เปิดแฟ้มข้อวิจารณ์ ‘สหประชาชาติ’ และ ‘กองกำลังรักษาสันติภาพ’

ฐานันดร ชมภูศรี ผู้สื่อข่าวพิเศษ TCIJ: 29 เม.ย. 2561 | อ่านแล้ว 12237 ครั้ง

รวมข้อวิจารณ์ต่อเครือข่ายองค์กรเอ็นจีโอที่ใหญ่ที่สุดอย่าง ‘สหประชาชาติ’ หลายฝ่ายชี้ทำงานภายใต้ ‘ระบบข้าราชการ’ มากเกินไป ทบทวนเงินเดือนพนักงานแต่กลับไม่มีกระบวนการปรึกษาหารือที่เหมาะสม กองกำลังรักษาสันติภาพมีประสิทธิภาพแค่ไหน? พบในช่วง 12 ปีมีข้อร้องเรียนการ ‘ล่วงละเมิดทางเพศ’ จากกองกำลังรักษาสันติภาพรวมถึงบุคลากรอื่น ๆ ของสหประชาชาติทั่วโลกเกือบ 2,000 กรณี ที่มาภาพประกอบดัดแปลงจาก: flickr.com/sanjitbakshi (CC BY 2.0) 

ข้อวิจารณ์ด้านประสิทธิภาพ

ไม่ใช่แค่ผู้นำสหรัฐอเมริกาอย่างนายโดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) เท่านั้นที่เคยระบุว่าองค์การสหประชาชาติ (United Nations หรือ UN) ยังทำงานไม่เต็มศักยภาพ เพราะมีระบบแบบราชการ (bureaucracy) รวมทั้งมีการจัดการที่ผิดพลาด นับตั้งแต่ปี 2000  งบประมาณของสหประชาชาติได้เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 140 และเจ้าหน้าที่ก็เพิ่มขึ้นเกินสองเท่า [1]

ในด้านค่าใช้จ่าย ข้อมูลทางการเท่าที่ปรากฏใน UN System TOTAL EXPENDITURE (เข้าถึงข้อมูลเมื่อวันที่ 17/4/2018) จากปี 2010 สหประชาชาติมีค่าใช้จ่ายรวม 39,847,028,907 ดอลลาร์สหรัฐฯ ตัวเลขนี้เพิ่มขึ้นเป็น 48,764,755,110 ดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2016

ย้อนกลับไปไกลกว่านั้น เมื่อลองเทียบปี 2015 กับช่วงต้นทศวรรษ 1950 พบว่าค่าใช้จ่ายของสหประชาชาติได้เพิ่มขึ้นประมาณ 40 เท่าตัวเลยทีเดียว วาเลรี เอมอส (Valerie Amos) อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาระหว่างประเทศของสหราชอาณาจักรได้เคยกล่าวว่า ถึงแม้สหประชาชาติเป็นพันธมิตรที่ดีในการช่วยเหลือในสหราชอาณาจักร แต่เธอกลับผิดหวังในความไร้ประสิทธิภาพ

"มีความกังวลว่าสหประชาชาติเป็นองค์กรที่มีขั้นตอนมากเกินไป และทำงานที่เกี่ยวกับประเด็นการพัฒนาช้าเกินไป ฉันคิดว่านั่นคือคำวิพากษ์วิจารณ์สหประชาชาติที่ยังคงอยู่ถึงทุกวันนี้ ตั้งแต่สหประชาชาติก่อตั้งขึ้นมาก็ได้กลายเป็นองค์กรที่ใหญ่ขึ้นและใหญ่ขึ้น หลายหน่วยงานมีหน้าที่ทับซ้อนกัน เป็นองค์กรที่ค่อนข้างเทอะทะในหลายแง่มุม" เอมอสระบุ

ส่วน เฮเลน คลาร์ก (Helen Clark) อดีตนายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ ผู้เคยทำงานที่องค์กรด้านการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) เมื่อปี 2009 ก็เล่าว่า รู้สึกไม่ค่อยประทับใจกับหน่วยงานนี้นัก

"เมื่อฉันเข้าไป องค์กรต้องใช้เวลากว่าหนึ่งปีสำหรับแผนยุทธศาสตร์แรก สิ่งที่บอกคุณได้คือความรู้ด้านการจัดการสมัยใหม่และการวางแผนเชิงกลยุทธ์สมัยใหม่มาถึงสหประชาชาติช้าเกินไป" คลาร์ก ระบุ [2]

ทบทวนเงินเดือนพนักงาน แต่กลับไม่มีกระบวนการปรึกษาหารือ

นับตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา จำนวนเจ้าหน้าที่ของสหประชาชาติได้เพิ่มขึ้นเกินสองเท่า ในขณะเดียวกันก็มีความพยายามที่จะประหยัดงบด้านบุคคลากร ล่าสุดจึงมีการดำเนินการทบทวนเงินเดือนของพนักงาน แต่กลับไม่มีกระบวนการปรึกษาหารือที่เหมาะสมกับพนักงานและสหภาพแรงงาน โดยกระบวนการดังกล่าวจะส่งผลกระทบกับเจ้าหน้าที่สหประชาชาติระดับท้องถิ่น เพราะการจัดประเภทพนักงานรูปแบบใหม่ที่จ่ายค่าตอบแทนน้อยลงจะถูกนำไปใช้กับเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น ซึ่งจะอยู่ในหมวดที่สามของบัญชีเงินเดือนและลำดับของพนักงาน

‘หมวดที่สาม’ หมายถึงพนักงาน ‘ทั่วไป’ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพนักงานท้องถิ่นที่เป็นผู้หญิงอีกด้วย การตัดสินใจดังกล่าวส่งผลทำให้ช่องว่างรายได้ระหว่างเพศในองค์กรห่างยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังทำให้เกิดแนวโน้มของสภาพการทำงานที่ย่ำแย่ในหมู่เจ้าหน้าที่สหประชาชาติ ซึ่งรวมถึงพนักงานประเภททำสัญญาจ้างงานแบบไม่มีกำหนดและพนักงานฝึกงานที่ไม่ได้รับค่าตอบแทนซึ่งมีจำนวนมากกว่าร้อยละ 40 [3]

ตัวอย่างเรื่องฉาวของหน่วยงานต่างๆ

การเลือกประธานาธิบดีโรเบิร์ต มูกาเบ (Robert Mugabe) ของซิมบับเวเป็นทูตสันถวไมตรีขององค์การอนามัยโลก (ก่อนที่จะถูกยกเลิกตำแหน่งนี้ภายหลัง) เป็นกรณีที่ทำให้องค์กรของสหประชาชาติถูกวิพากษ์วิจารณ์เป็นอย่างมาก ที่มาภาพ: UN News

ช่วงหลังพบว่าหน่วยงานต่างๆ ของสหประชาชาติมักมีข่าวฉาวเสมอมา เช่นในปี 2015 กระบวนการคัดเลือกเจ้าหน้าที่องค์กรกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติหรือยูนิเซฟ (UNICEF) ถูกวิจารณ์ว่าขาดความโปร่งใส พอล ฟาน เอสเช (Paul van Essche) หัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายข้อมูลที่เพิ่งได้รับการแต่งตั้งใหม่จากยูนิเซฟได้ลาออกในเดือน ม.ค. 2015  หลังจากได้รับตำแหน่งในเดือน ธ.ค. 2014 การลาออกของเขาเกิดขึ้นหลังจากที่สำนักข่าว FOX News ได้ตั้งคำถามถึงกระบวนการคัดเลือกตำแหน่งดังกล่าว โฆษกยูนิเซฟกล่าวว่าฟาน เอสเช ลาออกด้วยเหตุผลส่วนตัว ทั้งนี้ยูนิเซฟไม่ได้เปิดเผยว่ามีจำนวนผู้สมัครเข้ารับการพิจารณาในรอบสุดท้ายของตำแหน่งนี้กี่คน [4]

ปี 2016 เจ้าหน้าที่จากหน่วยงานวิจัยด้านสุขภาพของรัฐบาลสหรัฐฯ อย่างสถาบันสุขภาพแห่งชาติ (NIH) ถูกสอบสวนโดยรัฐสภาด้วยเหตุที่ให้ทุนแก่สถาบันวิจัยด้านมะเร็งขององค์การอนามัยโลก (IARC) แม้จะมีคำวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการจำแนกประเภทสารก่อมะเร็งของสถาบันแห่งนี้เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา ซึ่งทำให้เกิดข้อถกเถียงกันว่าตกลงแล้ว กาแฟ โทรศัพท์มือถือ เนื้อสัตว์แปรรูป และสารกำจัดวัชพืช glyphosate ทำให้เกิดมะเร็งหรือไม่ เนื่องจากมีงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์อื่นที่ได้ข้อสรุปแตกต่างไป นี่เป็นที่มาของคำถามว่าเหตุใดสถาบันสุขภาพแห่งชาติที่มีงบประมาณรายปีถึง 33,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จึงตัดสินใจให้เงินทุนกับสถาบันวิจัยด้านมะเร็งขององค์การอนามัยโลก [5]

ปี 2016 กาย ไรเดอร์ (Guy Ryder) ชาวอังกฤษวัย 60 ปี ชนะเลือกตั้งได้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการใหญ่องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) เป็นสมัยที่ 2 มีวาระ 5 ปี เขาเป็นผู้สมัครเพียงหนึ่งเดียวและได้รับเลือกด้วยคะแนนเสียง 54 เสียง จากทั้งหมด 56 เสียง [6]

การระบาดของโรคอีโบลาครั้งล่าสุดได้ส่งผลต่อสามประเทศที่ยากจนที่สุดในโลกเป็นอย่างมาก มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 10,000 ราย แม้องค์การอนามัยโลก (WHO) พยายามจะตอบสนองต่อวิกฤตและระดมทุนอย่างรวดเร็ว แต่ความสูญเสียที่เกิดขึ้นก็ได้ทำให้ความเชื่อมั่นต่อองค์กรนี้ลดลงอย่างมาก

"เหตุการณ์อีโบลาระบาดทำให้เห็นจุดอ่อนขององค์การอนามัยโลก ไม่ว่าจะเป็นความสามารถในการหาแหล่งทรัพยากรที่จำเป็น  การประสานงานที่ไม่ดีนัก รวมถึงการสื่อสารกับสำนักงานส่วนภูมิภาคและการขาดแนวทางทางทางสังคมที่เปิดกว้าง แม้จะมีผู้เสียชีวิตหลักหมื่นคนแต่กลับไม่มีใครสักคนเดียวที่ต้องรับผิดชอบ เรื่องแบบนี้จะไม่เกิดขึ้นกับองค์กรที่มีประสิทธิภาพ" ลอว์เรนซ์ กอสติน (Lawrence Gostin) ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายสุขภาพสากลที่มหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ กล่าว

“ถ้าคุณให้เงินกับองค์กรที่ขาดความโปร่งใสและขาดความรับผิดชอบ คุณเองก็จะเจอปัญหา” กอสตินระบุ [7]

ปี 2017 การเลือกประธานาธิบดีโรเบิร์ต มูกาเบ (Robert Mugabe) ของประเทศซิมบับเวเป็นทูตสันถวไมตรีขององค์การอนามัยโลก ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นสิ่งที่น่าประหลาดใจและน่าผิดหวังจากหลายองค์กรด้านสาธารณสุขรวมถึงรัฐบาลต่าง ๆ เนื่องจากภายใต้รัฐบาลของ  มูกาเบ ประชาชนชาวซิมบับเวถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนมากมาย มีการเตือนว่าเรื่องนี้จะบดบังผลงานขององค์การอนามัยโลก แต่องค์การอนามัยโลกกลับระบุว่าซิมบับเวมีระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าและมีนโยบายการส่งเสริมสุขภาพที่ดี

ด้านรัฐบาลอังกฤษเห็นว่า สิ่งที่น่าแปลกใจมากคือมูกาเบนั้นถูกคว่ำบาตรจากทั้งสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป ขณะที่ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลกระบุว่า คิดจะตั้งมูกาเบเป็นทูตสันถวไมตรีเพราะหวังว่าเขาจะใช้ตำแหน่งนี้ผลักดันให้พันธมิตรในภูมิภาคเดียวกันหันมาสนใจพัฒนางานด้านสาธารณสุข [8] ต่อมาองค์การอนามัยโลกตัดสินใจยกเลิกการแต่งตั้งนี้ โดยผู้อำนวยการคนเดิมแถลงว่าได้รับฟังความเห็นจากบรรดาผู้แสดงความกังวลในเรื่องดังกล่าวอย่างถี่ถ้วนและได้ปรึกษาหารือกับรัฐบาลซิมบับเวอีกครั้ง ก่อนตัดสินใจยกเลิกการแต่งตั้ง ซึ่งเป็นทางเลือกที่มีผลดีต่อองค์การอนามัยโลกมากที่สุด ก่อนหน้านี้องค์การอนามัยโลกได้ชื่นชมรัฐบาลซิมบับเวภายใต้การนำของมูกาเบว่ามีความมุ่งมั่นในการพัฒนาระบบบริการสาธารณสุขของประเทศ แต่หลายฝ่ายได้ชี้ให้เห็นว่าระบบดังกล่าวประสบความล้มเหลวอย่างร้ายแรงในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แม้ว่าตลอด 20 ปีแรกของการครองอำนาจยาวนานถึง 37 ปี มูกาเบจะมีการขยายบริการสาธารณสุขออกไปทั่วประเทศ แต่ระบบนี้ได้รับผลกระทบอย่างมากจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่ล่มสลายนับตั้งแต่ปี 2000 ยาและเวชภัณฑ์ในประเทศมีไม่เพียงพอ แพทย์ พยาบาล และบุคลากรสาธารณสุขต่างไม่ได้รับเงินเดือน ส่วนมูกาเบวัย 93 ปีกลับมีอายุยืนกว่าอายุขัยเฉลี่ยของประชากรในประเทศถึง 30 ปี นั่นก็เพราะเขาเดินทางไปรับการรักษาพยาบาลที่ทันสมัยกว่าในต่างประเทศเป็นประจำ [9]

ข้อวิจารณ์ต่อ ‘กองกำลังรักษาสันติภาพ’

การปฏิบัติภารกิจของ ‘กองกำลังรักษาสันติภาพ’ (United Nations Peacekeeping) หลายครั้งถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงประสิทธิภาพ ที่มาภาพประกอบ: peacekeeping.un.org

สหประชาชาติระบุว่ากำลังพลของ ‘กองกำลังรักษาสันติภาพ’ (United Nations Peacekeeping) ถูกสังหารในปี 2017 จำนวน 56 ราย ซึ่งเป็นจำนวนผู้เสียชีวิตสูงสุดนับตั้งแต่ปี 1994 ทั้งนี้ภารกิจรักษาสันติภาพของสหประชาชาติเริ่มขึ้นครั้งแรกในปี 1948 และกำลังจะครบรอบ 70 ปี  เจ้าหน้าที่ของกองกำลังรักษาสันติภาพมีสถิติเสียชีวิตเนื่องจากความรุนแรงทั้งหมด 943 ราย หรือเฉลี่ย 13.7 รายต่อปี [10]

ปี 1994 ที่ประเทศรวันดา เมื่อชาวทุตซี่ (Tutsis) หลายร้อยคนได้แสวงหาสถานที่ปลอดภัยในวันแรกของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่โรงเรียนแห่งหนึ่งซึ่งมีกองกำลังรักษาสันติภาพ 90 นายประจำการอยู่ ภายใต้การบังคับบัญชาของกัปตัน ลุค เลอแมร์ (Luc Lemaire) ดูเหมือนว่าที่นี่ชาวทุตซี่ จะปลอดภัยจากชาวฮูตู (Hutus) ที่จ้องทำลายล้างพวกเขา ขณะที่ธงของสหประชาชาติปลิวไสวอยู่เหนือโรงเรียน กองกำลังจากเบลเยี่ยมพร้อมปืนกลประจำการอยู่ที่ประตู ทหารเหล่านี้คือกองทัพของโลก ทว่าสำนักงานใหญ่สหประชาชาติที่กรุงนิวยอร์กกลับเพิกเฉยต่อคำเตือนว่ามีการวางแผนฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และคณะมนตรีความมั่นคงตอบสนองต่อการสังหารหมู่ด้วยการเพิกถอนกองกำลังรักษาสันติภาพออกจากพื้นที่

หลังจากกองกำลังรักษาสันติภาพได้รับคำสั่งให้ออกจากโรงเรียนแห่งนั้น เพื่อไปสมทบกับชาวต่างชาติที่สนามบินและออกจากประเทศรวันดา ภายในไม่กี่ชั่วโมงชาวทุตซี่ประมาณ 2,000 คนก็ถูกยิงแทนที่จะได้รับความคุ้มกัน วิดีโอที่บันทึกเหตุการณ์นั้นไว้มีอยู่ช่วงหนึ่งที่มีภาพปืนกลบนรถกระบะของชาวฮูตูกำลังกราดยิงผู้คน และมีข้อความตอนหนึ่งในวิดีโอระบุว่า "นิวยอร์กไม่เห็นด้วยที่จะเปลี่ยนกฎของภารกิจ" (“New York didn’t agree to change the rules of engagement.”) กองกำลังรักษาสันติภาพไม่ได้รับอนุญาตให้ช่วยชีวิตชาวทุตซี่ และมีอีกข้อความหนึ่งจากบุคคลนิรนามว่า "มีการสังหารหมู่และนิวยอร์กไม่ทำอะไรเลย" (“There are killings and New York doesn’t give a damn.”)

ความล้มเหลวของกองกำลังรักษาสันติภาพที่ทำให้เกิดโศกนาฏกรรมในรวันดามิใช่เพียงกรณีเดียว อีก 1 ปีต่อมา กองกำลังรักษาสันติภาพจากเนเธอร์แลนด์ก็ล้มเหลวที่จะหยุดยั้งการสังหารหมู่ชาวมุสลิมประมาณ 8,000 คนที่เมือง Srebrenica ซึ่งควรจะเป็นพื้นที่ปลอดภัยของสหประชาชาติ โดยเหตุการณ์นี้มีชื่อเสียงว่าเป็นการฆาตกรรมหมู่โดยชาวเซิร์บที่ประเทศบอสเนีย [11]

ข้อมูลเท่าที่ปรากฏระหว่างปี 2010-2016 จาก UN System Chief Executives Board for Coordination ระบุว่าเมื่อเทียบกับหน่วยงานอื่นๆ  ค่าใช้จ่ายของปฏิบัติการรักษาสันติภาพสูงกว่าภารกิจอื่นเสมอมา รายงานฉบับหนึ่งโดยนักวิจัยขององค์กร Small Arms Survey ระบุด้วยว่าภารกิจของสหประชาชาติในประเทศซูดานใต้ขาดความเป็นกลาง ในปี 2013 กองกำลังรักษาสันติภาพได้มอบอาวุธให้กับกบฏในเมือง Bentiu และหลังจากที่มีการถ่ายโอนอาวุธเหล่านี้ กลุ่มกบฏได้ดำเนินการสังหารหมู่พลเรือน นอกจากนั้นยังมีพยานหลายคนบอกว่าผู้หญิงและเด็กถูกข่มขืนใกล้กับค่ายคุ้มกันพลเรือนของสหประชาชาติโดยไม่มีการดำเนินการใดๆ จากผู้รักษาสันติภาพ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2016 มือปืนได้สังหารผู้หนีภัยความรุนแรงที่ยังคงอยู่ภายในประเทศ 30 คน และยังมีผู้บาดเจ็บอีกกว่า 120 คน สถานที่เกิดเหตุเป็นหนึ่งในค่ายคุ้มกันพลเรือนของสหประชาชาติที่สร้างไว้ในเมือง Malakal ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศซูดานใต้

ในสาธารณรัฐแอฟริกากลางก็ปรากฏข้อกล่าวหาต่อภารกิจขององค์การสหประชาชาติว่าละเลยการปฏิบัติหน้าที่ จากเหตุการณ์ที่มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 75 ราย เมื่อเดือนกันยายน 2016 และจากการสอบสวนของสหประชาชาติเองยังพบอีกว่ามีผู้รักษาสันติภาพ 41 คน เกี่ยวข้องกับข้อร้องเรียนเรื่องการละเมิดทางเพศและการแสวงประโยชน์ทางเพศกับผู้ที่ประสบความลำบากในช่วงปี 2014 และ 2015 ผู้หญิงและเด็กถูกละเมิดเพื่อแลกกับอาหารและเสื้อผ้า ซึ่งท้ายที่สุดสหประชาชาติดำเนินการเพียงเล็กน้อยกับทหารเหล่านั้น [12]

ปฏิบัติการรักษาสันติภาพที่ใหญ่ที่สุดในโลกดำเนินการในคองโกมาแล้วว่า 17 ปี โดยมีเจ้าหน้าที่ในเครื่องแบบเกือบ 20,000 คน ที่มาภาพ: UN News

เป็นเรื่องธรรมดาของชาวคองโก ที่มีมุมมองว่ากองกำลังรักษาสันติภาพไม่ค่อยได้ทำอะไรมากนัก คล้ายกับว่าพวกเขาอยู่ในฐานะ ‘นักท่องเที่ยวบนเฮลิคอปเตอร์’ เพราะที่นี่มีปฏิบัติการรักษาสันติภาพมาแล้ว 17 ปี มีเจ้าหน้าที่ในเครื่องแบบเกือบ 20,000 คน ประจำการอยู่ โดยในปี 2014 หลังจากเกิดเหตุโจมตีที่ทำให้มีผู้เสียชีวิต 30 ราย มีผู้ออกมาประท้วงบนท้องถนนเพื่อแสดงความไม่พอใจต่อกองกำลังรักษาสันติภาพ ในรายงานของ Human Rights Watch ชี้ให้เห็นว่ากองกำลังรักษาสันติภาพไม่สามารถตอบสนองต่อการเรียกร้องความช่วยเหลือซ้ำแล้วซ้ำเล่าระหว่างการสังหารหมู่ แม้ว่ากองกำลังรักษาสันติภาพอยู่ห่างออกไปแค่ 9 กิโลเมตร แต่ต้องใช้เวลาถึง 2 วันกว่าจะเดินทางมาถึงที่เกิดเหตุ [13]

อาชญากรรมทางเพศ

ในช่วง 12 ปีที่ผ่านมาปรากฏเกือบ 2,000 ข้อร้องเรียนเกี่ยวกับการล่วงละเมิดทางเพศจากกองกำลังรักษาสันติภาพและบุคลากรอื่นๆ ของสหประชาชาติที่ประจำอยู่ทั่วโลก และหากจะมีศูนย์กลางการละเมิดทางเพศของเจ้าหน้าที่สหประชาชาติ ที่นั่นก็คือประเทศคองโก เพราะกว่า 700 กรณีเกิดขึ้นที่นั่นโดยปรากฏปัญหาครั้งแรกตั้งแต่ 13 ปีที่แล้ว ล่าสุดเมื่อต้นปี 2017 มีกรณีเด็กหญิงกำพร้าวัย 14 ปีที่หลบภัยในค่ายคุ้มกันของกองกำลังรักษาสันติภาพถูกข่มขืน แม้เธอไม่ได้ปกปิดเป็นความลับ แต่เธอก็ยังไม่เคยได้รับความช่วยเหลือจากสหประชาชาติเลย และในที่สุดเธอก็ตั้งครรภ์จนคลอดบุตร [14]

นอกจากนี้ ยังมีการร้องเรียนว่าเจ้าหน้าที่กองกำลังรักษาสันติภาพของสหประชาชาติวางยาและข่มขืนหญิงวัย 19 ปีในเดือนกันยายน 2017 ที่สาธารณรัฐแอฟริกากลาง โดยพบหลักฐานที่น่าเชื่อถือว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นจริง จากการสัมภาษณ์วัยรุ่นหญิงที่คาดว่าเป็นเหยื่อการข่มขืนและพยานบุคคลที่มีข้อมูลเกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าวอีก 10 คน ทั้งนี้กองกำลังรักษาสันติภาพมีสิทธิที่จะไม่ถูกฟ้องคดีอาญาในประเทศที่พวกเขาประจำการ แต่ให้ประเทศต้นสังกัดดำเนินการสืบสวนและเอาผิดเอง เหตุข่มขืนโดยกองกำลังรักษาสันติภาพเกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้งซึ่งรวมถึงการข่มขืนเด็กหญิงวัย 12 ปีที่เมืองหลวงของแอฟริกากลางในเดือนเดียวกัน แม้ว่าหลายกรณีมีพยานและหลักฐานชัดเจน แต่นอก เหนือจากกรณีข้างต้นแล้ว ยังไม่มีการสืบสวนเพื่อเอาผิดทางอาญาต่อเจ้าหน้าที่ผู้ต้องสงสัยก่อเหตุเลย [15] มีเพียงบางคนเท่านั้นที่ถูกลงโทษทางวินัยเล็กน้อยหลังจากถูกสอบสวนโดยประเทศบ้านเกิดของเจ้าหน้าที่นั้นๆ [16] จากข่าวสืบสวนของสำนักข่าว AP ที่รายงานเมื่อปี 2017 ระบุว่ากองกำลังรักษาสันติภาพได้ล่วงละเมิดทางเพศเด็กในประเทศเฮติในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากอาหารที่ไม่เพียงพอจึงเกิดการใช้เรื่องเพศเพื่อแลกกับขนมและเงินสด เหยื่อรายหนึ่งระบุว่าตอนอายุ 12-15 ปี เธอถูกล่วงละเมิดโดยกองกำลังรักษาสันติภาพเกินกว่า 40 คน บางคนเป็นระดับผู้บังคับบัญชาซึ่งจ่ายเงินให้เหยื่อ 75 เซนต์ [17] [18] กรณีอื้อฉาวนี้พบว่าเป็นการกระทำของกองกำลังชาวศรีลังกา 134 นาย หลังจากมีรายงานออกมาทำให้กองกำลังส่วนใหญ่ถูกส่งกลับศรีลังกา แต่กลับไม่มีใครต้องติดคุก [19]

นอกจากนี้ ยังมีกรณีล่วงละเมิดโดยเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหประชาชาติ เช่นกรณีของ มาร์ตินา บรอสตรอม (Martina Brostrom) ผู้เคยทำงานกับโครงการเอดส์แห่งสหประชาชาติ (UNAIDS) ตั้งแต่ปี 2006 โดยมีตำแหน่งสุดท้ายเป็นที่ปรึกษาอาวุโส เธอระบุว่าหลุยส์ ลอเรส (Luiz Loures) รองผู้อำนวยการ UNAIDS ดันเธอเข้ามุมภายในลิฟต์ของโรงแรมแห่งหนึ่งที่กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นสถานที่จัดประชุมนานาชาติเมื่อปี 2015 จากนั้นก็ใช้กำลังบังคับจูบปาก ลูบคลำและพยายามลากเธอเข้าไปในห้องของเขา โชคดีที่เธอสะบัดเขาจนหลุดและหลบหนีออกไปได้ ลอเรสปฏิเสธคำกล่าวหาประพฤติตัวไม่เหมาะสมและหลังการสืบสวนยาวนาน 14 เดือน มีการสรุปว่าคำกล่าวหาของบรอสตรอมไม่สามารถพิสูจน์ได้ ผลการสืบสวนนี้สร้างความไม่พอใจแก่บรอสตรอม นอกจากนี้ยังมีผู้หญิงคนอื่น ๆ อีก 2 คนที่ระบุว่าลอเรสล่วงละเมิดทางเพศในลักษณะเดียวกัน

ลอเรส วัย 61 ปี แถลงเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2018 ว่าจะไม่ขอดำรงตำแหน่งต่ออีกสมัย เมื่อเขาหมดวาระในปลายเดือนมีนาคม 2018 ที่ผ่านมา โดยโฆษกชี้แจงว่าเหตุผลนั้นไม่เกี่ยวข้องกับคดีล่วงละเมิดทางเพศ แม้เคยมีหลายคนเตือนมิเชล ซิดิเบ (Michel Sidibé) ผู้อำนวยการใหญ่ UNAIDS เกี่ยวกับพฤติกรรมของลอเรสต่อผู้หญิงในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา แต่ระหว่างประชุมร่วมกับเจ้าหน้าที่เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2018 ซิดิเบปฏิเสธว่าไม่เคยได้รับคำเตือนใดๆ โดยซิดิเบได้ยกย่องการตัดสินใจของลอเรสว่า ‘กล้าหาญ’ และเป็นเรื่องดีสำหรับองค์กร  พร้อมบอกว่าพวกเจ้าหน้าที่สหประชาชาติที่ออกมากล่าวอ้างต่อสาธารณะว่าถูกล่วงละเมิดทางเพศนั้น ‘ไม่มีจรรยาบรรณ’

บรอสตรอมระบุว่าระหว่างการสืบสวน ซิดิเบพยายามโน้มน้าวให้เธอถอนฟ้องและยอมรับคำขอโทษจากลอเรส แต่ทั้งซิดิเบและลอเรสปฏิเสธว่าลอเรสไม่เคยต้องการขอโทษบรอสตรอม กระนั้นซิดิเบก็ยอมรับกับคณะกรรมการสืบสวนขององค์การอนามัยโลกว่า เขาได้บอกกับบรอส ตรอมไปว่ามันดีกว่าที่จะหาทางออกเพื่อปกป้องชื่อเสียงขององค์กรและได้พูดคุยเกี่ยวกับการเลื่อนตำแหน่งให้เธอ แต่บรอสตรอมปฏิเสธ หลังจากนั้นคณะกรรมการสืบสวนได้สรุปว่า ไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะยืนยันคำกล่าวอ้างของบรอสตรอม [20] [21]

ล่าสุดสหประชาชาติเผยว่า ได้รับข้อร้องเรียนว่ามีการประพฤติมิชอบทางเพศ 138 ครั้งในปี 2017 เกือบครึ่งหนึ่งเป็นการร้องเรียนกองกำลังรักษาสันติภาพ โดยเป็นการร้องเรียนที่ระบุถึงกองกำลังรักษาสันติภาพ 10 คณะ ทั้งหมด 62 ครั้ง และเจ้าหน้าที่ด้านการเมือง 1 ครั้ง โดยเฉพาะคณะรักษาเสถียรภาพในสาธารณรัฐแอฟริกากลางถูกร้องเรียนลดลงจาก 52 ครั้งในปี 2016 เหลือ 19 ครั้ง ทั้งนี้ประเทศกาบองเพิ่งประกาศถอนกองกำลังออกจากคณะทำงานชุดนี้ เพราะถูกกล่าวหาเรื่องล่วงละเมิดทางเพศและอีกหลายเรื่อง เลขาธิการใหญ่สหประชาชาติรับปากว่าจะตรวจสอบข้อกล่าวหาอย่างเคร่งครัด เพราะบุคคลเหล่านี้มีหน้าที่ปกป้องพลเรือนผู้อ่อนแอในพื้นที่สงคราม ไม่ควรข้องเกี่ยวกับการประพฤติมิชอบทางเพศ ปัจจุบันสหประชาชาติมีกองกำลังรักษาสันติภาพทั้งหมดไม่ต่ำกว่า 90,000 นาย [22]

 

ข้อมูลอ้างอิง

[1] Donald Trump: The UN has not reached its potential (BBC, 18/9/2017)
[2] 70 years and half a trillion dollars later: what has the UN achieved? (The Guardian, 7/9/2015)
[3] เรียกร้อง UN ประจำกรุงเทพฯ เคารพสิทธิแรงงาน-หลังปรับสภาพการจ้างแบบใหม่ขาดการมีส่วนร่วม (Prachatai, 10/4/2018)
[4]  UNICEF tech chief quits after Fox News inquiry (Fox News, 22/1/2015)
[5] Exclusive: U.S. lawmakers to investigate funding of WHO cancer agency (Reuters, 6/10/2016)
[6] Guy Ryder re-elected as ILO Director-General for a second term (ILO, 7/11/2016)
[7] 'Bureaucratic, weak and ineffective': How we can reform the World Health Organisation (IBT, 18/5/2017)
[8] Robert Mugabe's WHO appointment condemned as 'an insult' (BBC, 21/10/2017)
[9] องค์การอนามัยโลกกลับลำ ไม่ตั้งมูกาเบเป็นทูตสันถวไมตรี (BBC, 23/10/2017)
[10] U.N. troops told to fight back, use force as peacekeeper deaths surge (The Washington Post, 23/1/2018)
[11] What's the point of peacekeepers when they don't keep the peace? (The Guardian, 17/9/2015)
[12] The UN's peacekeeping nightmare in Africa (BBC, 5/1/2017)
[13] UN peacekeepers in the DRC no longer trusted to protect (Al Jazeera, 18/1/2016)
[14] UN peacekeepers in Congo hold record for rape, sex abuse (AP, 23/9/2017)
[15] พบหลักฐาน จนท.กองกำลังสันติภาพ UN ข่มขืนหญิงวัย 19 ในแอฟริกากลาง (Amnesty, 12/10/2017)
[16] UN peacekeeping has ‘glaring’ accountability gaps, documents show (The Star, 14/1/2017)
[17] More than 100 UN peacekeepers ran a child sex ring in Haiti. None were ever jailed (The Star, 12/4/2017)
[18] Child sexual abuse by UN peacekeepers (Wikipedia, เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 19/4/2018)
[19] AP Investigation: 5 things to know about UN sex abuse (AP, 27/5/2017)
[20] Top United Nations official 'forced himself on me,' employee says (CNN, 30/3/2018)
[21] Employee at UN's AIDS agency speaks out accusing top official of forcibly kissing and groping her in a hotel elevator - and two other accusers have made similar allegations (Daily Mail, 30/3/2018)
[22] UN receives 138 allegations of sexual misconduct (AFP, 14/3/2018)

 

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง
จับตา: อาชญากรรมและการละเมิดสิทธิโดยกองกำลังและเจ้าหน้าที่สหประชาชาติ 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: