จับตา: สถานการณ์คุณภาพน้ำ ‘ลำตะคอง’

ทีมข่าว TCIJ : 15 เม.ย. 2561 | อ่านแล้ว 4237 ครั้ง


จากการเก็บข้อมูลตั้งแต่ปี 2524-2551 พบว่าสถานการณ์คุณภาพน้ำ ‘ลำตะคอง’ มีแนวโน้มดีขึ้น โดยคุณภาพแหล่งน้ำที่ถูกจัดให้อยู่ในประเภทเสื่อมโทรมถึงเสื่อมโทรมมากมีแนวโน้มลดลง ที่มาภาพประกอบ: กลุ่มจับตาโครงการก่อสร้างมอเตอร์เวย์บางปะอิน-นครราชสีมา

ข้อมูลจาก รายงานการวิจัยการประเมินแหล่งกำเนิดมลพิษจากพื้นที่เกษตรกรรมในพื้นที่ลุ่มน้ำลำตะคอง จังหวัดนครราชสีมา: กรณีศึกษาลุ่มน้ำย่อย คลองตาลอง ห้วยหินลับ ห้วยสำเสา และคลองท่าบาง โดย ผศ.ดร.พงศ์เทพ สุวรรณวารี และคณะ ระบุว่า ‘ลุ่มน้ำลำตะคอง’ เป็นลุ่มน้ำย่อยที่สำคัญลุ่มน้ำหนึ่งของลุ่มน้ำมูล มีพื้นที่ทั้งหมด 3,518 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด 3 จังหวัด ได้แก่ จ.นครนายก จ.ปราจีนบุรี และ จ.นครราชสีมา สำหรับ จ.นครราชสีมา ลำตะคองจะไหลผ่านทั้งสิ้น 6 อำเภอ ได้แก่ อ.ปากช่อง อ.สีคิ้ว อ.สูงเนิน อ.ขามทะเลสอ อ.เมือง และ อ.เฉลิมพระเกียรติ มีความยาวเท่ากับ 220 กิโลเมตร ลำตะคองส่วนที่ไหลผ่าน อ.ขามทะเลสอ จะแยกสายเกิดเป็นลำบริบูรณ์ ซึ่งลำบริบูรณ์ดังกล่าวนี้มีความยาวเท่ากับ 35 กิโลเมตร เมื่อปี 2547 กรมชลประทานได้แสดงข้อมูลจำนวนเขื่อนที่พบในพื้นที่ลำตะคองและลำบริบูรณ์ โดยเขื่อนที่สร้างอยู่ในลำตะคองมีทั้งสิ้น 6 เขื่อน และเขื่อนของลำบริบูรณ์มีทั้งสิ้น 5 เขื่อน

พื้นที่ลุ่มน้ำลำตะคองมีทรัพยากรน้ำที่สำคัญ 3 ประเภท ได้แก่ 1. แหล่งน้ำจากบรรยากาศ ได้แก่ น้ำฝน 2. แหล่งน้ำผิวดิน ได้แก่ แม่น้ำ ลำคลอง หนอง บึง ฯลฯ แหล่งน้ำผิวดินที่สำคัญ ได้แก่ ลำตะคอง และลำบริบูรณ์ ห้วยขนงพระ ห้วยยาง ห้วยหินลับ ห้วยวังเตย และ 3. แหล่งน้ำชลประทาน ได้แก่ ฝายกั้นน้ำ เขื่อน อ่างเก็บน้ำ โดยอ่างเก็บน้ำลำตะคอง เป็นแหล่งชลประทานที่ใหญ่ที่สุด วัตถุประสงค์การสร้างก็เพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้ในการอุปโภคบริโภค การเกษตรกรรม กสิกรรม และอุตสาหกรรมในพื้นที่

ในด้านสถานการณ์คุณภาพน้ำลำตะคอง พบว่าระหว่างปี 2524-2525 มีรายงานศึกษาชิ้นหนึ่ง ได้ศึกษาคุณภาพน้ำทางด้านจุลชีววิทยา โดยตรวจหาชนิดและปริมาณของบักเตรีที่เป็นดัชนีแสดงคุณภาพของแหล่งน้ำที่ไหลผ่านการใช้ประโยชน์ที่ดินด้านต่าง ๆ ของแม่น้ำลำตะคอง และศึกษาถึงปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อเชื้อบักเตรีในน้ำ โดยเก็บตัวอย่าง 10 จุด เริ่มเดือน มี.ค.2524 ถึงเดือน ก.พ. 2525 พบว่า ฤดูกาล การมีฝนตก และธรรมชาติของพื้นที่เป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อคุณภาพน้ำโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงต้นฤดูฝน ปริมาณบักเตรีต่าง ๆ ที่ใช้เป็นดัชนีในแหล่งน้ำจะเพิ่มขึ้นสูงเมื่อเทียบกับฤดูอื่น ๆ ทั้งนี้เพราะฝนที่ตกลงมาได้มีชะล้างอินทรียวัตถุ ธาตุอาหาร รวมทั้งจุลินทรีย์ตามผิวดินไหลลงสู่แหล่งน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแหล่งน้ำที่อยู่ในพื้นที่ทำการเกษตรและที่อยู่อาศัย ทำให้มีปริมาณบักเตรีสูงเกินมาตรฐานซึ่งไม่เหมาะแก่การนำไปใช้ประโยชน์ต่าง ๆ จากผลการวิเคราะห์ทั้งหมดจึงสรุปได้ว่า คุณภาพของน้ำในลำตะคองไม่เหมาะสมที่จะนำมาใช้โดยตรง ถ้าจะใช้บริโภคควรลดปริมาณบักเตรีโดยการต้มเสียก่อน

ต่อมาจากการสำรวจเมื่อปี 2539 โดย บริษัทเอ็นไวรอนเมนทอล แคร์ เซ็นเตอร์ จำกัด ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี พบว่าน้ำในลำตะคองในช่วงไหลผ่าน อ.ปากช่อง ช่วงฤดูน้ำหลากจัดอยู่ในคุณภาพน้ำประเภทที่ 2 คือสามารถนำมาใช้อุปโภค บริโภคได้ แต่ต้องฆ่าเชื้อโรคและผ่านกระบวนการปรับปรุงคุณภาพน้ำทั่วไปก่อน แต่ในช่วงฤดูแล้ง คุณภาพน้ำเปลี่ยนไปอยู่ประเภทที่ 3 ถึงประเภทที่ 5 (ดูรายละเอียดของประเภทแหล่งน้ำผิวดินในล้อมกรอบประกอบ)

การกำหนดประเภทแหล่งน้ำผิวดิน [1]

ประเภทที่ 1 ได้แก่ แหล่งน้ำที่คุณภาพน้ำมีสภาพตามธรรมชาติโดยปราศจากน้ำทิ้งจากกิจกรรมทุกประเภทและสามารถเป็นประโยชน์เพื่อ (1) การอุปโภคและบริโภคโดยต้องผ่านการฆ่าเชื้อโรคตามปกติก่อน (2) การขยายพันธุ์ตามธรรมชาติของสิ่งมีชีวิตระดับพื้นฐาน และ (3) การอนุรักษ์ระบบนิเวศน์ของแหล่งน้ำ

ประเภทที่ 2 ได้แก่ แหล่งน้ำที่ได้รับน้ำทิ้งจากกิจกรรมบางประเภท และสามารถเป็นประโยชน์เพื่อ (1) การอุปโภคและบริโภคโดยต้องผ่านการฆ่าเชื้อโรคตามปกติและผ่านกระบวนการปรับปรุงคุณภาพน้ำทั่วไปก่อน (2) การอนุรักษ์สัตว์น้ำ (3) การประมง (4) การว่ายน้ำและกีฬาทางน้ำ

ประเภทที่ 3 ได้แก่ แหล่งน้ำที่ได้รับน้ำทิ้งจากกิจกรรมบางประเภท และสามารถเป็นประโยชน์เพื่อ (1) การอุปโภคและบริโภคโดยต้องผ่านการฆ่าเชื้อโรคตามปกติและผ่านกระบวนการปรับปรุงคุณภาพน้ำทั่วไปก่อน (2) การเกษตร

ประเภทที่ 4 ได้แก่ แหล่งน้ำที่ได้รับน้ำทิ้งจากกิจกรรมบางประเภท และสามารถเป็นประโยชน์เพื่อ (1) การอุปโภคและบริโภคโดยต้องผ่านการฆ่าเชื้อโรคตามปกติและผ่านกระบวนการปรับปรุงคุณภาพน้ำเป็นพิเศษก่อน (2) การอุตสาหกรรม

ประเภทที่ 5 ได้แก่ แหล่งน้ำที่ได้รับน้ำทิ้งจากกิจกรรมบางประเภท และสามารถเป็นประโยชน์เพื่อการคมนาคม

ระหว่างปี 2539-2551 มีการเก็บข้อมูลพบว่าคุณภาพน้ำในลำตะคองส่วนใหญ่จัดอยู่ในสถานะที่มีสารอาหารปานกลาง ยกเว้นช่วงที่ไหลผ่านเทศบาลนครนครราชสีมา ที่คุณภาพน้ำถูกจัดให้อยู่ในสถานะปานกลางถึงเสีย

ต่อมาระหว่างปี 2548-2551 สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 11 ร่วมกับกรมควบคุมมลพิษดำเนินการเฝ้าระวังคุณภาพน้ำลำตะคอง พบว่าคุณภาพแหล่งน้ำมีแนวโน้มดีขึ้น โดยคุณภาพแหล่งน้ำที่ถูกจัดให้อยู่ในประเภทเสื่อมโทรมถึงเสื่อมโทรมมากมีแนวโน้มลดลง ซึ่งจากเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพน้ำของแหล่งน้ำผิวดินของกรมควบคุมมลพิษ สามารถสรุปได้ว่าลำตะคองส่วนบนถูกจัดให้อยู่ในแหล่งน้ำประเภทที่ 2 (คุณภาพน้ำดี) ส่วนลำตะคองส่วนล่างถูกจัดให้อยู่ในแหล่งน้ำประเภทที่ 4 (คุณภาพน้ำเสื่อมโทรม) นอกจากนี้สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 11 นครราชสีมายังสรุปเพิ่มเติมอีกว่า ปี 2548 พบเพียง 2 สถานีจาก 15 สถานีที่มีคุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน คิดเป็น 13.33% แต่ในปี 2551 พบว่ามีถึง 13 สถานีที่อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน คิดเป็น 86.67% ส่วนอีก 2 สถานีที่ยังมีคุณภาพน้ำเสื่อมโทรมคือ สถานีสะพานบ้านยองแยง ต.พะเนา และบริเวณชุมชนวัดสามัคคี อ.เมือง จ.นครราชสีมา

 

อ้างอิงเพิ่มเติม
[1] มาตรฐานคุณภาพแหล่งน้ำผิวดิน (สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.), เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 11/4/2561)

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: