ส่องบรรษัท: ‘มูบาดาลา’ ผู้ได้รับสิทธิ์ร่วม ‘ปตท.สผ.’ สำรวจปิโตรเลียมแหล่งเอราวัณ

ทีมข่าว TCIJ: 21 ธ.ค. 2561 | อ่านแล้ว 7769 ครั้ง

‘เอ็มพี จี2 (ประเทศไทย) จำกัด’ บริษัทย่อยของ ‘มูบาดาลา ปิโตรเลียม (ประเทศไทย)’ ผู้ได้ลงทุนร่วมกับ ‘ปตท.สผ.’ ในการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ‘แหล่งเอราวัณ’ เป็นบริษัทในเครือ ‘Mubadala Investment Company’ บริษัทกองทุนเชิงกลยุทธ์ของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) ซึ่งมีรัฐบาลอาบูดาบีถือหุ้น 100% ผู้ลงทุนรายใหญ่ติด 1 ใน 5 ของโลกที่ดำเนินธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม สำหรับการจดทะเบียนตั้งบริษัทในประเทศไทย 100 ล้านบาท และ 50 ล้านบาท พบเป็นเงินลงทุนสัญชาติหมู่เกาะเวอร์จิน (อังกฤษ) 100% 

เมื่อวันที่ 13 ธ.ค. 2561 นายพงศธร ทวีสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP แจ้งว่า ตามที่กระทรวงพลังงานประกาศผลการประมูลยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทย ณ วันที่ 13 ธ.ค. 2561 นั้น บริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด บริษัทย่อยของ ปตท.สผ. ได้รับสิทธิในการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม และเป็นผู้ดำเนินการในแปลงสำรวจหมายเลข G1/61 (แหล่งเอราวัณ) และ G2/61 (แหล่งบงกช) โดยมีสัดส่วนการลงทุนร้อยละ 60 และร้อยละ 100 ตามลำดับ ทั้งนี้แปลงสำรวจหมายเลข G1/61 (แหล่งเอราวัณ) เป็นการลงทุนร่วมกับบริษัท เอ็มพี จี2 (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัท มูบาดาลา ปิโตรเลียม (ประเทศไทย) จำกัด [บริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ลงทุนร้อยละ 60 บริษัท บริษัท เอ็มพี จี2 (ประเทศไทย) จำกัด ลงทุนร้อยละ 40] โดยคาดว่าจะมีการลงนามในสัญญาแบ่งปันผลผลิตในไตรมาสแรกของปี 2562

สำหรับแผนการดำเนินงานและมูลค่าลงทุนในแหล่งเอราวัณและบงกช จะมีการลงทุนแทนขุดเจาะเพิ่ม วางแท่นผลิตเพิ่ม ในช่วง 5 ปีแรก (ปี 2566-2570) ในส่วนของบงกช เงินลงทุนอยู่ที่ 400-450 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี และเอราวัณ อยู่ที่ 600-650 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี หรือคิดเป็นในส่วนที่ ปตท.สผ.จะต้องลงทุนปีละ 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่ราคาขายก๊าซที่เสนอขายอยู่ที่ 116 บาทต่อล้านบีทียู เทียบราคาขายก๊าซตามสัญญาเดิมในแหล่งเอราวัณอยู่ที่ 165 บาทต่อล้านบีทียู และบงกช 214 บาทต่อล้านบีทียู แม้ว่ารายได้จากการขายก๊าซจะลดลง แต่เมื่อแหล่ง 2 แหล่งผนึกรวมกัน ทำให้บริหารต้นทุนได้ดียิ่งขึ้น เกิดการลดต้นทุน 20-25% เพราะการลงทุนในแหล่ง 2 แหล่ง การลงทุนแท่นใหญ่ๆ ได้ลงทุนไว้หมดแล้ว [1] [2]

อนึ่ง ในช่วงที่มีการยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทย แปลง G1/61 (แหล่งเอราวัณ) และ G2/61 (แหล่งบงกช) ยื่นข้อเสนอด้านเทคนิค และผลประโยชน์ตอบแทนรัฐ เมื่อเดือน ก.ย. 2561 นั้น มีผู้ที่ผ่านคุณสมบัติเบื้องต้น และมีสิทธิเข้าร่วมประมูลยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทย แปลง G1/61 (แหล่งเอราวัณ) จำนวน 5 บริษัท ได้แก่ 1. บริษัท Chevron Thailand Holdings Ltd. 2. บริษัท PTTEP Energy Development Company Limited 3. บริษัท MP G2 (Thailand) Limited (กลุ่มมูบาดาลาจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์) 4. บริษัท Total E&P Thailand (กลุ่มโททาลจากฝรั่งเศส) และ 5. บริษัท OMV Aktiengesellschaft จากประเทศออสเตรีย ส่วนแปลง G2/61 (แหล่งบงกช) มีผู้ประกอบการที่ผ่านคุณสมบัติเบื้องต้น และมีสิทธิเข้าร่วมประมูล จำนวน 4 บริษัท ได้แก่ 1. บริษัท Chevron Thailand Holdings Ltd. 2. บริษัท PTTEP Energy Development Company Limited 3. บริษัท MP L21 (Thailand) Limited และ 4. บริษัท OMV Aktiengesellschaft [3]

สำหรับ 'บริษัท มูบาดาลา ปิโตรเลียม (ประเทศไทย) จำกัด' เป็นบริษัทสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในเครือ ‘Mubadala Investment Company’ (MIC) ที่เป็นบริษัทกองทุนเชิงกลยุทธ์ของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) ซึ่งมีรัฐบาลอาบูดาบีถือหุ้น 100% ทั้งนี้กลุ่ม MIC ถือเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ติด 1 ใน 5 ของโลกที่ดำเนินธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ปัจจุบันบริษัท มูบาดาลา ปิโตรเลียม (ประเทศไทย) จำกัด มีกำลังผลิตปิโตรเลียมรวม 3 หมื่นบาร์เรล/วัน จาก 3 แหล่งในประเทศไทย คือ แหล่งมโนราห์ แหล่งนงเยาว์ และแหล่งจัสมิน โดยมูบาดาลาเข้ามาลงทุนในไทยตั้งแต่ปี 2547 ใช้เงินลงทุนรวมกว่า 5,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยเริ่มแรกเข้ามาซื้อกิจการทั้งหมดของ บริษัท Pearl Energy ที่เป็นสัญชาติอเมริกันตั้งอยู่ในประเทศสิงคโปร์ จึงได้สิทธิสัมปทานปิโตรเลียมในไทย อินโดนีเซีย เวียดนาม และมาเลเซีย โดยในประเทศไทยได้รับสัมปทานปิโตรเลียมโดยถูกต้องตามกฎหมายหลายแปลง รวมถึงแปลงที่ซื้อมาจากบริษัท Harrods Energy คือแปลง B5/27 ในอ่าวไทย ซึ่ง Pearl Energy เป็นผู้สำรวจพบจนสามารถพัฒนาแหล่งน้ำมันดิบขนาดเล็กชื่อว่าแหล่งจัสมินและบานเย็น [4] [5]

TCIJ ได้สืบค้นข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า (เข้าถึงข้อมูล ณ 18 ธ.ค. 2561) พบว่า บริษัท เอ็มพี จี2 (ประเทศไทย) จำกัด เลขทะเบียนนิติบุคคล 0105549034084 จดทะเบียนเมื่อวันที่ 13 มี.ค. 2549 ทุนจดทะเบียน 100,000,000 บาท เป็นเงินลงทุนจากต่างชาติคือหมู่เกาะเวอร์จิน (อังกฤษ) 100% ที่ตั้ง 1010 อาคารชินวัตร ทาวเวอร์ 3 ชั้น 29-31 ถนนวิภาวดีรังสิต แขวงจตุจักร เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร หมวดธุรกิจ (มาจากงบการเงินปีล่าสุด) 09100 กิจกรรมที่สนับสนุนการขุดเจาะน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติ กรรมการประกอบด้วย 1.นายราเช็ด อับดุล นาบิ กูลัม ราโซว อัลบลูชิ 2.นายดิเอโก้ โฮเซ เฟลิกซ์ เอสตูปิเนียน 3.นายนาเซอร์ อาลี นาเซอร์ อาลี อัลฮาจรี 4.นายมาสรู จิลานี/ ในปี 2560 บริษัทฯ มีสินทรัพย์รวม 593,287,487 บาท แต่ไม่ปรากฏงบกำไรขาดทุน

ส่วนบริษัท มูบาดาลา ปิโตรเลียม (ประเทศไทย) จำกัด เลขทะเบียนนิติบุคคล 0105554146651 จดทะเบียนเมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2554 ทุนจดทะเบียน 50,000,000 บาท เป็นเงินลงทุนจากต่างชาติคือหมู่เกาะเวอร์จิน (อังกฤษ) 100% ที่ตั้ง 1010 อาคารชินวัตร ทาวเวอร์ 3 ชั้น 29-31 ถนนวิภาวดีรังสิต แขวงจตุจักร เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร หมวดธุรกิจ (มาจากงบการเงินปีล่าสุด) 82110 กิจกรรมบริการเพื่อการบริหารสำนักงานแบบเบ็ดเสร็จ วัตถุประสงค์ (มาจากงบการเงินปีล่าสุด) ประกอบกิจการให้บริการด้านการบริหารหรือด้านเทคนิค และให้คำปรึกษาแนะนำในการประกอบธุรกิจ การสำรวจ การพัฒนา การผลิต และการจำหน่ายปิโตรเลี่ยม กรรมการประกอบด้วย 1. นายราเช็ด อับดุล นาบิ กูลัม ราโซว อัลบลูชิ 2.นายดิเอโก้ โฮเซ เฟลิกซ์ เอสตูปิเนียน 3.นายวิทวัส ม่วงกูล 4.นายนาเซอร์ อาลี นาเซอร์ อาลี อัลฮาจรี 5.นายมาสรู จิลานี/ ในปี 2560 บริษัทฯ มีสินทรัพย์รวม 701,175,649 บาท มีรายได้รวม 1,842,090,809 บาท กำไรสุทธิ 5,467,561 บาท

 

ข้อมูลอ้างอิง
[1] ปตท.สผ.รับสิทธิสำรวจปิโตรเลียมในอ่าวไทย 2 แปลง (ผู้จัดการออนไลน์, 13/12/2561)
[2] PTTEP มั่นใจบริหารจัดการต้นทุนการผลิตลดต่ำลง 20-25%หลังชนะประมูลแหล่งบงกช-เอราวัณ แม้รายได้จากการขายลดลง (สำนักข่าวอินโฟเควสท์, 13/12/2561)
[3] PTTEP เต็งจ๋าคว้าบงกช 5 ยักษ์เสนอเทคนิคพรุ่งนี้ (ข่าวหุ้น, 24/9/2561)

[4] มูบาดาลาฯ ลั่นประมูลแหล่งบงกช-เอราวัณ (ผู้จัดการออนไลน์, 16/2/2561)
[5] วัดกำลัง 3 ตัวเต็งชิงเอราวัณ-บงกช! (คมชัดลึก, 23/4/2561)



 

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: