คนไทยรู้ยัง: จ่ายค่าไฟถูกกว่า หากเลี่ยงใช้ช่วง 13.30-15.30 น.

ทีมข่าว TCIJ : 15 มิ.ย. 2561 | อ่านแล้ว 5350 ครั้ง

เตรียมทดลองมาตรการลดใช้ไฟฟ้าภาคสมัครใจ (Demand Response-DR) เพื่อลด Peak ไฟฟ้าประเทศ  ใช้อัตราค่าไฟเป็นแรงจูงใจโดยผู้เข้าร่วมโครงการจะจ่ายค่าไฟถูกกว่าหากเลี่ยงใช้ช่วง Critical Peak ระหว่าง 13.30-15.30 น. ตั้งเป้าหมาย 100 เมกะวัตต์ ในรอบบิลค่าไฟฟ้า ส.ค. 2561 หากสำเร็จ จะนำมาใช้เป็นมาตรการถาวรในช่วงหน้าร้อนประมาณเดือน พ.ค. ของทุกปี ที่มาภาพประกอบ: metering.com

คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยเมื่อกลางเดือน มิ.ย. 2561 ว่า กกพ. ได้ร่วมกับ 3 การไฟฟ้า ได้แก่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ทดลองมาตรการความร่วมมือลดใช้ไฟฟ้า (Demand Response - DR) ภาคสมัครใจ สำหรับกรณีลดความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (Peak) ประเทศ หรือ Critical Peak (CCP) โดยจะเปิดให้ผู้ที่สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการได้ตั้งแต่วันที่ 15 -30 มิ.ย. 2561 เพื่อทดสอบการลดใช้ไฟฟ้าในรอบบิลเดือน ส.ค. 2561 ซึ่ง กกพ. ตั้งเป้าหมายไว้ที่ 100 เมกะวัตต์

โดยผู้ร่วมโครงการจะได้รับอัตราค่าไฟฟ้าที่จูงใจ ซึ่งแตกต่างจากผู้ไม่เข้าร่วมโครงการ โดย กกพ.กำหนดอัตราค่าไฟฟ้าเป็น 3 ช่วง ตามแรงดันไฟฟ้า ได้แก่ 1. ช่วง Critical Peak (CCP) ระหว่างเวลา 13.30-15.30 น. ค่าไฟฟ้าจะอยู่ประมาณ 9 บาทต่อหน่วย ซึ่งเป็นอัตราที่กำหนดขึ้นมาใหม่ให้มากเป็นพิเศษสำหรับช่วงเวลาดังกล่าว (จากปกติที่กำหนดอัตราค่าไฟเป็น 2 ช่วงคือ Peak และ Off-Peak) 2. ช่วง Peak ระหว่างเวลา 09.00-13.29 น. และ 15.31-22.00 น. ค่าไฟฟ้าจะอยู่ประมาณ 3 บาทต่อหน่วย ซึ่งถูกกว่าผู้ไม่ร่วมโครงการที่ถูกคิดเงินอัตรา 4 บาทต่อหน่วย และ 3. ช่วงความต้องการใช้ไฟฟ้าต่ำ (Off-Peak) ระหว่างเวลา 00.00-8.59 น.และ 22.01-24.00 น. ค่าไฟฟ้าอยู่ประมาณ 2 บาทต่อหน่วย (เท่ากับผู้ไม่ร่วมโครงการ)

ดังนั้นหากผู้ร่วมโครงการหลีกเลี่ยงการใช้ไฟฟ้าช่วง CCP ได้ แต่ยังคงใช้ไฟฟ้าช่วงเวลา Peak อยู่ ค่าไฟฟ้าโดยรวมก็ยังถูกลง เพราะ กกพ. ได้ปรับลดค่าไฟฟ้าช่วง Peak ให้ จากปกติประมาณ 4 บาทต่อหน่วย เหลือประมาณ 3 บาทต่อหน่วย ทั้งนี้ เพื่อจูงใจให้ผู้ร่วมโครงการลดใช้ไฟฟ้าช่วง CCP เป็นหลัก เพื่อตัดยอดการเกิดความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของประเทศที่เกิดขึ้นเกือบทุกปีในช่วงเวลาดังกล่าว ซึ่งจะส่งผลดีต่อประเทศไม่ต้องสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มเพื่อรองรับการใช้ไฟฟ้าสูงสุดได้ในอนาคต สำหรับกลุ่มเป้าหมายที่ กกพ. ต้องการให้ร่วมโครงการ คือ ผู้ใช้พลังงานประเภท4 (กิจการขนาดใหญ่) ที่ใช้ไฟฟ้าอัตรา TOU (Time of Use) และมีเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าแบบ AMR หรือ มิเตอร์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น

ทั้งนี้หากมาตรการดังกล่าวประสบผลสำเร็จจะนำร่องใช้เป็นมาตรการถาวรในอนาคต โดยอาจนำมาใช้ในเดือน พ.ค. ของทุกปีที่มักจะเกิด Peak โดยจะเริ่มตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นไป ซึ่งจะพิจารณาเป้าหมายตามความเหมาะสม แต่ในระยะยาว กกพ.ตั้งเป้าหมายการลดใช้ไฟฟ้าตามโครงการดังกล่าวไว้ 500 เมกะวัตต์ ในปี 2567-2568 เนื่องจากเป็นช่วงที่สำรองไฟฟ้าจะเหลือน้อยหรือไม่มีไฟฟ้าสำรอง หากไม่มีการสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่เพิ่มขึ้น  

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: