จากทิวลิปสู่อุตสาหกรรมดอกไม้...สัญลักษณ์ชนชั้นสู่การควบคุมความรู้และเทคโนโลยีของเนเธอร์แลนด์

บุศรินทร์ เลิศชวลิตสกุล: 3 เม.ย. 2561 | อ่านแล้ว 8923 ครั้ง


เพื่อเพื่อนรัก "คิมเบอร์ลี่" ควัก 50,000 สั่งดอกลิลลี่จากเนเธอร์แลนด์ ให้เป็นของขวัญแต่งงาน “มาร์กี้"....

ช่อดอกลิลลี่ในมือของนางเอกสาวในพิธีแต่งงานกับทายาทห้างสรรพสินค้า (ที่มาภาพ: Post Today)

เศษเสี้ยวหนึ่งของข่าวบันเทิงไทย...พิธีแต่งงานของนักแสดงสาวกับทายาทธุรกิจห้างสรรพสินค้าชื่อดัง จุดประกายความคิดของฉันที่มีต่อวัฒนธรรมและอุตสาหกรรมดอกไม้ของฮอลแลนด์

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ดอกไม้จากฮอลแลนด์คือตัวแทนความหรูหรา ตีตราถึงคุณภาพชั้นสูง ภาพกล่องดอกไม้คาร์ดบอร์ดแข็งแรง สแตมป์ข้อความ “quality flowers from Holland” ย้ำถึงภาพลักษณ์นี้ได้ดี และไม่น่าแปลกใจที่ฮอลแลนด์ได้พัฒนากลายเป็นผู้ส่งออกดอกไม้อันดับหนึ่งของโลก ด้วยมูลค่าการส่งออกดอกไม้ราว 5.4 พันล้านยูโรต่อปี และหัวดอกไม้อีก 700 ล้านยูโรต่อปี 

ดอกไม้สำหรับคนดัตช์เรียกได้ว่าฝังรากเป็นวัฒนธรรมที่เหนียวแน่น ไม่ใช่แค่เป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญของประเทศ ธรรมเนียมปฏิบัติที่ฉันได้รับการแนะนำเมื่อไปอยู่เนเธอร์แลนด์ใหม่ๆ คือ หากมีใครเชิญไปทานอาหารที่บ้านคนดัตช์ สิ่งที่ควรนำไปแสดงความขอบคุณคือไวน์สักขวดหรือดอกไม้สักช่อ คนดัตช์รักดอกไม้มากและมักใช้ดอกไม้แสดงความยินดีและเฉลิมฉลองโอกาสสำคัญ ดังนั้น เราจะเห็นจำนวนร้านหรือซุ้มดอกไม้ในประเทศนี้ โดยเฉพาะเมืองใหญ่ๆ ค่อนข้างมาก และกิจการดอกไม้หลายแห่งเปิดช่วงเช้าวันอาทิตย์ เพื่อให้คนซื้อติดไม้ติดมือหากได้รับเชิญไปทานอาหารที่บ้านใครสักคนในวันหยุดสุดสัปดาห์ ต่างจากกิจการร้านค้าส่วนใหญ่ที่มักปิดในวันอาทิตย์ ไม่รวมถึงการที่คนดัตช์เองก็ซื้อดอกไม้ตกแต่งบ้านเป็นประจำอยู่แล้ว

กล่องดอกไม้นำเข้าจากฮอลแลนด์ ส่งไปขายยังตลาดดอกไม้ที่ฮ่องกง

ทุกฤดูใบไม้ผลิ เคอเคินโฮฟ (Keukenhof) สวนดอกไม้ขึ้นชื่อของประเทศและใหญ่เป็นอันดับหนึ่งของโลก ตั้งอยู่บริเวณเมืองไลเดิ้น (Leiden) และลิซเซ (Lisse) เปิดสวนช่วงปลายปลายเดือนมีนาคมถึงต้นพฤษภาคมให้เข้าชมนิทรรศการดอกไม้ ช่วงนี้จึงมีนักท่องเทียวเดินทางเข้าเนเธอร์แลนด์อย่างคึกคัก แม้ว่าราคาเข้าชมสวนจะค่อนข้างสูง ในแต่ละปี สวนแห่งนี้สร้างธีมเฉพาะไม่ซ้ำกัน ดังนั้น ธีมการจัดงานจึงต้องมีการวางแผนล่วงหน้าและประชาสัมพันธ์อย่างยิ่งใหญ่

นอกจากสวน Keukenhof ที่มีชื่อเสียงในบรรดานักท่องเที่ยว ฤดูใบไม้ผลิเป็นช่วงที่เนเธอร์แลนด์ทั้งประเทศจะจัดแต่งสถานที่ทั้งในและนอกอาคาร รวมถึงพื้นที่สาธารณะในเมืองด้วยดอกไม้ที่มีสีสันหลากหลายและให้ความสดชื่น สร้างบรรยากาศของฤดูใบไม้ผลิให้เกิดขึ้นกับผู้คน รวมถึงพิพิธภัณฑ์ในหลายแห่ง เช่น มิวเซียมฟรานส์ ฮาลส์ (Frans Hals Museum) ในเมืองฮาร์เล็ม (Haarlem) ซึ่งเป็นหนึ่งในเมืองต้นกำเนิดของอุตสาหกรรมดอกไม้ มักจัดนิทรรศการที่เชื่อมโยงกับวัฒนธรรมดอกไม้ของประเทศ และมักจะใช้ดอกไม้จัดแต่งเพื่อให้เข้ากับฤดูกาล แม้จะเป็นช่วงเวลาสั้นๆ แต่ก็เป็นเวลาสั้นที่พิเศษพอๆ กับชีวิตของดอกไม้ที่จะยืนต้นสวยงามตลอดฤดูกาล

ตลาดขายดอกไม้หลากหลายในเมืองอูเทรค

มิวเซียม Frans Hals จัดดอกไม้สดประกอบนิทรรศการในฤดูใบไม้ผลิ

ขึ้นชื่อว่าดอกไม้ ทิวลิปถือเป็นหนึ่งในอัตลักษณ์ที่คนมักนึกถึงเนเธอร์แลนด์ Mike Dash นักประวัติศาสตร์ที่เขียนหนังสือเรื่อง Tulipomania: The Story of the World's Most Coveted Flower and the Extraordinary Passions It Aroused (1999) ได้ค้นคว้าถึงแหล่งกำเนิดและการเดินทางของทิวลิปไว้อย่างละเอียดในหนังสือเล่มนี้ เป็นที่ทราบกันดีว่าทิวลิปมีต้นกำเนิดและเป็นที่รู้จักในแถบตะวันออกกลางและเปอร์เซียตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 11 และความนิยมได้แพร่หลายมายังตุรกีตั้งแต่ศตวรรษที่ 13 หรือช่วงอาณาจักรออตโตมันรุ่งเรืองในดินแดนแถบนี้ มีการนำทิวลิปไปปลูกในสวนของผู้นำหรือกษัตริย์ ด้วยความหลงใหลถึงขั้นบูชาที่มีต่อดอกไม้ประเภทนี้ เนื่องจากคำว่า “ทิวลิป” ในภาษาตุรกีใช้ตัวอักษรตัวเดียวกับคำว่า “อัลเลาะห์” (Allah) ทำให้ทิวลิปยิ่งทวีค่าและเป็นที่ต้องการของคนระดับชนชั้นสูงในวัง และเริ่มให้มีการแพร่ขยายพันธุ์ให้มีความหลากหลายมากขึ้น

ยุโรปเริ่มได้ยินชื่อเสียงของทิวลิปจากอาณาจักรออตโตมันผ่านทูตสันถวไมตรีในสมัยที่สุไลมาน (Suleiman) เป็นกษัตริย์ จนกระทั่งดอกไม้นี้ได้เดินทางสู่ทิศตะวันตกในช่วงกลางศตวรรษที่ 16 โดย Ogier Ghislain de Busbecq ทูตสันถวไมตรีเชื้อสายเฟลมมิช ดินแดนทางตอนใต้ของฮอลแลนด์ในอดีต แต่รับราชการขึ้นตรงกับราชวังออสเตรียในขณะนั้น ได้นำดอกไม้ศักดิ์สิทธิ์และสวยงามนี้เข้าสู่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย เป็นแห่งแรก จากนั้นทิวลิปได้เดินทางต่อไปยังเยอรมนี ทางตอนใต้ของฝรั่งเศส รวมถึงเนเธอร์แลนด์ และอังกฤษในเวลาต่อมา ผ่านการค้าขายสินค้าทางทะเลหลังกลางศตวรรษที่ 16 โดยทิวลิปถูกบรรจุใส่กล่องในรูปของหัวพันธุ์เพื่อสามารถนำไปปลูกและขยายพันธุ์ต่อได้

ในยุคนี้ พ่อค้าทางไกลจึงเป็นผู้มีอำนาจและทุนในการขนสินค้าจากแดนหรือฝั่งตะวันออกไปยังดินแดนฝั่งตะวันตก คนกลุ่มนี้ไม่เพียงมีทุน หากต้องมีความสัมพันธ์อันดีกับกษัตริย์และชนชั้นนำในวัง หนึ่งในพ่อค้าทางทะเลที่มีอิทธิพลคือ Joris Rye ที่ไม่เพียงเอาหัวดอกทิวลิปกลับมายังดินแดนทางตอนใต้ของเนเธอร์แลนด์ ในเมืองแอนท์เวิร์ป (Antwerp) ซึ่งปัจจุบันอยู่ในเขตประเทศเบลเยียม แต่เขายังเอามาปลูกในสวนส่วนตัวของเขาด้วย เขามีความสันพันธ์อันดีกับนักพฤกษศาสตร์ที่มีชื่อเสียงของฮอลแลนด์คือ Carolus Clusius ผู้ที่นิยมเดินทางไกลเพื่อเสาะหาพืชพันธ์หายากและมีค่าในยุโรป

ทางเข้าสวน Keukenhof ที่มีนักท่องเที่ยวเข้าชมหนาแน่นทุกปี 

Clusius ถือเป็นบิดาทางพฤกษศาสตร์ของเนเธอร์แลนด์ เขาเริ่มต้นทดลองเพาะพันธุ์ดอกทิวลิปในสวนของตนเองหลังจากย้ายมาอยู่ที่เมืองไลเดิ้น ในราวปี 1593 ขณะเดียวกันก็ทำงานเป็นศาสตราจารย์สอนหนังสือในมหาวิทยาลัยไลเดิ้น เขาจึงใช้ความรู้ที่มีศึกษาพันธุ์ทิวลิปและยังมีการแลกเปลี่ยนความรู้กับเพื่อนศาสตราจารย์ต่างมหาวิทยาลัยและต่างสถานที่ เช่น มหาวิทยาลัยในเยอรมนี ด้วยความที่ขณะนั้น ไลเดิ้นเป็นเมืองสำคัญในทางการเมือง หลังเกิดสงครามแยกตัวของสาธารณรัฐดัตช์ (Dutch Republic) จากสเปน ไลเดิ้นเป็นศูนย์กลางทางยุทธศาสตร์ทางการเมือง และเป็นเป้าหมายในการพัฒนาด้านการศึกษาและองค์ความรู้ มหาวิทยาลัยแห่งแรกหลังสงครามแยกตัวถูกสร้างขึ้นที่นี่ และได้รับเงินทุนจำนวนมากจากผู้ปกครองรัฐเพื่อดึงดูดให้คนจากหลายแห่งมาเรียนและเลื่อนลำดับเป็นสถาบันการศึกษาชั้นน้ำในเวลาไม่นาน Clusius จึงได้รับประโยชน์จากเงินสนับสนุนจากความมีชื่อเสียงของสถาบัน และเริ่มสร้างสวนพฤกษศาสตร์เป็นแหล่งทดลองเพาะปลูกพืชรวมถึงทิวลิป เขาทำให้ดอกทิวลิปซึ่งดั้งเดิมเป็นดอกไม้ป่ากลายเป็นดอกไม้ที่มีการขยายพันธุ์จากการทดลองทางวิทยาศาสตร์  

ขณะเดียวกัน พ่อค้าที่ร่ำรวยจากการค้าทางทะเลเองก็เป็นคนอีกกลุ่มหนึ่งที่ทำให้ทิวลิปกลายเป็นดอกไม้ที่หมายปองของคนทั้งสังคมในยุคนั้น เกิดแฟชั่นหรือความนิยมของคนที่สร้างบ้านและต้องการมีสวนปลูกดอกไม้ มีการนำเอาทิวลิปพันธุ์แปลกใหม่จากการทดลองมาปลูก มีการคบค้าสมาคมสังสรรค์ของกลุ่มคนเหล่านี้ในการแลกเปลี่ยนความรู้และโอ้อวดความเป็นเจ้าของในขณะเดียวกัน ความชื่นชมดอกทิวลิปได้ขยายจากทางพื้นที่สาธารณรัฐดัตช์ตอนใต้ไปยังศูนย์กลางพื้นที่ทางเหนือคือเมืองอัมสเตอร์ดัม ทำให้คนที่มีทุนในสังคมอย่างกลุ่มพ่อค้าในเมืองอัมสเตอร์ดัมนิยมสร้างสวนหลังบ้านและประดับประดาด้วยดอกไม้ เมื่อเวลาผ่านไป การทดลองปลูกในพื้นที่ส่วนตัวเริ่มมีข้อจำกัด คนเหล่านี้รวมถึงคนชั้นสูงและมีทุนมากกว่าเริ่มหันไปซื้อที่ดินนอกเมือง เพื่อทำสวนให้ใหญ่ขึ้น

ดอกทิวลิปที่นำมาตกแต่งในหน้าฤดูใบไม้ผลิที่บริเวณ Rijksmuseum

ราวต้นศตวรรษที่ 16 ความหลงใหลคลั่งไคล้ดอกทิวลิปมีสูงมากขึ้น เพราะดอกไม้นี้ได้เริ่มเปลี่ยนถ่ายมือจากชนชั้นสูงมายังชนชั้นกลางและชนชั้นแรงงานในสังคม ความคลั่งไคล้ทำให้เกิดการทดลองปลูกเพื่อหาพันธุ์ที่แปลกและหายากมากขึ้น และเกิดการประมูลหัวดอกทิวลิปในพื้นที่สาธารณะ เช่น พื้นที่ชั้นใต้ดินของพื้นที่คล้ายโรงเตี๊ยม (Tavern) ที่เป็นสถานที่ดื่มสังสรรค์และซ่องโสเภณีในขณะเดียวกัน การประมูลหัวดอกทิวลิปเริ่มเกิดขึ้นและกลายเป็นปรากฏการณ์ที่เป็นที่รู้จักในประวัติศาสตร์โลกคือ “การคลั่งไคล้ดอกทิวลิป” (Tulipmania)

การซื้อขายในตลาดประมูลทิวลิปของประเทศเนเธอร์แลนด์ในช่วงศตวรรษที่ 17 เป็นอีกปรากฏการณ์ที่มีนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ให้ความสำคัญและยกเป็นตัวอย่างถึงภาวะเศรษฐกิจฟองสบู่แตกอันดับต้นๆ ของประวัติศาสตร์โลก ดอกทิวลิปที่มีสีแตกตัวออกมาจากสีหลักมักได้รับการเก็งกำไรในราคาสูงเพราะถือว่าเป็นสายพันธุ์หายาก ซึ่งหลังจากนั้นมีการวิเคราะห์ว่าสาเหตุที่ทิวลิปเกิดการแตกสีนั้นเกิดจากการติดเชื้อของพืช อย่างไรก็ตาม ความนิยมดอกทิวลิปและการเก็งกำไรถึงจุดฟองสบู่แตกและราคาตกเกิดขึ้นในช่วงปี 1634-1637 มีการระบุว่าราคาดอกทิวลิปพันธุ์หายากพันธุ์ที่ชื่อ Semper Augustus มีราคาสูงเท่ากับบ้านริมคลองในเมืองอัมสเตอร์ดัมในยุคนั้น ปรากฎการณ์เก็งกำไรทิวลิปพันธุ์หายากพุ่งขึ้นถึงขนาดที่มีการประมูลการซื้อขายหัวพันธุ์ทิวลิปล่วงหน้าตั้งแต่หัวพันธุ์ยังเพาะอยู่ในแปลงปลูกหรือที่เรียกกันว่า “การค้าขายในอนาคต” (future trading) หรือ “การค้าในสายลม” (trading in the wind)

ภาพวาดดอกทิวลิป Semper Augustus ที่มีบันทึกว่าราคาแพงที่สุดในโลกในช่วงยุคทองของฮอลแลนด์ (ที่มาภาพ: Flo~commonswik, CC0 Public Domain)

อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดภาวะฟองสบู่แตกในตลาดประมูลทิวลิป โดยจากหลักฐานก็แทบบ่งชี้สาเหตุชัดๆ ไม่ได้ ตลาดหัวและดอกทิวลิปไม่ได้ล้มหายตายจากไป เนื่องจากการเก็งกำไรจนเกิดภาวะฟองสบู่แตกเกิดขึ้นกับการประมูลราคาหัวดอกทิวลิปสายพันธุ์หายากเท่านั้น สายพันธุ์ปกติไม่ได้รับผลกระทบมากนัก และเริ่มมีการซื้อขายในตลาดปกติหลังจากภาวะฟองสบู่แต่เพียง 5-6 ปี แต่ทิวลิปสายพันธุ์หายากยังเป็นที่ต้องการของตลาดและมีราคาสูงกว่าทิวลิปสายพันธุ์ธรรมดา พร้อมๆ กับการเข้ามากำหนดกฎเกณฑ์การค้าขายและกำหนดราคาโดยรัฐบาลท้องถิ่น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปรากฏการณ์เก็งกำไรของทิวลิปและดอกไม้ประเภทอื่นๆ ในเวลาต่อมา

ฮอลแลนด์ได้พัฒนากลายเป็นพื้นที่ต้นกำเนิดการแพร่พันธุ์ดอกทิวลิปและเป็นแหล่งปลูกของแปลงขนาดใหญ่ ต้นศตวรรษที่ 18 หัวดอกทิวลิปจากเนเธอร์แลนด์เริ่มเป็นที่รู้จักและขายในตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะเยอรมนี ฝรั่งเศส ซึ่งพื้นที่ปลูกดอกทิวลิปและดอกไม้ประเภทอื่นอย่างไฮยาซินธ์ (Hyacinth) แดฟโฟดิล (Daffodil) และลิลลี (Lilli)  และพัฒนาไปสู่การปลูกในฐานะสินค้าเกษตรและเป็นรายได้ของประเทศ เนเธอร์แลนด์ก็พยายามครองความเป็นหนึ่งในการเป็นผู้ปลูกและส่งออก หลังจากที่อุตสาหกรรมการผลิตดอกไม้ซบเซาในช่วงที่ประเทศอยู่ภายใต้การปกครองของนาซี และถูกห้ามไม่ให้ผลิตดอกไม้ แต่ให้ปลูกผักแทนเพื่อเป็นเสบียงให้กับทหารของนาซีและคนดัตช์ ในช่วงนี้ มีบันทึกด้วยว่า คนดัตช์ที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลพื้นที่เกษตรต้องกินหัวดอกไม้ประทังชีวิต แต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมาที่ประเทศเริ่มฟื้นฟูเศรษฐกิจแล้ว พื้นที่บริเวณเมืองไลเดิ้นและฮาร์เล็มถูกพัฒนาให้เป็นแปลงปลูกดอกไม้เช่นเดิม มีรายงานว่าจากปี 1960 ถึง 2002 มีพื้นที่ปลูกดอกไม้เพิ่มขึ้นจาก 62,500 เป็น 131,250 ไร่ และขยายไปยังพื้นที่ในเมืองใกล้เคียงอย่างลิซเซ (Lisse) นอร์ดแหวก (Nordwijk) และเอาท์เคสท์ (Uitgeest)

แปลงดอกไม้บริเวณเมืองลิซเซ (Lisse)

จากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้เห็นว่าทิวลิปมีต้นกำเนิดที่ไหนไม่สำคัญ แต่ด้วยอำนาจและทุนของคนดัตช์ในยุคนั้น ทำให้ทิวลิปได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของฮอลแลนด์ไปเสียแล้วในปัจจุบัน ในเมืองอัมสเตอร์ดัมมีการจัดวันดอกทิวลิปแห่งชาติในวันเสาร์ที่สามเดือนมกราคมของทุกปี โดยเครือข่ายผู้ปลูกดอกทิวลิป 500 เจ้าในนาม Tulip Promotie Nederland ที่มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมการขายดอกทิวลิปของกลุ่มผู้ปลูก โดยเนรมิตลานกว้างหน้าบริเวณจตุรัสดัมให้เป็นแปลงดอกทิวลิปให้คนเข้าไปเยี่ยมชม และมีการแจกจ่ายทิวลิปให้ถือติดมือกลับบ้าน การจัดกิจกรรมนี้ในจุดที่นักท่องเที่ยวหนาแน่นประสบความสำเร็จ ฉันมีโอกาสผ่านไปยังบริเวณดังกล่าว เห็นทั้งนักท่องเที่ยวและคนดัตช์ในเมืองต่อคิวยาวเพื่อไปเอาดอกทิวลิปแทบทุกปี

แม้ว่าในช่วงระยะหลัง ตลาดดอกทิวลิปและดอกไม้ได้เติบโตไปในหลายพื้นที่อื่นๆ โดยเฉพาะที่สหรัฐอเมริกา บางประเทศในทวีปอเมริกาใต้และแอฟริกา เนื่องจากเนเธอร์แลนด์เป็นประเทศเล็ก พื้นที่ปลูกดอกไม้ในตอนใต้และฝั่งตะวันตกของประเทศเริ่มถึงขีดจำกัด อีกทั้งอัตราค่าจ้างแรงงานในภาคเกษตรของประเทศเองก็มีราคาสูง เพราะให้ความสำคัญกับสิทธิและสวัสดิภาพของแรงงานตามแนวคิดประเทศที่ยึดถือกับระบบสวัสดิการ เมื่อเทียบกับอเมริกาหรืออเมริกาใต้ เช่น เอกวาดอร์ ที่มีพื้นที่เกษตรใหญ่กว่า และพึ่งพิงแรงงานราคาถูกจากแรงงานอพยพหรือแรงงานค่าจ้างต่ำกว่า อย่างไรก็ตาม ด้วยตลาดที่มีการแข่งขันสูง เนเธอร์แลนด์เริ่มพัฒนาการปลูกดอกไม้ในอาคารเรือนกระจก และมีการจ้างแรงงานข้ามชาติ โดยเฉพาะจากโปแลนด์ อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่าแรงงานจากโปแลนด์ถูกว่าจ้างด้วยสัญญาที่ไม่เป็นธรรม อีกทั้งต้องเสี่ยงกับสภาพการทำงานที่ต้องสัมผัสกับสารเคมี

บรรยากาศวันดอกทิวลิปแห่งชาติบริเวณจตุรัสดัม (Dam Square)

กระนั้น ฮอลแลนด์ไม่ละทิ้งเป้าหมายการขยายการผลิตเพื่อคงความเป็นหนึ่งในการส่งออกดอกไม้และหัวดอกไม้ สำนักงานสถิติเนเธอร์แลนด์รายงานในปี 2017 ว่าพื้นที่กว่า 156,250 ไร่ถูกปรับให้กลายเป็นแหล่งผลิตหัวดอกไม้เพียงอย่างเดียว ถือว่าเป็นการเพิ่มการผลิตที่สูงถึง 75% ในรอบ 30 ปี ขณะที่ความสามารถในการผลิตในพื้นที่ดั้งเดิมบริเวณตะวันตกของประเทศเริ่มลดลงราว 10% แต่ได้ขยายการผลิตในพื้นที่ใหม่บริเวณจังหวัดเดรนเธ (Drenthe) เฟลโฟแลนด์ (Flevoland) และโอเวอร์อายส์เซิล (Overijssel) โดยการผลิตกว่าครึ่งหนึ่งอุทิศให้กับทิวลิป ตามด้วยแดฟโฟดิลและลิลลี และการส่งออกดอกไม้ยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยตลาดตลาดนำเข้าอันดับหนึ่งคือเยอรมนี ตามด้วยสหรัฐอเมริกา จีน และอังกฤษ

อีกด้านหนึ่งที่ทำให้เนเธอร์แลนด์ครองโลกในเรื่องอุตสาหกรรมดอกไม้คือ ตลาดประมูลดอกไม้ที่ใหญ่และมีมูลค่าการประมูลสูงที่สุดในโลกที่บริหารงานโดยสหกรณ์ดอกไม้ชื่อ Flora Holland ก่อตั้งในปี 2002 สถานที่แห่งนี้คือที่รวมดอกไม้จากในและต่างประเทศเช่น อิสราเอล เอธิโอเปีย และเอกวาดอร์ ที่ส่งตรงผ่านสนามบินแห่งชาติของเนเธอร์แลนด์ทุกวัน ก่อนที่จะถูกขนส่งไปยังสถานที่ประมูลในเมืองทะเลสาบอาลส์แมร์ (Aalsmeer) ซึ่งเป็นที่รวบรวมดอกไม้กว่า 20 ล้านดอกและพืชพรรณอื่นๆ อีก 2 ล้านตันต่อวัน สถานที่ประมูลแห่งนี้อยู่ห่างไม่ไกลจากคลังสินค้าที่พร้อมจะส่งขายออกทันทีหลังการประมูลเสร็จสิ้นในช่วงเช้าตรู่ของแต่ละวัน พร้อมกับรายได้ที่สหกรณ์แห่งนี้ได้รับประมาณ 6.6 ล้านยูโรต่อวัน มีการประมาณการณ์ว่ามีคนที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับการประมูลในฐานะผู้ส่งออก ผู้นำเข้า และธุรกิจประเภทอื่นๆ ถึง 45,000 คนต่อวัน โดยมีคนทำงานประจำในการประมูลระหว่างวันจันทร์-ศุกร์ราว 10,000 คน

บรรยากาศในตลาดประมูลดอกไม้ Flora Holland (ที่มาภาพ: newplantsandflowers)

ทำไมการประมูลดอกไม้ของ Flora Holland ถึงเป็นที่น่าเชื่อถือทั้งที่เพิ่งก่อตั้งได้ไม่นาน ส่วนหนึ่งในวิทยาพนธ์ของ Andrew Gebhardt ชื่อ The Making of Dutch Flower Culture: Auctions, Networks, and Aesthetics (2014) เสนอว่าผู้ปลูก ผู้ส่งออก และผู้นำเข้าในตลาดประมูลแห่งนี้ต่างมีศรัทธาในระบบและองค์กรแห่งนี้ พวกเขาเชื่อว่าเป็นระบบที่เร็วที่สุด เป็นธรรมที่สุด และมีประสิทธิภาพที่สุด และเชื่อว่าคงไม่มีระบบไหนแล้วที่ไม่มีความผิดพลาด หรือบริหารงานได้ดีเท่าสหกรณ์แห่งนี้ นอกจากนี้ ตลาดประมูลแห่งนี้คือเครือข่ายข้ามแดนที่เชื่อมโยงพวกเขากับผู้ที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมดอกไม้ทั่วโลก แม้ว่าผู้เขียนเองจะระบุว่าตลาดแห่งนี้ถูกครอบงำไปด้วยผู้ชายเสียเป็นส่วนใหญ่และมีวัฒนธรรมผู้ชายสไตล์ดัตช์ (Dutch masculine style) เพราะมันแสดงออกอย่างชัดเจนถึงโลกของการแข่งขันและการสร้างความเป็นปึกแผ่นของคนในองค์กร และยังมีความไม่เป็นธรรมหรือการแบ่งแยกชนชั้นของคนในองค์กรก็ตาม คือผู้กุมบังเหียนการบริหารจะได้รับค่าตอบแทนมากกว่าคนงานทั่วไป

และที่จะละเลยไม่พูดถึงเลยไม่ได้ก็คือ หัวใจของคนดัตช์ที่นิยมสร้างนวัตกรรมในแต่ละยุค เช่นเดียวกับการสร้างสรรค์และพัฒนาพันธุ์ดอกไม้ใหม่ๆ โดยเฉพาะทิวลิปที่ไม่หยุดนิ่ง เช่นในปี 2009 นักพฤกษศาสตร์พยายามผสมพันธุ์ต่างๆ ของทิวลิปเพื่อสร้างดอกทิวลิปสีดำหรือสีเข้ม ซึ่งดอกทิวลิปดำถือเป็นความฝันของนักปลูกดอกทิวลิปของฮอลแลนด์มาเป็นศตวรรษแล้ว ในที่สุดพวกเขาก็ได้หัวดอกทิวลิปที่คิดว่าเข้มและดำที่สุด และได้ตั้งชื่อตามนามของ Ayaan Hirsi Ali นักการเมืองอดีตผู้ลี้ภัยชาวโซมาเลีย ปลูกลงในแปลงดอกไม้ของพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ Rijks Museum ในกรุงอัมสเตอร์ดัม

ดอกทิวลิปสีดำที่เกิดจาการทดลองผสมพันธุ์ทิวลิปหลายชนิด

แปลงดอกไม้ไม่ใช่แค่เพียงผลิตสินค้า แต่ยังเป็นพื้นที่เยี่ยมชมของนักท่องเที่ยว

ความคลั่งไคล้ดอกทิวลิปและพัฒนาการที่ทำให้ทิวลิปกลายเป็นอัตลักษณ์ของคนดัตช์อาจไม่ใช่แค่ความสวยงามที่ธรรมชาติให้มาเท่านั้น ปัจจัยที่สำคัญคือการใช้ความรู้ การศึกษาเพาะพันธุ์ หรือวิจัยโดยนักพฤกษศาสตร์และนักวิทยาศาสตร์ ทำให้ดอกไม้นี้เปลี่ยนสถานะจากสิ่งชื่นชมบูชาของชนชั้นสูงก้าวผ่านพรมแดนทางชนชั้นมาเป็นสินค้าที่มีคุณภาพขายในตลาดโลก แต่อำนาจเพียงเท่านี้คงไม่เพียงพอในการขยายอุตสาหกรรมดอกไม้ของเนเธอร์แลนด์ การส่งออกความรู้และเทคโนโลยีประหนึ่งผู้ควบคุมเกณฑ์และมาตรฐานเป็นอำนาจอีกรูปแบบหนึ่งที่เป็นคำตอบว่าทำไมฮอลแลนด์ถึงเป็นผู้ผลิตและส่งออกดอกไม้เบอร์หนึ่งของโลก

                 


 

อ้างอิง

Dash, Mike. 1999. Tulipomania: The Story of the World's Most Coveted Flower and the Extraordinary Passions It Aroused. London: Phoenix Paperback.

De Rooi, Martijn. 2015. “Flower Power” in The Dutch, I Presume?: Icons of the Netherlands (pp.108-111). Bedum: Fourteenth Printing 

DutchNews.nl. “Bulb felds cover 25,000 hectares of Dutch farmland” (22 March 2016). Retrieved from http://www.dutchnews.nl/news/archives/2016/03/87297-2/.

Gebhardt, Andrew. 2014. The Making of Dutch Flower Culture: Auctions, Networks, and  Aesthetics. Unpublished thesis, University of Amsterdam.

Goldgar, Anne. 2007. “Something Strange” in Tulipmania: Money, Honor, and Knowledge in the Dutch Golden Age (pp.20-61). Chicago: University of Chicago Press.

Hortidaily. 2016. “Polish workers exploited in the Netherlands” (29 June 2016). Retrieved from http://www.hortidaily.com/article/27302/Polish-workers-exploited-in-the-Netherlands.

Koopmans, Joop W. & Huussen Jr., Arend H. 2007. Historical Dictionary of the Netherlands (2nd Edition). Lanham, Maryland, Toronto and Plymouth: The Scarecrow Press, Inc.

Rijsk Museum. “Ayaan Tulp”. Retrieved from https://www.google.co.th/search?q=tentoonstellingen%20tulpen%20amsterdam%20ayaan%20tulp.Tulip Promotie Nederland. http://tulpenpromotie.nl/en/.

โพสต์ ทูเดย์. 2560. “เรื่องราวประทับใจ "คิมเบอร์ลี่” ควัก 50,000 เพื่อดอกไม้ให้ “มาร์กี้" ใช้ถือในงานแต่ง” (27 ธันวาคม 2560). สืบค้นจาก https://www.posttoday.com/ent/news/532526.

เอมี สจวร์ต (Amy Stewart) แปลโดยพลอยแสง เอกญาติ. 2013. ความลับของดอกไม้ (Flower Confidential: The Good, the Bad, and the Beautiful). กรุงเทพฯ: สนพ. Openworlds.

 

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: