื่อกลางเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา[10] นพ.ธนะพงศ์ ชี้ว่าหลัก ๆ ที่ภาครัฐจำเป็นต้องมีข้อมูลเพื่อสะท้อนประสิทธิภาพของการลงทุนกับมาตรการนี้ ได้แก่

1) เครื่องตรวจจับความเร็ว ที่นำไปใช้แต่ละจังหวัด ส่งผลต่อ อย่างไรบ้าง ?
– คดีจับกุมข้อหาขับเร็ว เพิ่ม/ลด .. ในแต่ละพื้นที่
– ค่าเฉลี่ยความเร็ว เพิ่ม/ลด .. ในแต่ละพื้นที่
– การเกิดอุบัติเหตุ เจ็บ ตาย (จากความเร็ว)  เพิ่ม/ลด .. ในแต่ละพื้นที่

2) ถ้ามีความแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ ทำไมจึงแตกต่าง เช่น
– อัตราการงานแต่ละเครื่อง (นำมาใช้ได้คุ้มค่า เต็มประสิทธิภาพ แค่ไหน ?)
– ขาดนโยบาย เป้าหมาย ระบบสนับสนุน เช่น บุคลากร การตั้งจุดตรวจ ?
– บุคลากร ไม่มั่นใจการใช้เครื่อง ฯลฯ ?

3) ผู้ใช้รถใช้ถนน
– มีป้ายเตือนความเร็วชัดเจนหรือไม่ ?
– ความยอมรับต่อการเรียกตรวจ ?
– การมาชำระค่าปรับมากน้อยแค่ไหน ?

นพ.ธนะพงศ์ ทิ้งท้ายว่า เบื้องต้น ข้อมูลที่จะมาสะท้อนมาตรการเรื่องนี้ในภาพรวม คงหาไม่ง่าย อาจจะต้องเลือกพื้นที่ที่มีแหล่งข้อมูล

 

รายงานพิเศษชิ้นนี้ผลิตโดย LIMIT 4 LIFE ภายใต้โครงการ Champions for Change to Achieve Safer Road Use in Thailand ดำเนินงานโดย Internews ภายใต้การสนับสนุนของ Global Road Safety Partnership (GRSP) มีวัตถุประสงค์เพื่อขับเคลื่อนการผลักดันนโยบายการลดอัตราการตายและบาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนนโดยพลังของสื่อมวลชน

อนึ่ง LIMIT 4 LIFE เป็นช่องทางสื่อของ 'โครงการส่งเสริมการเข้าถึงระบบคมนาคมที่เป็นธรรมและปลอดภัย' ที่นำเสนอเรื่องราวด้านคมนาคม ทั้งประเด็นความปลอดภัยบนท้องถนน การเข้าถึงขนส่งสาธารณะอย่างเท่าเทียม และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ผลักดันให้เกิดการ ‘ใช้ชีวิตอย่างจำกัด’ เพื่อการเข้าถึงระบบคมนาคมที่เป็นธรรมและปลอดภัยอย่างถ้วนหน้าในสังคม ด้วยสโลแกน "เพื่อการเข้าถึงระบบคมนาคมที่เป็นธรรมและปลอดภัย" (FOR THE ACCESS OF FAIR AND SAFE TRANSPORTATION) เข้าชมเว็บไซต์และเฟสบุ๊คได้ที่ limit4life.org | facebook.com/LIMIT.4.LIFE

 

 
 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: