พาณิชย์นำร่องทำหมู่บ้านอินทรีย์ดันออร์แกนิกฟาร์มเอาท์เล็ท

กองบรรณาธิการ TCIJ 22 ม.ค. 2561 | อ่านแล้ว 2066 ครั้ง

พาณิชย์นำร่องทำหมู่บ้านอินทรีย์ดันออร์แกนิกฟาร์มเอาท์เล็ท

พาณิชย์ลุยเกษตรอินทรีย์เต็มรูปแบบ ขับเคลื่อนหมู่บ้านอินทรีย์ให้ได้ 12 แห่ง ดันออร์แกนิกฟาร์มเอาท์เล็ทให้ได้ 19 แห่งในปี 2561 ประเดิมหมู่บ้านอินทรีย์บ้านยางแดง สนามชัยเขต ฉะเชิงเทรา พร้อมบูมหมู่บ้านเกษตรอินทรีย์ 8 แห่ง เป็นจุดเช็คอินใหม่ หวังดึงคนเข้าไปเที่ยวเลือกซื้อสินค้าเกษตรอินทรีย์ ร่วมจัดกิจกรรม Ride to Success ปั่นเพื่อเปลี่ยนมุมมองใหม่วิถีเกษตรอินทรีย์ดีต่อกายและใจ ที่มาภาพประกอบ: kongpanphandon.go.th

สำนักข่าวไทย รายงานเมื่อวันที่ 21 ม.ค. 2561 ที่ผ่านมาว่านายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่าวันที่ 20-21 ม.ค. 2561 ที่ผ่านมา กรมฯ ได้นำคณะผู้บริหารพาณิชย์ ดารา นักแสดง สื่อมวลชน และประชาชนที่สนใจร่วมกิจกรรม Ride to Success ปั่นเพื่อเปลี่ยนมุมมองใหม่วิถีเกษตรอินทรีย์ดีต่อกายและใจ เพื่อส่งเสริมหมู่บ้านอินทรีย์บ้านยางแดง ซึ่งเป็นหนึ่งในหมู่บ้านอินทรีย์ที่กระทรวงพาณิชย์ให้การสนับสนุน ตั้งอยู่ ต.คู้ยายหมี อ. สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทราให้เป็นที่รู้จัก และดึงดูดให้คนเข้ามาท่องเที่ยว ถือเป็นการเริ่มต้นนโยบายการผลักดันให้หมู่บ้านอินทรีย์เป็นจุดเช็คอินแห่งใหม่ของคนไทยที่มีใจรักสุขภาพและรักษ์สิ่งแวดล้อม ซึ่งจะส่งผลดีให้เกษตรกร ชาวบ้านและชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้น และช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากให้ขยายตัวเพิ่มขึ้น และปีนี้ได้จัดทำแผนประชาสัมพันธ์ส่งเสริมผลักดันหมู่บ้านเกษตรอินทรีย์อื่น ๆ ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้นเน้นจัดแสดงและจำหน่ายสินค้าเกษตรอินทรีย์ชุมชน การจัดนิทรรศการและการเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านผลิตและการตลาดเกษตรอินทรีย์

นายบุณยฤทธิ์ กล่าวว่าหมู่บ้านอินทรีย์บ้านยางแดงเป็นการรวมตัวของกลุ่มเกษตรอินทรีย์กลุ่มต่าง ๆ ในจังหวัดฉะเชิงเทราและจังหวัดใกล้เคียง เพื่อให้ชุมนุนวางรากฐานกระบวนการพัฒนาชุมชนแบบมีส่วนร่วม เน้นการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนของเกษตรกรรายย่อยและสหกรณ์กรีนเนท จำกัด ซึ่งส่งเสริมให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนระบบการผลิตเป็นเกษตรอินทรีย์ยั่งยืนเพื่อสร้างความมั่นคงด้านอาหาร และรายได้ รวมถึงฟื้นฟูอนุรักษ์สภาพแวดล้อมและพันธุกรรมพืชท้องถิ่น และเป็นหมู่บ้านที่ได้รับการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ระดับประเทศ และระดับโลก ได้แก่ IFOAM, EU และ CANADA โดยหมู่บ้านอินทรีย์มีข้อกำหนดแต่ละหมู่บ้านต้องมีเกษตรกรไม่ต่ำกว่ารัอยละ 50 ของครัวเรือนทั้งหมด เกษตรกรต้องพร้อมใจกันเข้าสู่ระบบการทำเกษตรอินทรีย์เพื่อผลิตสินค้าในชุมชน และนำผลผลิตจำหน่ายทั้งภายใน และภายนอกชุมชนด้วย

ทั้งนี้ ที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์ได้ทำแผนผลักดันหมู่บ้านเกษตรอินทรีย์ 8 แห่ง โดยกระทรวงพาณิชย์เข้าไปส่งเสริมให้เป็นจุดเช็คอินแห่งใหม่ของนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติ และยังมีแผนผลักดันให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวให้คนเข้าไปเที่ยว ไปชม เลือกซื้อสินค้าเกษตรอินทรีย์ดูวิถีชีวิตชาวบ้าน ทำให้ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการจำหน่ายสินค้าที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยว ซึ่งเกษตรกรสามารถผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ออกมาจำหน่ายในท้องตลาดได้อย่างต่อเนื่อง โดยแต่ละหมู่บ้านมีสินค้าที่โดดเด่นแตกต่างกันและสินค้าที่ผลิตได้เป็นสินค้าที่มีคุณภาพและมาตรฐานระดับโลก ซึ่งหลายสินค้าของไทยได้รับการรับรองมาตรฐานจากมาตรฐานเกษตรอินทรีย์นานาชาติ (IFOAM) มาตรฐานของสหภาพยุโรป (อียู) แคนาดา มาตรฐานการรับรองแบบมีส่วนร่วม (PGS) และมาตรฐานออร์แกนิกไทยแลนด์ จึงเป็นสิ่งที่การันตีสินค้าไทยได้เป็นอย่างดี ดังนั้น กรมฯ ตั้งเป้าเพิ่มหมู่บ้านอินทรีย์ (Organic Village) อีก 4 แห่งภายในปี 2561 ทำให้มีหมู่บ้านอินทรีย์ทั้งสิ้น 12 แห่ง และหุบเขาอินทรีย์ 1 แห่ง (Organic Valley) รวมถึงขยายออร์แกนิก ฟาร์ม เอาเล็ท เพิ่มอีก 4 แห่งในปี 2561 จากปัจจุบันมีอยู่ 15 แห่ง ทำให้ปีนี้จะมีหมู่บ้านอินทรีย์ทั้งสิ้น 12 แห่ง หุบเขาอินทรีย์ 1 แห่ง และออร์แกนิก ฟาร์ม เอาเล็ท 19 แห่ง ซึ่งหมู่บ้านอินทรีย์อยู่ในแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติฉบับที่ 2 ที่ต้องการเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกเป็น 600,000 ไร่ภายในปี 2564 เพิ่มจากปัจจุบันที่มีอยู่ 200,000 ไร่ โดยจะลงพื้นที่ไปสำรวจให้ความรู้เกษตรกร และผลักดันให้มีการรวมตัว รวมกลุ่มให้มากขึ้น

ทั้งนี้ หมู่บ้านอินทรีย์ทั้ง 8 แห่งที่ประสบผลสำเร็จ ได้แก่ 1.หมู่บ้านริมสีม่วง ต.ริมสีม่วง อ.เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ มีสินค้าเด่น คือ มันหวานญี่ปุ่น มะนาว มะม่วง แมคคาเดเมีย สรตอเบอร์รี่ กล้วย พืชผักเมืองหนาว และกาแฟ 2.หมู่บ้านห้วยพลู อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม มีสินค้าเด่น คือ ข้าวหอมปทุม ข้าวไรซ์เบอร์รี่ ผักสวนครัว 3.หมู่บ้านโสกขุมปูน ต.นาโส่ อ.กุดชุม จ.ยโสธร มีสินค้าเด่น คือ ข้าวหอมมะลิ ข้าวเหนียว ข้าวไรซ์เบอร์รี่ ข้าวมะลิแดง ผักสวนครัว 4.หมู่บ้านทัพไทย ต.ทมอ อ.ปราสาท จ.สุรินทร์ มีสินค้าเด่น คือ ข้าวหอมมะลิอินทรีย์ ข้าวหอมมะลิแดง ข้าวหอมนิล 5.หมู่บ้านหนองสะโน ต.ดอนนางหงส์ อ.ธาตุพนม จ.นครพนม มีสินค้าเด่น คือ ข้าวหอมมะลิ ข้าวสารบรรจุถุง (ข้าวหอมมะลิและข้าวกล้องหอมมะลิ) 6.หมู่บ้านหนองหอย ต.กุดชุมแสง อ.หนองบัวแดง จ.ชัยภูมิ มีสินค้าเด่น คือ ข้าวหอมมะลิ ข้าวสารบรรจุถุง (ข้าวหอมมะลิ ข้าวเหนียวดำ ข้าวเหนียว กข.6) ใบหม่อน กล้วยน้ำว้า กล้วยหอมทอง ตะไคร้ ฟักทอง 7.หมู่บ้านท่าเดื่อน้อย ต.นิคมสร้างตนเอง อ.เมือง จ.ลพบุรี มีสินค้าเด่น คือ ข้าวไรซ์เบอร์รี่ ข้าวทับทิมชุมแพ ข้าวโพด งาดำ ถั่วขาว ผักสวนครัว ผลไม้ พืชสมุนไพร และ 8.หมู่บ้าน บางพะเนียง ต.คู้ยายหมี อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา มีสินค้าเด่น คือ ข้าวหอมมะลิ ข้าวไรซ์เบอรี่ ผลไม้ ผักสวนครัว พืชสมุนไพรเป็นต้น

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: