จริงหรือไม่กับวาทกรรม ‘คนรุ่นใหม่ไม่สนใจการเมือง’ ?

ทรัพย์ทวี พุฒหอม TCIJ School รุ่นที่ 5 / นักศึกษาคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยศิลปากร 28 ก.ย. 2561 | อ่านแล้ว 20550 ครั้ง

‘คนรุ่นใหม่ไม่สนใจการเมือง’ เป็นวาทกรรมที่ถูกกล่าวซ้ำแล้วซ้ำเล่าในสังคมการเมืองไทย แม้ตัวเลขสถิติจะบ่งชี้ไปในทางสนับสนุนคำกล่าวนี้ แต่ลองมาฟังเสียงคนรุ่นใหม่ที่ตีความ ‘การเมือง’ แตกต่างหลากหลายกว่าเดิม ที่มาภาพประกอบ: PRºJECT

‘คนรุ่นใหม่ไม่สนใจการเมือง’ เป็นวาทกรรมที่ถูกกล่าวซ้ำแล้วซ้ำเล่าในสังคมการเมืองไทย เมื่อสำรวจจากบทความต่างๆ หรือหันมองสภาวะความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในการชุมนุมทางการเมืองที่ผ่านๆ มา วาทกรรมนี้ก็อาจเรียกได้ว่า ‘มีมูลความจริง’ อยู่ไม่น้อย

การเข้าร่วมมีบทบาททางการเมืองของคนรุ่นใหม่หรือนักศึกษาลดลงอย่างมาก จากเหตุการณ์เดือนพฤษภาคมปี 2535 มีนักศึกษาเข้าร่วมเพียง 8.4% ลดลงอย่างเห็นได้ชัดจากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ที่มีนักศึกษาเข้าร่วมถึง 80-90% จากคำบอกเล่าของ รศ.บุญเลิศ วิเศษปรีชา อดีตเลขาธิการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) ปี 2537-2538 (เรียบเรียงจากบทความ: เยาวชนกับการเมือง “เป็นนักศึกษาทำไมไม่ไปเรียน” นิธิ นิธิวีรกุล เว็บไซต์ waymagazine)

ผู้เขียนพยายามสืบค้นในเว็บไซต์ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พบว่าสถิติ การออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญเมื่อเดือน ส.ค. 2559 (ก่อนประกาศใช้รัฐธรรมนูญในปี 2560) ของ กกต.ไม่มีการจำแนกช่วงอายุของผู้เข้าร่วมลงประชามติแต่อย่างใด มีเพียงโพลของ NIDA ที่เป็นการสำรวจในช่วงเวลาก่อนการประชามติเท่านั้นที่มีการแบ่งกลุ่มตัวอย่างเป็นช่วงอายุ ซึ่งอาจอนุมานได้ว่าสังคมการเมืองไทยไม่เคยให้ความสำคัญกับช่วงอายุของผู้ที่เข้าร่วมประชามติมาก่อน

แตกต่างกับโพล Brexit ของประเทศอังกฤษที่มีการแบ่งช่วงอายุของผู้เข้าร่วมทำประชามติอย่างชัดเจนจากโพลของ Lord Ashcroft มีการกำหนดกลุ่มตัวอย่างถึง 12,369 คน และพบว่า 'คนรุ่นใหม่' เลือกให้อังกฤษอยู่ใน EU ต่อ แต่คะแนนเสียงจาก 'ผู้สูงอายุ' กลับเป็นไปในทางตรงกันข้าม

ช่วงอายุของผู้ใช้สิทธิ 'อยู่ต่อ' หรือ 'ถอนตัว' ในการลงประชามติการออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร (Brexit) เมื่อปี 2016 ที่มา: Lord Ashcroft Polls อ้างใน BBC

สอดคล้องกับรายงานของ Youth participation in national parliaments 2016 ที่พบว่าประเทศไทยอยู่ในอันดับท้ายสุด ร่วมกับประเทศอื่นอีก 38 ประเทศที่ไม่มีสมาชิกรัฐสภาอายุต่ำกว่า 30 ปี ไม่เพียงแต่ประเทศไทยเท่านั้นที่พบว่าการมีส่วนร่วมทางการเมืองของคนรุ่นใหม่อยู่ในระดับต่ำ จากรายงานของ Youth participation in national parliaments 2016 ยังพบอีกว่า รัฐสภาของ 128 ประเทศ [ทั้งสภาล่าง (สภาผู้แทนราษฎร) และสภาสูง (วุฒิสภา) บางประเทศมีรัฐสภาเดี่ยว] ณ ปี  2015 มีสมาชิกรัฐสภาที่อายุน้อยกว่า 30 ปีเพียงร้อยละ 1.9 เท่านั้น

ในรายงานชิ้นนี้ยังได้วิเคราะห์ถึงสาเหตุที่ทำให้จำนวนสมาชิกรัฐสภาที่เป็นคนรุ่นใหม่ในโลกยังมีน้อยอยู่ว่า สาเหตุประการแรก คือ คุณสมบัติอายุของผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง หรือผู้ที่จะเป็นสมาชิกรัฐสภายังกำหนดไว้สูงกว่าคุณสมบัติอายุของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ส่วนใหญ่ประเทศต่างๆ จะกำหนดอายุขั้นต่ำของผู้ที่จะเป็นสมาชิกรัฐสภาไว้ที่ 25 ปี 35 ปี และ 45 ปี และกำหนดคุณสมบัติอายุของผู้ที่จะเป็นสมาชิกสภาสูงหรือวุฒิสภาไว้ค่อนข้างสูง (ส่วนใหญ่ 35 ปีขึ้นไป) สาเหตุประการที่สอง คือ คนหนุ่มสาวมีแนวโน้มที่จะออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งหรือเข้าร่วมเป็นสมาชิกพรรคการเมืองน้อยกว่าคนที่มีอายุมากกว่า  อาจเป็นเพราะความรู้สึกห่างเหินจากกิจกรรมทางการเมืองในระบบ รวมทั้งไม่ค่อยได้รับการสนับสนุนให้ลงสมัครรับเลือกตั้ง

อย่ามองข้าม เมื่อคนรุ่นใหม่รอใช้สิทธิ์เลือกตั้ง 5.6 ล้านคน

หากจะตัดสินว่า ‘คนรุ่นใหม่ไม่สนใจการเมือง’ จากข้อมูลเบื้องต้นที่กล่าวมา ก็จะเป็นการไม่ยุติธรรมต่อจำเลยหรือคนรุ่นใหม่ ซึ่งอีกนัยหนึ่งคือคนที่ถูกเรียกด้วยอีกวาทกรรมว่า ‘อนาคตของชาติ’ กลุ่มคนที่ถูกตั้งความหวังว่าจะให้เป็นอนาคตของการเมืองไทย หากนับจากวันที่มีการเลือกตั้ง ส.ส.แบบทางการครั้งสุดท้าย คือ ปี 2554 จะพบว่ามียอดคนอายุ 18 ปี ที่มีสิทธิเลือกตั้งจากปี 2555-2560 กำลังรอใช้สิทธิเลือกตั้งมีจำนวน 5,616,261 คน หรือเท่ากับ ส.ส. จำนวน 71 ที่นั่ง โดยประมาณ (คำนวณจากจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในปี 2554) หาก ‘คนรุ่นใหม่’ ไม่สนใจการเมืองจริงๆ ก็นับได้ว่าเป็นปัญหาใหญ่ที่การเมืองไทยกำลังเผชิญ

หรือเป็นเพราะว่าการแสดงออกทางการเมือง ในบริบทของสังคมที่เปลี่ยนไปอย่างมากจากอดีต ด้วยเทคโนโลยีที่พัฒนาไปอย่างก้าวกระโดดในทุกวินาที คงไม่มีใครสามารถจินตนาการภาพของเหตุการณ์สำคัญอย่างเหตุการณ์ 14 ตุลา ได้ว่าจะลงเอยอย่างไร หากในยุคสมัยนั้นมีโทรศัพท์มือถือ หรือแม้กระทั่งโซเชียลมีเดีย

ยิ่งไปกว่านั้น ในสภาวะการเมืองที่การออกมาเคลื่อนไหวอย่างเปิดเผยบนท้องถนน รังแต่จะเป็นการทำให้ตัวเองและคนรอบตัว เดือดร้อนได้จากการใช้อำนาจของ คสช.  ‘คนรุ่นใหม่’ อาจจะปรับเปลี่ยนรูปแบบของการเคลื่อนไหวเพื่อแสดงเจตจำนงทางการเมืองของตัวเองให้แตกต่างออกไปและเหมาะสมกับยุคสมัย นำพาการเมืองไทยเข้าไปสู่ดินแดนใหม่ที่มีสีสันกว่าเดิม

การเมืองที่หลากหลาย ‘แค่ด่าธรรมกายมันก็การเมืองแล้ว’

Liberate P ที่มาภาพ: ประชาไท

27 ธ.ค. 2015 Liberate P ได้อัพโหลดเพลง OC(T)YGEN ขึ้นบน Youtube ก่อนจะโด่งดังในชั่วข้ามคืน ด้วยเนื้อเพลงที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์วันที่ 6 ต.ค.2519 เป็นหนึ่งในเพลงที่นำพาวงการแร็พเข้าไปสู่ดินแดนใหม่อย่างดินแดนของ ‘การเมือง’ หรือหากจะพูดในทางกลับกัน คือการนำเรื่องราวทางการเมืองเข้าไปสู่ดินแดนของแร็พ

“ผมไม่ใช่พวกแอคติวิสต์ ผมก็เป็นคนทำเพลงปกติ แต่พอดีเราแค่อยากพูดในส่วนที่คนในวงการทำเพลงเขาพูดเรื่องสังคม การเมือง แล้วเขาไม่ได้พูดในประเด็นของเรื่องสิทธิ หรือว่าเรื่องที่ว่ามันมีคนตาย ส่วนใหญ่เพลงสังคมมักจะพูดในเรื่องของนักการเมืองโกงกิน ตำรวจเลว ธรรมกาย พระปลอม มันจะวนอยู่แค่นี้ ผมเลยมีความรู้สึกว่าเราต้องพูดอะไรที่มันนอกเหนือจากนั้นบ้าง แล้วมันเป็นเรื่องใหญ่ สเกลมันใหญ่กว่า” - Liberate P


เพลง OC(T)YGEN

จากการพูดคุยกัน Liberate P ให้ทัศนะว่า คนรุ่นใหม่ไม่ใช่ไม่สนใจการเมือง แต่เพียง ‘ลงไปไม่ถึงแก่นของมัน’ เท่านั้น การพูดคุยหรือวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการเมืองของคนรุ่นใหม่อาจเป็นเพียงการพูดแต่เพียงผิวเผิน การที่คนรุ่นใหม่จะหลง ‘น้ำตาล’ ที่เคลือบ ‘บอระเพ็ด’ อยู่นั้นไม่ใช่เรื่องผิด ในยุคที่มีสิ่งต่างๆ มากมายให้คนรุ่นใหม่สนใจ มันไม่ได้ผิดอะไรหากเขาจะมองว่าการเมืองไทยเป็นเรื่องที่ ‘ไม่ Sexy’ ซึ่งอาจเป็นเพราะกระบวนการสร้างวาทกรรมต่างๆ ของการเมืองไทยที่วนเวียนอยู่กับคำไม่กี่คำ ทั้ง ‘คอร์รัปชัน’ ‘ความขัดแย้ง’ ‘แบ่งฝักแบ่งฝ่าย’ หรือแม้กระทั่งวาทกรรม ‘คนรุ่นใหม่ไม่สนใจการเมือง’

“การที่ไปบอกเขาว่า เขาไม่สนใจการเมือง ผมว่ามันเหมือนเป็นการผลักให้เขาออกห่างการเมืองออกไปอีก แทนที่จะบอกว่าวัยรุ่นไม่สนใจการเมือง ทำไมไม่บอกเขาว่าเราลองเข้ามาร่วมกันไหม หรือมีกิจกรรมอะไรที่ชวนเขาเข้ามามากกว่าการ บลัฟว่าเขาไม่สนใจการเมือง จริงๆ เขาก็สนใจกัน จริงๆ แค่ด่าธรรมกายมันก็การเมืองแล้ว ที่เขากำลังทำกันอยู่ในเฟสบุ๊คมันก็คือการเมือง ทุกอย่างมันเชื่อมกันหมด” Liberate P

แอดมินเพจกัญชาชนย้ำเคลื่อนไหวแค่โซเชียลไม่ได้ ต้องออกไปแอคชั่นจริงด้วย

‘ไกด์’ รัฐพล แสนรักษ์ (คนที่ 2 จากซ้าย) หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งเพจกัญชาชน ที่มาภาพ: MGR Online

อีกหนึ่งในประเด็นที่คนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยให้ความสนใจก็คือประเด็นกัญชาที่มีการพยายามเคลื่อนไหวเพื่อให้เกิด ‘เสรีกัญชา’ หรือการใช้กัญชาอย่างถูกกฎหมายในประเทศไทย ไม่ว่าจะเหตุผลด้านความบันเทิง การแสวงหาความสุข เศรษฐกิจ สุขภาพและการรักษาโรค ซึ่งย่อมต้องเกี่ยวข้องกับการเมืองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

“คนใช้กัญชาหรือกัญชากับคนที่เกี่ยวข้อง คือกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายและกฎหมายที่รัฐสร้างขึ้นมาในอดีต ซึ่งมันเก่ามากแล้ว การเมืองมันคือเรื่องของประชาชน พรรคการเมืองคือตัวแทนของประชาชน องค์ประกอบมันคือการหาตัวแทนเพื่อไปแก้ปัญหาให้กับเรา” รัฐพล แสนรักษ์ (ไกด์) ผู้ก่อตั้งเพจกัญชาชน กล่าว

แอดมินไกด์เห็นว่า คนรุ่นใหม่ไม่ได้จำกัดเพียงแค่วัยรุ่น แต่ครอบคลุมถึงทุกคนที่มีจุดยืนเดียวกัน ได้รับผลกระทบและต้องการที่จะพิสูจน์อะไรก็ตามให้สังคมเข้าใจว่าสิ่งที่เขาคิดว่ามันไม่ใช่เรื่องผิด ต้องการพิสูจน์ว่ามุมมองความคิดในแบบเก่าๆ ที่ผ่านมาอาจไม่ใช่สิ่งที่ยุติธรรม และอาจไม่สามารถทำให้ทุกคนในสังคมสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข อย่างไรก็ตาม การเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ในโซเชียลมีเดียที่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงหลายๆ อย่างได้ในปัจจุบันมักจะมีลักษณะแนวคิดที่คล้ายๆ กัน

“คำว่าคนรุ่นใหม่ มันไม่ควรจะถูกจำกัดความด้วยอายุ มันน่าจะเป็นมุมมองของคนที่เข้าใจโลกว่า โลกมันมีความเปลี่ยนแปลงไปแบบไหน แล้วเราควรจะเปิดรับอะไรใหม่ๆ ยังไงบ้าง” รัฐพล ระบุ

สอดคล้องกับแนวทางการดำเนินงานของเพจกัญชาชนที่ไม่ได้ชี้ชวนให้คนหันมาเสพกัญชา แต่คือการเปิดกว้างให้สามารถพูดคุย แลกเปลี่ยนข้อมูลใหม่ๆ ที่เกี่ยวกับกัญชาในสังคมโลกซึ่งมีการวิจัยทางการแพทย์ต่างๆ ออกมามากมาย รวมถึงความเคลื่อนไหวด้านนโยบายกัญชาในต่างประเทศซึ่งพบได้น้อยในสื่อกระแสหลัก การเปิดพื้นที่ให้สื่อสารข้อมูลอีกด้านเกี่ยวกับกัญชาจึงเป็นสิ่งสำคัญเพื่อให้ประชาชนได้ชั่งน้ำหนัก และคิดวิเคราะห์ได้เองว่าตนจะเลือกมีทัศนคติอย่างไรต่อกัญชา ควรสนับสนุนการเปิดเสรีกัญชาหรือไม่ เมื่อสังคมส่วนใหญ่ให้การยอมรับ ท้ายที่สุดย่อมมีพรรคการเมืองสนใจที่จะผลักดันเป็นนโยบายต่อไป

“การเปลี่ยนแปลงทางกฎหมาย เบื้องหลังของกฎหมายมันอยู่ที่สังคม เรามองว่า เมื่อสังคมเปลี่ยน การเปลี่ยนแปลงทางกฎหมายก็จะเริ่มตามมา ในรอบ 4-5 ปีที่ผ่านมาเราเน้นสร้างความเข้าใจ สร้างความยอมรับในสังคม ก่อนจะมีการเปลี่ยนทางกฎหมายอย่างจริงๆ จังๆ สุดท้ายมันก็เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ เกิดขึ้น มันไม่ใช่แบบเก่าแล้ว” รัฐพล ระบุ

แอดมินไกด์ยังคงย้ำความสำคัญของการออกไปแสดงจุดยืนจริงๆ ในโลกแห่งความจริง ควบคู่ไปกับการแสดงออกในโลกโซเชียล การแสดงออกซึ่งจุดยืนที่มีพลังที่สุดในสังคมประชาธิปไตยจะทำได้นั่นก็คือ การออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งในการเลือกตั้งครั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น

“ผมไม่คิดว่าการแสดงความเห็นผ่านโลกโซเชียลอย่างเดียว แสดงตัวตนผ่านโลกโซเชียลอย่างเดียว มันจะเปลี่ยนแปลงอะไรได้ มันเปลี่ยนแปลงได้แค่ระดับหนึ่ง แต่แอคชั่นที่มันเป็นแอคชั่นจริงๆ ต่างหากที่มันจะเป็นตัวเปลี่ยน” รัฐพล กล่าว

ไปให้ไกลกว่าประวัติศาสตร์เดือนตุลา-เลิกวัดด้วยเกณฑ์ออกมาประท้วงบนถนน

‘แมน’ ปกรณ์ อารีกุล นักกิจกรรมทางการเมือง ที่มาภาพ: ประชาไท

เป็นไปในทางเดียวกันกับ ‘แมน’ ปกรณ์ อารีกุล ที่ให้ความเห็นว่าวาทกรรมคนรุ่นใหม่ไม่สนใจการเมืองนั้นเกิดขึ้นจากการใช้เหตุการณ์เดือนตุลา (เหตุการณ์ 14 ต.ค. 2516 และ เหตุการณ์ 6 ต.ค. 2519) มาเป็นเกณฑ์วัด ซึ่งไม่สอดคล้องหากจะนำมาใช้วัดในบริบทการเมืองที่เปลี่ยนไปจากการเรียกร้องประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญ ขับไล่เผด็จการ เป็นการเมืองเชิงประเด็นที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นปากท้อง สิ่งแวดล้อม สวัสดิการ เรื่องเหล่านี้ในปัจจุบันไม่ได้เป็นที่สนใจเฉพาะในกลุ่มนักศึกษาแต่เพียงกลุ่มเดียว แต่เป็นที่สนใจต่อประชาชนทั่วไป การที่นักศึกษาไม่ออกมาเดินขบวนตามท้องถนนเหมือน 14 ตุลา ไม่สามารถใช้เป็นคำตอบได้ว่าคนรุ่นใหม่ไม่สนใจการเมืองได้ แต่สิ่งที่สามารถนำมาใช้ตอบได้ก็คือ จำนวนของคนรุ่นใหม่ที่จะออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งครั้งที่กำลังจะถึงนี้

“ถ้าจะบอกว่า สิ่งที่จะทำให้เห็นว่าคนรุ่นใหม่สนใจการเมือง ตื่นรู้ทางการเมืองมากแค่ไหน ผมว่าเลิกวัดด้วยการออกมาบนถนน มันเป็นคำถามที่ 10 ปีที่แล้วคุณก็ตั้งไม่ได้แล้ว 20 ปีที่แล้วคุณก็ตั้งไม่ได้แล้ว การเมืองบนถนนตอนนี้มันเป็นเรื่องของคนทุกช่วงวัย ทุกสาขาอาชีพ แต่สิ่งที่จะเป็นตัวชี้วัดว่าคนรุ่นใหม่เข้าใจ ตื่นรู้ ตกผลึกทางการเมืองแค่ไหน ให้ไปดูที่การออกไปเลือกตั้งในครั้งต่อไป เค้าอยากจะเลือกใครก็ได้ เค้าอาจจะอยากเลือกพลเอกประยุทธ์กลับเข้ามาก็ได้ แต่ถ้าเค้าไปเลือกตั้งมาก มันสะท้อนว่าเครื่องมือที่เรียกว่าการเลือกตั้ง มันเป็นกติกาที่แฟร์ที่สุดในสังคมประเทศที่เป็นประชาธิปไตย เพราะทุกคนได้กาบัตรเลือกตั้ง” ปกรณ์ ระบุ

ปกรณ์ยังให้ทัศนะต่อคนรุ่นใหม่อีกว่า จริงๆ ในยุคนี้คนรุ่นใหม่สนใจการเมืองมากขึ้น เพราะจากการที่ คสช. ควบคุมสื่อกระแสหลัก ย่อมทำให้คนรุ่นใหม่หันไปใช้สื่อในโซเชียลมีเดียมากขึ้น โซเชียลมีเดียเป็นพื้นที่ที่เปิดกว้างให้ข้อมูลจากฝ่ายต่างๆ เข้ามาโต้เถียงกันได้อย่างเต็มที่ ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่ดีที่จะสร้างให้คนรุ่นใหม่เป็นคนรุ่นใหม่ที่ตื่นรู้ทางการเมือง

“สิ่งที่อยากบอกคนรุ่นใหม่คือ อย่าเชื่ออะไรง่ายๆ ยุคสมัยของคนรุ่นใหม่ มันเป็นของเขาก็ให้เขาเลือกเอง คนรุ่นใหม่ควรจะคิดว่าเวลาเป็นของเรา คุณอย่าไปกลัวรัฐบาล สิ่งที่ผมมักจะคุยกับน้องๆ คนที่โชคร้ายเกิดหลังก็คือ อีก 20 ปี พลเอกประยุทธ์ก็ไม่น่าจะอยู่แล้วใช่ไหม อีก 20 ปีคุณทักษิณก็ไม่น่าจะอยู่แล้วใช่ไหม หรือถ้าอยู่ก็แก่มากแล้ว แต่ว่าอีก 20 ปี เราจะเป็นพลเมืองที่เป็นกำลังหลักสำคัญของประเทศ เพราะฉะนั้นเราก็ควรจะคิดและออกแบบสร้างยุคสมัยของเราเอง ที่เราจะอยู่ต่อไป แม้วันนี้พลเอกประยุทธ์จะบอกยุทธศาสตร์ 20 ปีอย่างนั้นอย่างนี้ ต้องมีโรงไฟฟ้าที่นั่นที่นี่ แต่สุดท้ายอีก 20 ปี พลเอกประยุทธ์ก็ไม่อยู่แล้ว และเราเองต้องอยู่กับสิ่งนั้น ซึ่งถ้าสิ่งที่ผู้ใหญ่บอกในวันนี้เป็นสิ่งที่เราไม่เห็นด้วย ไม่ต้องการ เราก็ควรที่จะแสดงความเห็นไปเลย ไม่ต้องไปกลัวว่ามันจะผิด เราคิดผิดก็คิดใหม่ได้ เลือกผิดก็เลือกใหม่ได้” ปกรณ์ กล่าวปิดท้าย

ท้ายที่สุด ไม่ว่าวาทกรรม ‘คนรุ่นใหม่ไม่สนใจการเมือง’ จะมีมูลความจริงหรือไม่ มาก-น้อยแค่ไหนก็ตาม สิ่งที่จะเป็นตัวชี้วัดที่สำคัญว่าคนรุ่นใหม่สนใจการเมืองแค่ไหน ย่อมเป็นการปล่อยให้เขาสามารถแสดงออกทางการเมืองอย่างเปิดกว้างตามหลักการประชาธิปไตย หรือปล่อยให้พวกเขาได้ ‘เลือก’ ที่จะออกแบบสังคมที่พวกเขาต้องการ และการเลือกเลือกตั้งจะเป็นตัวชี้วัดว่าคนรุ่นใหม่สนใจการเมืองแค่ไหน

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: