พบสวนส้มฉีด 'ยาปฏิชีวนะ' หวั่นผู้บริโภคดื้อยา

กองบรรณาธิการ TCIJ 25 พ.ย. 2561 | อ่านแล้ว 2610 ครั้ง

พบสวนส้มฉีด 'ยาปฏิชีวนะ' หวั่นผู้บริโภคดื้อยา

เครือข่ายเภสัชกรชายแดน สุ่มสำรวจ อ.เชียงของ จ.เชียงราย พบผู้ที่มีเชื้อดื้อยากว่า 200 คน คาดว่าส่วนหนึ่งมาจากการใช้ยาปฏิชีวนะในสวนส้ม พร้อมพบว่าการใช้ยาปฏิชีวนะในสวนส้มน่าเป็นห่วง ไม่มีการควบคุม ที่มาภาพ: เครือข่ายเภสัชกรชายแดน

Thai PBS รายงานเมื่อวันที่ 21 พ.ย. 2561 ว่าเฟสบุ๊คของเครือข่ายเภสัชกรชายแดน โพสต์ภาพการใช้ยาปฏิชีวนะในสวนส้ม ด้วยการฉีดเข้าต้นส้ม พร้อมกับข้อความแสดงถึงความวิตกกังวล เกี่ยวกับการตกค้างของยาปฏิชีวนะ หรือ Anti-Biotic ในผลผลิต สิ่งแวดล้อม และเกษตรกรผู้สัมผัสยาโดยตรง ซึ่งอาจก่อให้เกิดการเชื้อดื้อยา โดยระบุว่าทีมงานเภสัชกรชายแดน ร่วมกับทีมทำงานในพื้นที่ชายแดนแห่งหนึ่งทางภาคเหนือของประเทศไทย ติดตามการนำยาปฏิชีวนะ Amoxycillin ไปใช้ในสวนส้ม

แม้จะมีข้อมูลเผยแพร่มาก่อนหน้านี้ราว 5 ปี ตั้งแต่มีงานวิจัยของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งว่า สามารถใช้ยาปฏิชีวนะฉีดเข้าไปในต้นส้ม ผ่านท่อน้ำเลี้ยง ท่ออาหาร เพื่อกำจัดเชื้อคล้ายแบคทีเรีย Bacteria like ซึ่งเป็นสาเหตุการเกิดโรคกรีนนิ่งในต้นส้มได้

ขณะที่หน่วยงานซึ่งทำหน้าที่กำกับดูแลทางด้านการเกษตรระบุว่า มีการใช้เฉพาะในพื้นที่จำกัด แต่ข้อเท็จจริงในเวลานั้น ได้เริ่มมีเกษตรกรชาวสวนส้ม นำทฤษฎีดังกล่าวมาใช้แล้ว

ทีมงานพบว่า ปัจจุบันเกษตรกรได้ทำกันอย่างแพร่หลาย โดยเกษตรกรจะไปซื้อยาปฏิชีวนะ (ยาอันตรายที่ต้องส่งมอบยาโดยเภสัชกร ไม่สามารถซื้อหาได้โดยทั่วไป) มาแกะเม็ดแคปซูลออก เอาแต่ผงยา ออกมาละลายน้ำค้างไว้ 1 คืน หลังจากนั้นนำมากรองเอาแต่น้ำ ใส่ขวดแล้วนำมาฉีด โดย 1 ปี จะฉีด 3 ครั้ง ไม่เช่นนั้น ส้มจะเหลืองและตาย

ทีมงานฯ พบผง Amoxycillin เกลื่อนพื้นดิน ซึ่งสามารถซึมสู่แหล่งน้ำใต้ดินต่อไปได้ พบชาวสวนเกษตรกรสัมผัสผงยาโดยตรง และแน่นอนว่าผู้บริโภคมีความเสี่ยงอย่างสูงที่จะได้รับยาปฏิชีวนะเกินความจำเป็นจากการตกค้างในผลส้ม นำไปสู่สภาวะเร่งเร้าให้เกิดเชื้อดื้อยา และบางคนอาจแพ้ยาที่ตกค้างในส้ม การที่แพ้ยาอาจจะแพ้ยาถึงขั้นแพ้แบบรุนแรง ทั้งแบบ Steven-Johnson Syndrome และ Toxic Epidermal Necrolysis (TEN) ที่เป็นการแพ้ยาที่มีความรุนแรงมาก อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตจากการที่เซลล์ผิวหนังตาย ผู้ป่วยจะมีไข้ เจ็บคอ อ่อนเพลียอย่างรุนแรง ผู้ป่วยจะเริ่มจากมีการมีแผลในบริเวณช่องปากและที่ริมฝีปาก (อาจเกิดแผลที่บริเวณอวัยวะเพศ และที่บริเวณก้นด้วยก็ได้) และเริ่มมีอาการทางผิวหนัง คือเกิดผื่นและผิวหนังที่เกิดผื่นจะเกิดการลอกอย่างรุนแรงตามมา

เกษตรกรชาวสวนส้ม เจ้าของสวนส้ม นักวิจัยด้านเกษตร นักวิชาการและข้าราชการด้านส่งเสริมการเกษตร อาจต้องมองให้รอบด้านมากยิ่งขึ้น เพราะทุกวันนี้ พบการปนเปื้อนยาปฏิชีวนะในอาหารจำมากขึ้น กระทั่งในอนาคตมีแนวโน้มว่า มนุษย์จะไม่มียาใช้สำหรับต่อสู้กับเชื้อธรรมดาพื้นฐาน เพราะร่างกายของมนุษย์ดื้อต่อยาต่างๆ ไปเสียแล้ว

พบผู้ป่วยดื้อยาใน อ.เชียงของ

ภก.อิ่นแก้ว สิงห์แก้ว เครือข่ายเภสัชกรชายแดน ระบุว่าจากการสุ่มสำรวจพบพื้นที่อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย มีผู้ป่วยดื้อยากว่า 200 คน เป็นปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน ซึ่งสาเหตุหนึ่งมาจากการใช้ยาปฏิชีวนะในการเกษตร จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกมาควบคุมการใช้ยา และหาวิธีการแก้ไขปัญหา

'ยาปฏิชีวนะ' รักษาโรคกรีนนิ่งในส้ม

ผศ.อังสนา อัครพิศาล หัวหน้าภาควิชากีฏวิทยา โรคพืช คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่เคยทำการวิจัยเกี่ยวกับการแก้ปัญหาโรคกรีนนิ่ง เปิดเผยว่า เมื่อประมาณ 10 ปี ที่ผ่านมา เกิดวิกฤตการระบาดของโรคกรีนนิ่ง ในพื้นที่ตอนบนของจังหวัดเชียงใหม่

ตามหลักควรฉีดเข้าต้นส้ม หลังจากตัดแต่งกิ่ง หลังจากนั้นทิ้งไว้ 3 เดือน จะไม่มีสารตกค้างในผลผลิต แต่เกษตรกรน่าจะขาดองค์ความรู้ จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าให้ความรู้ เพื่อที่จะสามารถใช้ได้ถูกวิธี

“การใช้คงจะต้องใช้ให้เหมาะสม และต้องใช้ให้ถูกต้องตามเวลาด้วย ถ้าใช้แค่ 3-4 เดือน ก็จะไม่มีสารปฏิชีวนะตกค้าง”

นายสุชาติ วงค์ชื่น เกษตรอำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ชาวสวนส้มส่วนใหญ่ใช้ยาปฏิชีวนะในการรักษาโรคกรีนนิ่ง เพราะเป็นวิธีเดียวในการรักษา เนื่องจากโรคนี้เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ที่ผ่านมาได้ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้แก่เกษตรกรเพื่อให้ใช้อย่างถูกวิธี ส่วนการรักษาด้วยวิธีอื่น หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยังคงทำการวิจัยค้นคว้าหาวิธีอื่นมาแทนยาปฏิชีวนะ

“มันเป็นสิ่งจำเป็น ในระยะที่เฉียบพลัน เพราะปล่อยไปจะทำลายสวนทั้งสวนเลย เกษตรกรก็บอกว่าจำเป็นต้องใช้ แต่จะต้องควบคุมปริมาณการใช้ และระยะเวลาการใช้”

จากการเก็บข้อมูลของเครือข่ายเภสัชกรชายแดน พบว่าพื้นที่อำเภอเชียงของ มีผู้ที่มีเชื้อดื้อยากว่า 200 คน ซึ่งเป็นจำนวนที่น่าห่วง โดยขณะนี้กระทรวงสาธารณสุข ได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ดำเนินการตรวจสอบแล้ว พร้อมให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในพื้นที่ ที่มีสวนส้มและพบปัญหาการใช้ยาปฏิชีวนะเข้าตรวจสอบด้วย เนื่องจากปัญหาเชื้อดื้อเป็นยุทธศาสตร์ระดับชาติที่ต้องร่วมกันแก้ไข

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: