หญิงไทยท้องวัยเรียนสูงอันดับ​ 2​ อาเซียน​ พบส่วนมากถูกบีบออกจากโรงเรียน

จิรภิญญา สมเทพ TCIJ School รุ่นที่ 5 / นักศึกษาคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยศิลปากร: 21 ก.ย. 2561 | อ่านแล้ว 32878 ครั้ง

อนามัยโลกเผยสถิติหญิงไทยอายุต่ำกว่า 20 ปีตั้งครรภ์สูงเป็นอันดับ 2 ของอาเซียน หน่วยงานไทยผุดนโยบายลดจำนวนเด็กท้อง แม่วัยรุ่นจำนวนมากถูกบีบให้ออกจากโรงเรียน นักเรียน และครูไม่ทราบว่ามีกฎหมายคุ้มครองให้ได้เรียนต่อ มูลนิธิ path2health ชี้ การให้ความช่วยเหลือจากโรงเรียนไม่เพิ่มปัญหาพฤติกรรมท้องเลียนแบบ เด็กท้องควรได้รับโอกาสและการช่วยเหลือจากรัฐและสังคม ที่มาภาพประกอบ: Bay Hypnobirthing

ท้องไม่พร้อมในวัยรุ่นไทย

องค์การอนามัยโลกให้ข้อมูลสถานการณ์การตั้งครรภ์ในไทย ปีพ.ศ. 2556 พบว่าหญิงไทยอายุต่ำกว่า 20 ปีตั้งครรภ์สูงเป็นอันดับ 2 ของอาเซียน รองจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว โดยมีอัตราการวัยรุ่นอายุ 10 -19 ปีที่ตั้งครรภ์อยู่ที่ 74 คน ต่อวัยรุ่น 1,000 คน

ขณะที่กรมอนามัยระบุอัตราส่วนเด็กท้องที่สำรวจล่าสุดในปี พ.ศ. 2559 ว่าลดลงเหลือ 42.5 คน ต่อวัยรุ่น 1,000 คน คิดเป็นร้อยละ 14.2 เทียบกับปี พ.ศ. 2556 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 16.8 จะเห็นได้ว่าในช่วง 3 ปีให้หลังของของการสำรวจ จำนวนเด็กท้องในไทยลดลงแต่ก็ยังอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับนานาประเทศ

ทั้งนี้เกิดจากหน่วยงานต่าง ๆ ในไทยมีความพยายามที่จะผลักดันนโยบายเพื่อลดจำนวนการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นโดยก่อร่างเป็นแผนปฏิบัติการยุทธศาสตร์การป้องกัน และแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นระดับชาติ พ.ศ. 2560 – 2569 ซึ่งทำงานภายใต้การนำของพ.ร.บ.การป้องกัน และแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. 2559 แต่อย่างไรก็ตามจากการสำรวจพบว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้กลับแทบไม่สามารถบังคับใช้ได้จริงในระดับโรงเรียน เห็นได้จากการเชิญแม่วัยรุ่นออกจากสถานศึกษาซึ่งพบได้บ่อยครั้งจนดูราวเป็นเรื่องปกติ

ทุกข์ของแม่วัยใส  

พิมพ์ชนก น้อยต่วน หรือฟ้า หนึ่งในแม่วัยรุ่นกล่าวเปิดใจว่าตนเป็นอีกคนที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อมและถูกบีบให้ออกจากระบบการศึกษา โดยขณะนั้นตนเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดพิจิตร แรกที่รู้ว่าท้องกังวลมากและไม่กล้าปรึกษาใคร แต่ก็ตัดสินใจขอคำปรึกษาจากครูประจำชั้น ซึ่งเป็นครูสอนสุขศึกษาด้วย

“เขาไม่ได้บอกว่าเรียนต่อได้ เขาบอกให้ไปลาออก”

ฟ้ากล่าวว่า ตนไม่ทราบว่าขณะนั้นมี พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กท้อง เพียงแต่เคยดูวิดีโอที่บอกว่าถ้าท้องครูไม่มีสิทธิ์ไล่ออก หากไม่รู้ถึงที่มาว่าเป็นความจริงหรือไม่ อีกทั้งไม่มีอำนาจในการต่อรองกับครูและผู้อำนวยการโรงเรียน จึงจำต้องลาออก และสมัครเรียนการศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) แทน

เมื่อถามถึงโอกาสทางการศึกษา ฟ้ากล่าวด้วยน้ำเสียงเสียดาย ว่าหากขณะนั้นได้เรียนต่อในสถานศึกษาเดิมคงมีอนาคตที่ดีขึ้น เพราะตนก็เป็นเด็กที่เรียนพอใช้ และเป็นเด็กกิจกรรม คงมีโอกาสได้ศึกษาต่อระดับมหาวิทยาลัย และมีความรู้ในการเลี้ยงตนเองและลูกมากกว่าที่เป็นอยู่

ในขณะที่ แอน แม่วัยรุ่นที่ท้องขณะเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนในจังหวัดตาก กล่าวว่าปัญหาที่ตนได้รับมาจากครอบครัวที่ไม่เข้าใจ แอนเคยรับประทานยาขับเลือดเพื่อให้แท้งหลายครั้งแต่ไม่สำเร็จ จนท้ายที่สุดก็ต้องหลุดจากระบบการศึกษา

“พ่อถีบและตบหน้า ตอนนั้นก็เสียใจนะ ร้องไห้ทุกวัน คิดว่าเราไม่น่าเกิดมาเป็นคนเลย ไม่อยากให้พ่อกับแม่อายเพราะเรา”

ปัญหาของกฎหมายที่ไม่ถูกพูดถึง

จากการสอบถามข้าราชการครูในโรงเรียนต่าง ๆ ในภาคเหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางจำนวน 30 คน พบว่ามี 24 คน ไม่ทราบถึงการมีอยู่ของพ.ร.บ.ดังกล่าว โดยเกือบทั้งหมดกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่าหากมีเด็กท้องในโรงเรียน สิ่งที่ตนต้องทำคือให้กำลังใจและความช่วยเหลือ แต่ในท้ายที่สุดเด็กก็ต้องออกจากโรงเรียน

“ไม่ทราบจริง ๆ ว่ามี ก็ทำแบบนี้มาแต่ไหนแต่ไร เด็กท้องเราก็ให้กำลังใจ แต่ถามว่าเรียนได้ไหมก็ต้องออกไปก่อน ให้คลอดก่อนค่อยว่ากัน” ข้าราชการครูบรรจุ โรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดอุบลราชธานี กล่าว

ทั้งนี้ครูกว่าครึ่งในจำนวนนี้ที่สนับสนุนการมีอยู่ของพ.ร.บ. และเห็นด้วยว่าเด็กควรได้เรียนต่อยังสถานศึกษาเดิม

ส่วนอีก 6 คน กล่าวว่ารู้อยู่ก่อนแล้ว และพร้อมให้ความช่วยเหลือเด็กหากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น

“วัยรุ่นคงอยู่ในภาวะวิตกกังวลและเครียด ครูต้องให้ความเชื่อมั่นในการเป็นที่ปรึกษาให้เค้าอุ่นใจ ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการดูแลร่างกาย และอธิบายถึงเนื้อหาพ.ร.บ.ให้เขาทราบ” ข้าราชการครูบรรจุ โรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดมุกดาหาร กล่าว ก่อนเสริมว่าปัจจุบันโรงเรียนของตนยังไม่เคยมีแม่วัยใส จึงไม่ทราบถึงกระบวนการในส่วนของผู้บริหารสถานศึกษา ว่าในบทสรุปแล้วจะดำเนินการอย่างไร

ในส่วนของหน่วยงานราชการ ดร.ปิยะรัตน์ เอี่ยมคง นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ สำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ กล่าวถึงการดำเนินงานให้บรรลุตามเป้าประสงค์ยุทธศาสตร์ชาติว่าปัจจุบันยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น

“ปีนี้เราทำแบบสอบถามเกี่ยวกับการรับรู้สิทธิตามพ.ร.บ. เพื่อติดตามประเมินผล ภาคละ 1 จังหวัด เมื่อได้รับผลออกมาทางกรมอนามัยมีหน้าที่จัดทำรายงานเสนอต่อ ครม เพื่อนำเข้าสู่ที่ประชุมของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ แล้วปรับแก้ เพราะที่จริงปัญหาอาจไม่ได้มีแค่การรับรู้ ก็ต้องมาคุยกันว่าจะแก้ปัญหาแต่ละเรื่องอย่างไร ใครเป็นคงลงมือกับส่วนไหน” ดร.ปิยะรัตน์ กล่าว

ความเข้าใจที่ซ้ำเติมเด็ก

หลังการประกาศใช้พ.ร.บ.แม่วัยรุ่น ได้เกิดกระแสตีกลับในช่องทางต่าง ๆ ที่มีการนำเสนอ โดยมากมีเนื้อหาเชิงลบ อาทิ การกล่าวว่ากฎหมายฉบับนี้จะทำให้เกิดพฤติกรรมท้องเลียนแบบในหมู่วัยรุ่น บ้างก็กล่าวว่าพ.ร.บ.ฉบับนี้จะทำให้ความยับยั้งช่างใจของเด็กลดลง วลี “อีกหน่อยก็มีแต่คนท้องเต็มโรงเรียน” ถูกหยิบมาใช้เพื่อซ้ำเติมเด็กอยู่เนือง ๆ       พรพรรณ ทองทนงศักดิ์ เจ้าหน้าที่โครงการเลิฟแคร์ มูลนิธิแพธทูเฮลท์ กล่าวถึงกรณีนี้ว่า ต้องเข้าใจว่าการท้องไม่ใช่เรื่องสนุกสำหรับเด็ก ถ้าเลือกได้ก็ไม่มีใครอยากท้อง เทียบได้กับอาการหวัด ถ้าเลือกได้ใครก็คงไม่มีใครอยากเป็น เมื่อเป็นแล้วก็ควรได้รับการเยียวยารักษาไม่ใช่ซ้ำเติม

“การที่เราพูดแบบนี้แปลว่าเราไม่เชื่อในการตัดสินใจของเด็กหรือเปล่า เราไม่เชื่อหรือเปล่าว่าเด็กคิดเองได้” พรพรรณกล่าวทิ้งท้าย

หนทางทวงสิทธิ์ในการศึกษา

นอกจากแม่วัยใสที่ต้องออกจากสถานศึกษาเพราะความไม่รู้แล้ว ยังมีแม่วัยใสอีกไม่น้อยที่ยังต้องพ้นจากระบบการศึกษาทั้งที่รู้อยู่เต็มอกว่าตนมีสิทธิตามกฎหมาย เพราะถูกกดดันจากสถานศึกษาให้ลงชื่อลาออก

ตามกรณีข้างต้นเด็กสามารถร้องเรียนไปยัง ศูนย์เฉพาะกิจคุ้มครองและช่วยเหลือนักเรียน สพฐ. ได้ โดยโรงเรียนที่ไม่เคารพสิทธิในการศึกษาต่อมีความผิดตามมารตราที่ 21 และต้องแก้ไขให้เป็นไปตามที่พ.ร.บ.กำหนด

 

 

พระราชบัญญัติ การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ.  2559

มาตรา 5 วัยรุ่นมีสิทธิตัดสินใจด้วยตนเอง  และมีสิทธิได้รับข้อมูลข่าวสารและความรู้  ได้รับการบริการอนามัยการเจริญพันธุ์  ได้รับการรักษาความลับและความเป็นส่วนตัว  ได้รับการจัด สวัสดิการสังคม  อย่างเสมอภาคและไม่ถูกเลือกปฏิบัติ  และได้รับสิทธิอื่นใดที่เป็นไปเพื่อประโยชน์ ตามพระราชบัญญัตินี้อย่างถูกต้อง  ครบถ้วน  และเพียงพอ

มาตรา 21 ในกรณีที่ปรากฏว่าสถานศึกษา  สถานบริการ  สถานประกอบกิจการ  หรือ หน่วยงานของรัฐไม่ดําเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นตามที่กําหนดในพระราชบัญญัตินี้  ให้คณะกรรมการแจ้งต่อรัฐมนตรีผู้รักษาการตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น  เพื่อให้มีการดําเนินการ ตามพระราชบัญญัตินี้

 

อ้างอิง

พระราชบัญญัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. 2559

 สถานการณ์อนามัยการเจริญพันธุ์ในวัยรุ่นและเยาวชนปี 2560

https://www.ictsilpakorn.com/ictmedia/detail.php?news_id=296#.WyN5OKczbIU

http://www.spcweb.obec.go.th/

 

           

 

 

 

 

 

           

           

 

 

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: