เรื่องราวของ 'ผู้พิการเหยื่อเมาแล้วขับ' และสถิติวิธีลดจำนวนเมาแล้วขับ

ฐานันดร ชมภูศรี ผู้สื่อข่าวพิเศษ TCIJ 31 พ.ค. 2561 | อ่านแล้ว 3143 ครั้ง

คลิปโดย ‘ฐานันดร ชมภูศรี’ จากการสนับสนุนโดย ‘โครงการพัฒนาศักยภาพสื่อมวลชน: ความปลอดภัยทางถนน รุ่นที่ 3 More Untold Stories: Road Safety Journalism Fellowship 2018’

“คุณทำเป็นข่าวอาชญากรรม มันก็มีประโยชน์ของมัน แต่มันยังไม่ช่วยลดอุบัติเหตุเมาแล้วขับ”
นพ
.แท้จริง ศิริพานิช เลขาธิการมูลนิธิเมาไม่ขับ

ปัจจุบันประเทศไทยมี ‘เหยื่อเมาแล้วขับ’ ที่กลายเป็น ‘คนพิการ’ มากกว่า 10,000 คน มีผู้ที่ประสบความลำบากเนื่องจากไม่มีโอกาสได้รับคำปรึกษาทางกฎหมาย มากกว่า 5,000 คน ปัญหาหลัก ๆ ในความเห็นของประธานเครือข่ายเหยื่อเมาแล้วขับมี 2 ประเด็น คือ 1.ไม่มีความรู้เรื่องสิทธิของคนพิการ และ 2.ทำสัญญารับเงินค่าเสียหายในช่วงที่ยังไม่ฟื้นตัว หรือช่วงที่กังวลว่าจะพิการหรือไม่ นำไปสู่การ ‘ยอมความ’ จึงไม่สามารถฟ้องร้องอะไรได้อีก

ทั้งนี้มีการวิจัยในสหรัฐอเมริกา ที่รวบรวมข้อมูลการตรวจวัดแอลกอฮอล์ ในผู้ขับขี่อายุ 18 ปีขึ้นไป ตอนกลางคืน เฉพาะช่วงสุดสัปดาห์ โดยนับประชากร 10,000 คน เป็น 1 พื้นที่ เก็บข้อมูลทั้งหมด 30 พื้นที่ สรุปออกมาว่าใน 1 ปี บรรดาความเข้มข้นของการบังคับใช้กฎหมายต่าง ๆ 6 รูปแบบ ได้แก่ 1.จำนวน ‘การตั้งด่านตรวจสิ่งผิดกฎหมาย’ 2.จำนวน ‘การจับกุมคนเมาแล้วขับ’ 3.จำนวน ‘ด่านตรวจจับคนเมาแล้วขับ’ บริเวณใกล้เคียงสถานบันเทิง งานรื่นเริง การแข่งขันกีฬา 4.จำนวน ‘การลงโทษด้วยกฎหมายจราจรอื่น ๆ และการตักเตือน’ 5.จำนวนของ ตำรวจ, ตำรวจทางหลวง, และเจ้าหน้าที่เขตด้านความสงบเรียบร้อย ต่อ 1 พื้นที่ และ 6.จำนวน ‘การตั้งด่านตรวจวัดแอลกอฮอล์’

ข้อค้นพบที่สำคัญคือ ‘จำนวนการตั้งด่านตรวจสิ่งผิดกฎหมาย’ (นับเฉพาะช่วงสุดสัปดาห์) จะให้ผลลัพธ์ที่มีนัยสำคัญทางสถิติมากที่สุด กล่าวคือ ในพื้นที่ที่ตั้ง ‘ด่านตรวจสิ่งผิดกฎหมาย’ น้อยกว่า 228 ครั้ง ต่อปี มีโอกาสพบจำนวนผู้ขับขี่ที่มีแอลกอฮอล์ในเลือดสูงกว่าระดับที่กฎหมายกำหนด ‘มากกว่า’ พื้นที่ที่ตั้งด่าน 1,275 ครั้งขึ้นไป ต่อปี ที่ 3.9 เท่า

จากผลลัพธ์นี้ งานวิจัยตั้งสมมติฐานไว้ว่าเป็นเพราะผู้คน ‘รับรู้’ ว่า ‘มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น’ [อ้างอิง: US National Library of Medicine, Relationship of Impaired Driving Enforcement Intensity to Drinking and Driving on the Roads] โดยมีรายงานขององค์การบริหารความปลอดภัยจราจรทางหลวงสหรัฐอเมริกา (NHTSA) ที่กล่าวถึงข้อมูล 42 ชุด แล้วสรุปออกมาว่า

การลดจำนวนคนเมาแล้วขับอย่างมีประสิทธิภาพ ต้องทำให้เกิดการรับรู้อย่างกว้างขวางและต่อเนื่องว่า ‘บ้านเมืองมีขื่อมีแป’ (High-Visibility Enforcement) ซึ่งจะขาดการประชาสัมพันธ์ไปไม่ได้ ทว่าการสามารถกินพื้นที่ในสื่อมวลชน (เช่น ปีใหม่ สงกรานต์) ไม่สามารถทำได้ตลอดเวลา

แต่กระนั้นก็มี 6 กรณีศึกษาที่ชี้ให้เห็นถึงแนวทางเพื่อทดแทนสื่อมวลชนว่า ควรมีสัญลักษณ์การบังคับใช้กฎหมายเมาแล้วขับ ติดที่รถสายตรวจ, ควรมีป้ายกฎหมายเมาแล้วขับขนาดใหญ่ให้เห็นใกล้พื้นที่ปฏิบัติการณ์ เช่น ก่อนจะถึงด่านตรวจทุกประเภท และสถานที่ที่ตำรวจต้องไปดูแล (สถานบันเทิง การแข่งขันกีฬา งานรื่นเริง การประท้วง  เป็นต้น) และ เสื้อกั๊กสีสะท้อนแสงของตำรวจ ควรมีสัญลักษณ์กฎหมายเมาแล้วขับ [อ้างอิง: NHTSA, Increasing impaired-driving enforcement visibility: Six case studies (PDF)]

ที่มาภาพประกอบหน้าแรก: Duke Libraries - Duke University

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: