อบรมรุ่นแรก 'หมอ-เภสัช' จ่ายสารสกัดกัญชา ครบ 2 ปีต้องอบรมใหม่ ย้ำไม่ใช่ทางเลือกแรกรักษาโรค

กองบรรณาธิการ TCIJ 1 พ.ค. 2562 | อ่านแล้ว 2143 ครั้ง

อบรมรุ่นแรก 'หมอ-เภสัช' จ่ายสารสกัดกัญชา ครบ 2 ปีต้องอบรมใหม่ ย้ำไม่ใช่ทางเลือกแรกรักษาโรค

กรมการแพทย์จัดอบรมรุ่นแรก 'หมอ-เภสัช' จ่ายสารสกัดกัญชา ประเดิม 200 คน ชี้ ครบ 2 ปีต้องมารับการอบรมใหม่ เหตุความรู้เปลี่ยนไว ส่วน รพ.ที่จะใช้ต้องขอขึ้นทะเบียนด้วย ย้ำต้องไม่ใช้กัญชาเป็นทางเลือกแรกในการรักษา แต่ต้องผ่านการรักษาตามแนวทางมาตรฐานมาก่อน อธิบายข้อดีข้อเสียแก่คนไข้ ที่มาภาพ: ผู้จัดการออนไลน์

ผู้จัดการออนไลน์ รายงานเมื่อวันที่ 29 เม.ย. 2562 ว่าที่โรงแรมอมารี ดอนเมือง แอร์พอร์ต กรมการแพทย์ จัดอบรมหลักสูตรการใช้สารสกัดจากกัญชาทางการแพทย์สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ ประกอบด้วย แพทย์ ทันตแพทย์ และเภสัชกร โดยอบรมเป็นรุ่นแรกระหว่างวันที่ 29-30 เม.ย. จำนวน 200 คน

นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวภายหลังเปิดอบรม ว่า การอบรมจะเน้น 3 ประเด็น คือ 1.มีความปลอดภัย สารสกัดจากกัญชามีความปลอดภัยจากสารพิษเจือปน และมีความเสี่ยงเกิดอันตรายต่ำเมื่อใช้รักษาผู้ป่วย 2.มีประสิทธิผลในการรักษา เป็นประโยชน์กับผู้ป่วยจริงๆ มีการบอกถึงผลดี ผลเสียของการใช้กัญชาอย่างชัดเจน และ 3.มีความเป็นธรรมในการเข้าถึงการรักษา ผู้ป่วยเข้าถึงสารสกัดจากกัญชาอย่างเท่าเทียม และไม่เอื้อประโยชน์กลุ่มใดเป็นพิเศษ โดยหลักสูตรได้รับการรับรองจากกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ผู้ที่ผ่านการอบรมสามารถไปขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ในการใช้กัญชาทางการแพทย์ได้ แต่สถานพยาบาลที่จะใช้สารสกัดกัญชาทางการแพทย์จะต้องมาขอขึ้นทะเบียนกับ อย.ด้วยเช่นกัน เพราะถือเป็นสารที่ควบคุมเหมือนมอร์ฟีนที่ต้องไปขึ้นทะเบียนและมีรายงานการใช้

"ใบประกาศจะมีอายุเพียง 2 ปี เนื่องจากองค์ความรู้เรื่องการใช้กัญชาทางการแพทย์เปลี่ยนเร็วมาก ภายใน 1-2 ปีนี้ จะมีงานวิจัยออกมาจำนวนมาก จึงหารือกันในคณะกรรมการพิจารณาและรับรองหลักสูตรการใช้สารสกัดจากกัญชาทางการแพทย์ ว่าเมื่อครบ 2 ปี จะต้องมาเข้ารับการอบรมใหม่ ทั้งนี้ หากโรงพยาบาลใดมีเพียงแพทย์มาอบรมจะมีปัญหา เนื่องจากการใช้ต้องมีทั้งแพทย์และเภสัชกรที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นผู้สั่งจ่ายและผู้จ่ายยา หากสถาบันใดอยากจัดอบรมเช่นนี้สามารถทำได้ แต่ต้องมีมาตรฐาน 4 ข้อ คือ 1.ส่งรายละเอียดหลักสูตรมาให้คณะกรรมการพิจารณารับรองหลักสูตรฯ ก่อน 2 เดือน 2.ส่งรายชื่อวิทยากรพร้อมคุณวุฒิของวิทยากร 3.มีคู่มือการอบรม และ 4.ผู้ที่ผ่านการอบรมต้องมีคุณสมบัติใดบ้าง เช่น ผู้เข้าอบรมต้องผ่านการทดสอบให้ได้ 60 % ถึงจะได้การรับรอง เป็นต้น" นพ.สมศักดิ์ กล่าว

เมื่อถามว่าในระยะแรกจะต้องมีการตั้งศูนย์รับคำปรึกษาเกี่ยวกับการใช้สารสกัดกัญชาหรือไม่ นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่าเบื้องต้นได้ให้โรงพยาบาลในสังกัดกรมการแพทย์ประมาณ 30 แห่ง ทั้งใน กทม.และต่างจังหวัด ทำการเตรียมทั้งแพทย์และเภสัชกรที่ผ่านการอบรมเพื่อคอยให้คำแนะนำและคำปรึกษากับผู้ป่วย

“สิ่งสำคัญที่สุดคือจะต้องไม่ใช้ผลิตภัณฑ์กัญชาเป็นทางเลือกแรกในการรักษาโรคให้กับผู้ป่วย แต่ผู้ป่วยจะต้องผ่านการรักษาตามแนวทางที่เป็นมาตรฐานมาก่อนแล้วไม่ได้ผล และแพทย์จะต้องอธิบายข้อดีและผลกระทบจากการใช้กัญชาให้ผู้ป่วยเข้าใจจนสามารถตัดสินใจได้ว่าจะใช้หรือไม่ ยิ่งกว่านั้นจะต้องใช้เพื่อประโยชน์ของคนไข้อย่างแท้จริง ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ของใครหรือกลุ่มใด เพราะที่ผ่านมากรมเคยเจอกรณีที่กรมขอเข้าไปเก็บข้อมูลจากคนไข้ที่ใช้กัญชาของกลุ่มใต้ดินเพื่อใช้ในการศึกษาวิจัย แต่ไม่ได้รับความร่วมมือ โดยได้รับแจ้งจากหัวหน้ากลุ่มว่าไม่ต้องไปถามคนไข้ มีอะไรให้ถามผม แบบนี้ก็น่าสงสัยในการใช้เช่นกัน” นพ.สมศักดิ์กล่าว

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: