เอกชนจี้ กกพ.ออกกฎคุมโซลาร์รูฟท็อปเสรี

กองบรรณาธิการ TCIJ 22 ก.ค. 2561 | อ่านแล้ว 2066 ครั้ง

เอกชนจี้ กกพ.ออกกฎคุมโซลาร์รูฟท็อปเสรี

เอกชนแนะ กกพ.เร่งออกกฎคุมโซลาร์รูฟท็อปเสรีฯ ภายในสิ้นปี 2561 นี้ หวั่นไม่ชัดเจนเกิดการลงทุนยากชี้ผลิตไฟใช้เองเกิดเยอะหลังต้นทุนถูกลงเรื่อยๆ อาจส่งผลถึงความมั่นคงของไฟฟ้ารัฐ ที่มาภาพ: Energy News Center

เว็บไซต์ไทยโพสต์ รายงานเมื่อวันที่ 14 ก.ค. 2561 นายดุสิต เครืองาม นายกสมาคมอุตสาหกรรมเซลล์แสงอาทิตย์ไทยเปิดเผยว่า กกพ.ควรจะต้องเร่งออกระเบียบรองรับการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ติดตั้งบนหลังคาที่อยู่อาศัยแบบเสรี (โซลาร์รูฟท็อปเสรี) เพื่อขับเคลื่อนแผนปฏิรูปประเทศด้านพลังงานภายในสิ้นปีนี้ โดยเฉพาะระเบียบสำคัญ 2 ด้านได้แก่ 1.รองรับการผลิตโซลาร์รูฟท็อปที่เป็นการผลิตครัวเรือนใช้เองหรือ 2.รองรับสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระหว่างเอกชนกับเอกชน (PPA)

"ในฐานะที่เป็นกรรมการในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านพลังงานในส่วนของโซลาร์รูฟเสรีนั้นไม่เกี่ยวข้องกับการขายไฟเข้าระบบรัฐแต่อย่างใด ซึ่งขณะนี้แม้รัฐไม่ส่งเสริมมันก็เกิดอยู่แล้วแต่ กกพ.ต้องออกระเบียบมารองรับอย่างเร่งด่วนเพื่อให้เป็นแนวทางปฏิบัติชัดเจนไม่เช่นนั้น การลงทุนก็จะเกิดยากเพราะมีอุปสรรคต่างๆ เข้ามาทำให้การติดตั้งไม่ง่ายอย่างที่คิด" นายดุสิต กล่าว

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงานกล่าวว่าขณะนี้กระทรวงพลังงานได้มอบหมายให้ กกพ.เร่งรัดพิจารณาระเบียบและแนวทางการส่งเสริมการผลิตโซลาร์ภาคประชาชนที่จะยึดหลักการตามแนวทางของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านพลังงานที่จะส่งเสริมให้ประชาชนผลิตไฟใช้เอง หรือการผลิตไฟซื้อขายระหว่างเอกชนกันเองโดยไม่เข้าระบบรัฐ โดยต้องหาข้อสรุปร่วมกับ 3 การไฟฟ้าและกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เร่งด่วนภายในสิ้นปีนี้เนื่องจากขณะนี้แนวโน้มการผลิตไฟใช้เอง (IPS) จากโซลาร์รูฟท็อปสูงขึ้นต่อเนื่อง

"ขณะนี้การผลิตไฟใช้เองและบริษัทใหม่ๆ ที่มารับติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปแล้วทำ PPA มีมากขึ้น แม้ว่ารัฐจะไม่สนับสนุนการรับซื้อก็ตามอย่างไรเสียสิ่งเหล่านี้ก็จะมาและอาจมาเร็ว เพราะขณะนี้ต้นทุนผลิตไฟโซลาร์รูฟท็อปไม่ถึง 3 บาทต่อหน่วยแล้วและหากปล่อยไว้สิ่งเหล่านี้จะกระทบต่อรัฐเองโดยเฉพาะความมั่นคงไฟฟ้าเพราะกลางวันจะผลิตไฟใช้เองแต่กลางคืนจะไปพึ่งระบบไฟจากรัฐ ทั้งหมดจึงต้องหามาตรการรองรับที่ต้องศึกษาทั้งระบบบริหารจัดการที่เอื้อต่อการซื้อขายไฟกันเองของเอกชน ค่าไฟฟ้าสำรองและค่าบริการสายส่งและจำหน่าย (วีลลิ่งชาร์จ) จะต้องดำเนินการหรือไม่อย่างไร เป็นต้น" แหล่งข่าวกล่าว

นายวีระพล จิรประดิษฐกุล คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กล่าวว่าขณะนี้ยอมรับว่า IPS มีมากกว่า 2,600 เมกะวัตต์ ทั้งในส่วนภาคประชาชนและโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ โดยเฉพาะการผลิตไฟจากโซลาร์รูฟท็อปซึ่งในขณะนี้ กกพ.ได้ทำโมเดลจำลองแผนเดินเครื่องพลังงานทดแทนและ IPS เพื่อเตรียมแผนการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าในอนาคตที่จะมีพลังงานทดแทนเข้าระบบเพิ่มขึ้นรวมทั้งจะมีระบบสมาร์ทกริด

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: