Yawnghwe Office In Exile : Platform To Dissent

กฤชสรัช วงษ์วรเนตร: 4 ก.ย. 2561 | อ่านแล้ว 4026 ครั้ง


กลางศตวรรษที่ 18 หลังการต่อสู้ ขัดขืนของผู้คน ผู้นำและเหล่าทหารของประเทศพม่า เพื่อเรียกร้องอิสรภาพและการปกครองตนเองจากประเทศผู้ดีอย่างอังกฤษ ในที่สุดก็ก่อกำเนิดเป็นสหภาพพม่า (Constitution of the Republic of the Union of Myanmar) ได้รับเอกราชอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 4 มกราคม 1948 โดยมีเจ้าส่วยแต๊กเป็นประธานาธิบดี และอูนุ เป็นนายกรัฐมนตรี  การเรียกร้องอิสรภาพจากประเทศเจ้าอาณานิคมคงมิได้เป็นเรื่องง่ายดาย จำเป็นต้องรวบรวมสรรพกำลังด้านต่างๆจากรัฐใกล้เคียงเสียก่อนที่จะเรียกร้องกับประเทศเจ้าอาณานิคม (ช่วงที่อังกฤษเข้าปกครองพม่านั้น มิได้โหมกำลังเข้าไปทั่วทุกหม่อมหญ้าในทีเดียว แต่ทำการรบถึงสามครั้งจึงยึดแว่นแคว้นบริเวณรอบได้สำเร็จ ทำให้เกิดการแบ่งการปกครองตามแต่อาณาบริเวณไป รัฐฉานจึงเป็นเพียงรัฐใต้การอารักขาแตกต่างกับพม่าที่เป็นรัฐอาณานิคม) การรวบรวมเหล่าผู้คนอันหลากหลายกลุ่มชาติพันธ์ก็ได้กำเนิดขึ้นมาพร้อมกับข้อตกลงจากการประชุมที่เมืองปางโหลงในรัฐฉานเมื่อปี 1947 โดยมีชื่อเรียกข้อตกลงนี้ว่า สนธิสัญญาปางโหลง (Panglong Agreement) มีเนื้อความเป็นการเรียกร้องสิทธิในการปกครองตนเองของแต่ละรัฐที่เข้าร่วมทำการลงนาม โดยจะได้รับการอนุญาตหลังจากที่ได้รับอิสรภาพจากอังกฤษ 10 ปีให้หลัง

เมื่อกลุ่มทหารที่เคยมีอำนาจในพม่าเริ่มรู้สึกถึงความสูญเสียพลังอำนาจของตนไป ประกอบกับความผิดหวังด้านผลประโยชน์ในโครงการต่างๆ มีการยกเลิกโครงการต่างๆที่ริเริ่มโดยทหาร การถูกกีดกันออกจากการเมือง การชูประเด็นว่าด้วยรัฐศาสนาและโจมตีพรรคคอมมิวนิสต์ด้วยข่าวการทำลายวัตถุทางศาสนา ทำให้นายพล เนวิน ทำการรัฐประหารในวันที่ 2 มีนาคม 1962 ทหารของคณะรัฐประหารบุกเข้ารัฐสภาเพื่อจับกุมรัฐมนตรี เจ้าฟ้า-เจ้าเมืองต่างๆ ทั้งยังบุกไปยังที่พักของเจ้าส่วยแต๊กประธานาธิบดีคนแรกที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในขณะนั้น เกิดการปะทะกันขึ้นกับผู้คุ้มกัน ทำให้เจ้าจายหมีพระโอรสของเจ้าส่วยแต๊กต้องสิ้นใจ ด้านเจ้าส่วยแต๊กเองก็ถูกจับไปจองจำยังคุกแห่งหนึ่ง ก่อนที่จะถูกประกาศว่าเสียชีวิตภายในที่คุมขังอย่างเป็นปริศนาในอีกหลายปีต่อมา

นิทรรศการ Yawnghwe Office In Exile : Platform To Dissent ของ สว่างวงศ์ ยองห้วย ศิลปินสืบเชื้อสายจากเจ้าส่วยแต๊กผู้เป็นปู่ สว่างวงศ์อพยพลี้ภัยทางการเมืองสู่จังหวัดเชียงใหม่ ประเทศไทย และหลังจากนั้นก็ได้ข้ามน้ำข้ามทะเลต่อไปยังประเทศแคนาดา เขาได้นำความผิดหวังต่อสัญญาปางโหลงมาแสดงให้เห็นถึงการผูกโยงประวัติศาสตร์ของวงศ์ตระกูลและประวัติศาสตร์ของรัฐฉานที่มีความสัมพันธ์อย่างเหนียวแน่น เวลาผ่านไปหลายสิบปี สัญญาปางโหลงก็ดูจะยังไม่เห็นผลที่ชัดเจนแม้แต่น้อย ปัจจุบันรัฐฉานยังคงต่อสู้กับรัฐบาลพม่าเพื่อเรียกร้องสิทธิในสิ่งที่ตนควรได้ และที่มากไปกว่านั้นคือสัญญาที่พม่าเคยให้ไว้กับกลุ่มชาติพันธ์ต่างๆผ่านสนธิสัญญาปางโหลง

สว่างวงศ์สถาปนาสำนักงานยองห้วยผลัดถิ่นในฐานะของศิลปินและนักปฏิบัติการทางการเมืองเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยให้กับเอกราชรัฐฉาน รูป/ลักษณ์ของความเป็นสำนักงานดังกล่าวถูกนำเสนอเป็นผลงานศิลปะจัดวางที่จะย้ายไปยังเมืองต่างๆทั่วโลก ในปี 2018 เดือนสิงหาคมนี้เขาได้สถาปนาสำนักงานดังกล่าวมานำเสนอต่อสายตาชนกรุง ณ Cartel Art Space พื้นที่ทางศิลปะอันโกดัง ในครั้งนี้นอกจากที่ศิลปินจะจัดวางสำนักงานผลัดถิ่นให้ได้ร่วมปฏิสัมพันธ์แล้วนั้น ยังมี ศิลปะการแสดงสด อยู่ภายในสำนักงานให้เสพชมและเป็นส่วนหนึ่งของการแสดงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งผู้ที่จะแสดงศิลปะการแสดงสดก็ไม่ใช่ใครอื่นแต่คือผู้เข้าชมและศิลปินเอง เป็นการปฏิสัมพันธ์กันระหว่างผู้ชมและศิลปินผ่านการจำลองพื้นที่ร้านน้ำชา ในฐานะของพื้นที่แห่งการสนทนา

ศิลปินได้หยิบยกสำนักงานยองห้วยให้เป็นพื้นที่แห่งการแลกเปลี่ยนบทสนทนา ความคิด การแสดงออก ผ่านในรูปแบบของร้านน้ำชา โดยจัดวางโต๊ะเล็กๆ เก้าอี้นั่งชันเข่า เสื่อสำหรับเอนหลัง-นั่งเล่น แก้วและกาน้ำไว้ เชื้อเชิญผู้คนเข้ามาด้วยการจิบชาไปพูดคุยไป รวมทั้งยังร่วมเป็นส่วนหนึ่งของผลงานการแสดงสดในครั้งนี้ นอกจากนี้ศิลปินเองก็จะหลับ-กิน-ทำงานอยู่ภายในสำนักงานเป็นเวลา 1 เดือนเต็ม เพื่อที่จะสร้างสรรค์ผลงานจิตกรรมบนผนังและศิลปะการแสดงสดนี้ไปเรื่อยๆจนครบเวลาที่กำหนด

เมื่อเข้าไปยังสำนักงานจะได้พบกับเรื่องราว ประวัติศาสตร์ของรัฐสภาสหภาพพม่า ภาพของที่ดินเดิม ภาพของเจ้าส่วยแต๊ก ภาพที่นำมาจัดแสดงนั้นมีขนาดไม่ใหญ่นักและปักไว้ด้วยหมุดทั้งสี่มุมของแต่ละภาพ เป็นดั่งสัญลักษณ์แทนการสืบค้น เสาะหา ส่วนบนผนังทั้งสามด้านนั้นประกอบไปด้วย ข้อสรุปจากการอภิปราย เรื่องของสนธิสัญญาปางโหลงที่ New York โดยย้ำถึงข้อเรียกร้องต่างๆ ส่วนด้านถัดมานั้นเป็นภาพวาดเหล่าชายแต่งกายด้วยผ้าคาดศรีษะ กางเกงขาสั้น พยายามยกธงชาติรัฐฉานขึ้นปักไว้หรือพยายามประคับประคองมิให้ธงผืนดังกล่าวนั้นล้มลง ผนังสุดท้ายนั้นศิลปินสร้างสรรค์ผลงานที่เล่าเรื่องราวการปกครองชนชาติพม่าด้วยทหาร นำเสนอถึงชีวิตที่อยู่ใต้ปกครองของอำนาจเผด็จการทหาร เน้นไปที่ท่าทางของทหารในอิริยาบถต่างๆ ซึ่งกระจายอยู่ทั่วผืนหนัง อาจเปรียบได้กับอำนาจที่แทรกแซง ควบคุมทุกอาณาบริเวณ ซึ่งศิลปินก็เป็นผู้ปีนป่ายขึ้นไปขีดเขียนเองบนผนัง ผู้เขียนนึกเอาเองว่าสิ้นเดือนสิงหาคมนี้ ผู้ชมคงจะได้พบเห็นความเคลื่อนไหวในนามของศิลปะการแข็งขืนกับรัฐส่วนกลางของพม่าได้ชัดเจนและเพิ่มมากขึ้น

ช่วงเวลาเดียวกันกับที่จัดแสดงนิทรรศการนี้เป็นช่วงเวลาการรำลึกในเหตุการณ์ 8888 ที่เกิดขึ้นในประเทศพม่า ซึ่งเป็นการแข็งขืนต่ออำนาจการปกครองของเผด็จการทหาร โดยเหล่านักศึกษาและประชาชนได้ออกมาชุมนุมประท้วงการทำงานของคณะรัฐบาลที่นำโดยนายพลเนวิน เป็นผลให้เนวินลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และทิ้งทวนคำพูดไว้ว่า “หากมีการยิงเกิดขึ้น เรา (ทหาร) มิได้ยิ่งเพื่อขู่ แต่เป็นการยิงเพื่อสังหาร”  ในที่สุดก็นำไปสู่การปราบปรามผู้ชุมนุม ผู้อยู่เบื้องหลังการสั่งการนี้ก็คือนายพลเส่ง ลวิน (Sein Lwin, 1923-2004) ที่ขึ้นมารับอำนาจแทนเนวิน และอยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้เพียง 17 วัน ทำให้มีประชาชนและนักศึกษาตายไปเป็นจำนวนมาก หลังจากนั้นก็ได้มีการสั่งการให้ปิดมหาวิทยาลัยทั่วประเทศเป็นเวลากว่า 2 ปี จนนำไปสู่การกลายเป็นประเทศด้อยพัฒนาในช่วงเวลาระยะหนึ่ง

การที่ศิลปินเลือกช่วงเวลาอันเริ่มเกิดขึ้นของกระแสการเรียกร้องประชาธิปไตยในประเทศไทยและช่วงเวลารำลึกเหตุการณ์ 8888 ของประเทศพม่าก็คงเป็นสิ่งที่ได้เลือกเอาไว้แล้วมิใช่ความบังเอิญแต่อย่างใด การแข็งขืน/เรียกร้องในข้อตกลงที่เลือนหายของศิลปินตั้งแต่ ปี 1993 (หรือตั้งแต่การรับรู้เรื่องราวการผลัดถิ่นของตน) จนถึงปัจจุบัน ก็ได้แสดงให้เห็นถึงความต่อเนื่องของการกระทำที่ผ่านมา สิ่งที่นำมาจัดแสดงในโกดังศิลปะเมืองกรุงของประเทศไทยนี้ ยังเป็นการย้ำเตือนถึงความสัมพันธ์ระหว่าง พม่า-รัฐฉาน-ไทย ด้วย โดยในอดีตมีช่วงหนึ่งที่ประเทศไทย ให้การพำนักพักพิงแก่เจ้าฟ้าเมืองยองห้วยจากรัฐฉาน ทั้งยังทำให้ผู้เขียนได้พิจารณาถึงสำนึกทางประวัตศาสตร์ที่ต่อเนื่อง การที่ร่ำเรียนที่ผ่านมาทำให้ผู้เขียนเข้าใจความเป็นคนอื่นผ่านสายของคนไทย จนได้ตระหนักว่าที่เราแทบไม่รู้จักเพื่อนบ้านของเราผ่านการเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์เลย อย่างไรก็ตามผู้เขียนเชื่อว่ามีคนจำนวนไม่น้อยที่ไม่ติดกับทางวาทกรรมที่ว่า ไทยกับพม่าเป็นศัตรูกัน รวมถึงการดูถูกดูแคลนในความเป็นพม่าเมื่อสัญญาปางโหลงเป็นหมันใช้การไม่

ได้ กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆก็จัดตั้งกองกำลังของตนเองขึ้น จนความขัดแย้งแพร่กระจายไปทุกหัวระแหงของประเทศ นายพลเนวินจึงใช้ นโยบาย 4 ตัด (Four cuts strategy) โดยตัดอาหาร, ตัดอาวุธ, ตัดเงินทุน, ตัดข่าวสาร  ในการต่อสู้กับกองกำลังกู้ชาติต่างๆ ซึ่งนโยบายนี้ได้รับการต่อยอดมาจากนโยบาย Three all (Kill all, Burn all, Destroy all) ของกองทัพทหารประเทศญี่ปุ่น นโยบาย 4 ตัด จึงเป็นใบเบิกทางให้กับการ ทำให้เป็นพม่า วิธีการดังกล่าวถูกปฏิบัติผ่านวัฒนธรรมการข่มขืน ใช้การกลืนกินคนต่างชาติพันธุ์-วัฒนธรรม ทั้งยังมีการข่มขืนเกิดขึ้นจริง มีการแต่งตั้งรางวัลและเลื่อนยศให้กับนายทหารที่สามารถจับผู้หญิงของกลุ่มชาติพันธุ์อื่นมาเป็นเมีย ยิ่งเป็นลูกเจ้าขุนมูลนาย ลูกเจ้าฟ้า-เจ้าเมืองก็ยิ่งมีรางวัลตอบแทนให้มากขึ้นตามลำดับ

หากพูดถึงบริบทของร้านน้ำชาในประเทศไทยนั้น ทางตอนใต้ของประเทศไทยเองก็มีวงน้ำชาไว้สนทนาในเรื่องบ้านเมือง (แม้จะตอบรับเฉพาะความคิดเห็นจากเพศชายเท่านั้นก็ตาม แต่ก็เป็นวงน้ำชา) จนนำไปสู่การตั้งวงถกเถียง ที่นอกเหนือจากการต่อต้านก็ดูจะเป็นการทำความเข้าใจบริบททางสังคม-วัฒนธรรมในแต่ละพื้นที่ด้วย และวงน้ำชาก็จะคงตั้งตระหง่านคอยท้าสู้อยู่กับอำนาจส่วนกลางของไทยมาจนถึงปัจจุบันสำนักงานยองห้วยผลัดถิ่นนี้จึงเป็นการจัดตั้งขึ้นมาตามกาลเวลาล้อเลียนไปกับสนธิสัญญาปางโหลงที่ผลุบๆโผล่ๆมาในแต่ละช่วงเวลาของประเทศพม่า การต่อต้านขัดขืนจึงเป็นแรงขับดันให้กับศิลปินแสดงออกในการต่อต้านกับเผด็จการ และอาจกล่าวได้ว่าเป็นที่รวมตัวของนัก

ต่อต้านอำนาจส่วนกลาง (ถ้าพวกเขาเลือกที่จะมาพบปะสนทนากัน) ทั้งยังพร้อมสลายหายไปในเวลาเพียงเดือนเดียว การขัดขืนครั้งนี้จะส่งผลกระทบต่ออำนาจส่วนกลางของพม่าหรือไม่นั้น? ผู้เขียนคิดว่าคงไม่กระทบอะไรมากนัก แต่จะกระทบต่อผู้เข้าชมผลงานชาวไทยขนาดไหน? น่าจะเป็นคำถามที่เหมาะสมกว่า อย่างน้อยตัวผู้เขียนเองก็ได้รับรู้ถึงการปฏิบัติการที่นำเสนอถึงการแข็งขืนอย่างมีชั้นเชิง ได้เห็นว่าศิลปะ(ชุดนี้) เป็นสนามแห่งการตระหนัก และดูเหมือนว่าการเรียกร้องอิสรภาพ มิได้มีหนทางที่สะดวกสบาย แต่เป็นหนทางอันขรุขระระยะยาว ต้องต่อสู้ไป (แทบจะ) ตลอดช่วงชีวิต หนทางแห่งศิลปะเชิงการเมืองแนวนี้ ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่น่าสนใจในการกระตุ้นความคิดผู้ชมหรือผู้ที่บังเอิญผ่านมา ที่นอกเหนือไปจากการออกไปรวมตัวรุมด่ารัฐบาลเผด็จการในเมืองกรุงในช่วงเวลาที่ผ่านมา.


 

 

ข้อมูลประกอบการเขียน

กองบรรณาธิการ. จาก “พุกาม” ถึง “โยธยา” เปิดตำราเรียน “พม่า” ว่าด้วยความสัมพันธ์กับไทย. ในวารสารศึกษาศาสตร์ ปีที่ 25 ฉบับที่ 2: ตุลาคม 2544-มกราคม 2545.

ธานี สุขเกษม. 2557. การสร้างประชาธิปไตยในเมียนมาร์. ในวารสารมหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี ปีที่ 8 ฉบับที่ 1 มกราคม-มิถุนายน 2557.

เผ่า นวกุล. 2559. สิทธิในการปกครองตนเอง อิสรภาพและความขัดแย้งในพม่า ค.ศ. 1920-1962. ในวารสารมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุราษฎร์ธานี ปีที่ 8 ฉบับที่ 2 พฤษภาคม-สิงหาคม 2559.

อัยนา ภูยุทธานนท์. 2560. การศึกษาเรื่องราวจากความทรงจำในร้านน้ำชาพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ พื่อสร้างสรรค์งานวีดีโออาร์ต. เปิดโลกสุนทรีย์ในวิถีมนุษยศาสตร์. นนทบุรี: บริษัท มีดีกราฟฟิค จำกัด.

atimes.com/article/four-cuts-strategy-deepens-myanmars-war-wounds/

en.wikipedia.org/wiki/Myanmar

en.wikipedia.org/wiki/Myanmar#British_Burma_(1824%E2%80%931948)

en.wikipedia.org/wiki/Burmese_Way_to_Socialism

en.wikipedia.org/wiki/Panglong_Agreement

freekachin.org/about/burmanization/

matichon.co.th/columnists/news_601283

yawnghweofficeinexile.wordpress.com

yawnghwe.blogspot.com

tcijthai.com/news/2016/08/article/63

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: