แรงงานเกาหลีใต้ประท้วงที่ไม่มีการปฏิรูปกฎหมายแรงงาน

แปลและเรียบเรียงโดย พัชณีย์ คำหนัก 24 พ.ย. 2561 | อ่านแล้ว 3232 ครั้ง

แรงงานเกาหลีใต้ประท้วงที่ไม่มีการปฏิรูปกฎหมายแรงงาน

แรงงานนับหมื่นคนออกมานัดหยุดงานครึ่งวันทั่วประเทศเกาหลีใต้ เนื่องจากรัฐบาลพยายามที่จะถ่วงรั้งนโยบายด้านแรงงานในขณะที่พวกเขากำลังเผชิญกับความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจ ที่มาภาพ: Sookyoung Lee/Al Jazeera

ที่เกาหลีใต้สหภาพแรงงานประเมินว่ามีแรงงานลุกขึ้นมาประท้วงราว 160,000 คน รวม 10,000 คนที่ชุมนุมอยู่นอกเมืองโซลด้วย

แรงงานนับหมื่นคนออกมานัดหยุดงานครึ่งวันทั่วประเทศ เนื่องจากรัฐบาลพยายามที่จะถ่วงรั้งนโยบายด้านแรงงานในขณะที่พวกเขากำลังเผชิญกับความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจ

แรงงานในอุตสาหกรรมรถยนต์ประมาณ 40,000 คนนัดหยุดงานและชุมนุมในกรุงโซลและในอีก 13 เมืองเมื่อวันพุธที่ผ่านมา (21 พ.ย.) ภายใต้การนำของสมาพันธ์แรงงานเกาหลีใต้ (KCTU)

อีกราว 10,000 คนชุมนุมกันที่ด้านนอกของรัฐสภา โพกผ้าสีแดง ตะโกนคำขวัญและโบกสะบัดป้ายผ้า โดยมีตำรวจปราบจราจลหลายร้อยคนประจำที่อยู่

สมาพันธ์แรงงานเกาหลีใต้ประเมินว่า มีสมาชิกเข้าร่วมชุมนุม 160,000 คนทั่วประเทศ

รัฐบาลพยายามที่จะให้มีการจ้างงานยืดหยุ่นมากขึ้น โดยอนุญาตให้มีการทำงานสูงสุด 52 ชั่วโมงต่อสัปดาห์เพื่อสนองความต้องการด้านแรงงานที่ยังขาดแคลน ซึ่งทำให้ผู้ใช้แรงงานโกรธมาก

สหภาพแรงงานยังเรียกร้องรัฐบาลของประธานาธิบดีมุน แจ-อินทำตามสัญญาในการหาเสียงเลือกตั้งที่ผ่านมาว่าจะเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำจาก 7,530 วอน (6.66 USD) เป็น 10,000 (8.85 USD) ภายในปี 2020

"นับตั้งแต่ประธานาธิบดีมุน แจ-อินบริหารงาน นโยบายด้านแรงงานล้าหลัง แม้ว่าเขาได้เพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำแล้ว 16% แต่เมื่อคำนวณแล้ว การขึ้นค่าจ้างนั้นไม่มีประโยชน์ต่อคนงาน" นายจุง ซู-นัม โฆษก KCTU ให้สัมภาษณ์แก่สำนักข่าวอัลจาซีร่า

หากสถานการณ์นี้ไม่เปลี่ยนแปลง เราจะนัดหยุดงานอีกครั้ง

เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน นายแจ-อินไล่เจ้าหน้าที่ด้านเศรษฐกิจระดับสูง 2 คนออกจากงาน เนื่องจากประเทศที่มีเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 11 ของโลกกำลังสู้กับการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เชื่องช้า อัตราว่างงานสูงขึ้นและปัญหาช่องว่างทางรายได้ที่เรื้อรัง

ความเดือดร้อนเหล่านี้ทำให้คะแนนนิยมของประธานาธิบดีลดต่ำลง 13% ในช่วง 5 สัปดาห์ เหลือ 52% จากโพลล์ Gallup

ฮยอน ซัน-ลี พนักงานทำความสะอาดอายุ 61 ปีออกมาประท้วง โดยคาดหวังว่ารัฐบาลจะปรับการจ้างงานชั่วคราวให้เป็นประจำ

"ดิฉันเป็นพนักงานทำความสะอาดในโรงพยาบาลมา 11 ปีแล้ว รัฐบาลของนายมุนสัญญาว่าจะปรับลูกจ้างชั่วคราวที่ทำงานมาเป็นเวลานานอย่างดิฉันให้เป็นลูกจ้างประจํา แต่ดูท่าจะไม่มีอะไรเปลี่ยน" ซุน-ลีกล่าว

"ดิฉันเพียงแค่ต้องการอยู่ในที่ๆ ไม่มีการเลือกปฏิบัติ ต้องการได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกับพนักงานคนอื่นๆ แต่ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงเท่าไหร่ในชีวิตของฉัน หลังจากที่นายมุนขึ้นมาเป็นประธานาธิบดี ฉันกลับรู้สึกโกรธมากกว่าที่เขาไม่ทำตามสิ่งที่พูด"

ส่วนคุณอึน จู-นา กล่าวว่า จากการที่รัฐบาลอนุญาตให้นายจ้างจ้างงานยืดหยุ่นมากขึ้น โดยปรับชั่วโมงการทำงานได้ ทำให้พนักงานวิตกกังวล ต้องทำงานล่วงเวลาเนื่องจากนายจ้างขาดแคลนกำลังคน

แปลและเรียบเรียงจาก
https://www.aljazeera.com/news/2018/11/thousands-protest-south-korea-lack-labour-reforms-181121132123901.html

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: