เขต ศก.พิเศษเชียงรายเริ่มนับหนึ่งใหม่ รัฐยอมถอยให้เอกชนหาที่ตั้งเอง

กองบรรณาธิการ TCIJ 19 ก.ย. 2561 | อ่านแล้ว 3422 ครั้ง

เขต ศก.พิเศษเชียงรายเริ่มนับหนึ่งใหม่ รัฐยอมถอยให้เอกชนหาที่ตั้งเอง

เขตเศรษฐกิจพิเศษเชียงรายล้มไม่เป็นท่าต้องเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่หลัง 3 อำเภอที่ถูกเล็งแต่แรกพบแต่อุปสรรค ล่าสุดรัฐยอมถอยและให้ภาคเอกชนที่สนใจหาพื้นที่ลงทุนเองแต่รัฐจะสนับสนุนเต็มที่ ที่มาภาพประกอบ: MGR Online

MGR Online รายงานเมื่อวันที่ 11 ก.ย. 2561 ที่ห้องประชุมโรงแรมทีคการ์เดน รีสอร์ท อ.เมืองเชียงราย จ.เชียงราย นายประจญ ปรัชญ์สกุล ผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมสัมมนาเรื่อง "เหลียวหลัง แลหน้า 3 ปี เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษเชียงราย" จัดโดยสำนักงาน จ.เชียงราย โดยมีตัวแทนจากหน่วยงานภาครัฐ เอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และประชาชนทั่วไปเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก

กิจกรรมในการประชุมมีทั้งการบรรยายพิเศษจากผู้ทรงคุณวุฒิเกี่ยวกับการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษทั่วโลก การจัดตั้งที่ จ.ตาก รวมทั้งในวันที่ 12 ก.ย.ยังมีกำหนดจัดเสวนาภาคประชาชนในหัวข้อ "มุมมองภาคประชาชน เศรษฐกิจพิเศษเชียงราย ใครได้ ใครเสีย" โดยมีภาคเอกชน นักวิชาการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ร่วมเสวนา

นายประจญกล่าวว่า คณะกรรมการนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.) กำหนดให้มีการจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษเชียงราย 3 อำเภอ คือ อ.แม่สาย อ.เชียงแสน และ อ.เชียงของ เพราะมีศักยภาพในการเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านและยังต่อไปยังจีนตอนใต้ที่เป็นตลาดใหญ่ แต่ในการจัดหาที่ดินเพื่อจัดตั้งตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมาพบปัญหาไม่สามารถจัดหาที่ดินเพื่อจัดตั้งได้ โดยพื้นที่ อ.แม่สายก็ยังมีเกษตรกรผู้ปลูกใบยาสูบที่อ้างว่ามีความจำเป็นต้องปลูกกันอยู่ ส่วน อ.เชียงแสน ส่วนใหญ่เป็นที่สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตร (ส.ป.ก.) ที่ชาวบ้านใช้ประโยชน์ และ อ.เชียงของ บางส่วนเป็นป่าชุมชน และกรณีเป็นที่ดินเลี้ยงสัตว์ ต.ทุ่งงิ้ว ก็พบมีการขอค่าชดเชยกันสูงไร่ละกว่า 500,000 บาท เป็นต้น

นายประจญกล่าวอีกว่า ล่าสุดตนได้เข้าประชุมที่กระทรวงมหาดไทยเพื่อแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้แล้ว ซึ่งก็ได้รับแจ้งว่าในพื้นที่ที่มีการประกาศเป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษทั้ง 3 อำเภอดังกล่าวถือว่าได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ ตามที่กฎหมายกำหนดอยู่แล้ว ซึ่งนักลงทุนสามารถเข้าไปลงทุนเพื่อรับสิทธิประโยชน์ดังกล่าวได้เลยทันที หรือหากไม่เพียงพอก็สามารถแจ้งเพื่อขอเพิ่มเติมได้อีก

ทั้งนี้ รัฐบาลได้ปรับมาให้การพัฒนาเขตเป็นไปตามกลไกทางเศรษฐกิจโดยจะไม่ใช้งบประมาณของรัฐไปซื้อที่ดินของรัฐมาดำเนินการแน่นอน และการจัดตั้งต้องได้ประโยชน์ทุกฝ่ายทั้งนักลงทุน ประชาชน คู่ค้า ฯลฯ ไม่ใช่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ดังนั้น หากกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรือชุมชนก็คงจะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวอีก กระนั้น จังหวัดยืนยันจะเดินหน้าจัดตั้งต่อไปตามแนวทางใหม่ดังกล่าว โดยจะเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ในปีงบประมาณ 2562 นี้เป็นต้นไปเพื่อให้เป็นรูปธรรมให้ได้ในปีเดียวกันดังกล่าว

นายประจญกล่าวเพิ่มเติมว่า เดิมเราพยายามหาที่หลวงมาจัดตั้งแล้วเข้าไปพัฒนาระบบสาธารณูปโภคต่างๆ เพื่อดึงดูดนักลงทุนให้เข้าไปลงทุน แต่เมื่อทุกพื้นที่มีปัญหาเรื่องการจัดหาที่ดินจึงต้องปรับกันใหม่

จากการประชุมล่าสุดก็ได้ข้อสรุปว่าจะเปิดให้ภาคเอกชนเป็นฝ่ายจัดหาที่ดินเอง เมื่อได้ที่ดินที่เหมาะสมก็จะนำเสนอเข้าสู่การประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่ออนุมัติดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามกลไกของตลาดและเศรษฐกิจเอง ซึ่งก็ยังไม่มีการกำหนดว่าจะต้องใช้เนื้อที่เท่าไหร่อย่างไร สำหรับเอกชนรายเก่าที่เคยพยายามเข้าไปจัดตั้งมาก่อนหน้านี้แล้วนั้นตนไม่ทราบเพราะเมื่อต้องเริ่มต้นกันใหม่ก็ต้องใช้แนวทางใหม่ดังกล่าวต่อไป

รายงานข่าวแจ้งว่า กนพ.ประกาศให้ จ.เชียงรายทั้ง 3 อำเภอดังกล่าวเป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษระยะที่ 2 พร้อมกับ จ.กาญจนบุรี จ.หนองคาย จ.นครพนม และ จ.นราธิวาส มาตั้งแต่ปี 2557 ครอบคลุมพื้นที่ 21 ตำบล และ จ.เชียงราย รับหน้าที่ศึกษาพื้นที่หลายแห่ง ได้แก่ อ.แม่สาย ของกรมธนารักษ์ ติดถนนพหลโยธิน สายแม่สาย-เชียงราย บ้านน้ำจำ ต.โป่งผา อ.แม่สาย เนื้อที่ 870 ไร่ 3 งาน 5 ตารางวา

อ.เชียงแสน พิจารณาใช้ที่ดินซึ่งส่วนใหญ่เป็นเขตปฏิรูปที่ดินใกล้ท่าเรือแม่น้ำโขงเชียงแสนแห่งที่ 2 ต.บ้านแซว เนื้อที่ 651 ไร่ 3 งาน 52 ตารางวา และ อ.เชียงของ เป็นพื้นที่ป่าชุมชนเขต ต.บุญเรือง เนื้อที่ประมาณ 2,322 ไร่ และบางช่วงหันไปศึกษาเนื้อที่ 530 ไร่ บ้านทุ่งงิ้ว ต.สถาน ด้วย แต่ทุกพื้นที่ก็ประสบปัญหาดังกล่าว โดยมีภาคเอกชนรายหนึ่งพยายามเข้าไปร่วมศึกษาและผลักดันในแต่ละพื้นที่เพื่อจะเข้าไปลงทุนในเขตดังกล่าวโดยเฉพาะ อ.เชียงของ เป็นหลัก

ในการประชุมสัมมนาครั้งนี้ยังมีการแจ้งข้อมูลว่าตั้งแต่ปี 2557-2560 มีกิจการจดทะเบียนจัดตั้งในเขตที่จังหวัดศึกษาดังกล่าวจำนวน 755 ราย รวมกิจการเดิมที่จดทะเบียนอยู่แล้วมีทุนจดทะเบียน 3,900 ล้านบาท ธุรกิจที่ลงทุนกันมากคือก่อสร้างอาคารทั่วไป ขายส่งสินค้า อสังหาริมทรัพย์ ขนส่งสินค้า ขายส่งสินค้าเกษตร ฯลฯ โดยเป็นกิจการขนาดย่อมกว่า 99% และเป็นของนักลงทุนไทยรายย่อยเกือบทั้งหมดและเป็นของต่างชาติถือหุ้นร่วม 4%

สำหรับสิทธิพิเศษในเขตจัดตั้งที่ชัดเจนคือ จากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ เช่น ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี (จำกัดวงเงินไม่เกินร้อยละ 100 ของเงินลงทุนไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน) ลดหย่อนภาษีจากกำไรร้อยละ 50 เป็นเวลา 5 ปี ยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับเครื่องจักร วัตถุดิบและวัสดุจำเป็นเพื่อการส่งออกเป็นเวลา 5 ปี อนุญาตใช้แรงงานต่างด้าวไร้ฝีมือ เป็นต้น

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: