‘พาคนกลับบ้าน’ ลดช่องว่าง-สร้างความเข้าใจ ได้จริงหรือ?

พระวีระพจน์ ชาครธมฺโม (ผลจันทร์) TCIJ School รุ่นที่ 5 20 ก.ค. 2561 | อ่านแล้ว 7445 ครั้ง

โครงการ’พาคนกลับบ้าน’ เป็นหนึ่งในปฏิบัติการด้านการอำนวยความยุติธรรมและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ โดยกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า) ริเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 11 ก.ย. 2555 เพื่อเปิดช่องทางให้ผู้เห็นต่างจากรัฐที่ต้องการยุติการใช้ความรุนแรง ผู้หลบหนีออกนอกพื้นที่ ให้กลับมาต่อสู้ในแนวทางสันติ ด้วยการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมตามกฎหมายและปรับเปลี่ยนทัศนคติ ความคิด ความเชื่อ ที่มาภาพประกอบ: ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้

หลายรัฐบาล หลากหน่วยงาน มากโครงการ

ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ อาจเกิดขึ้นจากเหตุปัจจัยด้านศาสนา วัฒนธรรม ชาติพันธุ์ และประวัติศาสตร์อันเป็นอัตลักษณ์เฉพาะของพื้นที่ อย่างที่นักวิชาการวิเคราะห์ไว้จริงหรือไม่ก็ตาม แต่เวลาที่ผ่านมาเกือบ 14 ปี หากนับจุดเริ่มต้นจากจากเหตุการณ์ปล้นปืนในปี 2547 บัดนี้ เราเริ่มเรียนรู้แล้วว่าความรุนแรงที่เป็นผลมาจากเงื่อนไขซับซ้อนของจังหวัดชายแดนใต้ มีความเชื่อมโยงกันทั้งปัญหาระดับบุคคล ซึ่งเกิดจากกลุ่มที่มีอุดมการณ์แตกต่างจากรัฐ, การสร้างเงื่อนไขของเจ้าหน้าที่รัฐบางคน, ภัยแทรกซ้อน และการใช้ความรุนแรงอันมีเหตุจากความแค้นและความเกลียดชัง ผนวกกับปัญหาระดับโครงสร้าง คือ โครงสร้างการปกครองและการบริหารราชการที่ถึงแม้จะมีการกระจายอำนาจแล้วก็ตาม แต่ประชาชนบางส่วนยังมีความรู้สึกว่าไม่สามารถสนองตอบกับความต้องการ ไม่ได้รับความเป็นธรรม ถูกเลือกปฏิบัติ และขาดอำนาจในการบริหารจัดการท้องถิ่นของตนเองอย่างแท้จริง รวมไปถึงปัญหาเชิงวัฒนธรรมที่ทำให้ประชาชนไทยมลายูในพื้นที่บางส่วนรู้สึกแตกแยก ไม่เป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทยและเห็นว่าการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐบางคนยังขาดความรู้ ความเข้าใจ หวาดระแวง มีอคติ ไม่สอดคล้องกับวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของคนในพื้นที่ ทั้งหมดนี้ทำให้คนในพื้นที่บางส่วนยอมรับหรือเห็นด้วยกับฝ่ายที่ใช้ความรุนแรงและเป็นเงื่อนไขสำคัญที่กลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐหยิบยกมาใช้เป็นข้ออ้างเพื่อสร้างความชอบธรรมในการใช้ความรุนแรงเรื่อยมา

ที่ผ่านมารัฐบาลหลายรัฐบาลได้จัดตั้งหน่วยงาน ส่งตำรวจ ทหาร และเจ้าหน้าที่จากส่วนกลางลงไปทำงาน ในพื้นที่ รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็แก้ปัญหาในลักษณะเดียวกัน แตกต่างตรงที่มีการแต่งตั้งบุคคลทั้งหมดเองในนาม ‘ผู้แทนพิเศษของรัฐบาล’ หน่วยงานเหล่านี้ถูกแต่งตั้งขึ้นแล้วยุบแล้วแต่งตั้งใหม่ในชื่อที่แตกต่างกันไป อาทิ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.), คณะกรรมการนโยบายเฉพาะกิจแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้, กองอำนวยการเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้, ศูนย์ปฏิบัติการคดีพิเศษจังหวัดชายแดนภาคใต้, คณะกรรมการบริหารจัดการในพื้นที่ตามนโยบายและยุทธศาสตร์เสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้, กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.), ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ กองร้อยบังคับการและบริการส่วนหน้าจังหวัดชายแดนภาคใต้ และคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นต้น

นอกจากนี้ยังได้กำหนดนโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. 2560 -2562 ให้มีแนวนโยบายดำเนินงานเพื่อรองรับวัตถุประสงค์ 6 ประการ คือ 1) เพื่อให้จังหวัดชายแดนภาคใต้มีความปลอดภัย สงบสันติ ปราศจากเงื่อนไขที่เอื้อต่อการใช้ความรุนแรงจากทุกฝ่าย 2 ) เพื่อพัฒนาการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายในพื้นที่ ในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ 3) เพื่อให้สังคมไทยและสังคมในพื้นที่ ยอมรับและเห็นคุณค่าของการอยู่ร่วมกันภายใต้สังคมพหุวัฒนธรรมและร่วมกันแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ 4) เพื่อพัฒนาศักยภาพของคน สังคม และเศรษฐกิจให้สอดคล้องกับความหลากหลายทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น มีความเสมอภาคและเป็นธรรมในสังคม 5) การสร้างความเชื่อมั่น และหลักประกันความต่อเนื่องของกระบวนการพูดคุย เพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งเป็นวาระแห่งชาติ และเตรียมความพร้อมในการเข้ามามีส่วนร่วมของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องและ 6) เพื่อสร้างความเข้าใจ เกี่ยวกับสถานการณ์ความเป็นจริงที่เกิดขึ้นต่อสังคมทั้งในประเทศและต่างประเทศ ให้เกิดการสนับสนุนและมีบทบาทเกื้อกูลการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ และภายใต้แนวนโยบายดังกล่าวข้างต้น รัฐบาลจึงได้จัดทำโครงการสำคัญ ( Flagship Project ) ในการแก้ปัญหาและพัฒนาชายแดนใต้ ตามแนวทางสันติวิธีที่ชื่อว่า ‘โครงการพาคนกลับบ้าน’

พาคนกลับบ้าน ‘ลดช่องว่าง สร้างความเข้าใจ’ ?

โครงการพาคนกลับบ้าน เป็นปฏิบัติการด้านการอำนวยความยุติธรรมและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ โดย กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า) ได้ริเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 11 ก.ย. 2555 เพื่อเปิดช่องทางให้ผู้ที่เห็นต่างจากรัฐที่ต้องการยุติการใช้ความรุนแรง ผู้หวาดระแวงหลบหนีออกนอกพื้นที่ หรือออกนอกประเทศ มาต่อสู้ในแนวทางสันติด้วยการช่วยอำนวยความสะดวกในการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมตามกฎหมายและปรับเปลี่ยนทัศนคติ ความคิด ความเชื่อ ซึ่งจากสถิติจำนวนผู้เห็นต่างที่เข้าร่วมโครงการพาคนกลับบ้าน นับแต่เริ่มโครงการเมื่อวันที่ 11 ก.ย. 2555 ถึงวันที่ 5 ก.พ. 2560 มีทั้งหมด 4,432 คน โดยแยกออกเป็นความผิดตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ) ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิ อาญา) และผู้หวาดระแวง ซึ่งปัจจุบันมีผู้ออกมารายงานตัวแสดงตนเข้าโครงการรวม 4,535 คน (2 ต.ค. 2560) ส่งคืนกลับสู่สังคม (set zero) จำนวน 4,403 คน อยู่ระหว่างดำเนินกรรมวิธี 132 คน นอกจากนี้ ยังมีการจัดกิจกรรมสร้างความไว้วางใจภายใต้แนวคิด ‘ลดช่องว่าง สร้างความเข้าใจ’ โดยนำ ‘ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย’ (ผู้เคยเข้าร่วม กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย-พคท.) ไปให้ความรู้เล่าประสบการณ์เทียบเคียงกับโครงการพาคนกลับบ้านอีกด้วย

สาระสำคัญบางส่วนของโครงการฯ

ในส่วนผู้เห็นต่างที่ยังไม่ออกมารายงานตัว กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้าได้ดำเนินการ 2 เรื่อง คือ 1.ขับเคลื่อนโครงการพาคนกลับบ้านทางเปิด โดยการสร้างความเข้าใจกับเจ้าหน้าที่รัฐ ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำศาสนา เพื่อให้เข้าใจนโยบาย เปลี่ยนแนวคิดการต่อสู้ด้วยวิธีรุนแรงหรือใช้อาวุธ มาเป็นการต่อสู้ด้วยแนวทางสันติ ภายใต้สโลแกน “อดีตไม่สำคัญ ปัจจุบันฉันรักเธอ อนาคตเรารักกัน” และสามารถอยู่ร่วมกันได้ในสังคมแบบพหุวัฒนธรรม และ 2.การขับเคลื่อนโครงการพาคนกลับบ้านทางปิด มุ่งกระทำต่อเป้าหมายที่มีหมายจับตาม ป.วิอาญา ในคดีความมั่นคงที่ยังเคลื่อนไหวก่อเหตุ หรือยุติการก่อเหตุแล้ว แต่ไม่มีช่องทางออกมารายงานตัว โดยจะแต่งตั้งคณะทำงานทางลับ เพื่อพูดคุยทางลับกับเป้าหมายหรือบุคคลที่เป้าหมายให้ความเชื่อถือและไว้วางใจเพื่อสร้างความเข้าใจ และอำนวยความสะดวกให้ออกมารายงานตัว และต่อสู้ตามกฎหมายตามมาตรา 21 ของพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 (พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงฯ)

โดย มาตรา 21 ของ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงฯ นี้กำหนดว่าภายในเขตพื้นที่ที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้ กอ.รมน. ดำเนินการตามมาตรา 15 หากปรากฏว่าผู้ใดต้องหาว่าได้กระทำความผิด อันมีผลกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักรตามที่คณะรัฐมนตรีกำหนด แต่กลับใจเข้ามอบตัว กับเจ้าหน้าที่หรือเป็นกรณีที่พนักงานสอบสวนได้ดำเนินการสอบสวนแล้ว ปรากฏว่าผู้นั้นได้กระทำไปเพราะหลงผิดหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ และการเปิดโอกาสให้ผู้นั้นกลับตัว จะเป็นประโยชน์ต่อการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ให้พนักงานสอบสวนส่งสำนวนการสอบสวนของผู้ต้องหานั้น พร้อมทั้งความเห็นของพนักงานสอบสวนไปให้ผู้อำนวยการ หากผู้อำนวยการเห็นด้วยกับความเห็นของพนักงานสอบสวน ให้ส่งสำนวนพร้อมความเห็นของผู้อำนวยการให้พนักงานอัยการเพื่อยื่นคำร้องต่อศาล หากเห็นสมควรศาลอาจสั่งให้ส่งผู้ต้องหานั้นให้ผู้อำนวยการเพื่อเข้ารับการอบรม ณ สถานที่ที่กำหนดเป็นเวลาไม่เกินหกเดือน และปฏิบัติตามเงื่อนไขอื่นที่ศาลกำหนดด้วยก็ได้ ทั้งนี้ ศาลสั่งได้ต่อเมื่อผู้ต้องหานั้นยินยอมเข้ารับการอบรมและปฏิบัติตามเงื่อนไข และเมื่อผู้ต้องหาได้เข้ารับการอบรมและปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ศาลกำหนดแล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องผู้ต้องหานั้นเป็นอันระงับไป และตามมาตรา 21 ของพระราชบัญญัติองค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ. 2553 ที่กำหนดว่าพนักงานอัยการมีอิสระในการพิจารณาสั่งคดีและการปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไป ตามรัฐธรรมนูญและตามกฎหมายโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ถ้าพนักงานอัยการเห็นว่าการฟ้องคดีอาญา จะไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณชน หรือจะมีผลกระทบต่อความปลอดภัยหรือความมั่นคงของชาติ หรือต่อผลประโยชน์อันสำคัญของประเทศ ให้เสนอต่ออัยการสูงสุด และอัยการสูงสุดมีอำนาจสั่งไม่ฟ้องได้ ทั้งนี้ ตามระเบียบที่สำนักงานอัยการสูงสุดกำหนด โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการอัยการ (ก.อ.) นอกจากนี้ผู้เข้าร่วมโครงการฯ จะได้รับการพิจารณาคัดเลือกเพื่อมาช่วยเหลืองานของรัฐโดยเฉพาะงานด้านความมั่นคง เช่น การประชาสัมพันธ์รณรงค์ให้บุคคลมาเข้าร่วมโครงการฯ ช่วยเหลือเป็นล่ามแปลเอกสาร เป็นวิทยากรบรรยายให้ความรู้ตามหลักศาสนาอิสลามที่ถูกต้อง ให้ข้อมูลข่าวสารทั้งเชิงกว้างและเชิงลึกกับหน่วยงานในพื้นที่ และเป็นกำลังภาคประชาชนเพื่อสนับสนุนงานควบคุมพื้นที่ไม่ให้เกิดเหตุในเมืองเศรษฐกิจ เช่น อาสาสมัครรักษาหมู่บ้าน (อรบ.) ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) ชุดคุ้มครองตำบล (ชคต.) รวมทั้งขับเคลื่อนงานสร้างความเข้าใจตามนโยบายประชารัฐสร้างอำเภอสันติสุข

 

ภายใต้นโยบายชวนเชื่อที่ภาครัฐใช้คำว่า ‘ผู้หลงผิด’ ให้เข้ามามอบตัวและร่วมพัฒนาชาติไทย ดูเหมือนว่ารัฐเองก็มองว่าโครงการดังกล่าวประสบความสำเร็จ แต่หากมาวิเคราะห์ดูกระบวนการภายใต้มายาคติ ที่ผู้เห็นต่างจากรัฐคือผู้หลงผิด รัฐจึงต้องทำให้เขาคิดเหมือนรัฐแล้วเขาจะกลายเป็นคนดี สมควรให้เขากลับ คืนมาสู่สังคมแห่งคนดี ก็นับว่าเป็นการตีตราให้ทุกคนที่เข้าร่วม มีมลทินและมีสถานะความเป็นมนุษย์ที่ต่ำต้อยด้อยค่ากว่าคนอื่นๆ ในสังคมไปแล้ว จึงเป็นคำถามที่น่าสนใจว่า โครงการพาคนกลับบ้าน ‘ลดช่องว่าง สร้างความเข้าใจ’ ได้จริงหรือ?

รอมฎอน ปันจอร์ บรรณาธิการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch) ได้ให้สัมภาษณ์ผู้เขียน แสดงทัศนะว่า “รัฐพยายามจะใช้นโยบายการเมืองนำการทหาร โดยใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ภายใต้ มาตรา 21 เพราะมีความเชื่อว่าจะสามารถลดกำลังรบของฝ่ายศรัตรูคู่ตรงข้าม (BRN) ได้ เพราะเมื่อเขาวางปืนและกลับคืนสู่สังคมจำนวนสมาชิก (BRN) ก็จะลดลง รัฐยังพยายามจะบอกว่าโครงการนี้ทำให้คนกลับใจได้จริง โดยพยายามจัดให้มีกิจกรรมจัดฉาก ว่าผู้ได้รับผลกระทบหรือผู้สูญเสียสามารถพูดคุยและให้อภัยกับผู้ที่กระทำผิดได้จริง ซึ่งมีแค่สองกรณีจากทั้งหมด อย่างไรก็ตามถึงแม้โครงการจะมีข้อดี ในแง่ช่วยเหลือให้ผู้ที่กำลังต่อสู้ในคดีความมั่นคงมาอย่างยาวนาน ซึ่งบางส่วนต้องอยู่ในคุกนานหลายปี ได้มีทางเลือกหรือทางออกให้กับชีวิตของตัวเอง ให้กลับออกมาสามารถดำรงชีวิตได้ แต่โครงการนี้ยังสวนทางกับกระบวนสร้างสันติภาพของภาครัฐ ที่ให้ความสำคัญกับการสานเสวนา พูดคุย สร้างความเข้าใจ เพื่อหามาตรการและข้อตกลงร่วมกัน ซึ่งกระบวนนี้จะทำให้เห็นถึงศักดิ์ศรีและความเท่าเทียมของคู่เจรจาว่า เขาไม่ได้เป็นคนที่หลงผิด ที่คิดต่างกับภาครัฐ แต่ในทางกลับกัน กระบวนการพาคนกลับบ้าน เป็นกระบวนการเชิงอำนาจ ที่พยายามแสดงออกถึงความเมตตา กรุณา และพร้อมที่จะให้อภัยผู้กระทำผิดต่อรัฐ ซึ่งนั่น หมายความว่าบุคคลที่มาเข้าร่วมในโครงการต้องยอมรับโดยปริยายว่า ความคิดเห็นที่แตกต่างของตัวเอง เป็นการหลงผิด เป็นผู้กระทำผิด ที่สังคมตีตรา”

เมื่อคนในพื้นที่ ‘ไม่เอา’ โครงการพาคนกลับบ้าน

เมื่อวันที่ 10 ก.ค. 2561 แม่ทัพภาคที่ 4 หารือชาวบ้านที่นราธิวาส ประกาศมติที่ประชุม ยกเลิกการโครงการหมู่บ้านพาคนกลับบ้านที่ ต.สุคีริน อ.สุคีริน จ.นราธิวาส ทำให้สร้างความพึงพอใจแก่ประชาชน หลังจากประชาชนในพื้นที่ออกมาคัดค้าน ที่มาภาพ: ไทยรัฐออนไลน์

หากมาวิเคราะห์กระบวนการของโครงการพาคนกลับบ้าน ก็แทบจะลอกแนวทางมาจากโครงการ ‘ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย[อ่านเพิ่มเติมใน..จับตา: โมเดล ‘ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย’ กับ ‘พาคนกลับบ้าน’ เหมือนหรือต่างอย่างไร?] ที่เคยเปิดป่าต้อนรับคนที่ถูกมองว่าเป็นคอมมิวนิสต์ในอดีตให้กลับคืนสู่เมือง และอยู่ร่วมกันได้ภายใต้ธงชาติไทยผืนเดียวกัน อย่างไรก็ตามถึงแม้ทั้งสองโครงการเป็นโครงการที่พยายามจะแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางอุดมการณ์ที่เกิดขึ้นภายในรัฐชาติคล้ายๆ กัน แต่ก็มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ นั่นคือ สถานการณ์ความขัดแย้งที่มีความต่างกันโดยสิ้นเชิง โครงการผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยเกิดขึ้นตอนที่ความขัดแย้งระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยและรัฐบาลเริ่มจะคลี่คลาย เนื่องด้วยอีกด้านหนึ่งพรรคคอมมิวนิสต์ก็ล่มสลาย ความเคารพศรัทธาต่อพรรคคอมมิวนิสต์กลายเป็นความงมงาย ไม่ใช่ประชาธิปไตย ทำให้แนวร่วมโดยเฉพาะนักศึกษาหลั่งไหลออกจากป่า ซึ่งทำให้สงครามกลางเมืองระหว่างรัฐบาลกับพรรคคอมมิวนิสต์เป็นอันยุติลง คือสถานการณ์ความขัดแย้งพร้อมที่จะยุติลงอยู่แล้ว เนื่องด้วยมีปัจจัยภายในของอีกฝ่าย ที่อุดมการณ์ร่วมเริ่มแตกสลาย แต่หากมองย้อนกลับมาดูสถานการณ์ความขัดแย้งในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ กลับพบว่าความขัดแย้งดังกล่าวยังคง ซ่อนอยู่ใต้พรม ซึ่งยังไม่รู้ว่าจะปะทุขึ้นมาอีกเมื่อไหร่ ภายใต้ปัจจัยหรือเงื่อนไขใด

จากสถานการณ์ความขัดแย้งที่ต่างบริบทและเงื่อนปมของปัญหาแตกต่างกัน รวมทั้งสาเหตุของความ ขัดแย้งก็มีความต่างอย่างเห็นได้ชัด ความขัดแย้งระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทค (พคท.) เป็นการต่อสู้ในเชิงอุดมการณ์ทางการเมือง ที่ พคท.เชื่อในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่ต้องได้รับการดูแลอย่างเท่า เทียมตามแนวลัทธิมาร์ก ซึ่งเป็นการต่อสู้กับโลกาภิวัฒน์และวัตถุนิยม ทุนนิยมแบบเสรีประชาธิปไตย แต่หากมองย้อนดูความขัดแย้งในพื้นที่ชายแดนภาคใต้กลับพบว่า เป็นปัญหาที่มีความละเอียดอ่อน ซับซ้อน และมีความเชื่อมโยงในหลายมิติ ซึ่งปัจจัยหลักที่ถูกนำมาเป็นเงื่อนไขของปัญหา คือ ศาสนา วัฒนธรรม ชาติพันธุ์ และประวัติศาสตร์อันเป็นอัตลักษณ์เฉพาะของพื้นที่ ที่นำไปสู่ขบวนการต่อสู้เพื่อการแบ่งแยกดินแดน

งามศุกร์ รัตนเสถียร อาจารย์ประจำสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งดำเนินโครงการวิจัยเกี่ยวกับความขัดแย้งและความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้สัมภาษณ์แก่ผู้เขียนว่า “เข้าใจว่าเป็นสิ่งที่ภาครัฐต้องทำเพื่อการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ แต่หากภาครัฐยังแก้ปัญหาด้วยมายาคติที่ว่า คนที่คิดต่างเป็นอื่น ใช้วาทกรรมคนที่คิดต่างเป็นผู้หลงผิด แทนที่รัฐจะทำความเข้าใจว่า ทำไมคนในพื้นที่ชายแดนใต้ ถึงได้คิดต่างจากรัฐ”

อาจารย์งามศุกร์มองว่า “กระบวนการแก้ไขปัญหา ควรต้องดูบริบทพื้นที่ที่มีความซับซ้อน ให้ความสำคัญกับการสร้างความเข้าใจ ภาครัฐเองก็ต้องทบทวนนโยบายที่ผ่านมาว่า ให้ความเป็นธรรมกับเขามากน้อยแค่ใหน สิ่งที่ควรต้องตั้งคำถาม คือ ทำไมคนในพื้นที่ ถึงได้มีทัศนคติที่แตกต่างไปจากประชาชนชาวไทยตามที่รัฐอยากให้เป็น และรัฐอธิบายได้ไหมว่าความคิดต่างเห็นต่างในพื้นที่มันมีความเป็นมาอย่างไร และเราทุกคนมีสิทธิที่จะคิดต่างกันได้หรือไม่ หากความคิดต่างเป็นเรื่องสากล วิธีการทำให้พวกเขาเป็นผู้หลงผิดและต้องปรับทัศนคติ เป็นเรื่องที่ต้องมีการทบทวนใช่หรือไม่”

โครงการนี้ถูกตั้งคำถามจากหลายฝ่ายในพื้นที่ว่า ผู้เข้าร่วมโครงการอาจไม่ใช่ ‘ผู้ก่อความไม่สงบตัวจริง’ หรืออาจมีกลุ่มคนที่แฝงตัวเข้ามา แล้วกลับมาก่อเหตุรุนแรงซ้ำอีกเมื่อได้กลับมาอยู่ในภูมิลำเนาเดิม และได้รับการช่วยเหลือจากรัฐเรื่องคดี รวมทั้งการฝึกอาชีพเรียบร้อยแล้ว เหตุการณ์สังหารคนไทยพุทธและ เจ้าหน้าที่รัฐอย่างต่อเนื่องช่วงต้นเดือน มี.ค. 2560 โดยมีนักเรียนหญิงต้องสังเวยชีวิตด้วย ทำให้กลุ่มคนไทยพุทธ ภายใต้ชื่อ ‘ศูนย์ประสานงานเครือข่ายชาวพุทธเพื่อคุ้มครองส่งเสริมพระพุทธศาสนา’ รวมตัวกันเข้า พบผู้บริหารศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เพื่อยื่นข้อเรียกร้องต่างๆ รวม 13 ข้อ โดยหนึ่งในนั้นคือให้ยกเลิก ‘โครงการพาคนกลับบ้าน’ ซึ่งชาวบ้านไทยพุทธกลุ่มนี้เรียกขานกันว่า ‘โครงการพาโจรกลับบ้าน’

ต่อมาในเหตุระเบิด ‘คาร์บอมบ์’ ที่ห้างสรรพสินค้าบิ๊กซี สาขาปัตตานี เมื่อวันที่ 9 พ.ค. 2560 ปรากฏว่า ผู้ต้องหาคนหนึ่งที่ถูกจับกุมได้ เคยเข้าร่วมโครงการพาคนกลับบ้าน ทำให้โครงการนี้ถูกตั้งคำถามมากขึ้นไปอีก โดยเฉพาะชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่โครงการ ต่างก็ออกมาเคลื่อนไหวต่อต้าน กรณีชาวบ้านกว่า 500 คนใน ต.สุคิริน อ.สุคิริน จ.นราธิวาส แสดงจุดยืนปฏิเสธการตั้ง ‘หมู่บ้าน’ รองรับผู้เข้าร่วมโครงการพาคนกลับบ้าน คัดค้านนโยบายของแม่ทัพภาคที่ 4 ของพลโท ปิยวัฒน์ นาควานิช ที่เตรียมขอใช้พื้นที่รอบๆ 3 หมู่บ้านของ ต.สุคิริน เป็นที่อยู่อาศัยและที่ทำกินให้กับ ‘อดีตผู้หลงผิด’ ที่เข้าร่วมโครงการพาคนกลับบ้าน โดยสาเหตุที่ชาวบ้านรวมตัวกันคัดค้าน เพราะเกรงว่าคนกลุ่มนี้จะเข้ามาสร้างปัญหา สร้างความหวาดระแวง เนื่องจากบางส่วนอาจเคยมีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่อเหตุรุนแรง นอกจากนั้นยังอาจส่งผลทำลายทรัพยากรธรรมชาติซึ่งเป็นป่าต้นน้ำ และแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่สำคัญด้วย จนในที่สุดฝ่ายความมั่นคงต้องยอมถอย ล้มเลิกโครงการ นั่นก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่สะท้อนภาพความ ไม่ไว้เนื้อเชื่อใจและไม่ได้ให้อภัยแก่ ‘ผู้กลับใจ’ ตามที่ฝ่ายความมั่นคงเรียกขาน แม้คนเหล่านั้นจะไม่เคยมีหมายจับในคดีความมั่นคงเลยก็ตาม แต่ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ดั้งเดิมยังตั้งข้อรังเกียจ ก็เท่ากับโครงการพาคนกลับบ้านที่ดำเนินงานมานานและใช้งบประมาณไปแล้วจำนวนมหาศาลนั้น ‘ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง

อัญชนา หีมมีหน๊ะ แกนนำสตรีมุสลิม ‘กลุ่มด้วยใจ’ ที่ทำงานด้านการช่วยเหลือผู้หญิงและเด็กที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนใต้จึงได้ลงพื้นที่โครงการพาคนกลับบ้านอยู่บ่อยครั้ง อัญชนาตั้งข้อสังเกตว่า “โครงการพาคนกลับบ้านเป็นโครงการที่ดี แต่ควรต้องทำให้ถูกที่ ถูกคน และถูกเวลา” อัญชนา ระบุว่า “กลุ่มคนที่เข้าร่วมโครงการมี 2 ส่วน หลักๆ คือ ผู้กระทำความผิดแล้วหนีไปอาศัยอยู่ในประเทศมาเลเซีย และอยากจะกลับมาอยู่กับครอบครัวที่ฝั่งไทย จึงพร้อมที่จะเข้าร่วมในโครงการ ส่วนชาวบ้านอีกกลุ่มที่อาศัยอยู่ในครอบครัวตัวเอง อยู่ในหมู่บ้าน ที่แต่ก่อนอาจเคยกระความทำผิด แต่กลับเนื้อกลับตัว ดำรงชีวิตอยู่อย่างปกติสุขดีอยู่แล้ว หรือบางส่วนที่เคยต่อสู้คดีและพ้นผิดไปแล้ว กลับกลายเป็นกลุ่มเป้าหมายที่ภาครัฐ พยายามจะเข้าไปดึงพวกเขาให้เข้ามาอยู่ในโครงการนี้อีกครั้ง โดยใช้วิธีการให้เจ้าหน้าที่เดินทางไปยังบ้านพักของผู้ที่เคยถูกควบคุมตัว หรือพ้นลงโทษจำคุกไปแล้ว ในข้อหาคดีความมั่นคง หรือที่รัฐใช้วิธีการที่ว่า ‘ได้แต่งตั้งคณะทำงานทางลับเพื่อพูดคุยทางลับกับเป้าหมายหรือบุคคลที่เป้าหมายให้ความเชื่อถือและไว้วางใจเพื่อสร้างความเข้าใจ’ แต่ในทางปฏิบัติ กระบวนการลงไปพูดคุยก็ไม่เป็นไปในทางลับแต่อย่างใด ซึ่งเป็นการลงไปพูดคุยที่บ่อยครั้งมาก และชาวบ้านในชุมชนต่างก็เห็นว่ามีเจ้าหน้าที่ทหารเข้าไปคุยกับครอบครัวนั้นๆอยู่เป็นประจำ ดูเหมือนเป็นการพยายามที่จะกดดัน ถึงขั้นบังคับให้พวกเขายอมรับที่เข้าจะเข้าร่วมโครงการนี้ ซึ่งทำให้คนในชุมชนมองคนกลุ่มนี้ว่าเป็นผู้กระทำผิดซ้ำอีก กลายเป็นคนที่ถูกสังคมตีตรา มีมลทินอีกครั้ง ทั้งๆ ที่ ณ ตอนนี้พวกเขาก็ดำรงชีวิตอยู่อย่างเป็นปกติสุขอยู่แล้ว วิธีการเหล่านี้ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ถึงขั้นเป็นการคุกคามการดำเนินชีวิต ซึ่งทำให้คนบางคนไม่สามารถอยู่อาศัยในบ้านพักของตัวเองได้ ต้องย้ายไปอยู่ที่บ้านพักของภรรยาและเครือญาติแทน”

 

ค้นคว้า-อ้างอิง
กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า. (3 ตุลาคม 2560). สรุปผลการปฏิบัติงานประจำปี 2560. จาก http://www.southpeace.go.th/th/News/explain/new-601003-2.html สืบค้น 13 มิถุนายน 2561
ตัวเลข "คนกลับบ้าน" จ่อครึ่งหมื่น!. (19 กุมภาพันธ์ 2560). สำนักข่าวอิศรา, จาก https://www.isranews.org/content-page/67-south-slide/54152-home-54152.html สืบค้น 13 มิถุนายน 2561
ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทาง วัฒนธรรมภาคใต้ มอ.ปัตตานี.ความขัดแย้งชายแดนใต้ในรอบ 13 ปี: ความซับซ้อนของ สนามความรุนแรงและพลังของบทสนทนาสันติภาพปาตานี” จาก https://deepsouthwatch.org/th/node/11053

 

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง
จับตา: โมเดล ‘ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย’ กับ ‘พาคนกลับบ้าน’ เหมือนหรือต่างอย่างไร?

 

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: