เหมืองแร่อัคราไม่ยอมรับบ่อกักกากแร่ที่ 1 รั่ว

กองบรรณาธิการ TCIJ 28 ก.ค. 2561 | อ่านแล้ว 2549 ครั้ง

เหมืองแร่อัคราไม่ยอมรับบ่อกักกากแร่ที่ 1 รั่ว

บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) เจ้าของเหมืองแร่ทองคำอัครา โต้มติคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ ระบุบ่อเก็บกักกากแร่ที่ 1 รั่วซึมไม่เป็นธรรมและไม่ถูกหลักวิชาการ ที่มาภาพ: สำนักข่าวไทย

สำนักข่าวไทย รายงานเมื่อวันที่ 24 ก.ค. 2561 ว่า บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ชี้แจงกรณีมีรายงานข่าวมติผลการประชุมคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ไขปัญหา ข้อขัดแย้ง ผลกระทบ ต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ จากการทำเหมืองแร่ทองคำชาตรีของบริษัท อัคราฯ ซึ่งมีมติเสียงส่วนใหญ่ว่าบ่อเก็บกักกากแร่ที่ 1 (TSF 1) มีการรั่วซึมนั้น

ทางอัคราฯ ชี้แจงว่าบริษัทฯ พร้อมผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการจากหลายภาคส่วน มีข้อคิดเห็นแย้งหลายประเด็นที่ปรากฏในรายงานของคณะทำงานย่อยผู้เชี่ยวชาญการตรวจสอบข้อเท็จจริงการรั่วซึมของบ่อกักเก็บกากแร่ที่ 1 และได้ทำการชี้แจงพร้อมแสดงเหตุผลไว้อย่างละเอียดในรายงานโครงการการสำรวจตรวจสอบโอกาสบ่อกักเก็บกากแร่ที่ 1 (TSF 1) ของเหมืองทองคำ บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) จังหวัดพิจิตร ซึ่งดำเนินการโดยคณะผู้วิจัยประกอบด้วย ผศ.ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์ และ ดร.สิรินาฏ เลาหะโรจนพันธ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร และ Dr.Yuji Mitsuhata จาก the Research Institute for Geo-Resources and Environment (GREEN), the National Institute of Advanced Industrial Science and Technology (AIST) ซึ่งกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ได้เผยแพร่รายงานฉบับดังกล่าวไว้ในเว็บไซต์ของกรมฯ โดยมีข้อความระบุว่า “อย่างไรก็ตามยังมีข้อคิดเห็นของคณะทำงานย่อยผู้เชี่ยวชาญฯ บางท่านที่มีความเห็นแตกต่างจากรายงานฉบับสมบูรณ์ ซึ่งสามารถพิจารณารายละเอียดข้อคิดเห็นของผู้ที่มีความเห็นแตกต่างดังกล่าวในภาคผนวกของรายงานฉบับสมบูรณ์ ควรพิจารณานำข้อมูลไปใช้ด้วยความระมัดระวังด้วย"

บริษัท อัคราฯ เห็นว่าการลงมติดังกล่าวไม่ถูกบรรจุไว้ในวาระการประชุม จึงไม่มีความเหมาะสม และไม่เป็นธรรม ทั้งยังขาดหลักวิชาการรองรับ เนื่องจากลักษณะการลงมติเป็นเพียงการถามคณะกรรมการที่มาเข้าร่วมประชุม ซึ่งเป็นส่วนน้อยจากคณะกรรมการทั้งหมด 52 คน ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ได้อยู่ในคณะทำงานย่อย และไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ หรือมีความรู้ทางเทคนิคในเรื่องที่ถูกขอให้ลงมติ อีกทั้งการลงมติดังกล่าวดำเนินการเพียงถามความเห็นและให้ผู้เข้าร่วมประชุมฯ ยกมือแสดงความคิดเห็นว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับรายงานการรั่วซึมของบ่อกักเก็บกากแร่ 1 ซึ่งมีผู้ยกมือว่าไม่เห็นด้วยว่าบ่อฯ รั่วซึม 6 คน ประกอบด้วยประชาชนในพื้นที่ ผู้ใหญ่บ้าน และตัวแทนบริษัทฯ ในขณะที่มีคณะกรรมการ 7 คน ประกอบด้วยหน่วยงานภาครัฐยกมือแสดงความเห็นเชื่อว่าบ่อฯ มีการรั่วซึม อย่างไรก็ตาม ยังมีคณะกรรมการส่วนใหญ่จากทั้งหมด 52 คนที่เข้าร่วมประชุม แต่ไม่ออกเสียงลงมติครั้งนี้

การลงมติครั้งนี้ไม่เป็นไปตามกฎเกณฑ์ตามหลักวิชาการ คือ มีการใช้รายงานของนายธนพล เพ็ญรัตน์ อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ที่ใช้ค่าการต้านทานไฟฟ้าตรวจสอบ และไม่ได้สรุปว่าบ่อเก็บกากแร่รั่วหรือไม่ แต่กลับมีการนำเสนอในการประชุมฯ ดังกล่าวว่าบ่อรั่วและผลักดันให้มีการลงมติว่าบ่อกักเก็บกากแร่รั่ว อีกทั้งการใช้ธรณีฟิสิกไม่ใช่เครื่องมือที่ถูกต้อง เนื่องจากธรณีฟิสิกไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อตรวจสอบการรั่วไหลของสาร ประกอบกับในพื้นที่มีตัวแปรทางธรรมชาติค่อนข้างมาก เช่น ชั้นดินลูกรัง ชั้นดินเหนียว การแปรสภาพของหินในบริเวณแหล่งแร่ หรือแม้กระทั่งความชื้น เป็นต้น ซึ่งธรณีฟิสิกข์ไม่สามารถแยกแยะได้อย่างละเอียดชัดเจน จึงทำให้เกิดข้อโต้แย้งมากมายหลายสิบครั้ง จากทั้งบริษัทฯ เอง และนักวิชาการจากสถาบันต่างๆ มากมาย อาทิ กรมทรัพยากรธรณี ซึ่งได้บันทึกไว้ในบันทึกการประชุมตลอดมา ตั้งแต่เริ่มดำเนินโครงการดังกล่าว เพราะวิธีการและเทคนิคที่ใช้ไม่ถูกต้อง

อย่างไรก็ตาม ในรายงานของคณะทำงานด้านสิ่งแวดล้อมฯ ที่เคยรายงานต่อที่ประชุมคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ไขปัญหาข้อขัดแย้ง ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ จากการทำเหมืองแร่ทองคำของ บริษัท อัคราฯ ก่อนหน้านี้ระบุว่าค่าโลหะหนักที่เกินมาตรฐานพบว่ามีอยู่แล้วตามธรรมชาติ ดังนั้นจึงไม่สามารถสรุปได้ว่าสาเหตุการ ปนเปื้อนโลหะหนักมาจากเหมืองทองคำ

นอกจากนี้ ยังเคยมีรายงานการตรวจสอบมาตรฐานการดำเนินกิจการเหมืองแร่ทองคำชาตรีโดยบริษัท แบร์ โดแบร์ อินเตอร์เนชั่นแนล ลิมิเต็ด (Bhere Dolbear International Limited) ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นผู้คัดเลือกให้เป็นผู้ดำเนินการตรวจสอบและประเมินผลอย่างละเอียด เหมืองแร่ทองคำดังกล่าว มีการดำเนินงานที่ได้มาตรฐานสากลในทุก ๆ ด้าน มีการนำเทคโลโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในทุกขั้นตอนทำให้เกิดความปลอดภัยต่อชีวิตและสิ่งแวดล้อม เทียบเท่าเหมืองแร่ชั้นนำทั่วโลก และยังไม่พบการรั่วไหลของโลหะหนักจากบ่อกักเก็บกากแร่สู่ชุมชน

แม้บริษัทฯ จะตระหนักดีว่า ปัจจุบัน บริษัท คิงส์เกท คอนโซลิเดเต็ด จำกัด และรัฐบาลไทย กำลังเข้าสู่การอนุญาโตตุลาการ ภายใต้ข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างไทย-ออสเตรเลีย แต่บริษัทฯ ยังคงเชื่อมั่นว่ากระบวนการหาข้อเท็จจริง ของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ไขปัญหา ข้อขัดแย้ง ผลกระทบ ต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ จากการทำเหมืองแร่ทองคำของ บริษัท อัคราฯ ที่ตั้งขึ้นโดยภาครัฐนั้น จะดำเนินการด้วยความยุติธรรม และโปร่งใสเพื่อเป็นบรรทัดฐาน และสร้างความเชื่อมั่นให้กับการค้าการลงทุนระหว่างประเทศต่อไป

บริษัท อัคราฯ ขอยืนยันอีกครั้งว่าปฏิบัติตามกฎหมายการทำเหมืองแร่อย่างเคร่งครัด ภายใต้การกำกับดูแลของกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) และการประกอบการไม่ได้ก่อให้เกิดมลภาวะทั้งต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในชุมชนโดยรอบ ขณะเดียวกันบริษัทฯ ยังได้รับการสนับสนุนการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำชาตรีจากกลุ่มประชาชนที่แท้จริงส่วนใหญ่ในพื้นที่ดำเนินการทั้ง 29 หมู่บ้านอีกด้วย

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: