คนไทยรู้ยัง: เปิดเทอม 2561 คนกรุงเทพฯ ใช้เงินกว่า 27,500 ล้านบาท

ทีมข่าว TCIJ : 18 พ.ค. 2561 | อ่านแล้ว 2150 ครั้ง

เปิดเทอมใหญ่ปี 2561 ผู้ปกครองในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ใช้จ่ายด้านการศึกษาสำหรับบุตรหลานคิดเป็นเม็ดเงินสะพัด 27,500 ล้านบาท โดยเป็นค่าเทอมสูงสุด ที่มาภาพประกอบ: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย สำรวจพฤติกรรมผู้ปกครองที่มีบุตรหลานกำลังศึกษาตั้งแต่ระดับอนุบาลถึงมัธยมศึกษา ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ในช่วงเปิดเทอมใหญ่ปี 2561 จำนวน 400 คน ครอบคลุมสาขาอาชีพหลักและระดับรายได้ ระหว่างวันที่ 9-20 เม.ย. 2561 โดยผลสำรวจที่สำคัญพบว่า ผู้ปกครองส่วนใหญ่กังวลเกี่ยวกับสภาพคล่องทางการเงินในช่วงเปิดเทอมใหญ่ปี 2561 ปรับตัวด้วยการลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินชีวิตประจำวัน ควบคู่หารายได้เสริมเพิ่ม

ผลสำรวจพบว่ากลุ่มตัวอย่างร้อยละ 36 ไม่กังวลเกี่ยวกับสภาพคล่องทางการเงินในช่วงเปิดเทอมใหญ่ปี 2561 ในจำนวนนี้ ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่มีรายได้ครัวเรือนมากกว่า 60,000 บาทต่อเดือน และเป็นกลุ่มที่มีบุตรหลานศึกษาในสถาบันการศึกษารัฐบาล

สำหรับกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ร้อยละ 64 มีความกังวลเกี่ยวกับสภาพคล่องทางการเงินในช่วงเปิดเทอมใหญ่ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลมาจากค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน รวมถึงภาระหนี้สินเพิ่มสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม กลุ่มตัวอย่างยังมีความสามารถในการบริหารจัดการสภาพคล่องได้ โดยส่วนใหญ่ร้อยละ 62 ปรับตัวด้วยการลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินชีวิตประจำวัน รองลงมา ร้อยละ 33 หารายได้เสริมเพิ่ม และร้อยละ 29 ซื้อสินค้าด้านการศึกษา อย่างชุดนักเรียน หนังสือ และอุปกรณ์การเรียน ราคาประหยัด

กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ยังไม่ปรับลดค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของบุตรหลานในช่วงเปิดเทอมใหญ่ปี 2561 นี้ โดยค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของบุตรหลานส่วนใหญ่คงที่ เมื่อเทียบกับในช่วงเปิดเทอมใหญ่ปีที่แล้ว ยกเว้นค่าชุดนักเรียน ที่ส่วนใหญ่ระบุว่ามีค่าใช้จ่ายลดลง และค่าเรียนเสริมทักษะ เช่น ภาษาต่างประเทศ ดนตรี กีฬา คอมพิวเตอร์ เป็นต้น ที่ส่วนใหญ่ระบุว่ามีค่าใช้จ่ายเพิ่มสูงขึ้น

สำหรับแหล่งที่มาของงบประมาณเพื่อใช้จ่ายด้านการศึกษาของบุตรหลานของกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ร้อยละ 92 เป็นเงินออม รองลงมา ร้อยละ 60 ยืมญาติหรือเพื่อน

นอกจากนี้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้คาดการณ์ว่าในช่วงเปิดเทอมใหญ่ปี 2561 ผู้ปกครองในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ใช้จ่ายด้านการศึกษาสำหรับบุตรหลานคิดเป็นเม็ดเงินสะพัด 27,500 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 1.9 เมื่อเทียบกับในช่วงเปิดเทอมใหญ่ปี 2560 ในจำนวนนี้แบ่งเป็นค่าเทอม 13,200 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมจากค่าเทอม (เช่น ค่าบำรุงการศึกษา) 4,600 ล้านบาท ค่ากิจกรรมพิเศษในโรงเรียน 4,300 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายอื่นๆ (เช่น ค่าชุดนักเรียน หนังสือ และอุปกรณ์การเรียน ค่าเรียนกวดวิชา ค่าเรียนเสริมทักษะ ค่าใช้จ่ายอื่นๆ) รวมกัน 5,400 ล้านบาท

ทั้งนี้การขยายตัวของเม็ดเงินใช้จ่ายด้านการศึกษาสำหรับบุตรหลานดังกล่าวเป็นการขยายตัวที่ชะลอตัวลงจากในปีที่ผ่านมา เนื่องจากปัจจัยต่าง ๆ เช่น ค่าใช้จ่ายที่สำคัญอย่างค่าเทอม ยังไม่มีการปรับตัวสูงขึ้น โดยโรงเรียนเอกชนทั่วไป และโรงเรียนนานาชาติส่วนใหญ่ยังไม่มีการปรับค่าเทอมขึ้นในปีการศึกษานี้

ผู้ปกครองส่วนใหญ่ใช้จ่ายสินค้าด้านการศึกษา เช่น ชุดนักเรียน หนังสือ อุปกรณ์การเรียน เป็นต้น อย่างระมัดระวัง โดยผู้ปกครองมองหาสินค้าที่มีราคาไม่แพง หรือซื้อในจำนวนที่ลดลง เมื่อเทียบกับในช่วงเปิดเทอมใหญ่ปีที่แล้ว ประกอบกับผู้ผลิตและจัดจำหน่ายสินค้าด้านการศึกษา ยังคงต้องให้ความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐในการตรึงราคาสินค้า

จำนวนนักเรียนในระบบการศึกษาในปีการศึกษา 2561 น่าจะยังคงทรงตัว เมื่อเทียบกับในปีการศึกษา 2560 โดยมีจำนวนนักเรียนตั้งแต่ระดับอนุบาลถึงมัธยมศึกษาทั้งประเทศโดยรวมอยู่ที่ประมาณ 10.5 ล้านคน ในจำนวนนี้ เป็นนักเรียนในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ประมาณ 1.6 ล้านคน

ทั้งนี้ แม้การใช้จ่ายด้านการศึกษาสำหรับบุตรหลานในช่วงเปิดเทอมใหญ่ปี 2561 อาจไม่คึกคักเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา แต่การใช้จ่ายของผู้ปกครองกลุ่มที่ไม่กังวลเกี่ยวกับสภาพคล่องทางการเงินที่มีการใช้จ่ายด้านการศึกษาสำหรับบุตรหลานเพิ่มเติม เช่น ย้ายบุตรหลานจากโรงเรียนรัฐบาลมายังโรงเรียนเอกชน เป็นต้น ประกอบกับผู้ปกครองให้ความสำคัญกับการเรียนกวดวิชา ควบคู่ไปกับการเรียนเสริมทักษะ ยังสามารถหนุนให้เม็ดเงินค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาสำหรับบุตรหลานของผู้ปกครองในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ในช่วงเปิดเทอมใหญ่ปี 2561 โดยรวมยังสามารถขยายตัวเล็กน้อยเมื่อเทียบกับในช่วงเปิดเทอมใหญ่ปีที่แล้ว.

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: