คุยกันหลังหนังจบ: JASON BOURNE ว่าด้วยความมั่นคง..ของใคร?

ธนเวศม์ สัญญานุจิต: 11 ก.ย. 2561 | อ่านแล้ว 4708 ครั้ง


บทความชิ้นนี้เปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของภาพยนตร์ Jason Bourne

ภาพยนตร์เรื่อง JASON BOURNE เป็นภาพยนตร์ภาคที่ 4 ของภาพยนตร์ที่ดัดแปลงมาจากนวนิยายขายดีตระกูล ‘Bourne’ ทั้ง The Bourne Identity, The Bourne supremacy และ The Bourne Ultimatum ที่เป็นเรื่องราวของ เจสัน บอร์น อดีตสายลับความจำเสื่อมที่ไล่ล่าหาอดีตของตัวเอง จนเข้าไปพัวพันกับการสมคบคิดของ สำนักงานข่าวกรองกลางสหรัฐ (CIA)

ในไตรภาคเริ่มแรก ภาพยนตร์ Bourne ไม่ได้แตะประเด็นใดนอกเหนือไปจาก การไล่ล่าหาตัวตนของเจสัน บอร์น เขาเป็นใคร ทำงานให้ใคร จุดเริ่มต้นของเขาอยู่ตรงไหน ใครฆ่าแฟนสาวของเขา แต่ในภาคที่ 4 ที่ใช้ชื่อว่า JASON BOURNE นี้ นอกจากจะเป็นการไล่ล่าหา ตัวการที่ฆ่าพ่อของเขา และจุดเริ่มต้นของเขา ตั้งแต่ก่อนเขาจะกลายมาเป็น ‘เจสัน บอร์น’ ภาพยนตร์เรื่องนี้ฉายให้เราเห็นภาพของ ปัญหาความขัดกันเองของ ‘ความมั่นคง’

ในสาขาแขนงที่เรียกกันว่า ความมั่นคงศึกษา ได้มีการแบ่งประเภทของความมั่นคงออกเป็นหลายรูปแบบ และแบ่งได้อย่างกว้างๆ เป็น ‘ภัยความมั่นคงแบบเก่า’ (Traditional Security issues) กับ ‘ภัยความมั่นคงแบบใหม่’ (Non-traditional Security issues) โดยภัยความมั่นคงแบบเก่านั้นจะเป็นความมั่นคงในทางการทหาร การใช้กำลังทางทหารของรัฐ หรือสงครามรูปแบบเก่า เป็นความรุนแรง ‘ระหว่างรัฐ’ (inter-state) แต่ภัยความมั่นคงแบบใหม่นั้นมีความหลากหลาย ตัวแสดงในความขัดแย้งมิใช่รัฐเสมอไป บางครั้งเกิดขึ้น ‘ภายในรัฐเอง’ (intra-state) และบางครั้งเกิดขึ้นข้ามพรมแดน ข้ามทวีป เช่น ความมั่นคงของมนุษย์ (human security) ความมั่นคงด้านสิ่งแวดล้อม (environment security) และตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดก็คือ ภัยก่อการร้าย

ใน JASON BOURNE มีพล็อตเรื่องรอง ที่เป็นตัวผลักดันอยู่ในฉากหลังของการดำเนินเรื่อง คือ ผอ.CIA ดิวอี้ แอบทำโครงการลับ ให้ทุนเอกชนไปเปิดแพลทฟอร์ม สื่อสังคมออนไลน์ตัวใหม่ที่ชื่อว่า Deep Dream เพื่อให้ติดตลาดและ CIA จะใช้เป็นเครื่องมือสอดแนมทุกคนบนโลกที่ใช้ Deep Dream เพื่อรับมือภัยก่อการร้ายที่สหรัฐอเมริกากำลังเผชิญอยู่ ภาพยนตร์จงใจโยนเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาให้ผู้ชมได้เห็น นวัตกรรมใหม่ๆ ที่สหรัฐใช้เพื่อรับมือภัยความมั่นคงแบบต่างๆ จาก 3 ภาคก่อนหน้าที่มีเพียงกล้องสอดแนมในพื้นที่ ส่งสายลับเข้าไปปฏิบัติหน้าที่ ดักฟัง แต่ในภาคนี้เราจะเห็น การฝังมัลแวร์แสดงตำแหน่งของผู้ที่แฮ็คเข้าเมนเฟรม CIA ระบบจดจำใบหน้า ประมวลผลใบหน้าจากกล้องวงจรปิด การใช้ดาวเทียมวิเคราะห์เส้นทางหลบหนี ไปจนถึงองก์ที่ 3 ของเรื่อง ที่โลเกชั่นคือ สถานที่จัดแสดงเทคโนโลยีทางทหารแบบใหม่รูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น เครื่องติดตามที่ใช้ผ่านแอพบนโทรศัพท์ หรือไมโครโฟนดักฟังตามทิศทาง

แน่นอน CIA ย่อมดำเนินนโยบายทุกอย่างเพื่อรักษา ‘ความมั่นคงของรัฐ’ แต่การสอดแนมคนทุกคนบนโลกถือว่าเป็นการละเมิดความเป็นส่วนตัว ซึ่งนับเป็นสิทธิมนุษยชน และนับเป็นหนึ่งใน ‘ความมั่นคงของมนุษย์’ มันคือภาพแทนของ State security vs. Human security ดำเนินอยู่เบื้องหลังภาพการไล่ล่าหาอดีตของเจสัน บอร์น และในภาพยนตร์ ผอ.ดิวอี้ จะยอมทำทุกอย่างแม้แต่ลอบสังหาร ผู้บริหารของ Deep Dream ที่กลัวว่าจะเดือดร้อนในภายหลัง และจะนำความลับโครงการนี้ของ CIA ออกมาแฉต่อสาธารณะ

“ผมขายลูกค้ามามากพอแล้ว”

“งั้นทีนี้นายเลยจะขายชาติงั้นสิ?

ความจริงก็คือเราไม่น่าจะมีการคุยกันตอนนี้ด้วยซ้ำ ถ้านายไม่รู้สึกเสี่ยงภัยเป็นการส่วนตัว

นายพูดถึงอินเตอร์เน็ตฟรี นายบอกตัวเองว่านายกำลังช่วยโลก

แต่ทุกอย่างที่นายทำคือทำให้โลกอันตรายกว่าเดิม

และที่แน่ๆ นายทำให้การปกป้องประเทศนี้ยากกว่าเดิมเยอะ

และนายต้องรับผิดชอบ แอรอน, ต้องรับผิดชอบ”

 

บทสนทนาสั้นของแอรอน ผู้บริหาร Deep Dream กับผอ. CIA อย่าง ดิวอี้ สะท้อนถึงข้อนี้อย่างชัดเจน คุณจะรับมือภัยคุกคามของชาติอย่างไร และคุณจะทำมันไหม หากมันทำลายความมั่นคงของมนุษย์ คำถามเช่นนี้ยังคงเป็นที่ถกเถียงอย่างไม่รู้จบสิ้น หากเราสูญเสียความมั่นคงของมนุษย์ไปจะเป็นอย่างไร?? ในวิชาความมั่นคงศึกษา ความมั่นคงของมนุษย์มีหลากหลายและกว้างขวางเสียจนไม่รู้จะจับจุดตรงไหนมาอธิบายภายใน 1 บทความ แต่โดยรวบรัดตัดตอนจากคำนิยามของ องค์การสหประชาชาติในปี 1996 แล้ว ความมั่นคงของมนุษย์ที่ชัดเจนคือการมนุษย์ในรัฐต้องไม่ตกเป็นเป้าของการใช้กำลัง ไม่ว่าจะการถูกจับกุมตามอำเภอใจ การถูกซ้อมทรมาน กักขังโดยไม่แจ้งข้อหา หรือถูกสังหาร ไม่ว่าจะจากรัฐ หรือกลุ่มที่ไม่ใช่รัฐ สามารถเข้าถึงอาหาร การบริการสาธารณสุขจากภาครัฐได้ และอยู่ในสภาพแวดล้อมที่อำนวยต่อการใช้ชีวิตได้

การถูกสอดแนมนับเป็นการทำลายความมั่นคงของมนุษย์อย่างหนึ่ง นอกจากนี้ CIA ในภาพยนตร์ก็ถูก วาดภาพให้เป็นผู้ที่จะปกปักษ์รักษาความมั่นคงของรัฐในทุกวิถีทาง อย่างที่กล่าวข้างต้น แม้ว่าจะต้องลอบสังหารคนที่ไม่มีความผิดก็ตาม อย่างที่เห็นในองก์ที่ 1 ของภาพยนตร์ที่ ‘นิคกี้’ สายลับหญิงที่เสี่ยงล้วงข้อมูลในอดีตของบอร์นมาให้เขา ก็ต้องถูกลอบสังหารเพราะข้อมูลในมือเธอ สุ่มเสี่ยงต่อความมั่นคงของชาติหากถูกนำไปเปิดเผย แต่ในประเด็นของความมั่นคงของมนุษย์แล้ว เมื่อประชาชนในรัฐใดรัฐหนึ่งสูญเสียความมั่นคงของมนุษย์ไป พวกเขาอาจจะต้องลี้ภัย หรือประท้วงขอความเป็นธรรม อย่างร้ายที่สุดคือ พวกเขาจะหันจับอาวุธขึ้นมาต่อสู้กับอีกฝั่งหนึ่ง และอาจจะเข้าข่ายของการเป็นผู้ก่อการร้าย

JASON BOURNE ไม่ได้บอกเราว่าตัวบอร์นทำเพื่อความมั่นคงของชาติมาตั้งแต่ต้น เขาแค่ต้องการหาตัวคนฆ่าพ่อและหลอกลวงเขามาเข้าโครงการสายลับ และหนังก็ไม่ได้ทำให้เราเชื่อว่าบอร์นต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพความเป็นส่วนตัวของมนุษย์ทั้งโลก ตัวภาพยนตร์เลือกที่จะจบลงด้วยความตายของเจ้าของโครงการลับเหล่านั้น ข้อมูลของบอร์นก็จะอยู่กับตัวเขาต่อไป โดยที่ CIA เริ่มสนใจจะดึงตัวบอร์นกลับเข้ามาทำงานให้ CIA ต่อ และ Deep Dream ยังคงให้บริการต่อไปโดยไม่ต้องกังวลว่าจะต้องมอบกุญแจประตูหลังบ้านให้กับ CIA

แต่สุดท้ายบอร์นก็ทำในสิ่งที่เหมือนจะเป็นการต่อต้านการสอดแนมประชาชน คือการสอดแนม CIA กลับ นั่นอาจจะเป็นเหตุผลว่าทำไมบอร์นทิ้งวีดีโอที่ ‘ดักฟัง’ เสียงสนทนาภายในรถระหว่าง ‘เฮเธอร์ ลี’ เจ้าหน้าที่ CIA หญิงที่ต้องการตัวบอร์นกลับไป กับผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติสหรัฐ (DNI) และภาพยนตร์ก็จบลงอย่างค้างคาในประเด็นที่คอยขับดันมันมาเสมออย่างความมั่นคงของรัฐ กับ ความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งในโลกความเป็นจริง สองสิ่งนี้ยังคงเกื้อหนุน เสริมกัน และบางครั้งขัดกัน ในหลายเงื่อนไขสถานการณ์การเมืองโลก ในแวดวงวิชาการก็ยังมีการเปรียบเปรยความมั่นคงทั้งสองสำนักนี้ว่า เป็นสิ่งที่มาคู่กัน หากรัฐไม่มีความมั่นคง มนุษย์ที่อยู่ในรัฐนั้นก็ไม่อาจจะมีความมั่นคงได้ และหากมนุษย์ไม่มีความมั่นคง รัฐที่เป็นที่อยู่ของมนุษย์กลุ่มนั้นก็ไม่อาจมีความมั่นคงได้เช่นกัน

ฉะนั้นเมื่อเราพูดถึงความมั่นคงแล้ว สิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนได้ถูกสอนมาก็คือ จงคิดเสมอว่า ความมั่นคงที่เรากำลังพูดถึงนั้น คือความมั่นคง ‘ของใคร’?




ที่มาภาพประกอบหน้าแรก: IMDB

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: