ความนิยมสื่อบันเทิงไทยในอาเซียนยังพุ่ง​ แม้เคยสร้างความขัดแย้ง-กลืนกลายทางวัฒนธรรม

สกาว แซ่ซุย TCIJ School รุ่นที่ 5 / นิสิตสาขาวิชาพม่าศึกษา มหาวิทยาลัยนเรศวร: 10 ส.ค. 2561 | อ่านแล้ว 17238 ครั้ง

พบประเทศเพื่อนบ้านชื่นชอบสื่อบันเทิงไทย ‘ละคร-ภาพยนตร์-เพลง’ มีทั้งแปลเป็นภาษาตนเอง-พากษ์เสียงทับ แรงงานต่างชาติในไทยใช้เรียนรู้ภาษาและการปรับตัวกับคนไทย ขณะที่เพื่อนบ้านยังคงกลัวการกลืนกลายทางวัฒนธรรม เคยสร้างความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศ ด้านนักวิชาการชี้ควรหยุดใช้เพื่อนบ้านเป็นตัวร้ายในสื่อบันเทิง  ที่มาภาพประกอบ: เฟสบุ๊ค PNN Drama Fan Club

เมื่อสื่อบันเทิงไทยข้ามพรมแดนสู่เพื่อนบ้าน

เมื่อเดือน ธ.ค. 2558  สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ ASEAN ได้เข้าสู่ความเป็น “ประชาคม” อย่างเต็มตัว  แม้คนส่วนใหญ่อาจนึกถึง ‘อาเซียน’ ในแง่ของความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจเป็นอันดับแรก แต่ ‘การเชื่อมโยงด้านวัฒนธรรม’ ก็เป็นอีกมุมหนึ่งของอาเซียนที่สำคัญไม่แพ้กัน เช่นเดียวกับการข้ามพรมแดนทางวัฒนธรรมของ ‘สื่อบันเทิงไทย’ สู่ประเทศเพื่อนบ้านเริ่มที่มีให้เห็นมากขึ้นเรื่อย ๆ

กระแสความนิยมสื่อบันเทิงไทยในอาเซียน ได้รับความนิยมมาเป็นเวลานาน  เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนแปลงการสื่อสาร  ความบันเทิงสามารถเชื่อมต่อกันและเข้าถึงได้ง่ายขึ้น  ด้วยสาเหตุนี้ทำให้สื่อบันเทิงไทยค่อนข้างเติบโตมากขึ้นกว่าเดิม  อิทธิพลของสื่อบันเทิงไทยต่อประเทศเทศเพื่อนบ้าน ไม่ว่าจะเป็นประเทศ ลาว พม่า  กัมพูชา และเวียดนาม เริ่มจากที่มีแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านมาทำงานอยู่ในไทยต่อเนื่องหลายทศวรรษ และรับสื่อบันเทิงไทยมาโดยตลอด ทำให้มีจำนวนของแรงงานที่รู้ภาษาไทยผ่านการรับสื่อบันเทิงไทย และคุ้นเคยกับวิถีชีวิตแบบคนไทยไปกลมกลืน เมื่อกลับประเทศต้นทางก็ได้นำอิทธิพลเหล่านี้กลับไป และยังเผยแพร่ให้กับสังคมที่นั่นด้วย 

โดยประเทศที่ได้รับอิทธิพลสื่อบันเทิงไทยหลักคือ ประเทศลาว พม่า กัมพูชา และเวียดนาม ซึ่งเมื่อได้รับสื่อบันเทิงไทยดังกล่าว  ทำให้เห็นถึงความแนวคิดของคนในสังคมนั้น  ทั้งที่มีต่อคนไทย  สังคมไทยและพวกเขาจะมองสะท้อนย้อนกลับถึงสัมคมของตนเองผ่านการรับสื่อบันเทิงไทย 

สื่อบันเทิงไทยที่เป็นที่นิยมต่อประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่  เพลง  ละคร และภาพยนตร์  เป็นต้น  เห็นได้จากที่หลายๆ ประเทศได้นำสื่อบันเทิงไทยไป เผยแพร่ ทำซ้ำ ทั้งที่อย่างเป็นทางการ คือการที่ประเทศต้นทางได้มาซื้อลิขสิทธิ์จากไทยหรือมีการร่วมทุนกันระหว่างทั้งสองประเทศ เช่น  สถานีโทรทัศน์ช่อง 3 ในนามบริษัท  BEC-TERO ร่วมทุนกับบริษัท Forever  Group ของพม่า มีการรับชมผ่านโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมและช่องทางอินเตอร์เน็ตของผู้ผลิตสื่อในไทยโดยตรง  และอย่างไม่เป็นทางการคือ การที่มีการลับลอบอัดสำเนาละครไทยแล้วนำไปขายในรูแบบ วีซีดี ดีวีดี  เผยแพร่ทางสื่ออินเตอร์เน็ต แปลภาษาเป็นภาษาของประเทศนั้น ๆ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้ผลิตสื่อในไทย

จากละครเรื่อง ธรณีนี่นี้ใครครอง เวอร์ชั่นภาษากัมพูชา ที่มาภาพประกอบ: เฟสบุ๊ค PNN Drama Fan Club

จากภาพยนตร์ เรื่อง พี่มาก..พระโขนง เวอร์ชั่นภาษาพม่า 

จากเพลง ยอมจำนนฟ้าดิน โดยนักร้องไทย โบวี่ เวอร์ชั่นภาษาพม่า 

จากเพลง ช่างไม่รู้เลย โดยศิลปินไทย Peacemaker เวอร์ชั่นภาษาเขมร

 

นอกจากนี้ยังพบว่ามีการนำ ซีรีส์ Sotus S The Series ของไทย  ไปแปลเป็นภาษาเวียดนาม  แล้วได้ทำออกมาเป็นรูปแบบ DVD  โดยได้จัดจำหน่ายผ่านทางเพจเฟสบุ๊คของบริษัทในประเทศเวียดนามเอง ชี้ให้เห็นว่ามีชาวเวียดนามบ้างส่วนที่ชื่นชอบ สื่อบันเทิงไทย

จากการสัมภาษณ์นางสาว May Sabai Maung  นักษาศึกษาปริญญาตรี  สาขาวิชาภาษาไทย ของ University of Foreign Languages, Yangon ว่าในประเทศพม่ามีความนิยมสื่อบันเทิงไทยอย่างไร  เธอระบุว่า ในฐานะปัจเจก เธอชื่นชอบสื่อบันเทิงไทยมาก โดยเฉพาะละคร โดยที่ผ่านมาเธอเคยชมละครไทยหลายเรื่อง เช่น  ละครเรื่องวนิดา เป็นต้น  ส่วนภาพยนตร์ที่ชื่นชอบก็เช่นเรื่องพี่มาก..พระโขนง โดยการรับสื่อบันเทิงไทยของเธอเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เธอเลือกศึกษาวิชาภาษาไทยในระดับอุดมศึกษาที่ University of Foreign Languages, Yangon นอกจากนี้ May Sabai Maung  ยังเผยด้วยว่าได้รับสื่อบันเทิงไทยจากช่องทาง Youtube เป็นหลักเพราะไม่มีค่าใช้จ่าย

ส่วนการรับชมสื่อบันเทิงไทยของแรงงานพม่าในประเทศไทยนั้นพบว่าเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้แรงงานพม่าสามารถเรียนรู้และปรับตัวเข้ากับวัฒนธรรมของไทย ผศ.วิรัช นิยมธรรม อาจารย์ประจำหลักสูตรพม่าศึกษา มหาวิทยาลัยนเรศวร  ระบุว่าแรงงานพม่ามาทำงานอยู่ในไทยต่อเนื่องมาร่วมสองสามทศวรรษก็รับสื่อบันเทิงไทยมาตลอด  ในด้านหนึ่งแรงงานพม่าเริ่มเรียนรู้ภาษาไทยผ่านการบริโภคสื่อบันเทิงไทยนี้  ทำให้คุ้นเคยและปรับตัวเข้ากับกับวิถีชีวิตแบบคนไทย  ส่งอิทธิพลให้มองเห็นประเทศไทยเป็นบ้านชั่วคราวและบ้านหลังที่สอง

สื่อบันเทิงไทยเคยสร้างความขัดแย้งรุนแรงกับเพื่อนบ้านมาแล้ว

อย่างไรก็ตาม แม้สื่อบันเทิงไทยจะสร้างความสุขให้กับผู้รับชมในประเทศเพื่อนบ้าน แต่พบว่าบางครั้งสื่อบันเทิงไทยก็ได้สร้างความขัดแย้งในด้านการเมืองระหว่างของไทยกับเพื่อนบ้านมาแล้ว ตัวอย่างเช่น เหตุการณ์จลาจลในพนมเปญ’ เมื่อปีพ.ศ. 2546 มีสาเหตุมาจากหนังสือพิมพ์กัมพูชา ได้กล่าวหาว่า กบ สุวนันท์ คงยิ่ง ดาราชื่อดังของไทย ว่าเธอได้ระบุว่า “นครวัดเป็นของประเทศไทย  และกัมพูชาได้ขโมยนครวัดไปจากไทย” ส่งผลให้เกิดเหตุบุกเผาสถานทูตไทยในกรุงพนมเปญ และมีการปล้นทรัพย์สินของนักธุรกิจไทยในกัมพูชา  หลังจากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น รัฐบาลได้อพยพชาวไทยจากกัมพูชา และขับนักการทูตกัมพูชาเพื่อเป็นการตอบโต้ พร้อมกับสั่งปิดพรมแดน ซึ่งภายหลังเหตการณ์นี้รัฐบาลกัมพูชาได้จ่ายเงิน 6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เป็นค่าชดเชยให้แก่ไทย  (ดูเพิ่มเติม: เหตุจลาจลในพนมเปญ พ.ศ. 2546)

อีกหนึ่งตัวอย่างคือ ‘เหตุการณ์ภาพยนตร์ไทยดูหมิ่นคนลาว’ ในปีพ.ศ. 2549 ภาพยนตร์ไทยเรื่อง ‘หมากเตะโลกตะลึง’ ภาพยนตร์ตลกที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับทีมฟุตบอลทีมชาติลาว มีเนื้อหาส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับคนลาวในเชิงตลกขบขัน ทำให้นายเหียม พมมะจัน เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวประจำประเทศไทยในขณะนั้น เกรงว่าจะเกิดความไม่พอใจของชาวลาว เพราะเมื่อได้ดูภาพยนตร์แล้วรู้สึกเหมือนเป็นการดูหมิ่นชาวลาว จึงขอให้เปลี่ยนเอาเนื้อหาที่เกี่ยวกับลาวออกให้หมด ทางผู้ผลิตจึงได้สั่งระงับการออกฉายเพื่อไม่ต้องการให้เป็นปัญหาระหว่างประเทศ ต่อมาผู้สร้างได้เปลี่ยนแปลงเนื้อหาใหม่ โดยเปลี่ยนประเทศลาวในเรื่องให้เป็นประเทศสมมุติชื่อว่า ‘ราชรัฐอาวี’ และเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น "หมากเตะรีเทิร์นส" (ดูเพิ่มเติม: หมากเตะรีเทิร์นส)

นอกจากที่สื่อบันเทิงไทยจะเคยสร้างความรุนแรงกับเพื่อนบ้านแล้ว ยังพบว่ามีเหตุการณ์ที่ละครไทยได้สร้างความไม่พอใจแก่ทายาทกษัตริย์พระองค์สุดท้ายของราชวงศ์พม่า ในปีพ.ศ. 2560 ละครเพลิงพระนาง ของประเทศไทย ได้สร้างความไม่พอใจให้กับโซ วิน เหลนชายของพระเจ้าธีบอ กษัตริย์องค์สุดท้ายของพม่า โดยได้กล่าวกับสำนักข่าว AFP ว่า ครอบครัวของเขารู้สึกไม่พอใจอย่างมากต่อละครเรื่อง ‘เพลิงพระนาง’ ที่กำลังฉายอยู่ในไทย ซึ่งเกี่ยวข้องกับการต่อสู้แย่งชิงอำนาจในราชวงศ์ แม้ละครเรื่องนี้จะระบุว่าเป็นเรื่องของเมืองสมมติ แต่เนื้อหาเกือบทั้งหมดล้อกับประวัติศาสตร์ในช่วงปีสุดท้ายของราชวงศ์คองบอง ในศตวรรษที่ 19 ของพม่า (ดูเพิ่มเติม: ทายาทกษัตริย์องค์สุดท้ายพม่าซัดละครเพลิงพระนางระบุไทยสองมาตรฐาน)

เสียงสะท้อนจากเพื่อนบ้าน ‘กลัวถูกกลืนกลายทางวัฒนธรรม’

จากงานวิจัยเรื่อง ‘ละครไทยกับผู้ชมอาเซียน  วัฒนธรรมศึกษาของสื่อข้ามพรมแดนในอาเซียน’  ของอาจารย์ ดร. อัมพร จิรัฐกร  ระบุว่ามีเครื่องมือที่พยายามเชื่อมโยงวัฒนธรรมที่เรียกว่า ‘สื่อบันเทิงไทย’ ได้แพร่หลายในหลายประเทศเพื่อนบ้าน  ทั้งลาว  พม่า  กัมพูชา และเวียดนาม  เป็นต้น  ซึ่งอาจารย อัมพร ระบุว่าเป็น ‘ความบังเอิญ’ ไม่ใช่การเผยแพร่ที่มีการคาดหวังผลกำไรทางการตลาดเหมือนกระแส K –POP  ของเกาหลีใต้  ดังนั้นสื่อบันเทิงไทยจึงถูกสร้างขึ้นมาภายใต้อุดมการณ์  เงื่อนไขทางวัฒนธรรมของไทย  แต่เมื่อสื่อบันเทิงไทยได้ข้ามไปสู่อีกสังคมหนึ่ง  จึงทำให้เกิดการปะทะประสานทางวัฒนธรรรมและเกิดการสร้างความหมายที่แตกต่างกันออกไปตามทุนทางวัฒนธรรมเดิมที่มีอยู่ของประเทศนั้น

ทั้งนี้พบว่าประเทศเพื่อนบ้านเองก็มีความกังวลใจต่ออิทธิพลของสื่อบันเทิงไทยต่อคนในประเทศ ตัวอย่างเมื่อปี 2550 เว็บไซต์ผู้จัดการรายงานข่าว ‘อิทธิพลไทยทำภาษาลาววิบัติ สื่อโวยรัฐไม่ดูแล’ ระบุว่า ‘เวียงจันทน์ใหม่’ ซึ่งเป็นสื่อของทางการลาว ได้เรียกร้องไปยังหน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบให้เข้าควบคุมดูแลการใช้ภาษาของประชาชน ซึ่งในปัจจุบันภาษาลาวได้เพี้ยนไปอย่างมาก เนื่องจากอิทธิพลจากประเทศเพื่อนบ้านได้ทำให้ชาวลาวและแม้กระทั่งสื่อของทางการเองหันไปใช้ภาษาไทยมากขึ้นทุกวัน

บทความในเวียงจันทน์ใหม่ระบุว่า “ถึงเวลาแล้วที่พวกเราต้องต่อสู้ปกป้องภาษาลาว” โดยได้เสนอให้ใช้วิธีหนามยอกเอาหนามบ่ง ปรับปรุงการโฆษณาอบรมอย่างกว้างขวาง พัฒนาสื่อของรัฐใช้เทคโนโลยีทันสมัยเข้าช่วย เพื่อดึงดูดให้ประชาชนหันไปติดตามชมและติดตามอ่าน นอกจากนี้ยังเผยแพร่ภาษาลาวทุกรูปแบบและชี้นำการดำเนินการของสื่อต่างๆ อย่างกว้างขวาง ทั้งวิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์รายวันและสิ่งพิมพ์ต่างๆ ในประเทศด้วย นอกจากปัญหาสื่อข้ามแดนแล้ว ปัญหาเครื่องมือเครื่องใช้ก็มีความสำคัญ เครื่องมือสื่อสารต่าง มีส่วนอย่างมากทำให้ภาษาลาววิบัติ ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ เครื่องเล่นเกม เล่นแผ่นซีดี รวมทั้ง ‘เครื่องฟังเพลงเคลื่อนที่’ แต่สิ่งที่เวียงจันทร์ใหม่ระบุว่าร้ายแรงกว่าอย่างอื่นคือ โทรศัพท์มือถือ ซึ่งหนุ่มสาวทุกคนต้องการซื้อโทรศัพท์ที่มีเมนูภาษาไทย เพื่อสะดวกเวลาเขียนข้อความส่งหากันและบันทึกเพลงไทย

เวีจงจันทน์ใหม่ยังระบุด้วยว่า สาเหตุสำคัญอีกประการคือชาวลาวเองจำนวนไม่น้อยจะรู้สึกว่า “เท่” เมื่อได้พูดภาษาไทย ทั้งๆ ที่พูดภาษาลาว คนไทยก็เข้าใจได้ และ อาจจะเข้าใจได้ง่ายยิ่งกว่าคนลาวไปพูดไทยอีกด้วย

ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์พม่าวอนหยุดใช้เพื่อนบ้านเป็นตัวร้ายในสื่อบันเทิง

ศ.ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์ คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์พม่า ให้ความเห็นในประเด็น การสร้างภาพลักษณ์ประเทศเพื่อนบ้านให้เป็นตัวร้ายในสื่อบันเทิงไทย โดยได้วิเคราะห์ในรายงาน เพลิงพระนาง กับชาตินิยมไทยพม่า เมื่อปีพ.ศ. 2560 ว่าในครั้งที่มีกรณีละครเพลิงพระนางสร้างความไม่พอใจแก่ชาวพม่าว่าพม่าแทบไม่มีการสร้างภาพยนตร์ หรือละครสะท้อนสงครามระหว่างไทย-พม่า เหมือนที่ไทยนิยมทำมาตลอด แต่พม่ากลับใช้ชาติตะวันตกเป็นคู่กรณี เพราะเป็นผู้เข้ามายึดอาณานิยมและเป็นผู้กระทำต่อพม่ามากกว่า ขณะเดียวกันก็ต้องตระหนักว่าทุกวันนี้พม่ามีการเปลี่ยนแปลง คนพม่ามีพื้นที่ในการแสดงออกถึงสิทธิ เสรีภาพ เกียรติยศของชาติตนเองและทำให้เราต้องกลับมาตั้งคำถามว่าเรายังต้องการที่จะใช้ประเทศเพื่อนบ้านเป็นตัวร้ายในสื่อบันเทิงไทยอีกหรือไม่

“เราจะยังใช้ประเทศเพื่อนบ้านเป็นผู้ร้ายมาเป็นตัวหากินได้อีกหรือไม่ ทั้งๆ ที่เราสามารถทำอะไรให้มันได้มากกว่านี้ และเป็นอุทาหรณ์ที่ทำให้เรากลับมาได้คิดมากกว่าเดิม” ศ.ดร.สุเนตร ระบุ

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: