คนไทยติด 'เครื่องปรับอากาศ' พุ่ง ใช้ไฟเพิ่มเท่ากับโรงไฟฟ้า 2 แห่ง

ทีมข่าว TCIJ : 6 พ.ค. 2561 | อ่านแล้ว 14956 ครั้ง

อุณหภูมิสูงขึ้น-ครัวเรือนไทยมีกำลังซื้อมากขึ้น ทำให้ยอดขายแอร์ก้าวกระโดดจาก 6 แสนเครื่องในปี 2549 เป็น 1.8 ล้านเครื่องในปี 2560 ตลาดมีมูลค่ามากกว่า 3 หมื่นล้านบาท ขาดแคลนช่างติดตั้ง-ซ่อมบำรุง การใช้ไฟฟ้าพุ่งตาม หากยอดขายยังเพิ่มขึ้นทุกปีในระดับนี้ก็เท่ากับว่าต้องใช้โรงไฟฟ้า 1,000 เมกะวัตต์ 2 แห่งต่อปีเพื่อรองรับ

สืบเนื่องจากสภาวะอากาศในประเทศไทยมีอุณหภูมิสูงขึ้น โดยเฉพาะช่วงหน้าร้อนที่กินเวลายาวนานและร้อนมากขึ้น ประกอบกับครัวเรือนไทยมีกำลังซื้อมากขึ้น ทำให้เครื่องใช้ไฟฟ้ายอดฮิตสำหรับการทำความเย็นอย่างเครื่องปรับอากาศ มียอดขายเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเกือบทุกปี ประมาณการกันว่ายอดขายเครื่องปรับอากาศในประเทศไทยพุ่งสูงเกิน 1 ล้านเครื่องต่อปีมาตั้งแต่ปี 2553 แล้ว และในปี 2560 ตลาดเครื่องปรับอากาศในประเทศก็มีมูลค่าถึง 3.3 หมื่นล้านบาทเลยทีเดียว

ประมาณการยอดขายเครื่องปรับอากาศในไทย ปี 2549-2560

TCIJ ได้รวบรวมการประเมินยอดขายเครื่องปรับอากาศในประเทศตั้งแต่ปี 2549-2560 จากสื่อและหน่วยงานต่างๆ ได้ข้อมูลดังนี้

ในปี 2549 สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ประเมินว่ายอดขายเครื่องปรับอากาศในประเทศมีประมาณ 600,000 เครื่อง [1] ปี 2550 มีการคาดว่ายอดขายเครื่องปรับอากาศมีประมาณ 800,000 เครื่อง หรือมีมูลค่าถึง 2 หมื่นล้านบาท [2] ปี 2551 คาดการว่าตลาดเครื่องปรับอากาศในประเทศขยายถึง 850,000 เครื่อง [3] ปี 2552 ประมาณการยอดขายที่ 7.2-7.3 แสนเครื่อง [4] ในปี 2553 คาดว่ายอดขายแตะ 1 ล้านเครื่องเป็นครั้งแรก [5] แต่ในปี 2554 ประมาณการว่ายอดขายลดลงเหลือประมาณ 900,000 เครื่อง เพราะอากาศในไทยไม่ร้อนมากนัก [6]  (ในปีนี้เกิดเหตุอุทกภัยครั้งใหญ่ด้วย)

ต่อมาในปี 2555 มีการคาดการว่ายอดขายเครื่องปรับอากาศกลับมาแตะที่ 1 ล้านเครื่องอีกครั้ง [7] ปี 2556 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่ามียอดขายประมาณ 1.54 ล้านเครื่อง [8] ปี 2557 ประมาณ 1.61 ล้านเครื่อง [9] ปี 2558 ประมาณ 1.71-1.77 ล้านเครื่อง [10] ปี 2559 ประมาณ 1.81-1.83 ล้านเครื่อง [11] และในปี 2560 ประมาณ 1.8 ล้านเครื่อง มีมูลค่าถึง 3.3 หมื่นล้านบาท [12]

บริษัทขายเครื่องปรับอากาศติด 10 อันดับทำรายได้รวมสูงสุด

TCIJ สืบค้นข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า (เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 25/4/2561) พบว่าในภาพรวมของนิติบุคคลในหมวดการขายส่งเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ชนิดใช้ในครัวเรือนในปี 2559 มีจำนวนนิติบุคคลที่ส่งงบการเงิน 2,288 แห่ง มีรายได้รวมทั้งหมด 215,410.65 ล้านบาท ในปี 2560 มีจำนวนนิติบุคคลที่ส่งงบการเงิน 203 แห่ง มีรายได้รวมทั้งหมด 86,197.10 ล้านบาท

เมื่อพิจารณาด้านรายได้รวม 10 อันดับแรกในปี 2560 ของหมวดธุรกิจการขายส่งเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ชนิดใช้ในครัวเรือน พบว่าธุรกิจที่ขายเครื่องปรับอากาศเป็นหลักหลายแห่งติดอันดับ ตัวอย่างเช่น บริษัท มิตซูบิชิ อีเล็คทริค กันยงวัฒนา จำกัด (บริษัทยอดขายอันดับ 1 ในหมวดนี้) ในปี 2560 มีรายได้รวมถึง 13,396,086,294.00 บาท บริษัท สยามไดกิ้นเซลส์ จำกัด รายได้รวม 8,644,756,730.00 บาท และ บริษัท แคเรียร์ (ประเทศไทย) จำกัด มีรายได้รวม 3,323,681,264.00 บาท เป็นต้น

การส่งเสริมการตลาดของบริษัทจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้าแห่งหนึ่ง ลูกค้าสามารถซื้อแบบผ่อน โดยติดตั้งเครื่องปรับอากาศในฤดูหนาว แต่สามารถเริ่มจ่ายค่างวดในฤดูร้อนได้

ในด้านการแข่งขันพบว่า ธุรกิจจัดจำหน่ายเครื่องปรับอากาศหลายแห่ง ได้ทำกิจกรรมส่งเสริมทางการตลาดกระตุ้นให้ผู้บริโภคซื้อเครื่องปรับอากาศนอกเหนือจากช่วงไฮซีซั่นในฤดูร้อน โดยเหตุผลสำคัญที่ต้องทำการตลาดนอกเหนือจากช่วงฤดูร้อนก็คือ การขาดแคลนช่างติดตั้ง ทำให้ต้องพยายามกระจายการขาย-การติดตั้งไปในช่วงฤดูกาลอื่นๆ ด้วย

ขาดแคลนช่าง

ปลายปี 2560 ข้อมูลจากกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) ระบุว่ากลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศมีปัญหาเรื่องการขาดแคลนแรงงานฝีมือในกลุ่มช่างเครื่องปรับอากาศที่ยังขาดมาตรฐานที่ดี และส่งผลกระทบต่อการผลิตและการส่งออก จึงได้หารือร่วมกับกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงานจัดทำร่างพระราชบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับช่างเครื่องปรับอากาศขึ้น คาดว่าจะประกาศใช้ได้กลางปี 2562 ทั้งนี้ หากมีการบังคับใช้เชื่อว่าจะทำให้อุตสาหกรรมนี้มีมาตรฐานแรงงานที่ดีขึ้นแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานฝีมือได้ [13]

ทว่า ข้อมูลจากสมาคมผู้ค้าเครื่องปรับอากาศไทยได้ระบุถึงปัญหาของช่างเครื่องปรับอากาศว่า การใช้เกณฑ์มาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติที่กำหนดให้ช่างแอร์ต้องมีใบประกอบอาชีพฯ ออกมาบังคับใช้ได้สร้างความกดดันให้ตัวช่างมากกว่าเป็นการแก้ปัญหา (หากไม่มีใบประกอบอาชีพก็ไม่กล้าติดตั้ง-ซ่อมบำรุงเครื่องปรับอากาศ) กระทบต่อผู้ประกอบการร้านเครื่องปรับอากาศที่ขาดแคลนช่างอย่างหนักอยู่แล้ว โดยผู้ประกอบกิจการนั้นมีต้นทุนขั้นต่ำที่จะต้องมีรถและเครื่องมือพร้อมช่างและลูกมือ 1-3 คน เฉพาะรถช่าง 1 คันนั้นจะต้องมีค่าใช้จ่าย ค่าแรงงาน, ค่าผ่อนรถ, ค่าน้ำมัน และอุปกรณ์ต่าง ๆ ไม่ต่ำกว่า 3,000 บาทต่อวัน สมาคมผู้ค้าเครื่องปรับอากาศไทยยังระบุด้วยว่าส่วนหนึ่งของปัญหาการขาดแคลนช่างก็เพราะมีผู้ที่เรียนสายอาชีพเพื่อมาเป็นช่างแอร์โดยตรงน้อยเกินไป [14] [15] [16]

วิธีใช้เครื่องปรับอากาศแบบประหยัด [17]

ที่มาภาพประกอบ: AC Repair Davie

เพื่อเป็นการช่วยลดการใช้ไฟฟ้าของประเทศและประหยัดเงินในกระเป๋าผู้บริโภค สนพ.ได้แนะนำวิธีง่ายๆ ในการใช้เครื่องปรับอากาศแบบประหยัดค่าใช้จ่าย ดังนี้

  • หมั่นทำความสะอาดแผ่นกรองอากาศอย่างสม่ำเสมอ อย่าให้มีฝุ่นเกาะ จะประหยัดไฟได้ 5-7% และควรมีการถอดล้างภายในหรือ “ล้างใหญ่” โดยช่างผู้ชำนาญอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อให้เครื่องปรับอากาศทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ จะสามารถยืดอายุการใช้งานและประหยัดค่าไฟฟ้าได้ 10%
  • กันร้อนให้คอนเดนเซอร์ การนำคอนเดนเซอร์ไปวางไว้ในที่ที่ไม่เหมาะสม เช่น วางบนดาดฟ้า วางบนพื้นซีเมนต์กลางแดด หรือวางในที่ลมถ่ายเทไม่สะดวก จะทำให้คอนเดนเซอร์ทำงานหนักและลดประสิทธิภาพการทำงานของเครื่องปรับอากาศ ส่งผลให้สิ้นเปลืองพลังงานและค่าใช้จ่าย ดังนั้น จึงควรตั้งคอนเดนเซอร์ไว้ในที่ร่ม มีอากาศถ่ายเทสะดวก และควรห่างจากผนังอย่างน้อย 15 เซนติเมตรเพื่อให้ระบายความร้อนได้ดีขึ้น จะประหยัดไฟฟ้าได้ประมาณ 15-20%
  • ปรับอุณหภูมิที่ 25 องศา การตั้งอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศที่ 25 องศาเซลเซียส เป็นอุณหภูมิที่จะทำให้ร่างกายรู้สึกสบายและช่วยประหยัดไฟมาก เพราะหากปรับอุณหภูมิให้เย็นลง 1 องศาจะใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นถึง 10%
  • ไม่นำความชื้นเข้าห้อง เชื่อหรือไม่ว่าสำหรับเมืองไทยแล้ว พลังงานที่ใช้ในการทำความเย็นของเครื่องปรับอากาศนั้นแค่ 30% เท่านั้น ที่เหลืออีก 70% เป็นไปเพื่อการทำให้อากาศในห้องแห้ง หรือ “รีดความชื้น” ออกจากห้อง ดังนั้น หากต้องการให้เครื่องปรับอากาศทำงานน้อยก็ไม่ควรเอาของที่มีความชื้นเข้าไปไว้ในห้องปรับอากาศ เช่น กระถางต้นไม้ หรือตากผ้าในห้องนั้น
  • ไม่นำของร้อนเข้าห้อง หลีกเลี่ยงการนำเครื่องครัวหรือภาชนะที่ร้อนจัด เช่น เตาไฟฟ้า กระทะร้อน หม้อต้มน้ำ หม้อต้มสุกี้ ฯลฯ เข้าไปในห้องปรับอากาศ ควรปรุงให้เสร็จจากในครัว แล้วจึงนำเข้ามารับประทานภายในห้องเพื่อไม่เป็นการเพิ่มความร้อนในห้อง อันเป็นสาเหตุให้เครื่องปรับอากาศต้องทำงานหนัก
  • ควรปิดประตูหน้าต่างให้สนิท การปิดประตูและหน้าต่างให้สนิทขณะเปิดเครื่องปรับอากาศช่วยป้องกันไม่ให้อากาศร้อนหรือความชื้นจากภายนอกเข้ามา ไม่เช่นนั้นจะทำให้เครื่องต้องทำงานหนักขึ้นและกินไฟมากขึ้นด้วย
  • ควรปิดแอร์ก่อนออกจากห้อง อย่างน้อย 30 นาที – 1 ชั่วโมง จะช่วยลดการใช้ไฟได้ 30 หน่วยต่อเดือน ประหยัดได้ 75 บาทต่อเดือน ถ้าปิดเร็วขึ้นวันละ 1 ชั่วโมง 1 ล้านเครื่อง จะประหยัดไฟให้ประเทศได้เดือนละ 75 ล้านบาท หรือ 900 ล้านบาทต่อปี (เครื่องปรับอากาศขนาด 12,000 บีทียู)

 

ใช้ไฟฟ้าพุ่ง หากไม่ประหยัด-ต้องเพิ่มโรงไฟฟ้ารองรับ

‘ความต้องการพลังไฟฟ้าสูงสุด’ หรือ ‘พีค’ ประจำเดือนมีนาคม 2561 เกิดขึ้นในช่วงเวลา 19.24 น. รูปแบบการเกิดพีคโหลดก่อนปี 2559 มักจะไม่เกิดขึ้นในช่วงนี้ กฟผ.ระบุว่า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีการใช้เครื่องปรับอากาศพร้อมกันจำนวนมากในช่วงหัวค่ำ-กลางคืน ที่มา: การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 1/5/2561)

ปัจจุบัน ภาคที่อยู่อาศัยมีการใช้พลังงานไฟฟ้าสูงเป็นอันดับ 2 รองจากภาคการผลิตแล้ว และมีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่องโดยเฉพาะการใช้ไฟฟ้าของเครื่องปรับอากาศ ดังจะเห็นได้จากตัวอย่างพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าของภาคครัวเรือนที่มี ‘ความต้องการพลังไฟฟ้าสูงสุด’ (Peak) ในช่วงหัวค่ำ-กลางคืน ตัวอย่างในปี 2559 ครั้งหนึ่งเกิดขึ้นในหัวค่ำของวันที่ 6 เม.ย. ซึ่งเป็นวันหยุดราชการ (วันจักรี) ต่อมาในวันที่ 11 พ.ค. 2559 เกิดในเวลา 22.28 น. (29,618.80 เมกะวัตต์) ล่าสุดในเดือน มี.ค. 2561 ก็เกิดขึ้นในช่วงกลางคืนเมื่อวันที่ 18 มี.ค. 2561 เวลา 19.24 น. (27,313.90 เมกะวัตต์) รูปแบบการเกิดความต้องการพลังงานไฟฟ้าสูงสุดของไทยก่อนปี 2559 มักจะไม่เกิดขึ้นในช่วงนี้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ระบุว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีการใช้เครื่องปรับอากาศพร้อมกันจำนวนมากในช่วงเวลานั้นนั่นเอง [18] [19] [20]

จากข้อมูล ภาพรวมการใช้ไฟฟ้าตามภาคเศรษฐกิจของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) แสดงข้อมูลการใช้ไฟฟ้าของ 6 เดือนแรกในปี 2559 ว่า การใช้ไฟฟ้าสูงสุดมาจากภาคการผลิต คิดเป็นสัดส่วน 38% ของการใช้ไฟฟ้าทั้งประเทศ (ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปี 2558 ราว 2.5%) ส่วนภาคที่อยู่อาศัยใช้ไฟฟ้าสูงสุดเป็นอันดับ 2 มีสัดส่วนคิดเป็น 27% ขยายตัวเพิ่มสูงขึ้นถึง 10.11% เนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนขึ้นทำให้มีการใช้เครื่องไฟฟ้าเพื่อทำความเย็นเพิ่มขึ้น อันดับ 3 คือภาคการขายส่ง การขายปลีก ภัตตาคาร และโรงแรม ซึ่งมีสัดส่วนการใช้ไฟฟ้าที่ 14%

จากการประเมินของ กฟผ. ระบุว่า อุณหภูมิที่สูงขึ้นมีผลโดยตรงกับการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น หากอุณหภูมิสูงขึ้น 1 องศาเซลเซียส จะทำให้ยอดการใช้ไฟฟ้าของประเทศเพิ่มขึ้น 400 เมกะวัตต์ [21] ทั้งนี้เมื่อปี 2549 สนพ.ระบุว่า หากคำนวณอัตราการใช้ไฟฟ้าของเครื่องปรับอากาศ 1 เครื่องที่ 1,000 วัตต์ เท่ากับในแต่ละปีประเทศไทยจะมีความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มถึง 600 เมกะวัตต์ เพื่อรองรับเครื่องปรับอากาศอย่างเดียว (ปี 2549 ประเมินยอดขายเครื่องปรับอากาศไว้ที่ 600,000 เครื่อง) [22] ถ้าหากนำการคำนวณอัตราการใช้ไฟฟ้าของ สนพ. มาเทียบกับประมาณการยอดขายเครื่องปรับอากาศในปี 2560 ที่ 1.8 ล้านเครื่องก็เท่ากับว่าประเทศไทยจะมีความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มถึง 1,800 เมกะวัตต์ ซึ่งจะต้องมีการสร้างโรงไฟฟ้าขนาด 1,000 เมกะวัตต์ 2 แห่งเพื่อรองรับการขยายตัวของเครื่องใช้ไฟฟ้าประเภทนี้ หากไม่มีมาตรการประหยัดไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพเพียงพอ.

 

ข้อมูลอ้างอิง
[1] สนพ. แนะวิธีใช้เครื่องปรับอากาศแบบประหยัด (ศูนย์ประชาสัมพันธ์รวมพลังหาร 2, สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน, 6/6/2550)
[2] ยอดขายแอร์ทะลุ 1 ล.ยูนิต (สยามธุรกิจ, 2/5/2550)
[3] สารวิจัยธุรกิจ ปีที่ 12 ฉบับที่ 20 มิ.ย. 2551 (ธนาคารกรุงไทย, 20/6/2551)
[4] ร้อนมาเร็วแอร์ขายพุ่งเท่าตัว (โพสต์ ทูเดย์ 9/2/2552)
[5] ไดกิ้นเล็งเพิ่มยอดขาย 30% (โพสต์ ทูเดย์, 28/7/2553)
[6] มิตซูบิชิประสานเสียงเซ็นทรัลแอร์ค้านกลับมาเก็บภาษีเครื่องปรับอากาศใหม่ (แนวหน้า, 2/3/2555)
[7] เพิ่งอ้าง
[8] ปี'58 ตลาดเครื่องปรับอากาศในประเทศเริ่มฟื้นตัว...คาดยอดขายขยายตัวไม่ต่ำกว่าร้อยละ 6 แนะเพิ่มส่งออกสู่ CLMV+I (ศูนย์วิจัยกสิกรไทย, 10/4/2558)
[9] เพิ่งอ้าง
[10] เพิ่งอ้าง
[11] อ้างใน 'ตลาดแอร์ปี 2559 แข่งขันแรง เน้นจับตลาดบน ชูเทคโนโลยี'(marketeer.co.th, 10/3/2559)
[12] ตลาดแอร์กฤติหนัก! อากาศแปรปรวนยอดทรุด10%-ชู‘อินเวอร์เตอร์’แก้เกม (ฐานเศรษฐกิจ, 14/5/2560)
[13] กลุ่มแอร์ขาดแรงงานฝีมือ กระทบส่งออก 1.8 แสนล้าน (ประชาชาติธุรกิจ, 28/8/2560)
[14] วารสารสมาคมผู้ค้าเครื่องปรับอากาศไทย (ปีที่ 12 ฉบับที่ 42/2559 ประจำเดือน มกราคม-มีนาคม)
[15] วารสารสมาคมผู้ค้าเครื่องปรับอากาศไทย (ปีที่ 12 ฉบับที่ 45/2559 ประจำเดือน ตุลาคม-ธันวาคม)
[16] วารสารสมาคมผู้ค้าเครื่องปรับอากาศไทย (ปีที่ 13 ฉบับที่ 46/2560)
[17] สนพ. แนะวิธีใช้เครื่องปรับอากาศแบบประหยัด (ศูนย์ประชาสัมพันธ์รวมพลังหาร 2, สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน, 6/6/2550)
[18] คนไทยขี้ร้อนไฟฟ้าเริ่มพีกช่วงกลางคืน (โพสต์ทูเดย์, 15/3/2560)
[19] พีคไฟฟ้าปี 59 ทำลายสถิติพีคปี 58 แล้ว (Energy News Center, 6/4/2559)
[20] ความต้องการไฟฟ้าสูงสุด (การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย, เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 1/5/2561)
[21] ปรับฐานข้อมูลใหม่ทำให้พีคไฟฟ้าปี 2560 พุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ 32,059 เมกะวัตต์ (การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย, 24/3/2560)
[22] สนพ. แนะวิธีใช้เครื่องปรับอากาศแบบประหยัด (ศูนย์ประชาสัมพันธ์รวมพลังหาร 2, สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน, 6/6/2550)

 

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง
จับตา: ไทยติดอันดับ 2 ประเทศผู้ส่งออกเครื่องปรับอากาศที่สำคัญของโลก

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: