คุยกันหลังหนังจบ: The Angel – โลกอาหรับ กับผลประโยชน์แห่งชาติ?

ธนเวศม์ สัญญานุจิต: 23 ต.ค. 2561 | อ่านแล้ว 9727 ครั้ง


บทความชิ้นนี้เปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของภาพยนตร์ 

 

The Angel ภาพยนตร์จากการสร้างของ Netflix ที่นำเรื่องราวของ “สายลับที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งศตวรรษที่ 20” อย่าง อัชราฟ มาร์วาน (Ashraf Marwan) หรือ ผู้ที่ได้รับชื่อรหัสในเอกสารว่า “แองเจิล” (เทวทูต) มาบอกเล่าในอีกมุมมองหนึ่ง

ตัวภาพยนตร์พาเราไปสู่รอยต่อระหว่างก่อนเกิดสงครามครั้งใหญ่ระหว่างโลกอาหรับกับอิสราเอล ครั้งสุดท้าย ในปี 1973 ในชื่อ “สงครามยมคิปปูร์” ซึ่งสงครามระหว่างอาหรับกับอิสราเอลนั้นมีมาถึง 5 ครั้ง ตั้งแต่เหล่าขบวนการไซออนนิสต์ จัดตั้งรัฐอิสราเอลขึ้นในปี 1948 และการตั้งรัฐอิสราเอลนี้เองได้ทำให้ประเด็นปัญหาชาวปาเลสไตน์ในดินแดนที่ถูกตั้งเป็นอิสราเอล ยังไม่อาจตั้งรัฐปาเลสไตน์ขึ้นมาได้ และปัญหาอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังคงเป็นประเด็นเรื้อรังอยู่ในเวทีระหว่างประเทศมาจนถึงปัจจุบัน 

อัชราฟ เป็นบุตรเขยของ ประธานาธิบดีญะมาล อับดุล นัสเซอร์ แห่งอียิปต์ ผู้นำคนสำคัญที่นำพาอียิปต์ขึ้นสู่ตำแหน่งผู้นำโลกอาหรับช่วง ทศวรรษที่ 50-70 เนื่องจากในยุคของนัสเซอร์ อียิปต์เป็นรัฐอาหรับที่มีกองกำลังทหารใหญ่ที่สุด และเป็นศูนย์กลางด้านการเมือง เศรษฐกิจและวัฒนธรรมของโลกอาหรับในภูมิภาคตะวันออกกลาง ในยุคนั้นโลกอาหรับทยอยตั้งตนเป็นรัฐเอกราช จากการปลดปล่อยจากการถูกควบคุมของอังกฤษกับฝรั่งเศส ไม่ว่าจะในฐานะ รัฐในอาณัติ (Mandates) รัฐในอารักขา (Protectorates) หรือบางแห่งก็ปลดปล่อยตนเองจากการเป็นอาณานิคมในยุคนั้นได้สำเร็จ และในยุคสมัยนั้นโลกอาหรับได้ชูแนวคิด อาหรับชาตินิยม (Arab nationalism) ทำให้พื้นที่ตะวันออกกลาง ชาวอาหรับทั้งหลายมีความรู้สึกข้ามพรมแดน ความรู้สึกว่าเป็นชาวอาหรับเหมือนกันมีมากกว่าความรู้สึกของรัฐชาติ และมองว่าการขีดเส้นพรมแดนแบ่งประเทศของอาหรับออก เป็นความพยายามของโลกตะวันตกที่ต้องการทำให้อาหรับอ่อนแอ และพวกเขาต่างมุ่งมั่นต่อต้านการมีอยู่ของรัฐอิสราเอลมาตั้งแต่แรกก่อตั้ง

แต่สงครามในปี 1967 ทำให้อียิปต์สูญเสียคาบสมุทรไซนาย ดินแดนฉนวนกาซาไปเพราะการยึดครองของอิสราเอล รวมถึงซีเรียสูญเสียที่ราบสูงโกลันบางส่วนไป ความเป็นผู้นำโลกอาหรับของอียิปต์เสื่อมถอยลงอย่างมาก นักประวัติศาสตร์และนักวิชาการจำนวนมากระบุให้ความยิ่งใหญ่ของอียิปต์ถูกปิดฉากลงเมื่อการถึงแก่อสัญกรรมของประธานาธิบดีนัสเซอร์ ในปี 1970 ย้อนกลับมาที่อัชราฟ อัชราฟในภาพยนตร์ถูกวาดภาพให้ออกมาเป็นผู้ที่ต่อต้านคอมมิวนิสต์ เนื่องจากในสมัยของนัสเซอร์ สงครามระหว่างโลกอาหรับกับอิสราเอล มีสงครามเย็น (The Cold War) เป็นฉากหลังที่ส่งอิทธิพลอยู่ เมื่อขั้วอำนาจหนึ่งอย่างสหรัฐ ให้การสนับสนุนอิสราเอล นัสเซอร์จำเป็นต้องหาผู้สนับสนุนด้านอาวุธจากสหภาพโซเวียต อัชราฟแสดงออกมาตั้งแต่ต้นเรื่องของภาพยนตร์โดยตลอดว่า อียิปต์ควรถอยห่างจากโซเวียต และมุ่งหาการเจรจาเพื่อเอาคาบสมุทรไซนายกลับมา

เมื่อนัสเซอร์ถึงแก่อสัญกรรม ประธานาธิบดีอันวาร์ ซาดัต จึงขึ้นดำรงตำแหน่งแทน และแนวคิดอาหรับชาตินิยมก็เสื่อมถอยลงอย่างหนัก สิ่งหนึ่งที่สะท้อนถึงความเสื่อมถอยนั้นคือแนวคิดของอัชราฟ ที่ไม่ได้ต้องการทำลายอิสราเอลให้ราบคาบอีกต่อไป แต่อัชราฟมุ่งหา “ผลประโยชน์แห่งชาติ” (National Interest) ของอียิปต์ มิใช่ โลกอาหรับ เขาต้องการคาบสมุทรไซนายคืนจากอิสราเอล โดยหาทางสูญเสียให้น้อยที่สุด อัชราฟจึงเล่นเกมอันตราย โดยในขณะที่เขาหาใบเบิกทางเข้าสู่การทำงานใกล้ชิดประธานาธิบดีอันวาร์ ซาดัต เขาก็ลอบเป็นสายให้กับมอสซาด (หน่วยข่าวกรองของอิสราเอล) ก่อนที่ซาดัตจะเปิดฉากโจมตีคาบสมุทรไซนาย

ภาพของ อัชราฟ มาร์วาน ตัวจริง

อัชราฟ เล่นเป็นสายลับสองหน้า เพื่อสุดท้ายแล้ว ปลายทางของเขาคือการเจรจาเอาดินแดนที่เสียไปจากสงครามครั้งก่อนกลับมาจากอิสราเอลเท่านั้น การที่เขานำข้อมูลวงในไปแจ้งแก่มอสซาดจึงเป็นกลยุทธ์ที่เอาตัวเองเข้าเสี่ยง แผนการ “เด็กเลี้ยงแกะ” ของอัชราฟ ที่จะแจ้งข่าวปลอม 2 ครั้ง ก่อนข่าวจริงในครั้งสุดท้าย แต่ครั้งสุดท้าย อัชราฟบอกความจริงเพียงครึ่งเดียวเท่านั้น อัชราฟแจ้งเวลาล่าช้ากว่าเดิมเล็กน้อย เพื่อให้กองทัพอียิปต์รุกเข้าไปในไซนายได้ ก่อนที่อิสราเอลจะรับมือได้ เพื่อไม่ให้มีการล้มตายมากเกินไป อัชราฟได้นำพาสงครามระหว่างโลกอาหรับกับอิสราเอลไปในทางที่เขาต้องการ อิสราเอลสามารถรับมือตอบโต้การเปิดฉากโจมตีของอียิปต์และซีเรียได้ และสหรัฐต้องเข้ามาไกล่เกลี่ยเปิดโต๊ะเจรจา ทำให้อียิปต์ได้ดินแดนคืนกลับมา สงครามนี้ไม่ได้มีเพื่อทำลายอิสราเอล หรือช่วยเหลือปาเลสไตน์ หรือทำลายล้างอิสราเอลให้โลกอาหรับ สงครามนี้ มีมาเพื่อรับใช้ผลประโยชน์แห่งชาติของอียิปต์

ในโลกความเป็นจริง บทบาทของอัชราฟยังคงเป็นที่ถกเถียงว่า ตกลงแล้วเขาเป็นคนทรยศของอียิปต์ หรือเป็นสายลับสองหน้าที่คอยป่วนมอสซาดของอิสราเอลกันแน่ แต่ผลของสงครามยมคิปปูร์ ในทางการเมืองกลับชัดเจนและโหดร้ายยิ่งกว่า อันวาร์ ซาดัต กลายเป็นผู้นำจากโลกอาหรับคนแรก ที่เหยียบย่างเข้าไปในอิสราเอลเพื่อเจรจาสันติภาพ และได้ลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพแคมป์เดวิด ที่มีสหรัฐเป็นคนกลางเมื่อปี 1979 ผลจากสนธิสัญญา อียิปต์ได้คาบสมุทรไซนายคืน หลังจากนั้นโลกอาหรับก็ไม่มีสงครามกับอิสราเอลอีก แต่อียิปต์ถูกโลกอาหรับตราหน้าว่า “ทรยศ” เพราะทำสนธิสัญญาเพื่อประโยชน์ของอียิปต์ฝ่ายเดียว ไม่สนใจโลกอาหรับอื่นๆ อียิปต์ถูกขับไล่ออกจากสมาชิกสันนิบาตอาหรับในปี 1979 (แต่ก็กลับเข้าไปเป็นสมาชิกได้อีกครั้งในภายหลัง) 2 ปีหลังการลงนาม อันวาร์ ซาดัตถูกลอบสังหาร และหลังจากนั้นเป็นต้นมา เหตุการณ์ต่างๆ ตั้งแต่ปี 1979 ก็ยิ่งทำให้โลกอาหรับร้าวฉานกันเองอย่างรุนแรง และไม่มีการรวมกำลังกันเพื่อแก้ไขปัญหาปาเลสไตน์อีกเลย

สุดท้ายแล้ว อัชราฟ มาร์วาน อาจเป็นวีรบุรุษแห่งชาติ แต่เขาคงไม่ใช่วีรบุรุษของโลกอาหรับ

 


 

ข้อมูลประกอบ : ชูเกียรติ พนัสพรประสิทธิ์, ภูมิภาคตะวันออกกลางในการเมืองโลก: ความต่อเนื่องและความเปลี่ยนแปลง. กรุงเทพฯ:สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2561

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: