หวั่น 'หนู' ทะลัก กทม. เพราะ 'แมว' ไม่ทำหน้าที่ 'งู' มาช่วยกินก็ถูกจับปล่อยป่า

กองบรรณาธิการ TCIJ 26 พ.ค. 2561 | อ่านแล้ว 4559 ครั้ง

หวั่น 'หนู' ทะลัก กทม. เพราะ 'แมว' ไม่ทำหน้าที่ 'งู' มาช่วยกินก็ถูกจับปล่อยป่า

ผู้เชี่ยวชาญสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่าหวั่น 'หนู' ทะลัก กทม. เพราะเจ้าของ 'แมว' ไม่ให้กินหนู ส่วน 'งู' ที่เข้ากรุงมาทำหน้าที่กินหนูแทนก็ถูกจับไปปล่อยป่าบ่อยครั้ง คาดหนูที่เป็นพาหะนำโรคใน กทม. มีมากกว่า 1 ล้านตัว ที่มาภาพประกอบ: Wikipedia

มติชนออนไลน์ รายงานเมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2561 ว่ามีรายงานจากฝ่ายสุขภาพสัตว์ป่า กลุ่มงานเพาะเลี้ยงสัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ได้รายงานแผนการดำเนินการแก้ปัญหาสัตว์ป่าว่าปี 2560 มีประชาชนร้องเรียนเรื่องสัตว์ป่าเข้าไปรุกรานบ้านและที่อยู่อาศัยจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งงูเหลือมที่พบว่า เจ้าหน้าที่จากสำนักป้องกันและบรรเทาสารณภัย (สปพ.) ของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้นำเอางูเหลือมที่จับได้จากพื้นที่ต่าง ๆ ใน กทม.มาส่งให้เจ้าหน้าที่สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า เพื่อนำไปปล่อยป่ามีมากถึง 4,519 ตัว นอกจากนี้ยังมีงูทางมะพร้าว 28 ตัว งูสิง 20 ตัว งูเขียวพระอินทร์ 19 ตัว งูเขียวหางไหม้ 7 ตัว งูแสงอาทิตย์ 4 ตัว และงูอื่น ๆ รวมทั้งหมด 4,612 ตัวพื้นที่ ที่นำงูมาส่งมากที่สุดคือ ยานนาวา จำนวน 786 ตัว หัวหมาก 627 ตัว และบางขุนนนท์ 608 ตัว โดยในปี 2561 ตั้งแต่เดือน ม.ค.-เม.ย. จับงูและตัวเหี้ยได้รวม 913 ตัว เป็นงูเหลือม 881 ตัว ตัวเหี้ย 18 ตัว ที่เหลือเป็นงูอื่น ๆ เช่น งูเขียวหางไหม้ 10 ตัว งูสิง 9 ตัว เป็นต้น โดยพื้นที่ที่จับงูเหลือมได้มากที่สุดคือ เขตหัวหมาก ในระยะเวลา 4 เดือนจับได้ 142 ตัว บางขุนนนท์ 114 ตัว เขตสวนหลวง ตัว ยานนาวา 70 ตัว จันทเกษม 50 ตัว และดินแดง 33 ตัว เป็นต้น

นายศุภากร ปทุมรัตนาธาร รักษาการผู้เชี่ยวชาญด้านการอนุรักษ์สัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวว่าสาเหตุที่พบงูเหลือมตามบ้านเรือนผู้คนในพื้นที่ กทม.เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ทุก ๆ ปี เป็นเพราะพฤติกรรมของคนมาเกี่ยวข้องโดยตรง เริ่มจากการเลี้ยงแมวแต่ไม่ชอบให้แมวจับหนู แค่แมวจับจิ้งจกก็ถูกเจ้าของดุแล้ว ทุกวันนี้แมวที่เลี้ยงไว้ตามบ้านจึงแทบจะไม่จับหนูเป็นอาหารเลย จะกินเฉพาะอาหารเม็ด ประกอบกับพฤติกรรมของคนกรุงเทพทุกวันนี้มักจะซื้อกับข้าวถุงจากตลาดมารับประทานแทนการปรุงอาหารกินเอง เมื่ออาหารเหลือทิ้งไว้ในถังขยะก็จะมีหนูบ้านเข้ามาหาของกินในถังขยะนั้น ซึ่งพื้นที่แหล่งอาหารของหนูในถังขยะในกรุงเทพนั้นถือว่าอุดมสมบูรณ์อย่างยิ่ง ทำให้ประชากรหนูบ้านเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

"หนูจะผสมพันธุ์และตั้งท้องโดยใช้เวลาเพียง 25 วัน ถึงจะออกลูกครั้งละ 6-8 ตัว คือ พวกมันมีลูกดกมาก สมัยก่อน ศัตรูของหนูพวกนี้คือแมวบ้าน บ้านไหนเลี้ยงแมว รับรองเลยว่าบ้านนั้นจะไม่มีหนูอย่างเด็ดขาด แต่ทุกวันนี้ไม่ใช่แล้ว แมวไม่ได้ทำหน้าที่ของมัน สัตว์อีกชนิดที่จะมากินหนูคือ งูนั่นเอง โดยเฉพาะงูเหลือม พวกมันตามกลิ่นหนูมา อยู่ตามบ้านเรือนและทุกที่ที่มีหนูอยู่ที่ไหนมีหนูมากที่นั่นก็มีงูมากเช่นกัน เหมือนกับว่า งูในสมัยนี้มาทำหน้าที่กำจัดหนูแทนแมวในสมัยก่อน"

รักษาการผู้เชี่ยวชาญด้านการอนุรักษ์สัตว์ป่า กล่าวว่าสิ่งที่น่าเป็นห่วงอย่างมากเมื่อปริมาณหนูเพิ่มมากขึ้นคือ เชื้อโรคที่จะมากับหนูสารพัดโรคที่มีหนูเป็นพาหะ เช่น ฉี่หนู กาฬโรค เป็นต้น

"หากมองหนูเป็นขยะ เวลานี้ทุกคนกำลังช่วยกันเอาถังขยะออก เพราะในเมื่อแมวไม่ทำหน้าที่กำจัดหนูแล้ว พวกงูทั้งหลายมันก็จะเข้ามากินหนูแทน ขณะที่พวกเราเองก็พากันรังเกียจงู เจองูที่ไหนก็ตีที่นั่น แล้วก็แจ้งให้เจ้าหน้าที่ไปเก็บ กรมอุทยานฯ เมื่อได้รับแจ้งก็ต้องออกไปจัดการจับงูเหล่านั้นออกไปปล่อยพื้นที่ป่า ตามหน้าที่ ล่าสุดเจ้าหน้าที่ของกทม.เพิ่งจะนำเอางูเหลือม 30 ตัว และตัวเหี้ยอีก 2 ตัว มาส่ง เราก็ต้องเอาไปปล่อยป่า แต่ความจริงแล้ว นี่สิ่งที่เราทำคือการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เพราะต้นเหตุคือ พฤติกรรมการกินทิ้งกินขว้างของคน การจัดการขยะที่ยังไม่ได้มาตรฐาน ทำให้อาหารของหนูอุดมสมบูรณ์มาก" นายศุภากร กล่าว

นายศุภากร กล่าวว่าคิดตัวเลขกลม ๆ ว่างูเหลือมที่เราจับมาช่วงประมาณ 1 ปี กับ 4 เดือน ที่ผ่านมา 5,542 ตัว งูเหล่านี้น่าจะสามารถกินหนูได้ราว 6 แสน ตัว ต่อปี หมายความว่า เมื่องูถูกจับออกไป ศัตรูของหนูลดลง ขณะที่ปริมาณอาหารไม่ได้ลดลงและอาจจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นด้วย ปีต่อ ๆ ไป หนูจะเพิ่มปริมาณมากขึ้นเท่าใด เวลานี้ตนเชื่อว่าในกรุงเทพน่าจะมีปริมาณหนูบ้านมากกว่า 1 ล้านตัวอย่างแน่นอน

เมื่อถามว่าแล้วจะให้ทำอย่างไรปล่อยให้งูอยู่ในบ้านเพื่อกินหนูอย่างนั้นหรือ นายศุภากร กล่าวว่าต้นเหตุอยู่ที่พฤติกรรมการกินของคน คือ กินอาหารไม่หมด ระบบการจัดเก็บขยะไม่ดีทำให้ปริมาณอาหารหนูอุดมสมบูรณ์ จะต้องแก้ปัญหาส่วนที่เป็นต้นเหตุตรงนี้

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: